และเสียชีวิตถึง 909 ราย ถือว่าเพียงแค่วันนี้ ก็รุนแรงยิ่งกว่าสถิติที่ SARS เคยสร้างความเลวร้ายไว้อย่างมากเมื่อ 17 ปีก่อน
ยิ่งยังมองไม่เห็นว่าจะสกัดมันอยู่ ก็ยิ่งให้ห่วงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมา
เพียงเท่านี้ Global Supply Chain ก็เกิดปัญหาแล้วในหลายอุตสาหกรรม เพราะจีนเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของโลก ทั้งรถยนต์ (ซึ่งมีฮับใหญ่อยู่ที่มณฑลหูเป่ย์ ที่เมืองอู่ฮั่นตั้งอยู่) เวชกรรมและไบโอเทค (ซึ่งมีฮับใหญ่อยู่ที่มณฑลเจ้อเจียง ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อมาเป็นอันดับสาม) และอุตสาหกรรมไฮเทค (ซึ่งมีฮับใหญ่อยู่ที่กวางตุ้งที่ติดเชื้อเป็นอันดับสอง) ฯลฯ
ส่วนที่เมืองไทยก็ยังไม่หายตกใจกับเหตุการณ์ที่โคราช และยังเกิดความกังวลแบบใหม่ว่าเหตุแบบนี้ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อน จะเกิดซ้ำอีกในอนาคต
พิเคราะห์ให้ดี จะเห็นว่าสาเหตุแรกเริ่มมันมาจากเรื่องหนี้สินของข้าราชการ คล้ายกับกรณีปล้นทองลพบุรี เพียงแต่กรณีนี้เป็นข้าราชการทหาร ลพบุรีเป็นข้าราชการครู
เห็นได้ชัดว่าจ่าผู้ก่อเหตุ แก้ปัญหาหนี้สินของตัวเองด้วยการกู้ก้อนใหม่มาโปะก้อนเก่า
เขาตัดสินใจกู้หนี้สวัสดิการกองทัพบก (อทบ. เคหสงเคราะห์) โดยให้กิจการของแม่ยายผู้พันที่เขายิงเสียชีวิต เป็นผู้จัดหาบ้านให้ (ครอบครัวผู้พันมีธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นของตนเองด้วย) รวมทั้งจัดเตรียมเอกสารจดจำนองและขอกู้เงินเสร็จสรรพ (กรณีนี้ทำให้สังคมทั่วไปรู้ว่า อทบ. เคหสงเคราะห์ เปิดช่องให้กับนายทหารบางคนสร้าง Family Business ให้กับครอบครัวได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ถือเป็นเรื่อง Conflict of Interest ซึ่งเป็นประเด็นต่างหากออกไป)
การกู้ในลักษณะนี้ ในทางปฏิบัติมันสามารถกู้เกินราคาบ้านได้ เพราะที่ดินเป็นราชพัสดุซึ่งจัดสรรให้ทหารเช่าในราคาถูกมาก (หลักร้อยต่อเดือน) และราคาบ้านจริงมันแค่เพียงหลักแสน แต่ตามชั้นยศของจ่าสามารถกู้ได้ในวงเงินถึง 1,500,000 บาท โดยจ่าจะนำเอาเงินที่กู้เกินหลังจากที่หักค่าดำเนินการและค่าตอบแทนให้กับแม่ยายผู้พันแล้ว (เรียกกันว่า “เงินทอน”) ไปใช้หนี้ก้อนแรก หรือเอาไปใช้จ่ายก็สุดแล้วแต่ (โดยแม่ยายผู้พันยังสัญญาว่าจะคืนเงินค่านายหน้าที่จ่าช่วยหาลูกค้าคนอื่นให้ด้วย ซึ่งเงินก้อนนี้เองที่เป็นชนวนแห่งความขัดแย้ง)
ดูไปแล้ว ก็เหมือนใช้บ้านเป็น “บัตรเอทีเอ็ม” กดเงินมาใช้
เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการทหารก่อหนี้ได้มากเกินกว่าที่จำเป็น
ปัญหาหนี้สินในวงราชการเป็นปัญหาใหญ่อันหนึ่งของสังคมไทย
แน่นอน เศรษฐกิจกับวัฒนธรรมย่อมผูกพันกัน แยกกันไม่ออก
สมัยโบราณก่อนโน้น ข้าราชการรุ่นพ่อรุ่นแม่หรือรุ่นปู่รุ่นย่า ยึดถือวัฒนธรรมการออมกันมาก
แต่มาบัดนี้ วัฒนธรรมการออมหมดไปจากวงราชการ กลับกลายมาเป็นวัฒนธรรมการใช้จ่ายแทน
ยิ่งก่อหนี้ได้ง่าย เพราะสหกรณ์และสถาบันการเงินให้ความเชื่อถือเนื่องจากข้าราชการเป็นอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้ประจำสม่ำเสมอ ยิ่งใช้จ่ายเกินตัวได้ง่าย บางคนมีรถหลายคัน บ้านหลายหลัง ท่องเที่ยวต่างประเทศบ่อย และยังมีสิ่งของที่ไม่จำเป็นอีกแยะ
เราว่ารัฐบาลน่าจะเอาอย่างประเทศฝรั่งเศสนะ คือจำกัดการก่อหนี้ของราษฎรไว้ที่ 30% ของรายได้ เท่านั้นเป็นพอ
รัฐบาลต้องมั่นใจว่า ราษฎรของตัว หลังจากรับเงินเดือนมา หักชำระหนี้สินแล้ว ราษฎรต้องมีตังกินข้าว มีตังไปเที่ยวหรือสันทนาการพอประมาณ ไม่ใช่ได้มาเท่าไหร่ ต้องโปะหนี้หมด แถมบางทีต้องกู้ก้อนใหม่มาจ่ายก้อนเก่า เหมือนชีวิตของหลายคนที่ก่อหนี้บัตรเครดิต แล้วขอใบใหม่เรื่อยๆ เพื่อก่อจากใบที่สองมาโปะใบแรก ก่อใบที่สามมาโปะใบที่สอง ฯลฯ
มาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่า คือเรื่องเทคโนโลยี
ตอนนี้ผู้คนกลัว AI กันมาก เหมือนกับผีตนหนึ่งที่หลอกหลอนคนทุกระดับชั้นทั่วโลก
กลัวกันว่ามันจะมาแทนมนุษย์ มาแย่งงานมนุษย์
ขนาดสหรัฐฯ จ้าวแห่งการเปิดเสรี สมัยก่อนเที่ยวบอกใครต่อใครว่าต้องเปิดเสรีถึงดี แต่เดี๋ยวนี้ตัวเองกลับกีดกันคนอื่น กลัวคนมาแย่งงานตัวเอง
ลูกเพื่อนเรา จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศนั้น ประเภทมหาวิทยาลัยหัวกะทิซึ่งฝรั่งเองยังยากจะเข้าได้ แต่พอจบมา จะขอทำงานอยู่ที่นั่น รัฐบาลกลับให้วีซ่าเพียงปีเดียว อย่างมากก็ได้แค่สองปี ถ้านายจ้างอยากให้อยู่ต่อ ต้องเสียเงินเสียทองและขออนุญาตซับซ้อนมาก จนเขามองว่าไม่คุ้ม จ้างคนของเขาดีกว่า
แต่มันมียกเว้นอยู่สองอย่าง คือถ้าจบสาขา AI (Artificial Intelligence) /Machine Learning กับ BIOINFORMATICS รัฐบาลสหรัฐฯ ถึงจะออกวีซ่ายาวให้ได้ทันทีเลย แสดงว่าทั้งรัฐบาลและธุรกิจภาคเอกชนของเขาต้องการคนที่มีทักษะแนวนี้
หรืออย่างจีน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ยังออกมาประกาศแล้วว่าจีนต้องให้ความสนใจเทคโนโลยี 2 ตัว คือ AI กับ Blockchain
แล้วทำไม เขาไม่กลัวว่า AI จะมาแย่งงานคนของเขาเหรอ? เหมือนกับที่ทุกคนในโลกตอนนี้หวั่นๆ กันอยู่
น่าคิดเหมือนกันน๊ะ แต่เราว่าเรามีคำตอบ
ก่อนจะตอบคำถามนี้ อยากให้ลองย้อนมองไปในอดีตดูก่อน
ธรรมชาติของงานมันก็เปลี่ยนอยู่ตลอดล่ะ ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยเราไม่ได้มีงานอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้หรอก...ข้าราชการกินเงินเดือน ทหารประจำการ พนักงานโทรเลข พนักงานโทรศัพท์ นักหนังสือพิมพ์ ครูที่กินเงินเดือนจากโรงเรียน พนักงานรถไฟ ทหารเรือ ทหารอากาศ นายธนาคาร วิศวกร คนขับรถ ฯลฯ
เครื่องจักรกลและระบบอัตโนมัติทั้งหลายที่มาแทนแรงงานคนในสมัยที่ฝรั่งเรียกว่า “Industrial Revolution” (อยู่ในช่วงประมาณสมัยรัชกาลที่ 1-3) มันกระทบต่ออาชีพของคนมาก งานที่ต้องใช้แรงอึดหลายงานต้องสูญพันธุ์ไป เพราะกล้ามเนื้อคนฤาจะสู้เครื่องจักร แต่ก็มีงานอีกจำนวนมากที่เกิดขึ้นใหม่ และเพิ่มจำนวนขึ้นๆ อย่างก้าวกระโดด
แทนที่มันจะทำให้คนตกงาน มันกลับสร้างงานให้ขยายตัวขึ้นอีกหลายร้อยหลายพันเท่า เพราะเครื่องจักรทำให้การทำงานและการผลิตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผลิตได้ทีละเยอะๆ ใช้เวลาน้อยลง และต้นทุนต่ำลง (ภาษาทางเศรษฐกิจเรียกว่า “Productivity”) เศรษฐกิจการค้าจึงขยายตัวมาก ความต้องการคนงานก็มากตาม
สมัยก่อนผู้หญิงไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แต่ลองดูเดี๋ยวนี้สิ เครื่องอำนวยความสะดวกช่วยให้ผู้หญิงจัดการงานบ้านได้สะดวกกว่าเก่าแยะ และสามารถออกไปทำงานนอกบ้านซึ่งต้องการแรงงานเพิ่มมาโดยตลอด
ปัจจุบัน โลกของเรากำลังอยู่ในช่วงเข้มข้นของยุคเปลี่ยนผ่านที่คอมพิวเตอร์ ระบบสื่อสาร หุ่นยนต์ และซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชันต่างๆ ถูกนำเข้ามาช่วยให้การทำงานและการดำเนินชีวิตเกิดประสิทธิภาพสะดวกสบายยิ่งขึ้นไปอีก
ระบบอินเทอร์เน็ตเชื่อมคนเกือบทั้งโลกเข้าด้วยกัน นับเป็นการเพิ่มตลาดและความต้องการสินค้าบริการอีกจำนวนนับไม่ถ้วน
จึงไม่แปลกที่งานในลักษณะนี้จะขาดแคลน...เราหมายถึงงานที่มนุษย์จะต้องไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มเอไอหรือคอมพิวเตอร์พวกนี้ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นงานระดับซับซ้อนขนาดต้องจบปริญญาเอก ต้องเขียนโปรแกรมระดับสูง ฯลฯ ... ก็งานธรรมดานี่แล่ะ งานที่ต้องช่วยให้แพลตฟอร์มเหล่านี้เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น และรับใช้มนุษย์ให้สะดวกสบายขึ้นนั่นเอง
ตัวอย่างที่ทำให้เราเอะใจคือกรณีของ AMAZON
ตั้งแต่ Amazon นำเอาหุ่นยนต์อัตโนมัติและแพลตฟอร์ม AI ไปใช้ในแวร์เฮ้าส์และศูนย์คัดแยกพัสดุ ตลอดจนระบบโลจิสติกส์ของตัวเอง (ไม่นับแพลตฟอร์ม Amazon.com และ Amazon Web Service ซึ่งใช้ AI ช่วยมาตั้งแต่ต้น) มันช่วยให้ Amazon โตขึ้นเร็วมาก
ยิ่งโตยิ่งต้องเพิ่มคน
ตามข่าวแล้ว Amazon บอกว่าตัวเองมีความต้องการคนงานเพิ่มขึ้นถึง 1.2 ล้านคน
แต่คนทางด้านนี้มีน้อยและใครๆ ก็ต้องการตัว ฝ่ายบุคคลของ Amazon จึงคิดโครงการ “Retrain” พนักงานขึ้น
เขาตั้งงบประมาณไว้ 700,000,000 เหรียญฯ สำหรับพนักงานในตำแหน่งที่เกี่ยวกับ AI/Machine Learning 100,000 ตำแหน่ง (7,000 เหรียญฯ ต่อคน) โดยจะใช้เวลาเพิ่มและปรับเปลี่ยนทักษะในโครงการนี้ประมาณ 6 ปี นับจากนี้เป็นต้นไป
เราว่านโยบายการบริหารงานบุคคลแบบนี้เข้าท่า เพราะแทนที่จะไปแย่งตัวคนข้างนอก ก็หันกลับมามองข้างในแทน ช่วยเพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้พนักงาน แถมได้ใจพนักงานด้วย ป้องกันคู่แข่งฉกตัวได้ด้วย อย่างน้อยอีก 6 ปีข้างหน้า พวกเขาก็คงจะไม่อยากไปไหน
เมื่อโลกมันเปลี่ยนเร็วและบ่อย ทักษะของคนก็ต้องเปลี่ยนเร็วและบ่อยด้วย
ตำรวจที่เคยวิ่งไล่จับโจร ต่อไปก็ต้องมีทักษะใหม่ เพราะโจรมันย้ายไปอยู่บนโลกไซเบอร์ ทหารที่เคยขับรถถังและเครื่องบินขับไล่ ต่อไปต้องมาขับโดรนและบังคับหัวรบที่ควบคุมด้วยไมโครโพรเซสเซอร์ชิป แม้แต่โจรปล้นทองที่ปิดบังใบหน้ามิดชิดก็ยังพ่ายแพ้ให้กับเทคโนโลยีของตำรวจ แท็กซี่ที่ใช้แอปไม่เป็น ก็ต้องกลับบ้านไปทำไร่ทำสวนทำนา งานเลี้ยงรุ่นที่ต้องจัดกันทุกปีเพื่อให้เพื่อนเก่ามาเจ๊าะแจ๊ะกัน ก็ย้ายไปเจ๊าะแจ๊ะบนโลกโซเชียลทุกวันแทน ไม่ต้องเสียเวลาขับรถไปเจอกันให้เปลืองน้ำมัน ฯลฯ
แน่นอนว่า AI และแอปสมัยใหม่ จะทำให้อาชีพบางอาชีพต้องจบลงและอาชีพอีกจำนวนมากต้องปรับตัว แต่มันย่อมสร้างงานลักษณะใหม่ๆ ขึ้นมาอีกแยะ อาจจะแยะกว่าจำนวนที่มันทำลายลง หากเราดูบทเรียนจากอดีตเราก็จะเข้าใจ
คงหมดสมัยแล้ว ที่เด็กยุคต่อไปจะเรียนจบจากมหาวิทยาลัย แล้วทำงานในสายที่เรียนไปได้จนเกษียณ
แม้แต่คนที่เกษียณไปแล้ว ก็สามารถไปหาเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ผ่านบรรดา Non-degree Course (เช่นจาก Coursera และ Udacity เป็นต้น) แล้วกลับเข้ามาทำงานอีกหลายรอบ ก็ไม่น่าจะแปลกอะไร
ว่ามั้ย!
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
11 ก.พ. 2563