November 21, 2024

เมื่อวิกฤติ COVID-19 เขย่าโลกการศึกษา ถอดบทเรียน AccBA CMU กับความสำเร็จในการก้าวสู่ New Normal Education

August 17, 2020 6656

หลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนยุคใหม่

ได้ขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่ให้เกิดขึ้นกับทุกวงการและทุกอุตสาหกรรม (Sector) ไม่เว้นแม้แต่แวดวงการศึกษา แต่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ ดูเหมือนว่าภาคส่วนการศึกษาจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างช้ากว่าภาคส่วนอื่นๆ จนกระทั่งวิกฤติ COVID-19 อุบัติขึ้นมา ท่ามกลางการแพร่ระบาดที่รุนแรงจนหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ต้องระดมใช้มาตรการต่างๆ ตั้งแต่การรักษาระยะห่าง (Social Distancing) ห้ามชุมนุม ห้ามออกจากบ้าน ประกาศเคอร์ฟิว (Curfew) ไปจนถึงการปิดเมือง (Lockdown) ส่งผลให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งต้องปรับตัวและประกาศหยุดการเรียนการสอนหรือสอนออนไลน์อย่างกะทันหัน

ความโกลาหลที่สถาบันการศึกษาต้องปรับเลี่ยนแบบฉุกระหุก สร้างความวุ่นวายใจให้กับนักเรียนนักศึกษา คณาจารย์ และผู้บริหารสถาบันการศึกษา ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ความโกลาหลดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่หลายสถาบันการศึกษาต้องเผชิญกับความหนักใจในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์แบบฉุกเฉิน แต่สำหรับคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (AccBA CMU) ดูเหมือนว่ากระบวนการปรับตัวสู่ระบบการเรียนการสอนวิถีใหม่ (New Normal Education) ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ค่อนข้างราบรื่นและเป็นไปได้ด้วยดี นิตยสาร MBA จึงถือโอกาสถอดรหัสความสำเร็จของ AccBA CMU ในการรับมือกับความท้าทายจาก COVID-19 Disruption และความพร้อมในการก้าวสู่โลกการศึกษาวิถีใหม่ ที่มุ่งสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบไร้รอยตะเข็บ (Seamless Learning Experience) และสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anytime, Anywhere)

วิกฤติ COVID-19 Catalyst for E-Learning

การศึกษาออนไลน์ (E-Learning) ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งอุบัติในช่วงวิกฤติ COVID-19 เพียงแต่ที่ผ่านมา ความคุ้นชินกับโลกการศึกษาวิถีเดิม กลับกลายเป็นอุปสรรคที่นำไปสู่ความไม่พร้อม (ทางใจ) และความไม่ตื่นตัวที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบการเรียนการสอนยุคดิจิทัล

“วิกฤติทุกครั้งมาพร้อมกับโอกาสในการเปลี่ยนแปลงหรือทดลองสิ่งใหม่ ที่เคยถูกละเลย ถูกต่อต้าน หรือถูกมองข้ามว่าไม่สำคัญ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ย้อนไปปีที่แล้ว ถ้าบอกให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนสื่อการสอนเป็น Online จะมีแรงต้านเยอะมากว่าสู้การเรียนในห้องเรียน (On Site) ไม่ได้ แต่พอ COVID-19 มา เราสอน On Site ไม่ได้ ต้องสอน Online เท่านั้น ปรากฏว่าเราก็ปรับตัวได้ดี และในเวลาอันรวดเร็วด้วย เพราะมีวิกฤติ COVID-19 เป็นตัวเร่ง (Catalyst) ให้ต้องปรับตัว” รองศาสตราจารย์ ดร.สิริวุฒิ บูรณพิร คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว

หลังจากรัฐบาลประกาศให้ทุกโรงเรียนและมหาวิทยาลัยปิดการเรียนการสอน ขณะนั้นคณะบริหารธุรกิจ มช. (AccBA CMU) เหลือการเรียนประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนสอบปลายภาค ซึ่งถือเป็นช่วงเวลา “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่ทำให้ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ต่างกังวลใจ แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคณาจารย์ บุคลากรในคณะ และนักศึกษา ทำให้ทางคณะใช้เวลาเตรียมตัวในการปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนจาก On Site ไปเป็นแพลตฟอร์ม Online ได้ในเวลาแค่เพียง 3 วัน

“ตั้งแต่ผมเริ่มเห็นแนวโน้มว่ารัฐบาลจะประกาศปิดการเรียนการสอน วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างแรกคือ ผมทำคลิปวิดีโอง่ายๆ สอนอาจารย์ในคณะในการทำคลิปการสอนออนไลน์ แบบที่ไม่ต้องมีสตูดิโอ มีแค่ Power Point แล้วใส่เสียงเข้าไป ซึ่งในคลิปนั้น ผมจะย้ำว่า สิ่งที่เราทำเป็นแค่การยกการสอนในห้องไปไว้บน Online เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ยังไม่ใช่การเรียนการสอนแบบ E-Learning จากนั้นก็สื่อสารกับนักศึกษาให้เตรียมตัวสำหรับการเรียน Online”

อาจารย์สิริวุฒิ ให้มุมมองว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ทางคณะสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดีและอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะเมื่อ 2-3 ปีก่อน เกิดวิกฤติฝุ่น PM2.5 ปกคลุมเมืองเชียงใหม่อย่างหนักจนไม่เอื้อต่อการเดินทาง ทางมหาวิทยาลัยจึงประกาศหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว ทางคณะจึงได้มีการทดลองสอนออนไลน์มาบ้างแล้ว แต่เป็นระยะเวลาช่วงสั้นๆ

“ผมพูดเสมอว่า ในวิกฤติจะมีโอกาสอยู่ด้วย เพราะหลังวิกฤติ PM2.5 ครั้งนั้น ทำให้เราเริ่มทดลองการเรียนการสอน Online หลังจากนั้นทุกปี เรามี “สัปดาห์แห่งการสอน Online” เป็นการซ้อมการสอน Online ประหนึ่งว่ามหาวิทยาลัยเปิดสอน On Site ได้เลย เนื่องจากฝุ่น PM2.5 มาทุกปี กลายเป็นว่าระหว่างเตรียมความพร้อมสำหรับวิกฤติ PM2.5 ปีนี้ ทั้งการซ้อมสอน Online และการซื้อหน้ากากไว้ให้นักศึกษาและบุคลากรของคณะ เราได้นำมาใช้รับมือกับวิกฤติ COVID-19 แทน”

E-Learning วิถีแห่งความท้ายของ Business School

รศ.ดร.สิริวุฒิ ยอมรับว่า เวลาเพียง 3 วัน หลังวิกฤติ COVID-19 มาเยือน การปรับตัวสู่การสอน Online ของคณะถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ทันทีที่ปิดเทอม ทางคณะฯ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาและอาจารย์ว่า หลังเปลี่ยนการเรียนการสอนจาก On Site มาเป็น Online แบบปัจจุบันทันด่วน โดยผลการสำรวจพบว่าสิ่งที่กลุ่มอาจารย์ห่วงที่สุดคือ การไม่ทราบความคาดหวังของนักศึกษา และเรื่องของปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน ในด้านนักศึกษามองว่าสิ่งท้าทายคือ การบังคับตัวเองให้มีสมาธิกับการเรียน Online รวมถึงปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและกับอาจารย์ที่จะขาดหายไป

ผลการสำรวจนำมาซึ่งการจัดอบรมอาจารย์ช่วงปิดเทอม ทั้งการอบรมการสอนออนไลน์ให้สนุกและมีประสิทธิภาพ เช่น สอนเทคนิคลูกเล่นในการใช้ ZOOM สอนใช้แอปสร้างสื่อการสอน สอนทำ VDO Quiz ฯลฯ และหัวข้อสำคัญคือ การอบรมการดีไซน์แผนการเรียนการสอน และดีไซน์การวัดผลสัมฤทธิ์ โดยยึดความสำเร็จของผู้เรียน (Learner Success) เป็นเป้าหมาย จนเป็นที่มาของนโยบายเชิงกลยุทธ์คือ การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุดแบบไร้รอยตะเข็บ (Seamless Learning Experience)

ผมถึงย้ำว่า ถ้าเราทำแค่เอาสิ่งที่สอนในห้องเรียนไปแขวนบน Online มันยังไม่ใช่ E-Learning และในที่สุด ก็จะสู้ Free Educational Platform ไม่ได้ สิ่งที่ทำให้ Business School จะยังคงความสำคัญและอยู่รอดในฐานะสถาบันการศึกษา คือ การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี ซึ่งไม่ใช่แค่ฟังแล้วได้แค่ความรู้ แต่ต้องได้ทักษะเพิ่ม ซึ่งทักษะได้มาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน และผู้เรียนกับเพื่อน ดังนั้น บทบาทในการสร้างปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม (Engagement) จะทำให้เราแตกต่างจาก Free Platform ทั้งหลาย ซึ่งเทรนด์การเรียนรู้ยุคใหม่ ผู้เรียนไม่ได้สนใจใบปริญญา แต่สนใจการเพิ่มทักษะและสมรรถนะ (Competency) ที่นำไปใช้ในการทำงานได้ มากกว่า

เพราะวิกฤติมักนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ (Disruption) และเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างที่จะไม่กลับไปเหมือนเดิม ซึ่งอาจารย์สิริวุฒิเชื่อว่า ระบบการศึกษาหลัง COVID-19 Disruption ก็จะไม่ย้อนกลับไปเป็นรูปแบบ On Site 100% เหมือนก่อนวิกฤติ โดยก่อน COVID-19 แผนการสอนของ ACC BA มีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่ (1) Lecture-based Learning เน้นบรรยาย (2) Problem-based Learning เน้นการวิเคราะห์จากกรณีศึกษาและปัญหา และ (3) Action Learning เน้นลงมือปฏิบัติ ซึ่งทุกรูปแบบสอน On Site เท่านั้น แต่ตั้งแต่ปีการศึกษาใหม่นี้ มีช่องทางการสอนทั้งรูปแบบ On Site รูปแบบ Online และ Hybrid เป็นการผสมรูปแบบ On Site กับ Online โดยมีส่วนผสมตั้งแต่ 10% ถึง 90% ทำให้แผนการสอนเพิ่มขึ้นมาเป็น 9 แบบ

 “เราทำตรงนี้ไว้เพื่อความยืดหยุ่น หากมีการระบาดรอบสองหรือเกิดวิกฤติใหม่ แล้วมหาวิทยาลัยถูกปิด เราก็สามารถปรับการสอนจาก On Site เยอะๆ มาเป็น Online เยอะๆ ได้ทันที ซึ่งต้องเตรียมแผนการสอนทั้งหมดไว้ก่อน เช่น ถ้าเป้าหมายคือ ทำให้นักศึกษาวิเคราะห์เป็น แต่ต้องสอน Online ทั้งหมด จะดีไซน์การสอนยังไง ดีไซน์กิจกรรมสร้าง Engagement ยังไง ดีไซน์การวัดผลจากการสอน Online ยังไง ฯลฯ เมื่อได้แผนการสอน ก็แจ้งนักศึกษารับทราบ เพื่อที่เขาจะสามารถวางแผนการเรียนและคาดหวังได้ ซึ่งก็จะลดความกังวลของอาจารย์ในเรื่องการไม่ทราบความคาดหวังของนักศึกษาได้”

ในโลกของการศึกษาออนไลน์ เส้นขอบของการแข่งขัน (Horizon) มันไร้พรมแดน คณาจารย์หลายท่านกังวลว่าตนเองจะหมดความหมาย เพราะต้องสอนแข่งกับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกแถมเนื้อหาความรู้จำนวนมากอยู่บนฟรีแพล็ตฟอร์มที่ไม่มีค่าใช้จ่าย จะสู้ได้อย่างไร  อาจารย์สิริวุฒิ เชื่อว่า ถ้าสถาบันการศึกษาและอาจารย์ปรับตัวและทำให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุดให้กับนักศึกษา จนเกิดผลสัมฤทธิ์ในการเรียนที่ดีกว่าการเรียนกับของฟรีเหล่านั้น นี่แหละคือคำตอบของคำถามที่ว่า “สถาบันการศึกษาทั้งหลายจะรอดพ้นวิกฤติครั้งนี้ และจะยังคงความสำคัญ รวมถึงยังคงทำหน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างดี ได้อย่างไร!

 

Transformation Journey for New Normal Education

ไม่เพียงจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการสอนออนไลน์ให้อาจารย์ และจัด Workshop อบรมคณาจารย์ในการดีไซน์การเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่นสำหรับยุค COVID-19 และการดีไซน์ (Re-design) การวัดผลสัมฤทธิ์ใหม่ ตลอดจนอบรมเทคนิคการสอนออนไลน์ให้ความสนุกและมีประสิทธิภาพ

ก่อนเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่นี้ อาจารย์สิริวุฒิยังได้สรรหาและว่าจ้างนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก จากคณะต่างๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ ที่มีพื้นฐานและความคล่องแคล่วในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านการศึกษาออนไลน์ มาเป็น ผู้ช่วยทางเทคนิค (Technical Support) ประกบอาจารย์แบบ 1 ต่อ 1 เพื่อให้อาจารย์ได้โฟกัสเต็มที่กับงาน “หน้าบ้าน” คือ เนื้อหา การสอน และการสร้างปฏิสัมพันธ์และ Engagement กับนักศึกษา โดยปล่อยให้งาน “หลังบ้าน” ที่เกี่ยวกับเทคนิคทางโปรแกรมระหว่างการสอนออนไลน์ เป็นความรับผิดชอบของ Technical Support

“ระหว่างสอน อาจารย์อาจอยากให้นักศึกษาเล่นเกมเพื่อให้ไม่น่าเบื่อและสร้างปฏิสัมพันธ์ เช่น ให้โหวตว่าดีลนี้ควรทำยังไง ถ้าให้ยกมือโหวตเหมือนตอนเรียนในห้อง อาจารย์จำไม่ได้หรอกว่าใครโหวตอะไร แต่พอเป็นการสอนออนไลน์ ระบบจะแสดงเลยว่าใครกดโหวตอะไร แล้วก็สามารถแบ่งรายชื่อนักศึกษาเป็นกลุ่มตามตัวเลือกที่โหวตได้ทันที หรือระหว่างสอนออนไลน์ มีนักศึกษาที่ไม่มี Engagement กับคลาสออนไลน์เลย ก็สามารถให้ระบบส่งข้อความไปเตือนได้ เช่น ข้อความว่า “พื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดในการตัดสินใจผิดหรือทดสอบไอเดียต่างๆ คือห้องเรียน” ซึ่งเทคนิคลูกเล่นสนุกๆ เหล่านี้ Technical Support จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับอาจารย์และนักศึกษา”

นอกจาก “ติดอาวุธ” ให้อาจารย์ รศ.ดร.สิริวุฒิ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความพร้อมและการพัฒนาทักษะการเรียนออนไลน์ให้กับนักศึกษาด้วย ทั้งการทำคลิปวิดีโอสอนการใช้แพลตฟอร์มการเรียน Online การสร้างความคุ้นเคยกับโปรแกรมต่างๆ ที่ใช้ในการเรียนออนไลน์ให้นักศึกษา การให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเรียนออนไลน์ให้ได้ผลดี และการให้ความช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการจัดหาอุปกรณ์ เช่น การช่วยเหลือเรื่อง SIM CARD การสนับสนุนทุนบางส่วนเพื่อซื้อโน๊ตบุ๊คและอุปกรณ์ที่จำเป็น หรือการให้ยืมโน๊ตบุ๊คของคณะ ฯลฯ

“สิ่งที่เราพยายามโน้มน้าว (Convince) นักศึกษา คือ เขาต้องพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Education) และการเรียนรู้ในยุคอนาคต คือการเรียนรู้ในโลกออนไลน์ ดังนั้น ทักษะการเรียนรู้และแสวงหาความรู้จากโลกออนไลน์จะเป็นทักษะที่สำคัญมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ACC BA จะปลูกฝังและพัฒนาทักษะให้เขา แล้วมันจะติดตัวเขาไป”

ในท้ายที่สุด คณบดี AccBA กล่าวว่า ในการปรับตัวรับกับรูปแบบการศึกษาในภาวะปกติใหม่ หรือ New Normal Education นอกจากความสมดุลในการพัฒนาอาจารย์และนักศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมกับ E-Learning แล้ว ยังมีอีกประเด็นสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค COVID-19 นั่นคือ ความพร้อมด้านสาธารณูปโภค (Facility) ในเรื่องของสุขอนามัยและความปลอดภัยจากเชื้อโรค

อาทิ การติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ (Thermo Scan) ซึ่งทางคณะได้เชื่อมโยงกับระบบ Facial Recognition และแพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัย เพื่อบันทึกข้อมูลการเข้า-ออกสถานที่ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยของนักศึกษาอัตโนมัติทุกครั้งที่เดินผ่าน Thermo Scan และการติดตั้ง Sensor ตรวจนับจำนวนคนที่เข้าใช้บริการในโรงอาหาร เพื่อไม่ให้หนาแน่นจนไม่อาจรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล (Social Distancing) ได้ รวมถึงการหาแนวทางในการรักษา Social Distancing ในห้องเรียน แม้กระทั่งในคลาสที่มีนักศึกษามากๆ ก็มีการแบ่งให้นักศึกษาผลัดกันมาเรียนเป็นกลุ่มเล็กลง เป็นต้น

“ด้วยการเตรียมการต่างๆ ที่กล่าวมา ทั้งความพร้อมของอาจารย์ผู้สอน ความพร้อมของผู้เรียน รวมถึงความพร้อมในเรื่อง Facilities ทั้งหมดนี้ ทำให้ผมเชื่อมั่นว่า เรา (ACC BA) จะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างดี และแม้ว่าในอนาคต จะเกิดวิกฤติอุบัติใหม่หรือ Disruption ที่ไม่เหมือนเดิม ผมก็เชื่อว่าบทเรียนจากวิกฤติ COVID-19 จะเป็นรากฐานให้เราสามารถปรับตัวได้เร็ว เหมือนที่วิกฤติ PM2.5 ช่วยให้เรารับมือกับ COVID-19 ได้ใน 3 วัน”

บัณฑิต AccBA CMU ที่โลกธุรกิจในอนาคตต้องการ

คณบดี AccBA CMU สองสมัย กล่าวทิ้งท้ายถึงความท้าทายที่สำคัญที่สุดของคณะบริหารธุรกิจ นั่นคือ พันธกิจในการสร้างบัณฑิตและทรัพยากรมนุษย์ ที่พร้อมสำหรับโลกการทำงานหลังยุค COVID-19 และพร้อมจะตอบโจทย์โลกธุรกิจยุคใหม่ ที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง ความซับซ้อน ความผันผวน และความไม่แน่นอน

โดย รศ.ดร.สิริวุฒิ มองว่า บัณฑิต AccBA ที่ควรจะเป็น จะต้องมีเซ็ตของทักษะ (Skillset) ที่โลกธุรกิจในอนาคตต้องการ ประกอบด้วยทักษะสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ (1) Productivity Improvement ทักษะการปรับปรุงและยกระดับผลิตภาพ (2) Business Development ทักษะการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ (3) Catalyst of Innovation ทักษะการเป็นผู้เร่งให้เกิดนวัตกรรม ซึ่งต้องมีความสามารถในการ “ประสานสิบทิศ” เป็นพื้นฐาน และ (4) Data Modelling ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและประมวลผล เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจระดับที่สูงขึ้น

ด้วยความพยายามในการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บวกกับความพยายามในการปลูกฝัง “ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต” และบ่มเพาะความสามารถในการแสวงหาความรู้จากโลกออนไลน์ ให้กับนักศึกษาเรื่อยมาก อาจารย์สิริวุฒิ จึงเชื่อมั่นว่า ACC BA CMU จะบรรลุพันธกิจในการสร้างบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศเชิงบริหาร และตอบโจทย์ความต้องการของโลกอนาคต ได้อย่างแน่นอน


เรื่อง : สุภัทธา สุขชู
ภาพ : ชัชชา ฐิติปรีชากุล

Last modified on Friday, 19 February 2021 04:58
X

Right Click

No right click