December 26, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

MBA ธุรกิจบัณฑิตย์ MBA เพื่อยุคดิจิทัล

August 13, 2018 3920

“การทำธุรกิจการค้าขายปัจจุบันไม่ได้อยู่แค่ในเรื่องธุรกิจแบบเดิมๆ มีการ Disruption ใน Supply Chain อยู่ตลอดเวลา ถ้าจะขายของเดิมต้องมีหน้าร้านเดี๋ยวนี้ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้มือถือ สามารถสั่งซื้อของได้ ความจำเป็นของหน้าร้านลดลงไป โดยเทคโนโลยีแล้วความจำเป็นที่จะต้องผ่านสื่อกลางน้อยลง นี่คือตัวอย่างบริบทของดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ซึ่งบริบทเหล่านี้นักศึกษาของเราจะได้เรียนรู้”

ดร.รชฏ ขำบุญ รองคณบดีสายงานวิชาการ วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี และผู้อำนวยการหลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวกับ MBA ถึงความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจและการเตรียมความพร้อมให้กับมหา-บัณฑิตของสถาบัน

หลักสูตรเอ็มบีเอของธุรกิจบัณฑิตย์มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 20 ปี มีการปรับปรุงหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่อง ให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ โดยการเทียบเคียงหลักสูตรกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก และแนวโน้มของประเทศ รวมถึงนโยบายภาครัฐ เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และจากการสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้งานบัณฑิตที่ผ่านมา พบว่าผู้ใช้งานบัณฑิตต้องการผู้ที่มีความรู้สามารถบูรณาการองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ได้ สามารถเข้าใจงานในแต่ละส่วนได้ดี และต้องการผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในส่วนงานที่รับผิดชอบ

ดร.รชฏเล่าว่าจากมุมมองของอธิการบดี ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ ที่มองว่าหลักสูตรจะต้องสอดคล้องกับนโยบายทิศทางของภาครัฐด้วย และมองความต้องการใช้บัณฑิตในอนาคต 3-4 ปีข้างหน้า เป็นแนวทางในการปรับปรุงหลักสูตรครั้งล่าสุดที่กำลังใช้อยู่วันนี้

จากการศึกษาข้อมูลต่างๆ เบื้องต้นก็ได้คำตอบว่า หลักสูตรของธุรกิจบัณฑิตย์จะมุ่งเน้นไปที่ดิจิทัลมากขึ้นในทุกกลุ่มวิชาทั้ง 6 กลุ่ม คือ การตลาดดิจิทัล ผู้ประกอบการธุรกิจดิจิทัล การจัดการการเงินยุคดิจิทัล การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในยุคดิจิทัล ธุรกิจดิจิทัล และธุรกิจประกันภัย 

ผู้อำนวยการหลักสูตรอธิบายว่าการเน้นเรื่องดิจิทัลในเนื้อหาวิชา จะมีการสอนเรื่องเทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล เช่นในสาขาโลจิสติกส์มีเรื่องการประยุกต์ใช้โดรนขนส่งสินค้า แอปพลิเคชันเพื่อการทำงานต่างๆ ที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้ โดยเรียนผ่านกรณีศึกษา และเน้นภาคปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น

และเพิ่มเติมว่าการเรียนการสอนในปัจจุบันแตกต่างจากที่ผ่านมา ที่เน้นที่การสอบกลางภาคและปลายภาคเพื่อวัดความรู้ความเข้าใจของนักศึกษา หากเปลี่ยนมาเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนมาจากภาคปฏิบัติ ส่วนการสอบเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์หรือบางวิชาอาจจะไม่มีการสอบเลย โดยให้นักศึกษาทำงานกลุ่มและงานเดี่ยวแทน การเน้นภาคปฏิบัติเช่นการทำโมเดล มีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางทฤษฎีที่เรียนไปมากขึ้น และเน้นการเรียนแบบ Project Base ช่วยเพิ่มความเข้าใจในเนื้อหาวิชา รวมถึงทำให้ผู้เรียนได้แบ่งปันความคิดเห็นที่หลากหลายในการอภิปรายกรณีต่างๆ 

“เรียนออนไลน์บ้าง หรือเราสรุปประเด็นให้เข้าใจง่าย แต่ก่อนผมสอนคำนวณมากแต่เดี๋ยวนี้คอมพิวเตอร์คีย์ไปใน Excel แป๊บเดียว ถ้ารู้สูตร รู้ที่มาของสูตรแก้ปัญหา 10 นาที แต่เดิมต้องสอบข้อนี้ 3 ชั่วโมง ถามว่าต้องกลับไปเรียนแบบเดิมไหม ไม่ต้องแล้ว ผมอธิบายซัพพลายเชนผมอธิบายแค่ 6 ชั่วโมงนักศึกษาก็เข้าใจได้แล้ว แต่ก่อนต้องเป็นทั้งเทอม เพราะต้องมีการคำนวณ มีสูตร เดี๋ยวนี้เราเอาโจทย์ให้นักศึกษาแก้ใน Excel เรามีซอฟต์แวร์ให้ ที่เหลือไปเรียนอย่างอื่น ไปดูตัวอย่าง” ดร.รชฏอธิบายรูปแบบการเรียนแบบใหม่และบอกต่อว่า

การเรียนทฤษฎีที่น้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้เรียนจะได้ความรู้ลดลง แต่เปลี่ยนรูปแบบการเรียนด้วยการให้นักศึกษาไปเรียนรู้จากบทเรียนออนไลน์ที่หลักสูตรจัดเตรียมไว้ให้ก่อนเข้าห้องเรียน เมื่อนักศึกษาเข้าห้องเรียนในวันเสาร์ก็จะเป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ รวมถึงการได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่แต่ละวิชาเชิญมาให้ความรู้ 

“เอ็มบีเอเหมือนพูลตรงกลาง เราเชิญอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เช่นทางด้านการบิน วิทยาลัยการบิน ด้านการโรงแรมก็เชิญจากวิทยาลัยการโรงแรมมา นักศึกษาของเรานอกจากมีความรู้พื้นฐานของเอ็มบีเอแล้ว เขาจะมีความเชี่ยวชาญทางด้านสาขาที่เลือก ก็มีเชิญวิทยากรภายนอก มาเล่าว่าอะไรคือปัจจัยความสำเร็จของแต่ละธุรกิจเป็นต้น”

“นี่เป็นสิ่งที่ในหลักสูตรที่ปรับมา คือไม่เน้นเรื่องการจำทฤษฎี ในนโยบายของมหาวิทยาลัยเราเน้นการปฏิบัติให้มาก เพราะเราเชื่อว่า ทฤษฎี สุดท้าย ก็อ่านก่อนสอบ 1-2 คืน แล้วก็ลืม แต่ถ้าปฏิบัติเป็นเขาจะจำได้ และการเรียนจะสนุกกว่ากันมาก” 

หลักสูตรที่เน้นการเรียนภาคปฏิบัติและเรื่องดิจิทัลที่สอดแทรกในเนื้อหาของธุรกิจบัณฑิตย์เริ่มใช้ในภาคการศึกษานี้ โดยรูปแบบการเรียนเป็นบล็อกคอร์ส ที่เรียนครั้งละ 1 วิชาติดต่อกัน 5-6 สัปดาห์ ซึ่งนักศึกษาตอบรับค่อนข้างดี

ดร.รชฏ มองว่า การเรียนรู้รูปแบบใหม่นี้ จะช่วยให้นักศึกษาเชื่อมโยงองค์ความรู้ได้ดีกว่า สามารถมองภาพรวมได้ดีขึ้น เข้าใจว่าทุกกิจกรรมที่ตัดสินใจสามารถส่งผลถึงผลงานขององค์กร รวมถึงผลกำไรขาดทุนขององค์กรได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน รูปแบบการเรียนการสอนที่แม้จะมี เครื่องมือดิจิทัลมาช่วยเหลือแต่การมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในห้องเรียนก็ยังคงมีความสำคัญ การผสมผสานการเรียนการสอนทั้งการเรียนออนไลน์และการเข้าห้องเรียนจึงเป็นรูปแบบที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน 

Last modified on Monday, 13 August 2018 06:19
X

Right Click

No right click