January 22, 2025

Executive MBA NIDA - Changing Agents Incubator

August 12, 2020 4595

หากกล่าวถึงความเก๋า และความเป็นตำนานการก่อเกิดโรงเรียนบริหารธุรกิจในประเทศไทยขึ้นเมื่อใด นั่นคือการกำลังกล่าวถึง คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า

เมื่อนั้น เพราะเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศที่เปิดสอนหลักสูตร MBA และเป็นที่ยอมรับมาโดยตลอดกว่า 50 ปีนับแต่ก่อตั้งนิด้ามา หลักสูตร MBA นิด้า ได้ผลิตมหาบัณฑิตนักบริหารมากหลายให้กับทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งได้ผลิตหลักสูตร MBA ขึ้นมาอย่างมากมาย และหลากหลายโปรแกรมหลักสูตร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหลักสูตรที่มีความแข็งแกร่งทางวิชาการ และการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล ภายใต้หลักสูตร MBA ของนิด้า ที่หลากหลาย หนึ่งในหลักสูตรที่ได้รับการกล่าวขานและเป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนานคือ หลักสูตร Executive MBA ที่กล่าวกันว่าเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงมายาวนานของนิด้า แต่ภายใต้ความร้อนแรงของยุคสมัยในวันนี้ที่เป็นยุคแห่ง Technology Disruption และ Disruptive Education ได้สร้างความท้าทาย ต่อการทบทวนในทิศทางและการจัดวางหลักสูตร Ex-MBA ในวันนี้อย่างไร ที่จะยังคงความสามารถในการตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้เรียน เพื่อการไปต่อได้นั้น ผศ.ดร.ประดิษฐ์ วิธิศุภกร ผู้อำนวยการโครงการ Executive MBA คณะบริหารธุรกิจ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เผยแนวคิดและบอกเล่าเรื่องราวของหลักสูตรต่อทีมงานนิตยสาร MBA ในช่วงเวลาที่โควิดกำลังคืบเข้ามาเมื่อต้นปี 2020

 

MBA:     ทำไมนิด้าต้องเปิดหลักสูตร MBA แล้วต้องมี Executive MBA?

ผศ.ดร.ประดิษฐ์: Ex-MBA เป็นหลักสูตรที่ถูกออกแบบมาให้รองรับกับผู้เรียนที่เป็นผู้บริหารระดับ Executive หรือเจ้าของกิจการที่มีประสบการณ์ และต้องการมาเพิ่มเติมองค์ความรู้เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดองค์กร และธุรกิจของตัวเองให้เติบโตไปต่อ ซึ่งตอนที่เปิดหลักสูตรมาครั้งแรกก็กว่า 30 ปีมาแล้ว ตอนนั้นก็ได้กำหนดเงื่อนไขของคุณสมบัติผู้เรียนเอาไว้เลยว่า จะต้องมีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 8 ปี และเป็นผู้บริหารระดับกลางขึ้นไปในสายงาน อายุผู้เรียนต้องอย่างน้อย 30 ปีขึ้นไป การกำหนดเงื่อนไขเหล่านี้ก็คือการคัดกรองผู้เรียนในขั้นแรก เพื่อให้การจัดคลาสผู้เรียนจะมีศักยภาพที่ใกล้เคียงกัน เพราะการเรียนการสอนของ Ex-MBA จะเน้นในเรื่องการทำงานร่วมกัน เรียนผ่านกรณีศึกษา หากผู้เรียนร่วมคลาสมีความต่างในฐานประสบการณ์ก็อาจส่งผลต่อคุณภาพของงานกลุ่มที่อาจด้อยลง ในเชิงการแชร์ความคิด ความเห็นและประสบการณ์ที่ต่างกัน เพราะเป้าหมายสำคัญที่สุดของหลักสูตรคือการทำให้ความรู้จากในคลาสสามารถนำไปใช้ได้จริงในโลกธุรกิจ อันนี้เป็นเหตุผลและเป้าหมายของการจัดวางหลักสูตร และผู้เรียน ตั้งแต่ต้นที่ต้องสอดคล้องและบนเป้าหมายเชิงคุณภาพสูงสุด ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงรักษาเงื่อนไขเหล่านี้ไว้

MBA:     เมื่อเทียบเนื้อหาระหว่างหลักสูตร MBA ปกติ กับ Ex-MBA ที่นิด้า แตกต่างกันอย่างไร?

ผศ.ดร.ประดิษฐ์: เกือบจะเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ สำหรับเนื้อหา เนื่องจากว่าหลักสูตร MBA ของนิด้าเราใช้มาตรฐานที่เริ่มมาตั้งแต่เปิดมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ยังเป็นมาตรฐานเดิมและเป็นมาตรฐานเดียวกับที่อเมริกา ซึ่งเป็นมาตรฐานที่รับรองโดย AACSB ที่เป็น World Class Standard ดังนั้นเนื้อหาใน หลักสูตร MBA ของนิด้าจึงเหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันในรายละเอียดของรูปแบบในคลาส ที่จัดแบ่งตามคุณสมบัติผู้เรียน และการประยุกต์การเรียนการสอน ซึ่งต้องบอกว่า Ex-MBA จะมีความเข้มข้นในเรื่องการเรียนการสอนที่สูง คือตั้งแต่เริ่มต้นเข้ามาจนจบกว่าจะผ่านออกไปได้คือยาก แต่เมื่อผ่านแล้ว ทุกคนจะพูดเหมือนกันหมดว่าความรู้ที่ได้มาจากการเรียนคุ้มค่า และสามารถที่จะนำไปใช้งานได้จริง นั่นคือจุดเน้นที่สำคัญที่ตลอดมาจนวันนี้เป็นรุ่นที่ 32 และปี 2564 จะเป็นรุ่นที่ 33 ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรที่มีความเก่าแก่และต่อเนื่องยาวนานมากที่สุด และจะเรียกว่าเป็นหลักสูตรที่เป็นเสาหลักของคณะบริหารก็ว่าได้

MBA:     เนื้อหาความรู้ ของ MBA มีพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ในช่วงที่ผ่านมา?

ผศ.ดร.ประดิษฐ์: เปลี่ยนเร็วมาก เนื้อหาที่เป็นวิชาหลัก หรือที่เป็น Core ของ MBA ในแง่โครงสร้างยังเหมือนเดิม คือหัวใจของ MBA ยังคงเป็นเรื่องของการเรียนบัญชี การเงิน การตลาด Operation Management แล้วก็ Information System เหมือนเดิม แต่เนื้อหาที่เรียนทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก และเปลี่ยนเร็ว เรียกได้ว่า เปลี่ยนแทบทุกๆ 3 ปีก็ว่าได้ เพราะฉะนั้น คนที่เรียน MBA เมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว เอาตำราที่ตัวเองเคยเรียนมากางเทียบกับตำราที่ใช้เรียนตอนนี้ จะพบว่าต่างกันเยอะมาก

MBA:     เนื้อหาที่เปลี่ยนเยอะและเปลี่ยนเร็ว เป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่อง Business Disruption หรือ Technology Disruption หรือไม่?

ผศ.ดร.ประดิษฐ์:  ก่อนอื่น ต้องอธิบายก่อนว่า คำว่า Disruption ที่คนชอบเอามาพูดกันพักหลังๆ ซัก 4-5 ปีมานี้ อันที่จริงก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิด เพียงแต่ก่อนหน้านั้นคือยังไม่มีการใช้คำๆ นี้ แต่โดยความหมายของ Disruption ก็เป็นเรื่องของการที่มี New Comer เข้ามาใหม่ โดยผู้มาใหม่ใช้จุดแข็งของตนเอง ที่เกิดและสร้างขึ้นมาเพื่อจัดการจุดอ่อนของอีกฝ่ายหรือผู้เล่นเดิมที่มีอยู่ก่อนหน้า ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่นมีกิจการที่ดำเนินอยู่ในตลาดอยู่แล้ว ทำธุรกิจประสบผลสำเร็จ จนกิจการเติบโตขนาดใหญ่ มีทุนและทรัพยากรมาก หากมองไปก็ย่อมจะเป็นจุดแข็งและข้อดีในแง่ของการแข่งขัน แต่สำหรับ Disruptor ผู้มาใหม่ เป็นกิจการเล็ก ทุนน้อย แต่มีโมเดลธุรกิจ หรือวิธีบริหารจัดการ หรือ เทคโนโลยีที่สามารถสร้างความได้เปรียบจากความเล็ก ที่มีความ Lean และมีความคล่องตัว และที่สำคัญคือการมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ทำให้สามารถแข่งขัน และเสนอสินค้า/บริการในราคาที่ต่ำกว่าของผู้เล่นเดิมที่อยู่ก่อน และสร้างให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกว่าได้บริการหรือสินค้าที่ไม่แตกต่าง ในขณะที่ราคาถูกกว่า

ยกตัวอย่างที่ชัดเจนขึ้น อย่างเช่น สายการบินยักษ์ใหญ่ที่เคยเป็นเจ้าตลาด ซึ่งแต่ไหนแต่ไรใครๆ ก็มองว่า สายการบินเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน แต่แล้ววันดีคืนดี ก็เกิดสายการบินในลักษณะที่เรียกว่า Low Cost ที่สามารถทำให้ที่นั่งถูกจองเกือบเต็ม เมื่อจำนวนที่นั่งเกือบเต็ม ก็ทำให้ตัวเองสามารถที่จะตั้งราคาให้ต่ำกว่าคู่แข่ง เมื่อราคาต่ำกว่า ก็ทำให้เกิดการ Shift ของลูกค้า ส่วนสายการบินเดิมที่มีขนาดใหญ่ จะลดราคาแข่งก็ทำไม่ได้ เพราะต้นทุนสูงกว่า Efficiency ก็สู้ไม่ได้ ในแง่ของการบริหารจัดการต่างๆ ก็มีความไม่คล่องตัว สุดท้าย ยักษ์ใหญ่ก็ล้มได้ สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นได้กับเกือบทุกอุตสาหกรรม

ปรากฏการณ์แบบนี้ สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจที่ทำมานานที่ถูกมองว่ามักจะได้เปรียบ ซึ่งที่จริงแล้วในโลกธุรกิจ การมีบุคลากรเยอะ หรือแม้แต่ทุนเยอะกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เปรียบเสมอไป หรือตลอดไป เราจะเห็นว่าในช่วง 10-20 ปีมานี้ มีสายการบินหลายบริษัทที่ต้องหยุดกิจการ สาเหตุสำคัญก็เป็นเรื่องของการถูก Disrupt โดยในส่วนของ Disruptor อย่างเช่นกรณี สายการบิน Low Cost ก็เป็นเรื่องของการพลิกวิธีนำระบบบริหารจัดการ เรื่องของการทำการตลาด concept ใหม่ๆ ที่ทำให้เกิด Efficiency ที่ดีกว่า ซึ่งอันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเกิด Disruption เพียงแต่ที่ผ่านมาในอดีตไม่ได้มีการเรียกหรือให้นิยามในนัยแบบนี้

MBA:     อย่างเรื่อง Technology Disruption ที่กระทบต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมทุกวันนี้ มีผลกับหลักสูตร Ex-MBA ที่จะต้องปรับตัวกับเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร?

ผศ.ดร.ประดิษฐ์: หลายปีมานี้ธุรกิจเกิดใหม่ แม้จะเป็นรายเล็กๆ แต่มาพร้อมเทคโนโลยี ที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า เร็วกว่า แม่นยำขึ้น หรือต้นทุนถูกกว่า ก็สามารถทำให้เกิดเป็น Disruption ได้ กลายเป็นรายเล็กแทรกขึ้นมา และสามารถก้าวมาเป็นเจ้าตลาดได้ เริ่มเกิดขึ้นมาเยอะแล้ว แทบทุกวงการ

สำหรับเทคโนโลยีโดยเฉพาะ การเกิดของ Social Media และทำให้เกิด Social Network ทำให้เกิด Disruption มากมาย ที่แน่ๆ คือวิธีการทางการตลาดในยุคเก่าที่เราเคยทำเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด อย่างสมัยก่อนเราต้องมีงบประมาณจำนวนมากกับการทำการตลาด โดยเฉพาะ มูลค่าสื่อที่เคยสูงในอดีต แต่เดี๋ยวนี้ เราใช้เงินกับค่าสื่อถูกลงมาก และมีวิธีในการใช้ Content ที่ดี ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีและง่ายขึ้น อย่างนี้ก็เป็น Disruption ที่เกิดอย่างแพร่ระบาดเลย

สำหรับในแง่ของนิด้า ถ้าถามว่าเราสอนนักศึกษาในหลักสูตร Ex-MBA หรือพูดกันในเรื่องของ Disruption หรือไม่นั้น ต้องขอบอกว่า ที่นิด้า เราพูดเรื่อง Disruption ตั้งแต่วันที่ก่อตั้งและสร้างสถาบันนิด้ากันแต่วันแรกเริ่มเลย สามารถดูได้จาก ปรัชญาของเรา ที่ว่า Wisdom for Change ซึ่งก็คือ เราต้องมีภูมิปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นทุกคนที่มาเรียนที่นิด้า เราสอนตั้งแต่ต้นเลยว่า คุณจะต้องมองหาโอกาสในการที่จะเป็น Change Agent

ศิษย์เก่านิด้าจะต้องเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้ซึมเข้าวิญญาณของคนที่มาเรียนตั้งแต่เริ่มต้นในหลักสูตร เพราะฉะนั้นถ้าคุณได้มีโอกาสเจอกับคนที่เรียน MBA นิด้า คุณถามทุกคนได้เลยว่า อะไรคือหัวใจของ MBA นิด้า ทุกคนจะพูดถึงเรื่องของ Change Agent ของการที่คนจะต้องปรับให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมต่างๆ

MBA:     ในความคิดเห็นของอาจารย์คิดว่า หลักสูตร MBA มีโอกาสจะถูก Disrupt ได้หรือไม่?

ผศ.ดร.ประดิษฐ์: เป็นคำถามที่ดี ตลอดเวลาที่ผ่านมานิด้าเราพยายามผลิตมหาบัณฑิต MBA เพื่อที่จะเป็น Change Agent เพื่อที่จะไปเป็นส่วนหนึ่งของการ Disrupt ในวงการต่างๆ มาโดยตลอดอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันถ้าเรามองย้อนกลับในแง่ของภาคการศึกษา หลักสูตร MBA ถามว่าโอกาสที่จะถูก Disrupted เป็นไปได้ไหม อันนี้ถ้าต้องตอบแบบเป็นกลาง ก็คิดว่าเป็นไปได้!

เพราะปัจจุบันนี้ หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นความรู้มันทยอยเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่เลคเชอร์ของอาจารย์ดังๆ ที่ฮาร์วาร์ด ที่ MIT ที่สแตนด์ฟอร์ด และอีกหลายๆ ที่ ก็สามารถที่จะไปโหลดดู ไม่ว่าจะเป็นคลิปหรือ Power Point อะไรต่างๆ ฉะนั้น ถ้าคิดอย่างเป็นกลาง ก็มีความเป็นไปได้ว่าคนที่อยากจะได้ความรู้ MBA อาจจะไม่ต้องเข้ามาเรียนเลย ถ้าสามารถเปิดดูและหาความรู้จากในออนไลน์ได้เอง โดยไม่ต้องเสียเงินด้วยนะ! และจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารหลักสูตร MBA ในวันนี้และอนาคต

MBA:     แล้วในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้บริหารหลักสูตร Ex-MBA ของนิด้า คิดว่าจะเผชิญความท้าทายนี้อย่างไร?

ผศ.ดร.ประดิษฐ์:  คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกของเทคโนโลยี หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเข้ามาใช้ เราคงไม่สามารถที่จะไปขัดขวาง เมื่อถึงเวลาคงต้องมีเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามา อย่างเนื้อหาหลักสูตรทั้งหลายๆ ต่างๆ ที่มีการสอนๆ กัน ผมคิดว่าต่อไปในอนาคตก็คงจะต้องมีการแชร์กัน มีอะไรต่างๆ กันในออนไลน์ แต่ว่ามีอยู่สิ่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในคลาส MBA ที่โลกออนไลน์ไม่มีและหาไม่ได้ นั่นก็คือ ‘การมีสังคม’

และสังคมที่ผมหมายถึงไม่ใช่สังคมที่เป็น Social Network แบบดิจิทัล แต่เป็นสังคมจริงๆ สังคมของคนที่อยู่ในรุ่นเดียวกันที่ได้เข้ามาใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นระยะเวลาสองปี มาเรียนรู้ มาทำงานร่วมกัน เริ่มต้นจากการเป็นเพื่อนกัน พัฒนาต่อมาเป็นสังคมที่จะมีความยั่งยืน และมีการเกื้อหนุน มีการจุนเจือ มีการช่วยเหลือ และเป็นเครือข่าย เป็นสายใยจากเพื่อนไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจ ที่บ่อยครั้งได้เกิดขึ้นทั้งระหว่างและหลังจากเรียนจบไปแล้ว เพราะฉะนั้น การที่เข้ามาเรียนในหลักสูตร MBA อย่างที่นิด้า สิ่งที่เป็นเนื้อหาที่เราได้เรียนนั้นหลายคนอาจจะมองว่ามีค่า ซึ่งก็มีค่าจริงๆ เพราะว่าถ้าคุณเอาสิ่งที่คุณเรียนในแต่ละวิชาที่คุณเรียนไปใช้ มันก่อเกิดประโยชน์คุ้มค่าแน่นอน ไม่ว่าคุณจะเอาไปทำ ทำแล้วทำให้เกิดมูลค่าตลาดของคุณเพิ่มขึ้น ทำให้คุณบริหารธุรกิจและเงินดีขึ้น อะไรต่างๆ ดีขึ้น

แต่ว่าสิ่งที่มีมูลค่าสูงกว่านั้น สูงกว่าวิชาความรู้ที่คุณได้มาจากการเรียน ก็คือคุณได้ Social ที่เป็นสังคม ที่หลอมรวมกันเป็นวัฒนธรรม มีความคิดที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งก็จะทำให้คุณมีความเข้มแข็งในการที่คุณจะเป็นนักธุรกิจที่จะเติบโต ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในโลกออนไลน์ เชื่อว่าไม่มีอย่างแน่นอนพันเปอร์เซ็นต์ ในโลกออนไลน์อาจจะมี Content อยู่มากมาย คุณสามารถที่จะดูได้ไม่รู้จักหมด มีมากมายเท่าที่คุณอยากจะดู แต่สุดท้ายคุณก็ไม่สามารถที่จะหาพันธมิตร ไม่สามารถที่จะหาเพื่อนที่มีความจริงใจ ที่จะทำงานร่วมกันได้ แล้วก็เสริมกันแบบที่เราสร้างขึ้นและพัฒนาตลอดกว่า 30 ปี ของหลักสูตร Ex-MBA  

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็น Value ที่สำคัญของเรียนหลักสูตรในสถาบัน อย่างเช่น Ex- MBA ที่นิด้า ไม่ใช่ความหมายเพียงการเข้ามาเก็บเกี่ยวเพียงเนื้อหา หรืออาจารย์ผู้สอนเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ตัวนักศึกษาและศิษย์เก่า อยู่ที่เครือข่าย อยู่ที่สังคม ที่จะพัฒนาและก่อเกิดขึ้นต่อมา ซึ่งตรงนี้ไม่สามารถที่จะเล่าได้หมด คนภายนอกอาจมองไม่เห็น แต่คนที่อยู่วงในที่ได้เข้ามาจะบอกได้ ฉะนั้น ถ้าหากว่าใครที่อยากจะรู้ว่าเครือข่ายที่กล่าวมามีคุณค่ามากเพียงใดก็คือจะต้องลองเข้ามาดู มาคุยกับศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว แล้วคุณก็จะรู้ว่าช่วงเวลา 2 ปีที่คุณเข้ามาเรียนที่นิด้า มันเป็นช่วงเวลาที่คุณลงทุนแล้วผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นมีคุณค่ามากแค่ไหน ต่อจากนี้ 10 ปี 20 ปี 30 ปี มันคือการที่จะเกิด Return จากช่วงเวลาที่คุณได้เข้ามาที่ Ex-MBA NIDA

ถึงจุดนี้ ถ้าจะให้ตอบว่าแล้วมันจะเกิด Disrupt กับหลักสูตรหรือไม่นั้น ขอตอบว่าถ้าเราปรับตัว เอาสิ่งที่คนอื่นทำ เราก็ทำได้ แล้วสิ่งที่เราทำได้ แต่คนอื่นทำไม่ได้มาทำให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้น เชื่อมั่นว่า MBA ในอนาคตซึ่งอาจมีการเปลี่ยนชื่อไปเป็นอะไรก็สุดแท้แต่ แต่โดยเนื้อหาสำคัญ สาระสำคัญ มันก็คือ MBA เชื่อว่าจะยังคงอยู่แม้ว่าจะผ่านไปอีกหลายสิบปีก็ตาม

MBA:     อยากให้อาจารย์ช่วยขยายความเรื่องเครือข่ายสายสัมพันธ์ศิษย์พี่ศิษย์น้อง ของที่นิด้า

ผศ.ดร.ประดิษฐ์: ในหลักสูตร Ex- MBA ของนิด้า ต้องขอบอกว่าเรามีระบบรุ่นพี่รุ่นน้องที่แข็งแกร่งที่สุด ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยนะครับ แต่แข็งแกร่งที่สุดในโลกเลย ก็คือเมื่อคุณเข้ามาตั้งแต่วันแรก คุณจะมีรุ่นพี่ ที่เรียกว่ารุ่นพี่สายรหัส ไล่ตั้งแต่ปัจจุบัน ย้อนกลับไปอีก 30 ปี วันที่รับน้อง คุณจะซึ้งเลยว่ารุ่นพี่ที่จบไปแล้วเกือบ 30 ปีกลับมารับน้องด้วย เป็นรุ่นพี่สายรหัส นั่นหมายความว่าพอคุณเข้ามาเป็นสมาชิกของ Ex- MBA นิด้า คุณจะมีรุ่นพี่ 30 คนที่จะมาเทคแคร์คุณ ไม่ใช่มาเทคแคร์คนอื่นนะ เฉพาะคุณคนเดียวเลย 30 คน แล้ว 30 คนนี้มาจากหลายๆ ธุรกิจ โดยที่แต่ละคนก็เก่งคนละเรื่อง

MBA:     หลักสูตรEx-MBA กำหนดคุณสมบัติการรับนอกจากคะแนนสอบ ยังมีเกณฑ์อายุและประสบการณ์ 8 ปีอย่างนี้ Startup รุ่นใหม่ที่อยากจะเข้ามาเป็นส่วนของสังคมและเครือข่ายพี่น้องของ Ex-MBA ก็จะต้องรอไปก่อน?

ผศ.ดร.ประดิษฐ์:  สำหรับกลุ่ม Startup เราถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ ถ้าคุณเป็นเจ้าของกิจการ เราจะถือว่าคุณคือผู้บริหาร ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ แต่ที่สำคัญคือคุณจะต้องผ่านการสัมภาษณ์ ซึ่งจะเป็นกระบวนการกลั่นกรองและมองความพร้อมศักยภาพที่คุณจะต้องไปเรียนและทำงานร่วมกับเพื่อนในรุ่น และเงื่อนไขสำคัญอีกประการคือ ที่นี่เราใช้ภาษาอังกฤษค่อนข้างมาก ตำราส่วนใหญ่เป็นตำราที่ใช้สอนกันในอเมริกาและในยุโรป จึงต้องการความเข้มแข็งทางภาษาพอสมควร ยังมีเกณฑ์เรื่องการคำนวณ แม้บางคนจบสายศิลป์มา และขาดพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ แต่ถ้าสามารถผ่านด่านเข้ามาได้ และเข้ามาแล้ว เรามีระบบพี่ช่วยน้องที่ความเข้มแข็ง ในแง่ของรุ่นพี่ที่จะเข้ามาช่วยติวเข้มให้กับรุ่นน้อง

รุ่นพี่รุ่นน้องที่นิด้าบางทีมีการติวกัน 4-5 ทุ่ม สิ่งนี้คือส่วนหนึ่งของการเกิดบรรยากาศของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนที่อยู่ในรุ่นและรุ่นพี่ ซึ่งเวลาช่วงแค่ 2 ปี ถ้าคิดแล้วจริงๆ อาจจะค่อนข้างสั้น แต่ถ้าได้เข้ามาเรียนจะรู้สึกเหมือนเวลายาวนาน เพราะมีเรื่องที่จะต้องเจออยู่เยอะมาก มีกิจกรรมมากมาย จนก่อเกิดความผูกพันกัน หลังจากที่จบไปแล้วยังมีกิจกรรมต่อเนื่องแทบทุกเดือน หลายๆ รุ่นเลยที่จบไปตั้งนานแล้วเขาก็ยังมีการพบปะกันตลอด เมื่อรุ่นนี้มีการนัดพบกันรุ่นอื่นก็มาร่วมด้วยมันก็เลยทำให้เกิดการรู้จักกันมากขึ้นระหว่างรุ่น ฉะนั้นประเด็นในแง่พื้นฐานก่อนมาเรียน ไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ ผมมองว่าหัวใจสำคัญคือ ‘การมีใจรักอุปสรรคอื่นๆ ที่เหลือเรามีตัวช่วย อย่างที่บอกว่ารุ่นพี่ที่นี่ มีความเต็มใจและจริงใจ ในการที่จะเข้ามาช่วยพวกรุ่นน้องอย่างมาก ซึ่งคุณไม่มีทางเจอในโลกออนไลน์ เพราะสิ่งนี้เป็นเสมือนวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นมา ตลอดมากกว่า30 ปี เพราะฉะนั้นถ้าหากหลักสูตร MBA ที่อื่น อยากจะทำก็ต้องทำแบบนี้ว่ากันไปอีก 30 ปี ถึงจะมาเขย่า MBA ที่นิด้าของเราได้

MBA:     แล้วในแง่เครือข่ายภายนอก กับภาคธุรกิจและเอกชน มีบทบาทต่อกันกับหลักสูตรอย่างไร?

ผศ.ดร.ประดิษฐ์:  ชื่อหลักสูตร Executive MBA ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า คนที่มาเรียนคือ Executive เพราะฉะนั้นทุกคนก็เป็นเสมือนตัวแทนของธุรกิจในแต่ละด้าน แล้วก็ที่น่าภาคภูมิใจก็คือ หลายคนที่จบ Ex- MBA ที่นิด้า มาเรียนหรือได้รับทุนจากองค์กรให้มาเรียนเพราะมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของตัวหลักสูตร ซึ่งก็เป็นความเชื่อมโยงกับธุรกิจต่างๆ ในเกือบๆ ทุกประเภทหลายอุตสาหกรรม มีศิษย์เก่าของเราที่ไปเป็นเจ้าของธุรกิจโรงพยาบาล ทั้งด้านอุตสาหกรรมการผลิต และด้านบริการ ศิษย์เก่าของเราที่ไปเป็นเจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับด้านไอที ด้านเกี่ยวกับเทคโนโลยี ในเกือบทุกๆ สาขา และนั่นก็เป็นความแตกต่างจากบางหลักสูตรที่มุ่งเน้นเรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะ อาทิเช่น ด้านโลจิสติกส์ อะไรต่างๆ แต่ Ex- MBA เราจะมีส่วนผสมของคนที่มาจากหลายๆ อุตสาหกรรม ทำให้เกิดความหลากหลายของมุมมอง เกิดการ Sharingในแง่ความรู้และประสบการณ์ ทำให้ผู้บริหารของธุรกิจต่างอุตสาหกรรมมาพบกัน เกิดเป็นการเชื่อมโยงในแง่ธุรกิจ และนี่คืออีกจุดเด่นของ MBA ที่เรามีมาโดยตลอด

MBA:     ในด้านความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการกับต่างประเทศของหลักสูตร Ex-MBA นิด้า เป็นอย่างไร?

ผศ.ดร.ประดิษฐ์:  ถ้าจะพูดถึงเครือข่ายพันธมิตรทางวิชาการในต่างประเทศ ขอยกกรณีความสัมพันธ์กับ Business School ที่เปิดสอน MBA ที่เก่าแก่ที่สุดของอเมริกาคือ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) เป็นเวลากว่า 15 ปี จนทุกวันนี้ที่ โปรเฟสเซอร์Michael E.Porter ซึ่งเป็นปรมาจารย์ในด้านกลยุทธ์ ครั้นนั้นมีความตั้งใจที่จะเลือกมหาวิทยาลัยที่เป็นตัวแทนของแต่ละประเทศ เพื่อที่จะดึงอาจารย์ด้านบริหารธุรกิจที่เก่ง มาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรที่เรียกว่า Micro Economic of Competitiveness ก็คือวิชาเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยเรื่องการแข่งขัน เพื่อที่พัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งวิชานี้ของทาง โปรเฟสเซอร์ Michael E. Porter พัฒนาขึ้นมาตอนนี้ได้ 15 ปีแล้ว และมีการสร้างเครือข่ายอยู่ใน 150 ประเทศทั่วโลก ทุกปีจะมีการประชุมที่ฮาร์วาร์ด นิด้าได้รับเชิญไปร่วมประชุมทุกปี ซึ่งวิชานี้ก็ถูกพัฒนาขึ้นมา แล้วก็ได้บรรจุใส่เข้าไปในหลักสูตรของนิด้า และแน่นอนว่าคนที่เรียน Ex- MBA ทุกคนก็คือจะได้เรียนวิชานี้ ซึ่งมีเนื้อหาเดียวกับที่ โปรเฟสเซอร์ M. Porter ใช้สอนที่ฮาร์วาร์ด เช่นเดียวกับก็ที่มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของโลกอีก 150 ประเทศ และสามารถพูดได้อย่างภาคภูมิใจว่านิด้าเราเป็น 1 ใน 8 ของมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเชิญให้เป็น Partner ในการก่อตั้งและร่วมพัฒนาวิชานี้ และจะมีการประชุมวิชาการกันทุกปี เป็นปรมาจารย์ด้านบริหารธุรกิจจากทั่วโลกมาเจอกันที่ฮาร์วาร์ด อันนี้ก็คือเรียกได้ว่า เรามีเครือข่ายของมหาวิทยาลัยที่สอนทางด้าน MBA จากทั่วโลกเป็นพันธมิตรกันถึง 150 ประเทศทั่วโลก แล้วมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งที่เจอกันที่ฮาร์วาร์ดก็มาเยี่ยมนิด้า ขอมาเป็น Visiting Professor ขอมาทำวิจัยร่วม กันอยู่เสมอๆ อันนี้ก็เลยเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้นิด้าเป็นที่รู้จักมากพอสมควรในระดับโลก จากการที่ก็ได้เกิดการทำเป็น MOU ร่วมกันพัฒนาวิชานี้ขึ้น

และนอกจากความสัมพันธ์กับ Harvard Business School แล้ว นิด้าเราก็มี MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด ซึ่งก็ถือว่าเป็น Top 10 ของโลก ในเรื่องของบริหารธุรกิจ โดยที่มหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ดได้พัฒนาวิชา Design Thinking ซึ่งดังมาก ตอนนี้ถ้าใครไม่รู้จักต้องบอกว่าเชย ที่สแตนด์ฟอร์ด เขาเรียกว่า D-School โดยที่สแตนด์ฟอร์ด ก็ได้คัดสรรอาจารย์ที่เก่งๆ ระดับแนวหน้าของสแตนด์ฟอร์ดมาตั้งขึ้นเป็นเหมือนกับว่าเป็นภาควิชา และในภาควิชานี้ได้ผนึกเอาจุดแข็งของแต่ละคนมารวมกัน กลายเป็นวิชา Design Thinking เป็นการสอนการคิดวิเคราะห์ ในการที่จะแก้ไขปัญหา ไล่มาตั้งแต่ในเรื่องของ Operation เรื่องของ Branding เรื่องอะไรต่างๆ โดยที่ใช้ Concept ในเรื่องของการออกแบบมาช่วยในการคิด เพราะว่าการที่จะเราทำอะไรให้มันออกมาเป็นภาพ จะทำให้เราสามารถที่จะสื่อสารออกมาได้ดีกว่า การที่เราจะพูดกันเป็นข้อความ เพราะฉะนั้น D-school ก็ได้ทำ MOU กับทางคณะบริหารธุรกิจ ของทางนิด้า แล้วนำวิชา Design Thinking มาเป็นหนึ่งในวิชา Intensive ก็คือวิชาที่ทุกคนต้องเรียน ก่อนที่จะเริ่มเรียนวิชาเนื้อหาของหลักสูตรของ Ex- MBA หรือพูดง่ายๆ ว่าเรามีความเข้มข้นกันตั้งแต่วันเริ่มต้นก้าวเข้ามานิด้ากันเลย

นอกเหนือจากนั้นเรายังมี MOU เป็นความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยวอร์ตัน หรือ Wharton School of Business, University of Pennsylvania ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย โดยมีการจัดหลักสูตรเป็น Executive โดยที่นักศึกษาบางรุ่นที่เรียนหลักสูตร Ex-MBA ได้มีโอกาสไปเข้าร่วมในหลักสูตรที่ชื่อ Executive Management ที่ทางวอร์ตันเป็นผู้ออกแบบ อันนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของความร่วมมือ นอกเหนือจากในอเมริกา เราก็มีความร่วมมือในยุโรป อีกหลายๆ มหาวิทยาลัยระดับแนวหน้า ทั้งในสวิตเซอร์แลนด์ เนเธอแลนด์ เบลเยียม ฝรั่งเศส หลายแห่งเลยที่เรามีความร่วมมือ และในเอเชียเราก็มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

MBA:     เรื่องใหม่ๆ ที่กำลังพัฒนาในอนาคตอันใกล้

ผศ.ดร.ประดิษฐ์: มี 2 เรื่อง เรื่องแรก คือการปรับตัวหลักสูตร เพื่อเป็น Disruptor (ดิสรัปเขา) ไม่ใช่ Disrupted (โดนเขาดิสรัป) ให้กระชับ ใช้เวลาเรียนน้อยลง ใช้จุดแข็งของการเรียนแบบออนไลน์ที่เราได้รับจาก Indiana University มาปรับใช้ และเน้นจุดแข็งเรื่องการแชร์ประสบการณ์ภายในรุ่นและระหว่างรุ่น แล้วเรียกชื่อหลักสูตรใหม่ว่า “EEMBA = Experiential Executive MBA”

เรื่องที่ 2 เป็นแผนระยะยาวที่ตั้งใจทำหลักสูตร Executive MBA เป็น International Executive MBA (International EEMBA NIDA) เพราะอนาคต ภาษาจะไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไปเนื่องจากมี AI (Artificial Intelligence) ช่วยแปลภาษา ซึ่งตรงนี้เป็น Challenge อีกอันหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดเครือข่ายนักธุรกิจอาเซียน คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจไม่ใช่คนไทยอย่างเดียว อาจจะมาจากเวียงจันทร์ ย่างกุ้ง มาเจอกันที่กรุงเทพฯ เดือนละหน ครั้งต่อไปไปเจอกันที่เวียงจันทร์ โฮจิมินห์ ย่างกุ้ง พนมเปญ ทำให้เกิดเครือข่ายธุรกิจในอาเซียนที่แข็งแกร่งขึ้น เพราะจุดแข็งที่เรามีแต่ในออนไลน์ไม่มีคือโลกที่เป็นสังคมจริง เครือข่ายจริง นักธุรกิจตัวจริงที่จะมารู้จักกัน ที่สำคัญคือไม่ได้รู้จักกันเพียงผิวเผิน รู้จักกันในหลักสูตร มาใช้ชีวิต มาเจอกันมันมีเครือข่ายศิษย์เก่าที่เข้มแข็ง ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในแง่ของความสัมพันธ์บุคคล ต่อไปก็เป็นความสัมพันธ์เชิงธุรกิจ นี่คือสิ่งที่อยากจะทำ


เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: อาทิตย์ กัณฐัศว์กำพล

Last modified on Wednesday, 12 August 2020 11:33
X

Right Click

No right click