January 22, 2025

MBA ม.เกษตร ปรับหลักสูตรทั้งองคาพยพ เตรียมพร้อมรับการรับรองมาตรฐานสากล AACSB

April 21, 2022 9639

หลักสูตรทางด้านบริหารธุรกิจและบัญชีดั้งเดิมนั้นเปิดสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 ภายใต้สังกัดคณะสหกรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่คณะแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปัจจุบันคือคณะเศรษฐศาสตร์ จนในปี 2535 คณะบริหารธุรกิจได้ก่อตั้งขึ้นโดยแยกจากคณะเศรษฐศาสตร์ ดังนั้น ในปีนี้นับเป็นปีที่ 30 ที่คณะฯ ได้แยกตัวเองออกมา ถือเป็นวัยทำงานที่กำลังเติบโต และพร้อมลุยกับทุกสถานการณ์  

ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่วันนี้การบริหารธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันตลอดเวลา การปรับทั้งองคาพยพจึงเป็นสิ่งจำเป็น “รศ.ดร.ศศิวิมล มีอำพล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ (KBS) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” คณบดีป้ายแดง ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้ง พร้อมเข้ามาทำหน้าที่ปรับเปลี่ยน KBS ทั้งเรื่องหลักสูตร สภาพแวดล้อม รูปแบบการเรียนการสอน ฯลฯ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันให้ได้มากที่สุด

ศาสตร์บริหารแทรกซึมทุกบริบท

รศ.ดร.ศศิวิมล มีอำพล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการเรียน MBA ในยุค 2022 ว่า การเรียน MBA ในอดีตคนที่มาเรียน คือ คนที่อยากมาเรียนเพื่อเอาไปใช้ในการบริหารธุรกิจให้เกิดกำไรที่เป็นตัวเงิน  แต่วันนี้ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ทำธุรกิจที่ต้องรู้ศาสตร์บริหารธุรกิจเท่านั้น แต่ผู้บริหารองค์กรภาครัฐ เอกชน ทุกคนควรมีพื้นฐานศาสตร์การบริหารธุรกิจ เพราะการบริหารธุรกิจถูกแทรกเข้าไปในทุกภาคส่วน  

ศาสตร์การบริหารธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้องหมด ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจหรือไม่ ก็สามารถนำเอาศาสตร์การบริหารธุรกิจไปประยุกต์ใช้กับทุกๆ เรื่อง ในทุกๆ บริบท MBA จึงเป็นพื้นฐานที่จำเป็นของทุกบริบท ทุกวันนี้ผลกำไรทางธุรกิจไม่ได้วัดกันที่ตัวเงินแล้ว แต่วัดกันได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความก้าวหน้า การคืนสู่สังคม

นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด – 19 ยังทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี การบริหารจึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ศาสตร์บริหารจึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปประยุกต์ในทุกๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นทางด้านการจัดการ การเงิน การตลาด บัญชี เทคโนโลยี ฯลฯ

หลักสูตรปี 65 ปรับรับการเปลี่ยนแปลง

จากการเปลี่ยนแปลงในเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค และสถานการณ์โควิด – 19 รวมทั้งการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี ทำให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา หลักสูตรการเรียนการสอนก็ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

รองศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล กล่าวถึงการปรับหลักสูตรใหม่ของคณะฯ ว่า ในปีการศึกษา 2565 มีหลายหลักสูตรที่ถึงรอบเวลาของการปรับปรุงพอดี ในขณะนี้หลายหลักสูตรแม้จะไม่ถึงรอบการปรับปรุง แต่คณะฯ ก็มีนโยบายให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรปรับเนื้อหาในแต่ละรายวิชาให้ทันสมัยต่อสถานการณ์ ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะหากรอรอบการปรับปรุงหลักสูตรจะไม่ทันกับการเรียนรู้

โดยปีการศึกษา 2565 จะมีการเพิ่มรายวิชาใหม่ๆ เข้าไป อย่าง Data Analytics หรือวิชาทางด้านการจัดการ Technology ซึ่งศาสตร์ใหม่ๆ เหล่านี้จะถูกแทรกไปกับรายวิชาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ เพราะการบริหารธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

ในปีนี้คณะฯ จะมุ่งเน้นในเรื่องของการได้รับการรองรับมาตรฐานสากล ยื่นขอการรับรองจาก Association to Advance Collegiate Schools of Business (AACSB) และสนับสนุนให้อาจารย์ในคณะฯ ซึ่งเกือบ 100% จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ มีการทำวิจัยและตีพิมพ์ผลงานวิชาการระดับนานาชาติ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการนำองค์ความรู้จากการวิจัยมาใช้ในการสอน งานวิจัยต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติไม่ใช่เป็นการวิจัยแบบขึ้นหิ้ง

นอกจากนี้ จะมีการร่วมมือกับภาคเอกชนให้มากขึ้น อย่างที่ผ่านมามีการทำ MOU ความร่วมมือทางวิชาการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 กับบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ยูนิคอร์นรายแรกของไทย โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้นิสิตบูรณาการความรู้ และมีทักษะการทำงานจากการปฏิบัติงานจริง เพื่อยกระดับศักยภาพของนิสิตให้พร้อมเผชิญโลกธุรกิจ ด้วยความมั่นใจ และสนองตอบภาคธุรกิจได้เป็นอย่างดี หรือความร่วมมือกับบริษัทกลุ่ม Big Four  ในการส่งนิสิตเข้าไปเรียนรู้ระบบการทำงาน และเรียนรู้โปรแกรมการทำงานด้านบัญชี

สร้างระบบการเรียนแบบไฮบริด

สถานการณ์โควิด – 19 ไม่เพียงแต่ทำให้คณะฯ ต้องปรับปรุงรายวิชาหรือหลักสูตรให้สอดรับกับสถานการณ์ ระบบการเรียนการสอนก็ต้องปรับปรุงด้วย จากเดิมที่เป็นการเรียนแบบออนไซท์ (On - Site) หรือการเรียนที่สถาบันการศึกษา มาสู่การเรียนแบบออนไลน์ (Online) หรือการเรียนที่ใดก็ได้

โดยทางคณะฯ เลือกใช้เป็นระบบการเรียนแบบไฮบริด (Hybird) คือ การผสมผสานระหว่างออนไซท์ กับออนไลน์ ซึ่งทำมาได้ 2 ปีแล้ว เพื่อให้นิสิตได้พบกับอาจารย์บ้าง เพื่อให้นิสิตได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเพิ่มทักษะในการสื่อสาร รวมถึงเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และนิสิต นอกจากนี้ คณะฯ อยู่ระหว่างการสร้าง Smart Class Room และ Co-working Space เพื่อให้นิสิตได้มีพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพิ่มขึ้น และไว้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

ในช่วงแรกๆ อาจารย์และนิสิตต้องมีการปรับตัวเรื่องการเรียนการสอน แต่ปัจจุบันสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี คณะฯ ก็มีการให้ทุนอาจารย์สำหรับการผลิตสื่อการเรียนการสอน ส่วนนิสิตทางคณะฯ ก็มีโน้ตบุ๊กให้นิสิตสำหรับยืมใช้เรียน”

นอกจากนี้ คณะฯ ยังมีความร่วมมือกับคณะอื่นๆ เพื่อจัดทำโครงการร่วมกัน เช่น โครงการประกวดนวัตกรรมบูรณาการศาสตร์ เป็นความร่วมมือกันของ 4 คณะ ได้แก่ คณะสถาปัตยกรรม คณะวนศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ เพื่อจัดแคมป์ให้กับนิสิตตั้งแต่ปี 2 ขึ้นไปในการสร้างผู้ประกอบการ โดยให้ทำโครงงานร่วมกันเพื่อรู้จักการทำงานแบบทีมเวิร์คและการเป็นผู้ประกอบการ โจทย์ของโครงการ คือ การผลิตสินค้ากลุ่ม BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดยมีอาจารย์แต่ละคณะเป็นที่ปรึกษา นิสิตที่เข้าร่วมโครงการจะได้องค์ความรู้กลับไปทุกศาสตร์ของทุกคณะ

“วันนี้การสร้างผู้ประกอบการจะเกิดจากคณะใดคณะเดียวไม่ได้แล้ว ต้องเป็นการร่วมมือกันจากหลายๆ ศาสตร์ โครงการนี้จัดขึ้นปีที่ผ่านมาเป็นปีแรก ปีนี้จะยังคงมีโครงการต่อเนื่อง”

 

มองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

การเกิดขึ้นของโควิด – 19 ยังทำให้อาจารย์ในคณะฯ ได้พัฒนาตนเองมากขึ้น ผ่านงานบริการวิชาการกับองค์กรภายนอก ทั้งเรื่องการตลาด การสร้างแบรนด์ การบริหารจัดการฯลฯ

“เดิมคนจะมองว่าคณะบริหารฯ จะให้บริการวิชาการที่ปลายน้ำเท่านั้น เช่น การทำตลาด การทำโปรโมชั่น การขาย ฯลฯ แต่ปัจจุบันศาสตร์การบริหารธุรกิจทำให้คณะฯ เราสามารถให้บริการวิชาการตั้งแต่ต้นน้ำ เรามองตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้าจนถึงการขาย อาทิเช่น ตอนนี้มีอาจารย์ของเราเข้าไปช่วยชุมชนตั้งแต่เริ่มปลูกกะท่อม แล้วนำกะท่อมมาผลิตเป็นสินค้าออกจำหน่าย

จากการที่อาจารย์ของคณะฯ ได้ลงพื้นที่จริง มีประสบการณ์จริงในการเข้าไปช่วยองค์กรธุรกิจ ทำให้อาจารย์มีประสบการณ์ ซึ่งสามารถนำองค์ความรู้เหล่านี้มาเป็น Case Study เพื่อสอนนิสิตได้ นอกจากนี้ ยังมีการเชิญวิทยากรจากองค์กรขนาดใหญ่เข้ามาเสริมทัพ ซึ่งเขาจะ Case Study จากธุรกิจจริงมาสอนให้กับนิสิตด้วย

และเรายังมี สมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร (สมาคม Ex-MBA) ที่รวมทั้งศิษย์เก่าทุกรุ่นและนิสิตปัจจุบันของโครงการ Ex-MBA ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เรียนที่เป็นผู้บริหารระดับสูง เข้ามาช่วยแชร์ประสบการณ์การทำงานของเขาให้กับนิสิต ทำให้ได้เห็นมุมมองในการบริหารงานจากหลากหลายองค์กร "

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของ KBS ภายใต้คณบดีคนใหม่ ที่วันนี้ไม่เพียงแต่ต้องปรับคณะและหลักสูตรให้สอดรับกับสถานการณ์โลกปัจจุบันและโควิด – 19 ยังต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางสังคมที่สัดส่วนผู้สูงวัยมีมากขึ้นขณะที่สัดส่วนของวัยเรียนวัยทำงานมีน้อยลง ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล มีอำพล” พร้อมนำพาคณะฯ ให้ผ่านทุกสถานการณ์ได้อยู่แล้ว


เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์

Last modified on Sunday, 27 November 2022 08:13
X

Right Click

No right click