หนึ่งในนั้นคือ “กฎแห่งอนิจจัง” ที่ให้อรรถาธิบายว่าสรรพสิ่งจะไม่สามารถคงอยู่ได้ตลอดไป แต่ต้องเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะจิต คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
กฎนี้อธิบายได้ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่จิตมนุษย์ ร่างกายมนุษย์ พืช สัตว์ สิ่งมีชีวิตทั้งปวง วัตถุธาตุทั้งหลาย กรวด หิน ดิน ทราย กระทั่งโลก จักรวาล และเอกภพ แม้แต่ดวงอาทิตย์เอง ก็ต้องดับแสงลงในวันหนึ่ง
ฝรั่งเองก็มีกฎเกณฑ์ทำนองนี้เหมือนกัน ที่เรียกว่า “The Second Law of Thermodynamics” ซึ่งถือว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในธรรมชาติ ตั้งแต่อะมีบา มนุษย์ องค์กร ประเทศชาติ จนกระทั่งถึงเอกภพ กำลังดำเนินไปสู่ความสิ้นสลาย
เรียกว่า “Entrophy”
Issac Asimov นักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์นามอุโฆษ เคยเขียนเรื่องสั้นโดยอาศัยแนวคิดนี้เป็นโครงเรื่องอย่างน่าทึ่ง คือ “The Last Question” ซึ่งผู้อ่านที่สนใจสามารถหาอ่านได้ในอินเทอร์เน็ต
แต่ฝรั่งก็คือฝรั่ง แม้พวกเขาจะเห็นแล้วว่า The Second Law of Thermodynamics มันฝืนไม่ได้ แต่พวกเขาก็ยังไม่ยอมศิโรราบให้กับธรรมชาติ วิถีคิดที่พวกเขาใช้สร้างอารยธรรมตะวันตกมานั้น เน้นไปยังความรู้ที่ต้องการเอาชนะหรือควบคุมธรรมชาติ
ในนามของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พวกเขาต้องเอาชนะธรรมชาติให้ได้หรืออย่างน้อยก็ต้องสามารถควบคุมให้ธรรมชาติมารับใช้มนุษย์ให้จงได้ และพวกเขาก็เชื่อว่าจะสามารถทำได้ในที่สุด
ทั้งนี้รวมถึงการเอาชนะ “ความแก่” และ “ความตาย” ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของชีวิตมนุษย์ โดยพวกเขาก็ได้ขะมักเขม้นหาทางเอาชนะมันมาโดยตลอด
น่าสนใจว่า เรื่องนี้กำลังมาถึงจุดที่เข้มข้นเอามากๆ ในปัจจุบัน!
ถ้าไม่นับเรื่องราวของยาอายุวัฒนะของจีนและอินเดียโบราณที่นับว่าเป็นชุดความรู้ต่างหากออกไปแล้ว ผมเองสนใจเก็บข้อมูลว่าฝรั่งสมัยใหม่พัฒนาทฤษฎีอายุยืนของพวกเขามาสักระยะใหญ่
เท่าที่ผมสังเกต ปัจจุบันนี้ฝรั่งหันมาสนใจในเรื่องนี้กันแยะมาก ดูได้จากงบประมาณการค้นคว้าวิจัยและทดลอง สร้างเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์และยาเวชภัณฑ์ ได้มุ่งเน้นไปที่การชะลอความแก่และยืดอายุของมนุษย์กันเป็นเป้าหมายหลักแล้วในบัดนี้
กิจการขนาดใหญ่และบรรดา Start-Up เกิดขึ้นเพื่อการนี้จำนวนมาก และเงินทุนที่มาจาก Venture Capital Fund, Hedge Fund, Estate Fund, และ Private Equity Fund จำนวนมหาศาลได้ลงทุนไปในธุรกิจและการค้นคว้าวิจัยที่ต้องการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้กับมนุษย์ และจำนวนเงินลงทุนก็เพิ่มทุกปี ปีละมากๆ
ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เรียกกันแบบกว้างๆ ว่า Precision Medicine, Predictive Medicine, Preventive Medicine, Anti-Aging, Disease-Prevention หรือ Longevity Tech เหล่านี้ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือการยืดอายุหรือชะลอความแก่และความเสื่อมของมนุษย์ โดยต้องการให้มนุษย์มีอายุเกิน 100 หรือ 120 ปี โดยยังคงแข็งแรงและไม่เจ็บไม่ป่วยด้วยโรคแห่งความแก่ (เช่นเบาหวาน หัวใจ อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน และโรคอื่นที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะภายในอันเนื่องมาแต่ความแก่) ใช้ชีวิตไปได้อย่างไม่ติดขัด เหมือนกับตอนยังอยู่ในวัยกลางคนหรือวัยหนุ่มสาว
ปัจจุบัน ศาสตร์เพื่อการอายุยืนนี้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตามหลักการของ Moore’s Law
โดยผมอยากจะเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังในส่วนที่น่าเชื่อถือและฟังแล้วมีความสมเหตุสมผล น่านำมาปรับใช้กับชีวิตของเรา
ในทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นยุคที่ฝรั่งสมัยใหม่เริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้กันมาก ก็ได้มีคนเสนอทฤษฎีจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับการชะลอความแก่ โดยแนวคิดที่ฟังได้ สมเหตุสมผล และเป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาการทางด้านนี้ต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน สรุปได้ด้วยแนวคิดพื้นฐาน 4 ประการคือ
“รับประทานอาหารที่เหมาะสม” (Proper Diet คือกินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ไม่ดื่มและสูบจนเกินเหตุ)
“ออกกำลังกายสม่ำเสมอ” (Exercise)
“รักษาสุขภาพจิตให้ดี” (Good Mental Attitude)
“การมีพ่อแม่ปู่ย่าตายายและบรรพบุรุษเป็นคนอายุยืน” (Having Long-Lived Ancestors)
ในปี 1982 หนังสือเล่มสำคัญ Live Extension: A Practical Scientific Approach โดย Durk Pearson และ Sandy Shaw
ได้กลายเป็นหนังสือขายดีทั่วอเมริกาและยุโรป ซึ่งหนังสือแนวนี้ไม่เคยได้รับความนิยมเช่นนี้มาก่อน แสดงให้เห็นถึงความสนใจของฝรั่งที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับวิธีชะลอความแก่ของตัวเอง
แน่นอน คนเราพอรวยแล้วก็ย่อมคิดว่าจะอยู่ไปให้นานๆ แต่ยังแข็งแรงๆ ได้ยังไง
ตอนนั้นฝรั่งเริ่มหันเข้าหา วิตามินและแอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidants) ต่างๆ ที่คิดว่ากินแล้วจะสามารถชะลออายุของเซลล์ส่วนต่างๆ ในร่างกาย ไม่ให้เสื่อมสภาพไปพร้อมกับอายุของคนเรา
ทว่าตอนนั้น อาหารเสริมยังหายากมาก เพราะมีคนผลิตน้อยรายและเทคโนโลยีการสกัดและการรักษาคุณภาพก็ยังไม่ก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ ราคาก็ยังแพงมาก
การผลิตในตอนนั้นยังต้องใช้ความร้อนและความดันสูงมากเพื่อสกัดให้ได้อาหารเสริมที่ยังเป็นเม็ดแข็งๆ ทำให้ยากแก่การละลายย่อยสลาย ต้องใช้เวลานานเพราะต้องใช้น้ำและไขมันมากกว่าจะละลายได้ในร่างกาย ส่งผลให้ Ingredient สำคัญที่มีประโยชน์ต่อการถนอมรักษาเซลล์ (Ingredients) เจือจางไปมากในกระบวนการนี้
คนรวยที่เห็นความสำคัญกับสุขภาพอาจหามาบริโภคได้วันละเม็ด ซึ่งถึงแม้จะสามารถต้านโรคที่เกิดจากการขาดวิตามินบางโรคได้ เช่น ลักปิดลักเปิด (Scurvy) โรคกระดูกอ่อน (Rickets) หรือเหน็บชา (Beriberi) แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับชะลอความแก่ของเซลล์
Durk และ Sandy เสนอให้ยกระดับไปใช้อาหารเสริมประเภทที่มีสารอาหารเข้มข้นขึ้น หรือ “Super-Nutrition”
คือจากที่เคยมุ่งที่สารอาหารประเภท Antioxidants อย่างเดียว ก็ให้เพิ่มส่วนประกอบอื่นๆ เข้าไปอีกหลายประเภท เช่น โคเอนไซม์-คิวเทน (Coenzyme Q10), เรสเวอราทรอล (Resveratrol), และเมทฟอร์มิน (Metformin) ซึ่งหลังจากนั้นก็มีผู้คิดค้นอาหารเสริมสูตรที่เพิ่มส่วนประกอบต่างๆ อีกหลากหลาย
แล้วก็เข้าสู่ยุคที่นิยมให้ควบคุมแคลอรีไปพร้อมกับรับประทานอาหารเสริมที่มีสารอาหารสูงและเข้มข้นมาก ซึ่งฟังดูเข้าท่า โดยคนจำนวนมากขึ้นๆ ก็เข้ามาศึกษากันและนำไปปฏิบัติ
ที่มีชื่อเสียงมากในตอนนั้นคือ “โครงการ Biosphere 2” ในรัฐแอริโซนา ซึ่งพัฒนาขึ้นมาโดย Roy Walford ทฤษฎีของเขาคือให้บริโภค Super-Nutrition ควบคู่ไปกับการควบคุมแคลอรีในมื้ออาหารแต่ละมื้อ แต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน
หลังจากนั้น ศาสตร์ที่ว่าด้วยการชะลอความแก่หรือยืดอายุมนุษย์ก็เริ่มเติบโตและก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด ตามหลักการของ Moore’s Law เช่นเดียวกับความก้าวหน้าในเทคโนโลยีด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็น AI, หุ่นยนต์, นาโนเทค, และไบโอเทค ฯลฯ
มหาเศรษฐีของโลกจำนวนมากต่างพากันทุ่มเงินเข้าไปเพื่อการค้นคว้าวิจัยและธุรกิจแนวนี้ ส่วนหนึ่งด้วยหวังว่าจะหาทางให้พวกเขาได้อยู่ใช้เงินได้ต่อไปบนโลกนานๆ
ทว่า ความสำเร็จก็ยังไม่มีให้เห็น (ว่าจะมีวิธีใดหรือยาตัวไหนที่ช่วยยืดอายุมนุษย์ให้เกิน 100 หรือ 120 โดยไม่เจ็บไม่ป่วยด้วยโรคชราทั้งหลาย) เพียงแต่แนวโน้มหลายด้าน ชี้มุ่งไปในทางที่ให้ความหวังกับมนุษย์ ว่าอีกไม่นานเราจะได้เห็นความสำเร็จในระดับ Breakthrough
ความหวังในเรื่องนี้ ปัจจุบันฝากไว้กับ “การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางพันธุกรรม” ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ที่ถือว่าพัฒนาก้าวหน้าไปมากจากวันแรกที่มนุษย์เริ่มจับเรื่องนี้
มีเทคโนโลยีใหม่ทางด้านนี้หลายอย่างที่ก้าวหน้าไปมากจนชวนให้เชื่อว่าอีกไม่นานพวกเขาคงจะทำกันสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็น Gene Sequencing/CRISPR Cas9, Immunotherapy, T-Cell Therapy, Synthetic Biology, Stem Cells Therapy, Genome Editing/Genetic Engineering เป็นต้น
การพัฒนาอีกแนวหนึ่งที่น่าสนใจคือแนวคิดแบบ “Avatar”
ที่พยายามสร้างมนุษย์หุ่นยนต์ขึ้นมา โดยหาทางอัปโหลด “ความรู้สึก-นึก-คิด” ต่างๆ จากสมองคนเรา ขึ้นไปอยู่บนคอมพิวเตอร์ และหวังว่าเจ้าของ “ความรู้สึก-นึก-คิด” นั้น จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นอมตะในรูปแบบของ Hologram หรือหุ่นยนต์ Humanoid หรือสมองกลคอมพิวเตอร์ หรืออะไรก็ตาม เหมือนกับในภาพยนตร์ไซไฟยอดฮิตอย่าง Matrix หรือ Avatar
มีงานวิจัยจำนวนมากจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกและบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่เชี่ยวชาญมากๆ ในเรื่อง AI อย่าง Google และ Facebook ที่แสดงให้เห็นว่าแนวคิดนี้เป็นไปได้ ทว่าในทางปฏิบัตินั้นยังไปได้ไม่ไกลนัก
โครงการ “2045 Initiative” ของ Dmitry Itskov มหาเศรษฐีรัสเซีย ถือว่าเดินตามแนวคิดนี้อย่างจริงจัง ท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องทำนองนี้สามารถติดตามความคืบหน้าได้จากเว็บไซต์ของโครงการตลอดเวลา
อันที่จริงวิธีการแบบนี้มันมีรากฐานมาจากแนวทางที่เรียกว่า “Cryogenics” ซึ่งเกิดขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว
Gene Bank เองก็ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดนี้นั่นเอง
แนวคิดนี้แสดงออกเป็นรูปธรรมโดยการแช่แข็งศพไว้ โดยทะนุถนอมรักษาส่วนสมองเป็นพิเศษ โดยหวังว่าวันหนึ่งในอนาคตจะมีเทคโนโลยีอะไรก็ตามที่จะมาทำให้ศพเหล่านั้นฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้
แต่วิธีการแบบนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมาย ว่าถึงแม้เราจะสามารถเก็บส่วนเนื้อสมองของคนไว้ แต่เมื่อเขาฟื้นขึ้นมาได้จริงในอนาคต “ความรู้สึก-นึก-คิด” ต่างๆ ที่เป็นตัวตนของเขา มันจะตามมาด้วยหรือไม่
ทุกคนที่สนใจเรื่องทำนองนี้ ต่างหวังว่าการทดลองตามแนวคิดดังกล่าวจะไม่ถึงทางตัน เพราะด้วยความก้าวหน้าของ AI ที่สามารถเชื่อมต่อกับคลื่นหรือสัญญาณเคมีจากสมองของมนุษย์ได้บ้างแล้วในขณะนี้ อาจช่วยให้แนวคิดนี้กลับมามีชีวิตชีวาก็ได้
คนที่มีความหวังกับเทคโนโลยีย่อมดีใจเป็นธรรมดาว่าฝรั่งสามารถผลักดันให้การชะลอความแก่ไปได้ไกลโขแล้ว จนหลายคนเชื่อว่าอีกไม่นาน เราคงจะได้เห็นมหาเศรษฐีของโลกที่แก่ๆ กลับมามีชีวิตชีวากันเหมือนคนหนุ่มสาว โปรดสังเกตคนอย่าง Warren Buffet หรือ George Soros ที่ลงเงินไปกับธุรกิจทำนองนี้ไม่น้อยเลย ถ้าถึงวันนั้น แสดงว่ามันมีสัญญาณว่าอาจเกิดการ Breakthrough ขึ้นแล้วก็ได้ แต่ข่าวร้ายในข่าวดีก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันให้หนัก! ข่าวร้ายคือเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นของแพงมาก คนที่จะรับบริการได้ย่อมมีแต่บรรดามหาเศรษฐีเท่านั้นแล่ะ ต่อนานไปแล้วมันถึงจะค่อยถูกลง ให้คนทั่วไปและคนจนได้เข้าถึงบ้าง ไม่มีใครอยากแก่และตายหรอก แต่ถ้าคุณไม่มีเงิน สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่มีผลอะไรกับคุณเลย มันเพียงแต่อยู่ในโลกของคนรวยเท่านั้น หากจะมีเทคโนโลยีที่โกงความแก่และความตายได้จริง ก็ฟันธงได้เลยว่าคนรวยจะเป็นพวกแรกที่ได้รับสิทธินั้น |
เรื่อง: ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว