พร้อมเกียรติคุณรางวัลดีเด่นด้านการปรับปรุงหลักสูตรหรือ Kaizen ถือเป็นความสำเร็จที่ไม่ได้ได้มาโดยง่าย ด้วยความเป็นวิทยาลัยที่มีหลักสูตรส่วนใหญ่คือ MBA ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก อีกทั้งยังอยู่ในยุทธศาสตร์สำคัญของ EEC ในยุคที่อุตสาหกรรมการศึกษาเริ่มได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption รวมถึงยังมีความท้าทายจาก เทรนด์การเรียนรู้และความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปทุกชั่วพริบตา ในโมงยามที่ใบปริญญาอาจไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันการเป็นผู้ประกอบเปี่ยมคุณภาพอีกต่อไป
ทว่า คณบดีของวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระพีพร ศรีจำปา ก็โอบรับประเด็นต่างๆ เหล่านั้น มาใช้สร้างโอกาสในการก้าวขึ้นเป็นสถาบันผลิตผู้บริหารที่โดดเด่นในภาคตะวันออก และได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศ อย่างไม่หยุดหย่อน ด้วยมุดหมายที่ปักไว้บนสโลแกนของวิทยาลัยว่า ‘น้อมนำศาสตร์พระมหากษัตริย์ สร้างผู้นำนวัตกรรมจิตอาสา พัฒนาความยั่งยืนสู่สากล’ ได้สำเร็จ ด้วยเครื่องยืนยันจากรางวัลที่กล่าวไว้ข้างต้น ที่เชิดชูการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบันเสมอ หรือ Continuous Improvement
หลักสูตรไม่ได้อยู่แต่ในตำราและห้องเรียน
ในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้จากตำราที่เขียนขึ้น ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งอาจไม่นำพาประโยชน์สูงสุดมาถึงผู้เรียนอีกต่อไป ผศ.ดร.ระพีพร มีแนวคิดว่าความรู้ที่ก้าวไกลจะต้องเป็น พลวัต และไม่จำกัด (Dynamic and Unlimited) GSC จึงใช้ฐานความรู้จากแหล่งความรู้ที่เกิดใหม่ทั่วโลกประหนึ่งตำราที่มีชีวิต ผสานรวมกับความต้องการของนิสิต ภาคอุตสาหกรรม และสังคม ที่ถือเป็นการบ้านที่คณะผู้บริหารของวิทยาลัยจะต้องตื่นตัวและตอบรับอย่างบกพร่องมิได้ ที่สำคัญคือการสนับสนุนการเรียนการสอนแบบ Sharing Knowledge ภายใต้บรรยากาศของการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและโซเชียลมีเดียในทุกมิติของวิทยาลัย
บรรยากาศเหล่านั้น ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคุ้นชินต่อการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่แฝงอยู่รอบตัวในชีวิตการทำงานจริง และสร้างความพร้อมในการปรับใช้ (Transform) เทคโนโลยีเหล่านั้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อองค์กร ยกตัวอย่างเช่น การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ สำหรับผู้เรียนที่เป็นผู้ประกอบการ หรือนักเรียนแลกเปลี่ยน
อาจารย์สามารถแจ้งความจำนงในการไลฟ์สตรีมการสอนได้ การประเมินผลการสอบผ่านเว็บไซต์ยูทูบ การใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียอย่างไลน์ อินสตาแกรม หรือ กลุ่มเฟสบุ๊คที่กระตุ้นให้เกิด Sharing Knowledge อย่างเช่น การส่งงาน ที่จะไม่ได้สร้างความรับรู้ระหว่างนิสิตกับอาจารย์เท่านั้น แต่ทุกคนในชั้นเรียนจะได้เห็นผลงานของผู้ร่วมเรียน ที่ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงงานให้ดีขึ้นเสมอ และยอมรับข้อคิดเห็นไปพร้อมๆ กับกล้าแสดงความคิดเห็น ถือเป็นการปลูกคุณลักษณะแบบ Kaizen ไปในตัว ผ่านแอปพลิชันโซเชียลมีเดียที่ทุกคนมีใช้งานฟรีในมือ
ในแง่ของภาคบริการ GSC ยังมีระบบการยื่นคำร้องออนไลน์ ที่วิทยาลัยและนิสิตสื่อสารกันได้อย่างประหยัดเวลาและระยะทาง หรือระบบการเข้าพบอาจารย์ผ่านวิดีโอคอล อีกทั้งยังมีงานวิจัยในการผลิตแอปพลิชันเพื่อสร้างฐานข้อมูลและการสื่อสารในวิทยาลัยให้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ผศ.ดร.ระพีพร ยังกระตุ้นให้เกิดการคิดสร้างนวัตกรรมใหม่ในกลุ่มคณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนิสิต โดยเปิดรับความคิดเห็นต่อตัวโดยตรงผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัวตลอด 24 ชั่วโมง และปฏิบัติการให้เกิดขึ้นจริง เช่น เชิญวิทยากรพิเศษตามคำร้องของนิสิต ผลิต Business Game ของวิทยาลัย หรือแม้แต่การใช้ต้นไม้จริงแทนพุ่มดอกไม้ในพิธีรดน้ำวันสงกรานต์เพื่อลดขยะและเพิ่มพื้นที่สีเขียว
นวัตกรรมควบคู่จิตอาสา
ปัจจุบันคงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเด็กอายุ 15 จะเป็นผู้ประกอบการ ความจริงนี้อาจเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ปริญญาอาจไม่ใช่ใบผ่านทางสู่ความสำเร็จเท่าเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา หากแต่การสร้างสรรค์ไอเดีย เรียนรู้เทคโนโลยีด้วยตัวเอง หรือศึกษา Hard Skill ในสถาบันอาชีวะ กลายเป็นเทรนด์ใหม่ ที่มีราคาเทียบเท่าหลักสูตรบัณฑิตศึกษา ในขณะเดียวกันบริษัทขนาดใหญ่ก็ต้องการเด็กรุ่นใหม่ที่เท่าทันยุคสมัยมาอยู่ในมือด้วยเช่นกัน
ถึงแม้ประเด็นนี้จะเป็นปัญหาที่หลายสถาบันต้องรับมือ แต่ไม่ใช่สำหรับ GSC ซึ่งแม้วิทยาลัยจะมีหลักสูตรสร้างผู้ประกอบโดยเฉพาะ แต่ในภาพรวมแล้ว ด้วยเป้าหมายในการผลิตผู้บริหาร ที่มีคุณลักษณะอังพึงประสงค์ 4 ประการ ก็สามารถผลิตบุคลากรที่เป็นได้ทั้งระดับบริหารที่มีคุณภาพ พร้อมๆ กับการเป็นผู้ประกอบการได้ ดังต่อไป
1. ภาวะผู้นำ - ประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์ (Creative) มีนวัตกรรม (Innovative) และ (Apply) ปรับใช้เทคโนโลยีในกระบวนการทำงานได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีความเป็นผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurship ที่รู้เรื่องต้นทุน ค่าใช้จ่าย ผลพลอยได้ ไปพร้อมๆ กัน
2. ผู้บริหาร - ด้วยเทรนด์ของ Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต หมายความว่า GSC จะสอนแค่ Hard Skill ไม่ได้ Soft Skill จะเข้ามาเป็นเรื่องสำคัญ อย่างเช่น Negotiation Skill หรือ Soft Skill อื่นๆ ที่ผู้เรียนต้องการ ปัจจุบัน ดร.ระพีพร ได้ผลิตวิชาที่ช่วยพัฒนา Soft Skill ต่างๆ อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น วิชาขับร้อง หรือเต้นลีลาศ ด้วยแนวคิดว่าผู้บริหารจะต้องร้องเพลงได้ ต้องกล่าวสุนทรพจน์เป็น ต้องมีบุคลิกภาพ ออกสังคมได้ เพื่อเสริมสร้างให้ผู้ที่จบออกมา มีคุณลักษณะที่พร้อมเปิดรับ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เป็นผู้บริหารที่สามารถทำงานเองได้ สั่งงานก็ได้ มีทักษะการเรียนรู้จักเครื่องมือใหม่ๆ ในเบื้องต้นเสมอ
3. นวัตกรรม - สำหรับ ผศ.ดร.ระพีพร นวัตกรรมไม่ได้หมายถึง สินค้าและบริการเท่านั้น แต่หมายถึงการเปิดรับ การยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน แล้วนำมาสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสังคม หรือเรียกว่า นวัตกรรมทางความคิดและกระบวนการ GSC จึงมีการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่กระบวนการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น (Flexible) และการเปิดรับความคิดเห็นอย่างอิสระและลงมือทำ
4. จิตอาสา - จิตอาสาคือกุญแจสำคัญสู่การ ‘ร่วมกันพัฒนาความยั่งยืนสู่สากล’ ตามแนวคิดของ ผศ.ดร.ระพีพร กล่าวคือ ผู้นำจะคิดเพียง Profit อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองเห็น People และ Planet ดำเนินไปด้วยกันในลักษณะของความรับผิดชอบอันพึงใจ บุคลากรของ GSC จึงมีความมุ่งเน้นในการทำงานที่เป็น Globalization เน้นการสร้างเครือข่าย ความก้าวหน้าที่ไม่เพียงก่อประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยบูรพาเท่านั้น แต่รวมไปถึง ภาคตะวันออก EEC และสังคมโลก
ผู้เรียนขับเคลื่อน GSC GSC ขับเคลื่อนสังคม
ผศ.ดร.ระพีพร เล่าว่าความท้าทายอย่างหนึ่งของ GSC คือต้องคงไว้ซึ่งเป้าหมายอันพึงประสงค์ไปพร้อมๆ กับปรับเปลี่ยนหลักสูตรอย่างอิสระตามความต้องการของผู้เรียนและสังคม
ความท้าทายของเราคือ ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงทุกพริบตา ยกตัวอย่างเช่น ผู้เรียนก็มีความต้องการที่เปลี่ยนแปลง บางทีเขาไม่ได้อยากเปลี่ยนเอง แต่ที่ทำงานเขา เกิดความต้องการในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น บางครั้งนิสิตอยากรู้เรื่อง Big Data อยาก รู้เรื่อง Data Analysis หรือ Data Science หน้าที่เราคือต้องรับฟัง ซึ่งจริงๆ แล้วบางครั้งมันเกินกว่าความเชี่ยวชาญของเรา แต่ในเมื่อเราเป็น ม บูรพา ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อมโยงกันได้ หรืออาจจะมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Big Data ก็เอามาช่วยดำเนินการ
อีกอย่างที่เราจำเป็นจะต้องทราบ คือความต้องการของฝ่ายบริษัท หรือ อุตสาหกรรม เพราะเราไม่สามารถวางตัวเป็นผู้รู้ทุกอย่าง คิดออกทุกอย่างว่าสังคมต้องการอะไร หรือนิสิตต้องการอะไร เราก็จะ Drive ตาม Demand เหล่านั้น บางครั้งเราเห็นความต้องการของอุตสาหกรรม เช่นเรื่อง Innotech Marketing เราก็ออกแบบหลักสูตรออกมา ไม่เน้นว่าผู้เรียนจะต้องมีดีกรีอะไรมาก่อน แต่ก็สร้างขึ้นสำหรับผู้ที่มีความต้องการเฉพาะทาง ซึ่งก็มีทั้งบุคคลทั่วไป นิสิตที่จบไปแล้ว และ นิสิตปริญญาเอก ให้ความสนใจมาเรียน เราเลยมองว่าความท้าทายนี้ จริงๆ ก็เป็นโอกาสให้เราสร้างพลวัตให้สังคมได้เห็น โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ใน EEC เราก็ยินดีทำทุกอย่างเพื่อขับเคลื่อนในทุกมิติ ไม่ว่าจะสร้างบุคลากร ให้ความรู้ แล้วเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนา
GSC ในจุดยุทธศาสตร์ของ EEC
ในแวดวงการศึกษาอาจมองว่า GSC มีข้อได้เปรียบสถาบันอื่น ในแง่ของพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของ EEC ทว่าสำหรับ ผู้บริหาร GSC อย่าง ผศ.ดร.ระพีพร แล้ว EEC คือความรับผิดชอบอันพึงใจ ส่วนประโยชน์ด้านพื้นที่ในแง่การแข่งขันไม่ใช่สิ่งที่เคยอยู่ในความคิดของวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ ผศ.ดร.ระพีพร เล่าว่า “มันเป็นสิ่งที่เราทำโดยที่ไม่ได้คาดหวังผลลัพธ์เป็นยอดนิสิตนักศึกษา หรือคว้าโอกาสบางอย่าง แต่ทำเพราะเรารู้สึกว่าเป็นงานที่ต้องทำ เป็นความรับผิดชอบที่ยินดีทำ มันเลยมีความสุข”
แม้ชื่อย่อภาษาอังกฤษของวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ หรือ GSC มาจาก Graduate School of Commerce แต่ก็มีอีกชื่อที่แฝงภารกิจสำคัญของวิทยาลัยเอาไว้ว่า Global Sustainability Collaboration หมายถึง การสร้างความร่วมมือทั่วโลกเพื่อความยั่งยืน ตามความต้องการของ สังคม เศรษฐกิจ ภูมิภาคและโลก
EEC ในมุมมองของ ผศ.ดร.ระพีพร จึงเป็นสิ่งที่วิทยาลัยต้องจับตา เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองให้พร้อมสร้างผลผลิตและประโยชน์ต่อภูมิภาคได้อย่างตรงจุดอยู่เสมอ “คือเราอยู่ตรงนี้ก็ต้องติดตาม EEC ทุกฝีก้าว มันเป็นหน้าที่ที่ถ้าใครถามอะไรเรา เราควรต้องตอบได้ และให้ความร่วมมือในทุกภาคส่วน ก็เลยไม่เคยมองว่า EEC ทำให้เราได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน แต่เรามองว่ามันคือหน้าที่ของมหาวิทยาลัยบูรพา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ที่ถ้ามองด้านความเชี่ยวชาญอาจจะไม่เจาะจงในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่เราคือผู้บริหาร เราคือผู้นำในการขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรม ด้วยผลผลิตเป็น มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ก็คือผู้ที่เป็น Executive MBA ที่มีความรู้เป็นนักวิจัย มีความเชี่ยวชาญในตลาด EEC ให้ได้”
ปัจจุบัน GSC กระทรวงศึกษา และ EEC ได้มีโครงการร่วมทุนสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่กำลังดำเนินการโดย GSC ซึ่งไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะนิสิตหรือผู้เรียนในสถาบันเท่านั้น แต่จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดให้สาธารณชนเข้ามาใช้ประโยชน์และเสริมสร้างความรู้ทั้งด้านการเงิน การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ เป็นแหล่งวิจัยและผลิตผู้ประกอบการในที่เดียวกัน
ด้วยปรัชญาของ GSC วิทยาลัยจึงไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะเศรษฐกิจระดับภูมิภาค แต่ ผศ.ดร.ระพีพร ยังมีโครงการที่พัฒนาชุมชนและโรงเรียนระดับตั้งแต่ประถม มัธยม ในการเสริมความรู้ด้าน STEM ในสถาบันมัธยมศึกษา โดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มีเครือข่ายร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน อินเดีย และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่าง กัมพูชา อีกทั้งยังไม่หยุดยั้งในการสร้างสนับสนุนนวัตกรรม เช่น งานวิจัยระดับ ปริญญาเอก ในการสร้างแอปพลิเคชันสำหรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม การพัฒนาระบบโซล่าเซลล์อย่างคุ้มค่าในโฮมสเตย์ หรือแม้แต่งานวิจัยเพื่อผลิตบอร์ดเกมที่ท้าทายแนวคิดในเรื่องการซื้อนวัตกรรมจากต่างชาติสู่การผลิตใช้เอง
เรื่อง : คุณากร วิสาลสกล
ภาพ : ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์