November 21, 2024

ABAC MBA ตอบโจทย์โลกแห่งการสื่อสารยุคใหม่ ด้วย 2 หลักสูตรสร้างผู้บริหารที่สมดุลทั้งศาสตร์และศิลป์

September 26, 2019 6695

ติสต์แตกเป็นคำเปรียบเปรยคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูงจนเกินพอดี ว่าเป็นเสมือนศิลปินที่มีโลกส่วนตัวสูง หรือคนที่มีจิตวิญญาณศิลปินสูงจนไม่สนใจสิ่งอื่นรอบข้าง โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจและเงินๆ ทองๆ

เพราะหลายคนมักเชื่อว่าความงดงามเชิงศิลป์กับ โลกธุรกิจเป็นเรื่องที่สวนทางและต้องแลกกัน

แต่ในโลกการทำงานจริง กระบวนทัศน์เชิงศิลปะและเชิงธุรกิจล้วนเป็นองค์ประกอบจำเป็นต้องตกผลึกอย่างมีดุลยภาพในบุคลากรระดับบริหาร โดยเฉพาะในสายงานด้านการสื่อสารองค์กรหรือแบรนด์ของทุกองค์กร หรือแม้แต่ในธุรกิจดนตรีเองก็ยังต้องการนักบริหารจัดการที่มีทั้งหัวทางศิลปะดนตรีและมีศาสตร์ทางการบริหาร

นี่จึงเป็นที่มาของหลักสูตรน้องใหม่ที่น่าจับตาเป็นอย่างมาก ได้แก่ หลักสูตร MBA in Creative Communication Track และหลักสูตร MBA in Music Business ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)

MBA in Creative Communication Track

หลายคนพูดว่า ต่อไปคณะนิเทศศาสตร์จะไม่มีคนเลือกเรียนแล้ว แต่ด้วยบทบาทของสื่อดิจิทัลที่มีพลังมากขึ้นทุกวัน ประกอบกับรูปแบบวิธีการสื่อสารการตลาดที่เปลี่ยนไป โดยเน้นการจัดอีเวนต์เพิ่มมากขึ้น ทำให้การออกแบบคอนเทนต์ (Content) ตลอดจนการกำกับศิลป์ (Arts Direction) ทุกอย่างที่เป็นองค์ประกอบในการสื่อสารแบรนด์ขององค์กรหรือแบรนด์ของสินค้า มีความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะการช่วงชิงความสนใจของผู้บริโภคให้ได้ภายในเสี้ยววินาทีและตรึงความสนใจนั้นไว้ให้ได้จนจบ โดยไม่กดหนี (Skip) หรือเดินหนีจากคอนเทนต์ของเรา"

ฉะนั้น ทักษะ องค์ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ด้านนิเทศศิลป์จึงยังม่ความจำเป็น แต่ขณะเดียวกัน ในโลกธุรกิจยุคใหม่ นักบริหารจะมีกระบวนทัศน์ด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียวไม่ได้ คนที่เรียนจบทางด้านนิเทศศาสตร์จะเป็น Pure Communication Arts โดยไม่สนใจเรื่องธุรกิจหรือการบริหารจัดการเลยก็ไม่ได้ ส่วนคนที่เรียน MBA ก็อาจจะมีแค่กระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการ แต่ไม่มีมุมมองเชิงความงามทางศิลปะและความคิดสร้างสรรค์เลย ก็ยังไม่ดีพอในโลกยุคดิจิทัล ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีความคิดที่ได้ดุลยภาพของทั้งสองศาสตร์

ดร.อภิชาต อินทรวิศิษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาความรู้ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบค (ABAC) กล่าวถึงเหตุผลสำคัญอันเป็นที่มาของกหลักสูตร MBA in Creative Communication Track หลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจที่มีเนื้อหาครอบคลุมการสื่อสารและการบริหารธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงการวางกลยุทธ์ทางการตลาดและการสื่อสาร และกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ เหมาะกับบัณฑิตนิเทศศาสตร์ที่ต้องการเสริมมุมมองเชิงธุรกิจและทักษะการบริหารจัดการ พร้อมกับการเพิ่มพูนกระบวนทัศน์ด้านความคิดสร้างสรรค์ ผ่านรูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จากการดูงานและทดลองปฏิบัติจริง (On-the-job Learning)

การสื่อสารเป็นคำที่ใหญ่และครอบคลุมกว่าการตลาด (Marketing) และเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้องค์กรสำเร็จหรือล้มเหลวได้ ดังนั้น ปัจจุบัน องค์กรใหญ่หลายแห่งจึงเปลี่ยนชื่อส่วนงานจากที่เคยใช้ Sales & Marketing หรือ PR & Marketing ไปเป็น Strategic Communication Department ซึ่งกลยุทธ์การสื่อสาร (Strategic Communication) ก็ถูกนำมาบรรจุเป็นวิชาเรียนในหลักสูตรนี้ด้วย โดยจะเป็นการมององค์รวมของกลยุทธ์การสื่อสารทุกอย่างขององค์กร ทั้งการสื่อสารภายในและภายนอก

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายวิชาเลือกที่น่าสนใจและมีความร่วมสมัยกับเทคโนโลยีในการสื่อสารแบรนด์ยุคดิจิทัล เช่น Brand and Communications Management, Creative Workshop Management, Reputation Management / Crisis Communication, Communication Design, Advance Presentation Technique, Creative Content Writing and Script Adaptation และ Cultural Events and Festival Management เป็นต้น

จุดต่างที่โดดเด่น

ดร.อภิชาต กล่าวว่า หลักสูตรปริญญาโท MBA ด้านการสื่อสารและด้านนิเทศศิลป์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้หลักสูตร MBA in Creative Communication Track โดดเด่นและแตกต่างจากที่อื่น ประกอบด้วย ปรัชญาของเอแบคในการเป็น ‘Business School’ ชั้นนำของประเทศไทย จึงเชื่อมั่นได้ว่าหลักสูตรได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยเน้นการผสมผสานความเป็นนักธุรกิจกับมุมมองทางนิเทศศิลป์อย่างมีดุลยภาพ

ความสำเร็จตลอด 34 ปีของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่ได้ผลิตศิษย์เก่าหลักสูตร MBA จำนวนมาก ปัจจุบันหลายคนกลายเป็นผู้บริหารแถวหน้าในองค์กรแถวหน้าของเมืองไทย บวกกับความสำเร็จตลอด 31 ปีของคณะนิเทศศาสตร์ ที่ได้ผลิตบัณฑิตนิเทศศาสตร์ที่จบไปทำงานในวงการการสื่อสารและโฆษณาเป็นจำนวนมาก เครือข่ายของศิษย์เก่าที่แข็งแรงนี้กลายเป็นจุดแข็งทำให้ผู้เรียนหลักสูตรนี้มีโอกาสที่จะได้รับฟังความรู้และประสบการณ์จากผู้คร่ำหวอดในวงการ รวมถึงมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสโลกแห่งการทำงานจริงในบริษัทชั้นนำดังกล่าว

แก่นของวิชาเรียนในเชิงทฤษฎี สุดท้ายแล้วก็อาจจะเหมือนกันหมดในทุกมหาวิทยาลัยก็ได้ แต่ความเกื้อกูลกันระหว่างพี่-น้องและความเป็นแบรนด์ของการเป็นมหาวิทยาลัยธุรกิจ ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้เอแบคโดดเด่นขึ้นมา

ขณะเดียวกัน การที่เอแบคมุ่งเน้นการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดช่วยทำให้ผู้เรียนมีความคุ้นเคยกับคำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในวงการสื่อสารและโฆษณา และยังเป็นการบ่มเพาะความพร้อมในการร่วมงานกับบริษัทข้ามชาติได้อย่างไม่เคอะเขิน อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์กับเพื่อนร่วมชั้นที่เป็นนักศึกษาต่างชาติ เนื่องจากหลักสูตร MBA หลายหลักสูตรของเอแบคได้รับความนิยมอย่างมากจากนักศึกษาในประเทศอาเซียนและประเทศจีน ซึ่งปัจจุบัน หลักสูตรนี้มีนักศึกษาจากจีนให้ความสนใจเข้าลงเรียนด้วยแล้ว

ดร.อภิชาต เชื่อว่า ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นการเห็นของจริงและลงมือทำจริง (Practice) รวมถึงการแลกเปลี่ยนจากวิทยากรที่มีประสบการณ์ตรง จะทำให้นักศึกษาเข้าใจและเข้าถึงแก่นแท้ของหลักวิชาได้อย่างง่ายดาย ซึ่งจะนำไปสู่การบ่มเพาะวิธีคิด (Mindset) เชิงธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการนำทักษะและองค์ความรู้ร่วมสมัยเหล่านี้ไปปรับใช้กับการทำงานในโลกธุรกิจปัจจุบันได้

เราเคยได้ยินคำพูดว่า ในโลกการทำงานจริง เราจะได้ใช้สิ่งที่เรียนมาแค่ 10% แต่หลักสูตรนี้จะทำให้คำกล่าวนี้ใช้ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เรียนจากหลักสูตรนี้คือสิ่งที่เราได้ปฏิบัติมาแล้ว ผมเชื่อว่าความรู้ ทักษะ และกระบวนทัศน์ที่ได้จากการเรียนมากกว่า 40% จะได้นำไปใช้อย่างเต็มที่ ถ้าผู้เรียนทุ่มเทต่อการเรียนมากพอ

MBA in Music Business หลักสูตรเพื่อคนในธุรกิจดนตรีที่แท้จริง

ในโอกาสนี้ ดร.อภิชาต ยังกล่าวถึงหลักสูตรน้องใหม่ล่าสุด MBA in Music Business เป็นครั้งแรก ซึ่งเตรียมที่จะเปิดการเรียนการสอนในปีหน้า โดยอาจกล่าวได้ว่าเป็นหลักสูตร MBA ที่ใหม่มากสำหรับประเทศไทย

เมืองนอกอาจจะมีสอนหลักสูตรนี้อยู่บ้าง หรือถ้าไม่มีเป็นหลักสูตร MBA ก็อาจจะมีในรูปแบบของ Workshop แต่สำหรับเมืองไทย วิชาการจัดการธุรกิจดนตรีถือเป็นวิชาเล็กๆ ในคณะศิลปกรรมศาสตร์หรือดุริยางคศิลป์ แต่เราหยิบมาพัฒนาเป็นหลักสูตรว่าด้วยการบริหารจัดการธุรกิจดนตรี หรือ MBA in Music Business อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งตอนพัฒนาหลักสูตร ผมก็ได้ไปปรึกษากับคณาจารย์ด้านดนตรีและศิลปินชั้นนำในวงการดนตรีของไทยหลายๆ คน ทุกคนล้วนมองว่าเป็นหลักสูตรที่น่าสนใจและจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมดนตรีของไทย

ขณะที่หลายคนมองว่าอุตสาหกรรมเพลงหรือดนตรีกำลังจะตาย แต่ ดร.อภิชาต มองว่า ธุรกิจดนตรีเป็นธุรกิจที่จะไม่ตาย เพราะดนตรีจะไม่หายไป ตราบใดที่คนเรายังต้องการความรื่นรมย์และการจรรโลงใจ ตรงกันข้ามธุรกิจดนตรียังสามารถเติบโตได้ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี ยกตัวอย่าง การสื่อสารแบรนด์รูปแบบต่างๆ ก็ล้วนมีดนตรีเป็นองค์ประกอบของการสื่อสาร หรืออย่างน้อยก็เพื่อสร้างบรรยากาศ (Ambience) เช่น การเปิดเพลงหรือดนตรีคลอในงานอีเวนต์ การเลือกเพลงหรือแต่งเพลงขึ้นมาเพื่อประกอบหนังโฆษณา ภาพยนตร์ ละครเพลง ฯลฯ

หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า ถ้าขาดเสียงดนตรี อีเวนต์เกือบทุกงานจะจืดเลย ตรงกันข้ามถ้าเลือกเพลงที่เข้ากับคาแรกเตอร์ของอีเวนต์และแบรนด์ ดนตรีนั้นจะหล่อเลี้ยงอารมณ์ของผู้ร่วมงานทำให้คนสนใจและคล้อยตามกับสิ่งที่แบรนด์ต้องการสื่อสารได้ง่ายๆ ซึ่งความละเอียดอ่อนในการเลือกเพลง เลือกดนตรี และเมโลดี้ (Melody) คนดนตรีจะเข้าใจดี แต่สิ่งที่คนดนตรีอาจจะยังขาดไปคือวิธีคิดเชิงธุรกิจและทักษะในการบริหารจัดการ นี่จึงที่มาของหลักสูตรนี้

ดร.อภิชาต เล่าว่า ยังมีอีกแรงบันดาลใจที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรสำหรับคนดนตรีนี้ นั่นคือ เอแบคเองก็เปิดคณะดนตรีมานานแล้ว ผลิตบุคลากรและอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในวงการดนตรีไทยมามากมาย และในประเทศไทยเอง ก็มีคณาจารย์ทางด้านดนตรีที่ทรงคุณวุฒิมากพอจะประสิทธิ์ประสาทวิชาเพื่อช่วยกันจรรโลงให้บุคลากรทางด้านดนตรีให้มีความแข็งแรงในเชิงธุรกิจมากขึ้น

ถ้าบอกว่านักนิเทศติสต์แล้ว นักดนตรียิ่ง ติสต์หนักเข้าไปใหญ่ เราจะทำยังไงให้คนที่จบปริญญาตรีทางด้านดนตรี มีดุลยภาพระหว่างสุนทรียะทางดนตรี และความถูกต้องในการตอบโจทย์แบรนด์ รวมถึงความอยู่รอดทางธุรกิจ ทำยังไงที่จะทำให้เพลงขายได้ หรือเพลงช่วยทำให้หนังขายได้ หรือช่วยสร้างความหมายบางอย่างให้กับแบรนด์ นี่คือเรื่องที่ลึกซึ้ง นอกจากนี้ ธุรกิจดนตรียังมีเรื่องของการจัดการอีเวนต์ทางดนตรี การจัดการบริหารศิลปิน จะต้องมีเครื่องมืออะไรในการบริหารชื่อเสียงของศิลปิน และทำให้เขาพัฒนาทักษะและความสามารถทางด้านดนตรีเพิ่มขึ้น ฯลฯ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องการองค์ความรู้และกระบวนทัศน์เชิงธุรกิจมาบริหารจัดการอย่างพอดี

ตัวอย่างวิชาเรียนที่น่าสนใจในหลักสูตรนี้ อาทิ Artist Management in the Music Business, Music Business Management, Concert and Venue Management, Global Music Management และ Individual Research in Music Management อีกทั้งยังมีโอกาสได้เรียนบางวิชาของหลักสูตร Creative Communication โดยการเรียนการสอนล้วนเป็นภาษาอังกฤษ และมุ่งเน้นการเรียนรู้แบบ On-the-job Learning ผ่านการดูงาน การลงมือปฏิบัติ และประสบการณ์ทำงานของคณาจารย์และวิทยากรผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมดนตรี รวมถึงเรียนรู้จากกรณีศึกษาในสื่อสมัยใหม่

ดร.อภิชาต กล่าวว่า หลักสูตรนี้เหมาะอย่างยิ่งกับคนที่พื้นฐานความรู้ทางด้านดนตรี หรืออย่างน้อยก็ควรมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Music Appreciation’ อยู่ไม่น้อย เพื่อประโยชน์สูงสุดในการต่อยอดความรู้จากการแบ่งปันประสบการณ์ในชั้นเรียนได้ซาบซึ้งและซาบซ่าน และต้องเป็นคนที่ต้องการทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อต่อยอดงานดนตรีหรือธุรกิจที่ทำอยู่ด้วยดนตรี รวมถึงเป็นคนในธุรกิจดนตรีที่ต้องการมีเข้าใจกระบวนทัศน์ของศิลปินและนักธุรกิจ เพื่อนำไปสู่โอกาสในการสร้างสรรค์ธุรกิจและอุตสาหกรรมดนตรีของไทยให้ก้าวหน้า


เรื่อง / ภาพ : กองบรรณาธิการ

Last modified on Thursday, 26 September 2019 11:52
X

Right Click

No right click