ทั้งในเชิงของคน ระบอบบริหารหรือการจัดระเบียบสังคม ความสามารถของกลุ่มผู้นำในภาคต่างๆ ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ หมอและบุคลากรในแวดวงการรักษาพยาบาล ตลอดจนระดับความรู้และวัฒนธรรมที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาเชิงวิกฤติที่ฝังอยู่ในสังคมนั้นๆ
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อย เมื่อได้เห็นตัวเองในวิกฤติครั้งนี้ คงกังวลเหมือนกับผมว่า อนาคตของประเทศไทยนั้นน่าเป็นห่วงไม่น้อย
วิกฤติครั้งนี้ทำให้เราพบความจริงจำนวนมากที่เป็นจุดอ่อนฉกรรจ์ของสังคมไทยในปัจจุบันและจะเหนี่ยวรั้งไม่ให้เราสามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันในโลกได้ในอนาคต
ผมพบว่าระดับความรู้ที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้นแทบจะไม่มีเลยในสังคมไทย
สังคมไทยเราไม่มีความรู้พอที่จะสร้างสรรค์สิ่งจำเป็นต่อการรับมือวิกฤติเลย ทำให้ทุกอย่างติดขัดไปหมด (พูดแบบสมัยใหม่ก็ต้องบอกว่า “เราไม่มีเทคโนโลยี”) เช่น เครื่องตรวจเชื้อ น้ำยาตรวจเชื้อ เครื่องช่วยหายใจ ชุดกันเชื้อ...ยังไม่ต้องพูดถึงอาวุธสำคัญที่จะจบวิกฤติให้ชะงัด ไม่เรื้อรังไปในระยะยาว อย่าง “วัคซีน”
สิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถ “สร้าง” (หรือในภาษาธุรกิจเรียกว่า “ผลิต”) เองได้เลย เราต้องพึ่งพาจากต่างประเทศทั้งนั้น
ทั้งๆ ที่คนเก่งๆ ของเรานิยมเรียนหมอ เภสัช เทคนิคการแพทย์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม กันมาช้านาน
ทั้งๆ ที่เรามีมหาวิทยาลัยแพทย์มามากกว่าร้อยปี มีการเรียนการสอนวิศวกรรมศาสตร์กันมาเป็นร้อยปีเช่นกัน และเราก็มีด็อกเตอร์ยั้วเยี้ยไปหมด
ทั้งๆ ที่เรามีนักธุรกิจที่มีความมั่งคั่งระดับโลกจำนวนมาก ฯลฯ
มีงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาล ไม่มีใครคิดจะ “สร้าง” อะไรด้วยตัวเองบ้างเลยหรือ?
หรือเราไม่มีความรู้พอจะ “สร้าง”...ต้องพึ่งฝรั่ง ญี่ปุ่น (และเดี๋ยวนี้ก็ลดระดับมาพึ่งจีน) ร่ำไปงั้นหรือ
ความรู้ที่เรามีอยู่นั้น มันยังเป็นความรู้ในระดับ “6-7-8-9-10” ยังไม่ใช่ความรู้ในระดับรากฐานแบบ “1-2-3-4-5”...ในระดับ “กึ๋น” ที่จะสามารถ “สร้าง” หรือ “ผลิต” อะไรได้อย่างจริงจัง
ที่ยกมานี้เพียงแค่วงการเดียว ลองกวาดสายตาไปในทุกวงการ เราก็จะพบว่ามันเหมือนกัน แม้แต่ข้าวเม็ดหนึ่งของเรา ยังมี Import Content ถึง 40% ทั้งปุ๋ย แทร็กเตอร์ ยาฆ่าแมลง ยาบำรุง น้ำมัน เครื่องสีข้าว ฯลฯ เหล่านี้เราผลิตได้เองน้อยมาก
ทั้งๆ ที่เราบอกว่าเกษตรกรรมคือหัวใจสำคัญของชาติในอนาคต และเราก็มีบริษัทการเกษตรชื่อดังยิ่งใหญ่ในระดับโลก แต่พ่อพันธ์แม่พันธุ์สัตว์และพืชที่นำมาให้เกษตรกรปลูกหรือเลี้ยงในระบบ Contract Farming นั้น ก็ยังต้องพึ่งพาเจ้าของตัวจริงที่เป็นต่างประเทศ โดยต้องจ่ายค่าเช่าให้เขาอยู่ (เช่นเดียวกันกับธุรกิจค้าปลีกที่บริษัทนั้นเช่าญี่ปุ่นมาประกอบการในไทย ก็ยังต้องพึ่งพาระบบจากญี่ปุ่น โดยต้องจ่ายให้ญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากทุกปี)
ทำไมบริษัทระดับนี้ถึงยังไม่สามารถ Breed พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจได้เอง ทั้งๆ ที่บริษัทก็ก่อตั้งมานานแล้ว และมีด็อกเตอร์อยู่ในอาณัตจำนวนมาก และมีเงินทองพร้อมที่จะลงทุนจำนวนมากด้วย
นี่ยังไม่นับเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นต่อการผลิต (Machine Tools) ซึ่งเราไม่สามารถสร้างอะไรเองได้เลย
แม้กระทั่งยารักษาโรคที่จำเป็นซึ่งปีๆ หนึ่งพวกเราต้องใช้กันมากมายในประเทศ เราก็ต้องนำเข้าแทบทั้งนั้น พอจะสร้างเอง ก็มาติดว่าไม่สามารถผลิตในระดับสารตั้งต้นและสารออกฤทธิ์ได้เอง ทำได้อย่างมากก็แค่ในระดับ Assembly เท่านั้นเอง
แม้กระทั่งกองทัพเอง ซึ่งถือเป็น “รัฐภายในรัฐ” มีทุกอย่างอยู่ในมือพร้อม ก็ยังไม่สามารถสร้างอาวุธที่จำเป็นต่อการป้องกันตนเองได้ ต้องซื้อฝรั่งด้วยราคาแพงอยู่ร่ำไป แม้แต่อะไหล่สำคัญๆ ก็ผลิตเองไม่ได้
ยิ่งในอนาคตด้วยแล้ว ทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองผนวกวิธีการทำมาหากินเข้ากับโลกดิจิตัล ไม่งั้นจะหากินลำบาก (เรียกเป็นภาษาหรูๆ ว่า “Digital Trasformation”) ดังนั้น ความสำคัญหรือ Competitive Advantage จะย้ายมาอยู่ที่ Software และ Platform
ซึ่งเมื่อหันกลับมามองตัวเองแล้ว เราจะพบว่าสิ้นหวังโดยสิ้นเชิง
เราเคยล้มเหลวในโลกที่เน้น Hardware มาแล้ว แต่เราก็ยังคงไม่พร้อมที่จะสร้างเงื่อนไขให้ตัวเองประสบความสำเร็จในโลกใหม่ที่ Software จะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
พอพูดถึงตรงนี้ คนไทยเราก็มักจะโทษรัฐบาล ว่าไม่สนับสนุน R&D โทษระบบการศึกษา โทษ Banker ว่าเอาแต่ผูกขาดปล่อยกู้และสนับสนุนการเงินกันเองในหมู่พวกพ้องและธุรกิจใหญ่ๆ โดยคนเล็กคนน้อยที่มีความคิดสร้างสรรค์แทบเข้าถึงทุนกันไม่ได้เลย โทษนักธุรกิจใหญ่ว่าคิดแต่จะผูกขาดโดยลงทุนในการเมืองเพื่อให้ออกกฎหมายเอื้อการผูกขาดของตน และธุรกิจไทยโดยรวมก็อยู่ในมือคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ที่นิยมการซื้อมาขายไป ไม่นิยมสร้างอุตสาหกรรมไว้ให้ลูกหลานอย่างญี่ปุ่นและเกาหลี ที่สมัยก่อนก็ยากจนไม่รู้อะไร แต่มีความมุ่งมั่นที่จะหาความรู้ไปสู้ฝรั่ง แล้วสร้างกิจการอย่าง โตโยต้า โซนี่ หรือซัมซุง เป็นอาทิ ฯลฯ ไว้ให้ลูกหลานจนสำเร็จ
ส่วนรัฐบาลหรือนักธุรกิจหรือข้าราชการ ก็มักโทษว่าคนไทยขี้เกียจ ชอบสังสรรค์บันเทิง ไม่ชอบแข่งขัน เอาสบาย เห็นแก่เงินเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ชอบแสดงความเห็นแต่ไม่ชอบแสวงหาความรู้ ขาดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ขาดทักษะฝีมือ ชอบแต่จะเป็นลูกจ้างไม่คิดประกอบการเอง ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ขาดวินัย และขาดความสามัคคี ไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้ ฯลฯ
แต่ก่อนจะโทษรัฐบาลและคณะผู้นำ เราก็ต้องเข้าใจเสียก่อนว่ารัฐบาลในเมืองไทยนั้นมีไว้เพื่ออะไร
เท่าที่ผมจำความได้ รัฐบาลในเมืองไทยนั้นมีอำนาจมาก และถูกควบคุมโดยคนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง มีคนไม่กี่ตระกูลอยู่ศูนย์กลางอำนาจ โดยมีเครือข่ายโยงใยไปในทุกวงการ และแน่นอน รัฐบาลย่อมมีไว้เพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มนี้
รัฐบาลไทยมีเครื่องมือสำคัญคือระบบราชการทั้งระบบ กองทัพตำรวจ และกองทัพทหารทั้งสาม
และยังมี “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือ โดยรัฐบาลไทยเป็นสิ่งเดียวที่สังหารคนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
รัฐบาลไทยเป็นเจ้าของที่ดินและทรัพยากรสำคัญที่อยู่ใต้ดิน บนดิน และคลื่นในอากาศ
รัฐบาลไทยยังเป็นเจ้าของธนาคารชาติซึ่งนอกจากจะควบคุมระบบการเงินทั้งระบบแล้ว ยังสามารถพิมพ์เงินมาใช้ได้ในยามจำเป็น
หากมองโดยผิวเผินแล้ว เครื่องมือเหล่านี้ ย่อมมีไว้เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับราษฎร
ทว่าในขณะเดียวกันนั้น หากพิจารณาแบบถึงที่สุดแล้ว เครื่องมือเหล่านี้ก็มีไว้เพื่อควบคุมประชาชนไปด้วยในตัว โดยสิ่งสำคัญคือต้องจ่ายภาษี อีกทั้งยังใช้เป็นตัวจัดสรรผลประโยชน์ต่างๆ ว่าแหล่งรายได้และทรัพยากรสำคัญในสังคมไทยนี้ ใครจะเป็นผู้ตัดตอนไปครอบครองและดำเนินการเก็บรายได้ไว้แบ่งปันกัน
ภาษีคือรายได้สำคัญที่จะผันไปเป็นงบประมาณแผ่นดิน เป็นเงินเดือนของข้าราชการ และงบประมาณนั้นเองก็จะถูกผันไปเป็นรายได้ของกลุ่มในเครือข่าย โดยการจัดซื้อ จัดจ้าง หรือไม่ก็คอร์รัปชั่น และเอื้อกันโดยใช้ระบบราชการตัดสินชี้ขาด
ไม่ต้องแปลกใจว่าคนฉลาดๆ ย่อมอยากเข้าควบคุมรัฐบาล แต่ในเมืองไทยนี้ การแข่งขันกันเข้าความคุมรัฐบาล จะมีได้ก็ต่อเมื่อคนกลุ่มน้อยที่ควบคุมสังคมไทยอยู่ ยอมให้เกิดขึ้น ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ก็พอจะมีเป็นบางช่วง ที่คนกลุ่มนี้เห็นว่าจะฝืนกระแสความต้องการมีส่วนร่วมโดยตรง คงไม่ได้ หรือไม่ก็เกิดจากความขัดแย้งขึ้นในคนกลุ่มน้อยเหล่านี้เสียเอง แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อถูกท้าทายมากจนเห็นว่าอำนาจจะหลุดลอยไป หรืออิทธิพลของตนจะเบาบางลง ก็มักจะใช้วิธีรุนแรงเพื่อยื้อยุดอำนาจให้กลับคืนมาเสมอ
การยึดอำนาจรัฐ โดยคนกลุ่มน้อย จึงเกิดขึ้นเสมอๆ เรื่อยมา
สถานการณ์ที่เป็นมาแบบนี้ มันได้ทำลาย Capability สำคัญของสังคมไทยไป และ Capability นี้เป็นความสามารถที่จำเป็นยิ่งในโลกอนาคต นั่นคือ “Creative Destruction Spirit” ซึ่งคือความอยากจะเปลี่ยนแปลงที่ผูกพันโดยความคิดสร้างสรรค์อันยิ่งยวด ที่จำเป็นสำหรับขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้าไป ทำลายสิ่งเก่าที่ล้าสมัย แทนที่ด้วยสิ่งใหม่ที่เหมาะสมกว่าสิ่งเหล่านี้ได้หายไปจากสังคมไทยอย่างน่าเสียดาย
อย่าลืมว่า ลงทุนอะไรไปมันก็จะได้ผลออกมาอย่างนั้น
เวลา ความใส่ใจ กำลังกาย กำลังทรัพย์ องค์กรทั้งปวง ทักษะ ทรัพย์สินเงินออม พลังความคิดสร้างสรรค์ ความฉลาดเฉลียว ทรัพยากรธรรมชาติอันจำเป็น พื้นที่ ฯลฯ...สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราทุ่มเท “ลงทุน” มันไปกับการสร้างปิระมิด เราก็จะได้ปิระมิด
ถ้าเราลงทุนมันไปกับการสร้างกำแพงเมืองจีน โดยไม่แคร์ต่อความคิดความเห็น ความเป็นอยู่และ welfare ของคนส่วนใหญ่ เราก็จะได้กำแพงเมืองจีน แต่หลังจากนั้นอีกยี่สิบกว่าปี ราชวงค์ของจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนก็ล่มสลายไป
แต่ถ้าเราลงไปกับการจัดระเบียบสังคมที่เน้นความเท่าเทียมกันในเชิงโอกาสของคนทุกกลุ่ม ลดความเหลื่อมล้ำในเชิงรายได้ สร้างความหลากหลายในการร่วมบริหารจัดการ สร้างวัฒนธรรมของการแสวงหาความรู้เชิงลึกอย่างจริงจัง ถกเถียงกันอย่างจริงจังได้ และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสังคมไปได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง ให้คนทั่วไปได้แสดงศักยภาพและระบบสามารถหยิบเอาศักยภาพนั้นไปต่อยอดเป็น Competitve Advantage ของประเทศ ฯลฯ...เราก็อาจจะได้สังคมที่ชนชั้นกลางเป็นคนส่วนใหญ่พอ และผลิตสิ่งสำคัญ (ซึ่งโลกต้องการ) ได้ด้วยตัวเอง ที่จะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศในโลกอนาคต
แน่นอน สังคมที่เด็กยังเถียงผู้ใหญ่ไม่ได้ ย่อมแห้งแล้งความคิดสร้างสรรค์
เมื่อความคิดสร้างสรรค์แห้งแล้ง Creative Destruction ย่อมไม่เกิด และต้องพึ่งพาและวิ่งไล่กวดเขาอยู่ตลอดไป
ทว่า ในโลกยุคใหม่นั้น ใช่ว่าทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลเสมอไป
เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้ Lifestyle การแสวงหาความรู้ และการทำมาหากินของคนสมัยนี้สามารถ “ลอดรัฐ” ออกไปได้
มีแพล็ทฟอร์มจำนวนมากที่ช่วยให้คนเล็กคนน้อยที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทำการค้าขายหรือสร้างรายได้โดยต่อตรงกับตลาดโลกได้ โดยไม่ต้องผ่านระบบราชการหรือรัฐบาล
แพล็ทฟอร์มจำนวนมากยังช่วยให้ความรู้เพื่อฝึกทักษะ และทักษะในการผลิตของที่โลกต้องการ ให้กับคนได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านระบบการศึกษาในประเทศอันล้าหลัง
ยังมี ระบบการชำระเงิน ระบบการออมเงิน ระบบการลงทุน ระบบการผลิต ระบบการระดมทุน ทางเลือกอีกแยะ ที่สามารถเลือกให้มันมารับใช้วิถีชีวิตสมัยใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องผูกผันกับความไร้ประสิทธิภาพของสังคมไทย ได้อีกเป็นจำนวนมาก
สำคัญต้องรู้จัก “ลงทุนในตัวเอง”
คนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าต้องหมั่นหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ ต้องฝึกทักษะเชิงลึก รู้ให้แม่นยำ แสวงหาเครือข่ายของคนรู้จริง หมั่น Observe ความเป็นไปของโลก ของอุตสาหกรรมต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในโลก
หาแรงบันดาลใจและฝึกคิดสร้างสรรค์ ขโมยไอเดียเก๋ๆ ที่เข้าท่าๆ และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเองอยู่เสมอ
ขจัดจิตสำนึกที่เหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเอง ทิ้งไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
และสร้างเครือข่ายใหม่กับคนที่คิดคล้ายกัน ในแพล็ทฟอร์มระดับโลก
แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ลงมือทำ แก้ไขเปลี่ยนแปลงทุกด้านให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ละเมียดขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถสร้าง Uniqueness ให้กับตัวเอง
คนเหล่านี้จะไม่มีวันลำบากในโลกอนาคต
ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว || 8 พ.ค. 2564
บทนำ นิตยสาร MBA ฉบับ 224