December 22, 2024

Y-MBA NIDA: Still Strong in the Time of Change

August 18, 2020 7268

ในยุคที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อกระบวนการพัฒนาทั้งภาคธุรกิจ เศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้เห็นภาพของ Technology Disruption กันอย่างกว้างขวาง

แม้กระทั่งในภาคการศึกษาเองก็ได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง องค์กรและสถาบันหลายต่อหลายแห่งต้องมีการปรับโครงสร้างกันทั้งระบบ ในขณะที่หลายแห่งเริ่มทยอยปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย  ดร.ธันยานี โพธิสาร ผู้อำนวยการโครงการ Young Executive MBA คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวไว้ว่า

“จริงแล้ว Information Technology สมัยใหม่ส่งผลทั้งด้านดีและด้านไม่ดีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และการดำเนินธุรกิจ มันนำมาซึ่งโอกาสในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ธุรกิจมีช่องทางการหารายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่เราในฐานะที่เป็นคนในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงโลก นอกจากจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่แล้ว ยังต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความตระหนักกับภัยที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงโลกนั้น หากเรามีความรู้ในเทคโนโลยีเหล่านั้นจะมองเห็นถึงช่องทางการใช้เทคโนโลยีนั้นให้เกิดประโยชน์ ถ้าธุรกิจรู้จักเทคโนโลยีเหล่านั้นและสามารถปรับตัวเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้อย่างถูกวิธี ก็จะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนั่นได้เช่นกัน ในฐานะของบุคคลากรทางการศึกษา ดิฉันเห็นว่าเทคโนโลยีได้เข้ามาเพิ่มทางเลือกให้กับผู้เรียน บางคนสามารถเลือกที่จะไปเรียนรู้ผ่านทางออนไลน์ การเข้าถึงความรู้ทำได้ง่าย แต่ปัญหาคือผู้เรียนต้องมีวินัยในการเรียนรู้ และ เลือกแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะและน่าเชื่อถือ”

นอกจากนั้น ดร.ธันยานี ได้กล่าวเสริมถึง Positive Impact ของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนรู้อย่างที่คณะบริหารธุรกิจนิด้า เป็นแหล่งรวมของคณาจารย์และผู้มีความเชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคโนโลยี หรือจะเป็นเรื่องของ Data Analytic ก็ตาม โดยที่ในสถาบันของนิด้าเองก็จะประกอบไปด้วยคณะหลายๆ คณะซึ่งมี Technology Oriented อยู่แล้ว

เรามีทรัพยากรมากเพียงพอที่จะทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นจุดเด่นในเรื่องของการเรียนรู้ อย่างหลักสูตร YMBA หรือหลักสูตร MBA อีกหลายๆ หลักสูตรของคณะบริหารธุรกิจของเราด้วยเช่นกัน

YMBA – MBA Specialty Program

ท่ามกลางหลักสูตรบริหารธุรกิจที่หลากหลาย และได้รับการออกแบบเพื่อที่รองรับและปรับให้ตรงกับความต้องการของตลาดการศึกษาและผู้เรียน ของคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้านั้น หนึ่งในหลักสูตรที่ถูกออกแบบอย่างสอดคล้องกับผู้ประกอบการ และผู้บริหารรุ่นใหม่ คือ หลักสูตร Young Executive MBA หรือ Y-MBA ซึ่งเปิดกว้างให้ทั้งผู้ที่มีพื้นฐานทางด้านสายวิทย์ หรือสายศิลป์ก็สามารถสมัครเข้ามาเรียนร่วมกันได้ โดย ดร.ธันยานี ในบทบาทผู้อำนวยการโครงการ YMBA ได้กล่าวถึงความพิเศษของหลักสูตรนี้ว่า

“การเรียน MBA เป็นการเพิ่มศักยภาพในเรื่องของการบริหารจัดการ ทุกๆ สาขาที่เรียนมา ไม่ว่าจะจบปริญญาตรีมาสายวิทยาศาสตร์หรือสายศิลปศาสตร์ เพราะบริหารธุรกิจเป็นศาสตร์ที่สามารถเอาไปช่วยทั้งในการจัดการชีวิต ตลอดจนจัดการธุรกิจของเราให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ สำหรับหลักสูตร Young Executive MBA หรือ YMBA ที่นิด้า เรากำหนดเป้าหมายโดยอยากได้ผู้เรียนที่สนใจเรียนศาสตร์ทางด้านบริหารธุรกิจ กลุ่มเป้าหมายของโครงการคือผู้ทีจบปริญญาตรีจากสถาบันที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมดารอุดมศึกษา หรือ ก.พ.  ที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี มีประสบการณ์ในอาชีพอย่างน้อย 3 ปี โดยเรามีวิธีการคัดเลือกนักศึกษาด้วยการสอบสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิของคณะบริหารธุรกิจ เพื่อเฟ้นหาผู้สมัครที่จะเข้าร่วมในโปรแกรม YMBA และการเรียนการสอนของเราจะมีทั้งเป็น Lecture Base และมี Participate กันในชั้นเรียน โปรแกรมของเราเป็นภาคพิเศษที่จัดการเรียนการสอนสามวันทำการระหว่างวันจันทร์ ถึงศุกร์ ในช่วง 18.30น. ถึง 21.30 น.”

จุดแข็งและความแตกต่างของ YMBA

เมื่อถามถึงความแตกต่างอย่างชัดๆ ของหลักสูตร Y-MBA ที่นิด้า ว่าคืออะไรนั้น ดร.ธันยานี ได้เผยถึงความแตกต่างของหลักสูตร ‘YMBA’ เมื่อเทียบกับหลักสูตรบริหารธุรกิจอีกหลายๆ หลักสูตรของนิด้าว่า

“ที่แตกต่างอย่างชัดๆ เลยคือ YMBA มีโปรแกรมศึกษาเรียนรู้ และเก็บประสบการณ์ในต่างประเทศ โดยทุกปีเราจะมีการสร้างโปรแกรมขึ้นมา โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายพันธมิตร อาทิเช่นที่ ประเทศสเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ และอีกหลายๆ แห่ง โดยเน้นเป็นความร่วมมือเฉพาะกับมหาวิทยาลัยที่ได้มาตรฐานสากลเทียบเท่าAACSB โดยโปรแกรมต่างประเทศที่จัดในแต่ละปีจะมีการบรรจุร่วมด้วยการเรียนในห้องเรียน เป็นภาคแนวคิดและทฤษฎีกับโปรเฟสเซอร์ของสถาบัน ต่อจากนั้นก็จะเป็นการดูงานในองค์กร หรือธุรกิจ ที่เป็นกรณีศึกษาในโทนเนื้อหาที่สอดคล้องกับวิชาที่เรียนในคลาสก่อนการดูงาน ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโครงการประจำหลักสูตรที่จะต้องจัดให้มีในทุกๆ ปี”

สำหรับข้อแตกต่างอีกประการของหลักสูตร YMBA NIDA เมื่อเปรียบกับหลักสูตรอื่นของคณะฯ นั้น ดร.ธันยานี ได้อธิบายว่าในโครงการ Young Executive เนื่องจากผู้เรียนเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่อาจจะมีประสบการณ์ที่ไม่เทียบเท่ากับ Executive MBA แต่ความท้าทายนี้เมื่อนักศึกษาได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยการอภิปรายกันก็จะออกมาเรียนรู้หรือตกตะกอนเป็นทางออกหรือวิธีการแก้ปัญหา ในการบริหารธุรกิจซึ่งมีความสมัยในอีกรูปแบบหนึ่ง

“สิ่งหนึ่งที่เขาจะได้จากการเรียนคือเรื่องของการจัดการตัวเอง การจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างเช่น เรื่องเวลา เรื่องของการจัดลำดับความสำคัญ เพราะว่าทุกคนน่าจะมีปัจจัยในการดำรงชีวิตที่เหมือนกัน ต้องหาเลี้ยงชีพ ต้องดูแลครอบครัว ต้องมีสังคม มีการดูแลตัวเอง การที่เราใช้เวลาหนึ่งวันที่มีเท่ากันทุกคน แต่เราทำหลายสิ่งหลายอย่างให้ได้ดีและมีประสิทธิภาพไปพร้อมๆ กันนั้น นั่นคือการวางแผนจัดการเวลาส่วนตัวในระดับหนึ่ง ปกติการมาเรียนที่นิด้าช่วงก่อนเข้าเรียนหรือหลังเลิกเรียนเขาอาจจะมีงานที่มอบหมายให้ทำที่ต้องทำหรือมีงานกลุ่มที่จะต้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กันอยู่เสมอๆ หรือแค่จะ Hangout กันกับเพื่อนๆ บางคนก็จะอยู่ในข้างล่างใต้ตึกซึ่งเป็นเลาจ์น (Lounge) ซึ่งเรามีพื้นที่จัดสรรไว้ให้ มียามรักษาการณ์ความปลอดภัยให้เป็นอย่างดี สามารถจทำกิจกรรม เสาร์อาทิตย์เราและเขาอาจจะนัดกันทำงานกลุ่มอะไรพวกนี้ หรืออาจจะไปปาร์ตี้ ไปสังสรรค์นอกสถานที่อะไรกันก็เรื่องของเขา เท่าที่เห็นชีวิตนอกจากการเรียนแล้วเนี่ย เขาก็จะเป็นเพื่อนกันในชีวิตจริง เช่น ไปช้อปปิ้ง ไปทานข้าว มีปาร์ตี้กัน บางท่านก็มาพบคู่ชีวิตก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ของการมาเรียนหนังสืออีกแบบหนึ่งด้วย

การเรียนรู้อย่างที่เราเคยเรียนรู้กันมาว่า ความรู้มันมีมากมาย สิ่งที่เราเรียนรู้มันไม่มีทางเรียนรู้หมด แต่ว่าการอยากที่จะเรียนรู้หรือว่าการใฝ่รู้ของเราต่างหากที่มันเป็นสิ่งที่ทางสถาบันจะร่วมสร้างและฝังอยู่ในตัวคุณ ถึงแม้จะจบ MBA จากที่นี่ไปแล้ว จึงจะมีความสามารถในการไปเรียนรู้ต่อด้วยตัวเอง หรือสามารถกลับมาเพิ่มทักษะใหม่ๆ หรือ Re-skill กับเราได้หรือกลับมาอัพเดทความรู้ใหม่ๆ สิ่งที่เขาเรียนรู้ไปแล้วให้ใหม่ขึ้นกับเราก็ได้“

นอกจากนี้ที่เป็นความพิเศษอีกประการของ Y-MBA คือ ทางเลือกในการไปลงเรียน 1 คอร์ส เป็นเวลา 5 สัปดาห์ที่มหาวิทยาลัยแคมท์ตัน ประเทศเยอรมันนี ที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบัน โดยจะเป็นทางเลือก ในเทอมที่ 3 ของหลักสูตร แต่ทั้งนี้จะต้องคัดสรรเฉพาะนักศึกษาที่มีความเข้มแข็งทางภาษาและมีความเหมาะสมที่จะไปศึกษาที่ต่างประเทศได้ โดยทางคณะฯ จะเป็นผู้ดูแลในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการไปเรียนในต่างประเทศที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย อันเป็นส่วนหนึ่งของค่ากิจกรรมและค่าเล่าเรียนของนักศึกษา

ทั้งนี้ ดร.ธันยานี ได้กล่าวถึงงานกิจกรรมและกิจการนักนักศึกษาที่คณะบริหารธุรกิจที่นิด้าว่า “โดยทั่วไปแล้ว ที่นิด้าเรามีกิจกรรมที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่แรกที่เข้า คือวันปฐมนิเทศ โดยทางคณะฯ จัดร่วมกันของทุกหลักสูตรของคณะบริหารฯ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาของคณะฯ ไม่ว่าจะหลักสูตรใดก็ตาม จะได้มีโอกาสพบปะและมีปฏิสังสรรค์กันได้ในฐานะเพื่อนร่วมคณะฯ และเพื่อนร่วมสถาบันฯ สามารถสานต่อสัมพันธ์ไปสู่การสร้างความร่วมมือในทางการงานและธุรกิจได้ในอนาคต ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนี่งของการศึกษาวิชาทางด้านบริหารธุรกิจ”

ผู้อำนวยการหลักสูตร YMBA NIDA เสริมว่า เครือข่ายหรือเน็ตเวิรก์ทางธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะสังคมธุรกิจเป็นสังคมที่ต้องการเครือข่าย และ สิ่งที่คุณจะได้จากเรียนศึกษาในสาขาบริหารธุรกิจคือเครือข่าย สำหรับที่นิด้า ความหมายของเครือข่ายประกอบไปด้วยทั้งนักศึกษาในรุ่นปัจจุบัน เครือข่ายกับอาจารย์ เครือข่ายกับวิทยากรซึ่งมีประสบการณ์ในโลกธุรกิจทั้งอดีต และปัจจุบัน รวมไปถึงเครือข่ายศิษย์เก่า หรือ Alumni ซึ่งกล่าวได้ว่า ศิษย์เก่าของ MBA NIDA ประกอบไปด้วยผู้ที่มีความรู้ ความสามารถและประสบความสำเร็จอย่างแพร่หลายในทุกวงการทั้งภาครัฐ และเอกชน และเป็นที่ประจักษ์ชัดอย่างไม่ต้องรอการพิสูจน์

บทบาทงานสอนและงานวิชาการ @นิด้า

“สำหรับการเป็นบุคลากรสายวิชาการของสถาบันนิด้า ทำให้เรามีภารกิจที่ต้องทำค่อนข้างมาก ทั้งงานสอน ยังมีงานบริการวิชาการ ฝึกอบรมต่างๆ ตลอดจนการให้ความเห็นทางด้านวิชาการให้กับผู้ที่ต้องการ และอีกส่วนหนึ่งซึ่งก็มีความสำคัญคือเรื่องของการทำวิจัย อาจารย์ทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องทำวิจัย สร้างผลงานการตีพิมพ์บทความทางวิชาการต่างๆ เพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งตัวเองก็พยายามที่จะสร้างสมดุลทุกอย่างให้เกิดขึ้น” คือบทส่งท้ายของ ดร.ธันยานี โพธิสาร ผู้อำนวยการหลักสูตร YMBA -NIDA


เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : อาทิตย์ กัณฐัศว์กำพล

Last modified on Tuesday, 18 August 2020 14:44
X

Right Click

No right click