December 03, 2024

CREATIVE DESTRUCTION คือ สิ่งที่สังคมไทยต้องการอย่างยิ่งยวด

October 21, 2021 8067

COVID-19 ช่วยให้เราประเมินศักยภาพและ Capability ของประเทศต่างๆ ได้ชัดขึ้น

ทั้งในเชิงของคน ระบอบบริหารหรือการจัดระเบียบสังคม ความสามารถของกลุ่มผู้นำในภาคต่างๆ ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ หมอและบุคลากรในแวดวงการรักษาพยาบาล ตลอดจนระดับความรู้และวัฒนธรรมที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาเชิงวิกฤติที่ฝังอยู่ในสังคมนั้นๆ

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อย เมื่อได้เห็นตัวเองในวิกฤติครั้งนี้ คงกังวลเหมือนกับผมว่า อนาคตของประเทศไทยนั้นน่าเป็นห่วงไม่น้อย

วิกฤติครั้งนี้ทำให้เราพบความจริงจำนวนมากที่เป็นจุดอ่อนฉกรรจ์ของสังคมไทยในปัจจุบันและจะเหนี่ยวรั้งไม่ให้เราสามารถแข่งขันกับคู่แข่งขันในโลกได้ในอนาคต

ผมพบว่าระดับความรู้ที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้นแทบจะไม่มีเลยในสังคมไทย

สังคมไทยเราไม่มีความรู้พอที่จะสร้างสรรค์สิ่งจำเป็นต่อการรับมือวิกฤติเลย ทำให้ทุกอย่างติดขัดไปหมด (พูดแบบสมัยใหม่ก็ต้องบอกว่า “เราไม่มีเทคโนโลยี”) เช่น เครื่องตรวจเชื้อ น้ำยาตรวจเชื้อ เครื่องช่วยหายใจ ชุดกันเชื้อ...ยังไม่ต้องพูดถึงอาวุธสำคัญที่จะจบวิกฤติให้ชะงัด ไม่เรื้อรังไปในระยะยาว อย่าง “วัคซีน”

สิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถ “สร้าง” (หรือในภาษาธุรกิจเรียกว่า “ผลิต”) เองได้เลย เราต้องพึ่งพาจากต่างประเทศทั้งนั้น

ทั้งๆ ที่คนเก่งๆ ของเรานิยมเรียนหมอ เภสัช เทคนิคการแพทย์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม กันมาช้านาน

ทั้งๆ ที่เรามีมหาวิทยาลัยแพทย์มามากกว่าร้อยปี มีการเรียนการสอนวิศวกรรมศาสตร์กันมาเป็นร้อยปีเช่นกัน และเราก็มีดอกเตอร์ยั้วเยี้ยไปหมด

ทั้งๆ ที่เรามีนักธุรกิจที่มีความมั่งคั่งระดับโลกจำนวนมาก ฯลฯ

มีงบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาล

ไม่มีใครคิดจะ “สร้าง” อะไรด้วยตัวเองบ้างเลยหรือ?

หรือเราไม่มีความรู้พอจะ “สร้าง” ...ต้องพึ่งฝรั่ง ญี่ปุ่น (และเดี๋ยวนี้ก็ลดระดับมาพึ่งจีน) ร่ำไปงั้นหรือ

ความรู้ที่เรามีอยู่นั้น มันยังเป็นความรู้ในระดับ “6-7-8-9-10” ยังไม่ใช่ความรู้ในระดับรากฐานแบบ “1-2-3-4-5” ...ในระดับ “กึ๋น” ที่จะสามารถ “สร้าง” หรือ “ผลิต” อะไรได้อย่างจริงจัง

ที่ยกมานี้เพียงแค่วงการเดียว

ลองกวาดสายตาไปในทุกวงการ เราก็จะพบว่ามันเหมือนกัน

แม้แต่ข้าวเม็ดหนึ่งของเรา ยังมี Import Content ถึง 40%

ทั้งปุ๋ย แทร็กเตอร์ ยาฆ่าแมลง ยาบำรุง น้ำมัน เครื่องสีข้าว ฯลฯ เหล่านี้เราผลิตได้เองน้อยมาก

ทั้งๆ ที่เราบอกว่าเกษตรกรรมคือหัวใจสำคัญของชาติในอนาคต

และเราก็มีบริษัทการเกษตรชื่อดังยิ่งใหญ่ในระดับโลก แต่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์สัตว์และพืชที่นำมาให้เกษตรกรปลูกหรือเลี้ยงในระบบ Contract Farming นั้น ก็ยังต้องพึ่งพาเจ้าของตัวจริงที่เป็นต่างประเทศ โดยต้องจ่ายค่าเช่าให้เขาอยู่ (เช่นเดียวกันกับธุรกิจค้าปลีกที่บริษัทนั้นเช่าญี่ปุ่นมาประกอบการในไทย ก็ยังต้องพึ่งพาระบบจากญี่ปุ่น โดยต้องจ่ายให้ญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากทุกปี)

ทำไมบริษัทระดับนี้ถึงยังไม่สามารถ Breed พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจได้เอง ทั้งๆ ที่บริษัทก็ก่อตั้งมานานแล้ว และมีดอกเตอร์อยู่ในอาณัติจำนวนมาก และมีเงินทองพร้อมที่จะลงทุนจำนวนมากด้วย

นี่ยังไม่นับเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นต่อการผลิต (Machine Tools) ซึ่งเราไม่สามารถสร้างอะไรเองได้เลย

แม้กระทั่งยารักษาโรคที่จำเป็นซึ่งปีปีหนึ่งพวกเราต้องใช้กันมากมายในประเทศ เราก็ต้องนำเข้าแทบทั้งนั้น พอจะสร้างเอง ก็มาติดว่าไม่สามารถผลิตในระดับสารตั้งต้นและสารออกฤทธิ์ได้เอง ทำได้อย่างมากก็แค่ในระดับ Assembly เท่านั้นเอง

แม้กระทั่งกองทัพเอง ซึ่งถือเป็น “รัฐภายในรัฐ” มีทุกอย่างอยู่ในมือพร้อม ก็ยังไม่สามารถสร้างอาวุธที่จำเป็นต่อการป้องกันตนเองได้ ต้องซื้อฝรั่งด้วยราคาแพงอยู่ร่ำไป แม้แต่อะไหล่สำคัญๆ ก็ผลิตเองไม่ได้

ยิ่งในอนาคตด้วยแล้ว ทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองผนวกวิธีการทำมาหากินเข้ากับโลกดิจิทัล ไม่งั้นจะหากินลำบาก (เรียกเป็นภาษาหรูๆ ว่า “Digital Trasformation”) ดังนั้น ความสำคัญหรือ Competitive Advantage จะย้ายมาอยู่ที่ Software และ Platform

ซึ่งเมื่อหันกลับมามองตัวเองแล้ว เราจะพบว่าสิ้นหวังโดยสิ้นเชิง

เราเคยล้มเหลวในโลกที่เน้น Hardware มาแล้ว แต่เราก็ยังคงไม่พร้อมที่จะสร้างเงื่อนไขให้ตัวเองประสบความสำเร็จในโลกใหม่ที่ Software จะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

พอพูดถึงตรงนี้ คนไทยเราก็มักจะโทษรัฐบาล ว่าไม่สนับสนุน R&D โทษระบบการศึกษา โทษ Banker ว่าเอาแต่ผูกขาดปล่อยกู้และสนับสนุนการเงินกันเองในหมู่พวกพ้องและธุรกิจใหญ่ๆ โดยคนเล็กคนน้อยที่มีความคิดสร้างสรรค์แทบเข้าถึงทุนกันไม่ได้เลย โทษนักธุรกิจใหญ่ว่าคิดแต่จะผูกขาดโดยลงทุนในการเมืองเพื่อให้ออกกฎหมายเอื้อการผูกขาดของตน และธุรกิจไทยโดยรวมก็อยู่ในมือคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ที่นิยมการซื้อมาขายไป ไม่นิยมสร้างอุตสาหกรรมไว้ให้ลูกหลานอย่างญี่ปุ่นและเกาหลี ที่สมัยก่อนก็ยากจนไม่รู้อะไร แต่มีความมุ่งมั่นที่จะหาความรู้ไปสู้ฝรั่ง แล้วสร้างกิจการอย่าง โตโยต้า โซนี่ หรือซัมซุง เป็นอาทิ ฯลฯ ไว้ให้ลูกหลานจนสำเร็จ

ส่วนรัฐบาลหรือนักธุรกิจหรือข้าราชการ ก็มักโทษว่าคนไทยขี้เกียจ ชอบสังสรรค์บันเทิง ไม่ชอบแข่งขัน เอาสบาย เห็นแก่เงินเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ชอบแสดงความเห็นแต่ไม่ชอบแสวงหาความรู้ ขาดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ขาดทักษะฝีมือ ชอบแต่จะเป็นลูกจ้างไม่คิดประกอบการเอง ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ขาดวินัย และขาดความสามัคคี ไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้ ฯลฯ

แต่ก่อนจะโทษรัฐบาลและคณะผู้นำ เราก็ต้องเข้าใจเสียก่อนว่ารัฐบาลในเมืองไทยนั้นมีไว้เพื่ออะไร

เท่าที่ผมจำความได้ รัฐบาลในเมืองไทยนั้นมีอำนาจมาก และถูกควบคุมโดยคนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง มีคนไม่กี่ตระกูลอยู่ศูนย์กลางอำนาจ โดยมีเครือข่ายโยงใยไปในทุกวงการ และแน่นอน รัฐบาลย่อมมีไว้เพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มนี้

รัฐบาลไทยมีเครื่องมือสำคัญคือระบบราชการทั้งระบบ กองทัพตำรวจ และกองทัพทหารทั้งสาม

และยังมี “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือ โดยรัฐบาลไทยเป็นสิ่งเดียวที่สังหารคนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

รัฐบาลไทยเป็นเจ้าของที่ดินและทรัพยากรสำคัญที่อยู่ใต้ดิน บนดิน และคลื่นในอากาศ

รัฐบาลไทยยังเป็นเจ้าของธนาคารชาติซึ่งนอกจากจะควบคุมระบบการเงินทั้งระบบแล้ว ยังสามารถพิมพ์เงินมาใช้ได้ในยามจำเป็น

หากมองโดยผิวเผินแล้ว เครื่องมือเหล่านี้ ย่อมมีไว้เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับราษฎร

ทว่าในขณะเดียวกันนั้น หากพิจารณาแบบถึงที่สุดแล้ว เครื่องมือเหล่านี้ก็มีไว้เพื่อควบคุมประชาชนไปด้วยในตัว โดยสิ่งสำคัญคือต้องจ่ายภาษี อีกทั้งยังใช้เป็นตัวจัดสรรผลประโยชน์ต่างๆ ว่าแหล่งรายได้และทรัพยากรสำคัญในสังคมไทยนี้ ใครจะเป็นผู้ตัดตอนไปครอบครองและดำเนินการเก็บรายได้ไว้แบ่งปันกัน

ภาษี คือ รายได้สำคัญที่จะผันไปเป็นงบประมาณแผ่นดิน เป็นเงินเดือนของข้าราชการ และงบประมาณนั้นเองก็จะถูกผันไปเป็นรายได้ของกลุ่มในเครือข่าย โดยการจัดซื้อ จัดจ้าง หรือไม่ก็คอร์รัปชัน และเอื้อกันโดยใช้ระบบราชการตัดสินชี้ขาด

ไม่ต้องแปลกใจว่าคนฉลาดๆ ย่อมอยากเข้าควบคุมรัฐบาล แต่ในเมืองไทยนี้ การแข่งขันกันเข้าความคุมรัฐบาล จะมีได้ก็ต่อเมื่อคนกลุ่มน้อยที่ควบคุมสังคมไทยอยู่ ยอมให้เกิดขึ้น

ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ก็พอจะมีเป็นบางช่วง ที่คนกลุ่มนี้เห็นว่าจะฝืนกระแสความต้องการมีส่วนร่วมโดยตรง คงไม่ได้

หรือไม่ก็เกิดจากความขัดแย้งขึ้นในคนกลุ่มน้อยเหล่านี้เสียเอง แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อถูกท้าทายมากจนเห็นว่าอำนาจจะหลุดลอยไป หรืออิทธิพลของตนจะเบาบางลง ก็มักจะใช้วิธีรุนแรงเพื่อยื้อยุดอำนาจให้กลับคืนมาเสมอ

การยึดอำนาจรัฐ โดยคนกลุ่มน้อย จึงเกิดขึ้นเสมอๆ เรื่อยมา

สถานการณ์ที่เป็นมาแบบนี้ มันได้ทำลาย Capability สำคัญของสังคมไทยไป และ Capability นี้เป็นความสามารถที่จำเป็นยิ่งในโลกอนาคต

นั่นคือ “Creative Destruction Spirit” ซึ่งคือความอยากจะเปลี่ยนแปลงที่ผูกพันโดยความคิดสร้างสรรค์อันยิ่งยวด ที่จำเป็นสำหรับขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวหน้าไป ทำลายสิ่งเก่าที่ล้าสมัย แทนที่ด้วยสิ่งใหม่ที่เหมาะสมกว่า

สิ่งเหล่านี้ได้หายไปจากสังคมไทยอย่างน่าเสียดาย

อย่าลืมว่า ลงทุนอะไรไปมันก็จะได้ผลออกมาอย่างนั้น

เวลา ความใส่ใจ กำลังกาย กำลังทรัพย์ องค์กรทั้งปวง ทักษะ ทรัพย์สินเงินออม พลังความคิดสร้างสรรค์ ความฉลาดเฉลียว ทรัพยากรธรรมชาติอันจำเป็น พื้นที่ ฯลฯ ...สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราทุ่มเท “ลงทุน” มันไปกับการสร้างพีระมิด เราก็จะได้พีระมิด

ถ้าเราลงทุนมันไปกับการสร้างกำแพงเมืองจีน โดยไม่แคร์ต่อความคิดความเห็น ความเป็นอยู่และ welfare ของคนส่วนใหญ่ เราก็จะได้กำแพงเมืองจีน แต่หลังจากนั้นอีกยี่สิบกว่าปี ราชวงศ์ของจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนก็ล่มสลายไป

แต่ถ้าเราลงไปกับการจัดระเบียบสังคมที่เน้นความเท่าเทียมกันในเชิงโอกาสของคนทุกกลุ่ม ลดความเหลื่อมล้ำในเชิงรายได้ สร้างความหลากหลายในการร่วมบริหารจัดการ สร้างวัฒนธรรมของการแสวงหาความรู้เชิงลึกอย่างจริงจัง ถกเถียงกันอย่างจริงจังได้ และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสังคมไปได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง ให้คนทั่วไปได้แสดงศักยภาพและระบบสามารถหยิบเอาศักยภาพนั้นไปต่อยอดเป็น Competitve Advantage ของประเทศ ฯลฯ ...เราก็อาจจะได้สังคมที่ชนชั้นกลางเป็นคนส่วนใหญ่พอ และผลิตสิ่งสำคัญ (ซึ่งโลกต้องการ) ได้ด้วยตัวเอง ที่จะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศในโลกอนาคต

แน่นอน สังคมที่เด็กยังเถียงผู้ใหญ่ไม่ได้ ย่อมแห้งแล้งความคิดสร้างสรรค์

เมื่อความคิดสร้างสรรค์แห้งแล้ง Creative Destruction ย่อมไม่เกิด และต้องพึ่งพาและวิ่งไล่กวดเขาอยู่ตลอดไป

ทว่า ในโลกยุคใหม่นั้น ใช่ว่าทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลเสมอไป

เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้ Lifestyle การแสวงหาความรู้ และการทำมาหากินของคนสมัยนี้สามารถ “ลอดรัฐ” ออกไปได้

มีแพลตฟอร์มจำนวนมากที่ช่วยให้คนเล็กคนน้อยที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทำการค้าขายหรือสร้างรายได้โดยต่อตรงกับตลาดโลกได้ โดยไม่ต้องผ่านระบบราชการหรือรัฐบาล

แพลตฟอร์มจำนวนมากยังช่วยให้ความรู้เพื่อฝึกทักษะ และทักษะในการผลิตของที่โลกต้องการ ให้กับคนได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านระบบการศึกษาในประเทศอันล้าหลัง

ยังมี ระบบการชำระเงิน ระบบการออมเงิน ระบบการลงทุน ระบบการผลิต ระบบการระดมทุน ทางเลือกอีกแยะ ที่สามารถเลือกให้มันมารับใช้วิถีชีวิตสมัยใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องผูกพันกับความไร้ประสิทธิภาพของสังคมไทย ได้อีกเป็นจำนวนมาก

สำคัญต้องรู้จัก “ลงทุนในตัวเอง”

คนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าต้องหมั่นหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ ต้องฝึกทักษะเชิงลึก รู้ให้แม่นยำ แสวงหาเครือข่ายของคนรู้จริง หมั่น Observe ความเป็นไปของโลก ของอุตสาหกรรมต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในโลก

หาแรงบันดาลใจและฝึกคิดสร้างสรรค์ ขโมยไอเดียเก๋ๆ ที่เข้าท่าๆ และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเองอยู่เสมอ

ขจัดจิตสำนึกที่เหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเอง ทิ้งไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

และสร้างเครือข่ายใหม่กับคนที่คิดคล้ายกัน ในแพลตฟอร์มระดับโลก

แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ลงมือทำ แก้ไขเปลี่ยนแปลงทุกด้านให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ละเมียดขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถสร้าง Uniqueness ให้กับตัวเอง

คนเหล่านี้จะไม่มีวันลำบากในโลกอนาคต


บทความโดย:

ท้กษ์ศิล ฉัตรแก้ว

16  พค 2564

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Friday, 22 October 2021 11:20
X

Right Click

No right click