

คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดการแข่งขันทักษะวิชาชีพด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม และการประกอบอาหาร ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด "Soft Power ท่องเที่ยวเสน่ห์ไทย" โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพเยาวชนสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ชั้นปีที่ 5 - 6 และนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อชิงทุนการศึกษา การแข่งขันครั้งนี้แบ่งเป็น 2 รายการ คือ การแข่งขันตอบคำถามวิชาการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม และการประกอบอาหาร มีทีมเข้าร่วม 35 ทีม ซึ่งทีมชนะเลิศได้แก่ ทีม PBPVC 2 จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี และการแข่งขันทักษะด้านการประกอบอาหาร(แข่งเดี่ยว) ภายใต้ธีม "อาหารไทยจานหลักสตรีทฟู้ดฟรีสไตล์" มีทีมเข้าร่วม 13 ทีม ซึ่งทีมชนะเลิศได้แก่ ทีม GOOD PART จากโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย นำเสนอ เมนูข้าวมันส้มตำแกงไก่โมเดิร์น ได้อย่างลงตัว ภายในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ดร.ยุวรี โชคสวนทรัพย์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมกันนี้ยังมีผู้แทนจากบริษัทพันธมิตร ให้เกียรติเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและมอบทุนการศึกษาสมทบ ณ ห้องสนม สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ดร.ยุวรี โชคสวนทรัพย์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าว มุ่งสร้างแรงบันดาลใจและเปิดโลกทัศน์ให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสาขาวิชาด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม รวมถึงการประกอบอาหาร โดยบูรณาการแนวคิด Soft Power ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ผ่านองค์ประกอบ 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่น (Fashion) ศิลปะการต่อสู้มวยไทย (Fighting) และเทศกาล (Festival) ซึ่งการจัดการแข่งขั้นครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอาหาร อาทิ บริษัท Find Folk สมาพันธ์เชฟประเทศไทย และ Sevenfive เป็นต้น ร่วมเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการสร้างประสบการณ์และการเรียนรู้นอกห้องเรียน รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนค้นหาตัวตนและสายอาชีพที่เหมาะกับตนเองมากที่สุด
นายสรรพวัต กันตามระ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดเชิงกลยุทธ์และความยั่งยืน บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด ในฐานะกรรมการตัดสินการแข่งขันตอบคำถามวิชาการด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม กล่าวว่า Soft Power ไทย มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการศึกษาค้นคว้าก่อนการแข่งขันจะช่วยให้ผู้เข้าแข่งขันได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย การแข่งขันครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนนักศึกษาได้เห็นมุมมองที่แตกต่างและโอกาสในสายอาชีพใหม่ๆ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มของแต่ละองค์ประกอบใน 5F และการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้ จากภาพรวมการแข่งขัน พบว่าผู้เข้าแข่งขันมีความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft Power อย่างลึกซึ้ง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ปัจจุบันอุตสาหกรรมโรงแรม มีการปรับตัวโดยนำนโยบายด้านความยั่งยืนมาใช้มากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้านเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความรู้ด้านความยั่งยืนและการบริการที่มีคุณภาพ รวมถึงความสามารถในการถ่ายทอดวัฒนธรรมไทยให้แก่นักท่องเที่ยว จึงอยากแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมการดังกล่าว ต้องรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยและสามารถถ่ายทอดสู่นักท่องเที่ยวได้อย่างชัดเจน
ด้านทีม PBPVC 2 ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันตอบคำถาม ประกอบด้วย นางสาวเจนวิรา ปานพันธ์ นักศึกษาชั้น ปวส.ปีที่ 1 และนางสาวสุชัญญา ผาโพธิ์ นักศึกษาชั้น ปวช.ปีที่ 1 สาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว วิทยาลัยอาชีวศึกษาเพชรบุรี ร่วมกล่าวเปิดใจว่า การแข่งขันครั้งนี้เป็นเวทีที่เพิ่มพูนความรู้ด้านการท่องเที่ยวและประสบการณ์การแข่งขัน ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างไรก็ตามเรารู้สึกประทับใจต่อการจัดการแข่งขันมาก โดยเฉพาะการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรุ่นพี่ รวมถึงการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับ 5F
ขณะที่นายณัฐพงศ์ ธีรนันทพิชิต อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหาร (Soft Power) ในฐานะกรรมการตัดสินการแข่งขันทักษะด้านการประกอบอาหาร กล่าวว่า การแข่งขันใช้เกณฑ์การตัดสิน 10 องค์ประกอบ อาทิ การเตรียมวัตถุดิบและการเลือกใช้วัตถุดิบให้สอดคล้องกับโจทย์ โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศมีความสามารถในการประกอบอาหารที่หลากหลาย พร้อมนำเสนอเมนูอาหารที่ครบถ้วนในจานเดียวและมีรสชาติที่ดีเยี่ยม อย่างไรก็ตามการแข่งขันนี้เป็นการจุดประกายให้คนรุ่นใหม่สนใจอาหารไทยมากขึ้น เห็นคุณค่าของการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เมนูอาหาร และสามารถนำประสบการณ์ไปพัฒนาต่อยอดในอนาคตได้
ด้านทีม GOOD PART หรือ นายวรวุฒิ เสือสี นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันทักษะด้านการประกอบอาหาร กล่าวเปิดใจว่า ได้รับโจทย์ให้ประกอบอาหาร 5 องค์ประกอบในจานเดียว ภายใต้หัวข้อ Main-Course Thai Street Food Freestyle ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายสูง ตามโจทย์ Street Food ของไทยที่มักจะเป็นไก่ย่างส้มตำ จึงคิดดัดแปลงเป็น เมนูข้าวมันส้มตำแกงไก่โมเดิร์น ในรูปแบบฟิวชันที่ผสมผสานระหว่างข้าวมัน ส้มตำ และแกงไก่ ประกอบด้วย สเต็กไก่เสิร์ฟพร้อมซอสแกงเขียวหวาน ส้มตำดัดแปลงเป็นผัดเปรี้ยวหวาน และข้าวริซอตโตที่หุงด้วยความมัน โดยใช้ข้าวบาร์เลย์แทนข้าวเหนียว เพื่อให้ได้เนื้อสัมผัสที่ใกล้เคียง และเพิ่มวิปปิ้งครีมราดบนข้าวริซอตโต โดยจานอาหารนี้ประกอบด้วยสัดส่วนที่เหมาะสมของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเส้นใยอาหาร อย่างไรก็ตามรู้สึกดีใจมากที่ได้คว้าแชมป์ในครั้งนี้ หลังจากเรียนจบชั้นม.6 จะเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในด้านการประกอบอาหาร เพราะฝันอยากเป็นเชฟในโรงแรมชื่อดัง และเปิดร้านอาหารของตนเองในต่างประเทศ
บัญชี CIBA DPU ร่วมกับ TAFA จัด “Novice Accountant Camp” แก่ นักศึกษา ปวส. วิทยาลัย อี.เทค. เชิญกูรูด้านบัญชี ถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งจรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี การจดทะเบียนนิติบุคคล ความรู้เกี่ยวกับบัญชีภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีนิติบุคคล พร้อมเวิร์กช็อปเติมเต็มทักษะจำเป็น ตั้งเป้าปั้นนักบัญชีดิจิทัลมีพื้นฐานแน่น เตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงานหรือการศึกษาต่อ
วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับสมาคมสำนักงานบัญชีไทย (Thai Accounting Firms Association : TAFA) จัดอบรมภายใต้โครงการ “Novice Accountant Camp” ระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค.) ให้กับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 2 และปวส.(พิเศษ) 2 สาขาการบัญชี จำนวนกว่า 200 คน โดยมีวิทยากรจากทางสมาคม TAFA และ CIBA DPU ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งในเรื่องของแนวทางการปฏิบัติทางการบัญชีรวมถึงชี้แนวทางการเป็นนักบัญชีที่ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมและคุณวุฒิ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกสู่ตลาดแรงงานหรือการศึกษาต่อ
ดร.อรัญญา นาคหล่อ ผู้จัดการสถาบันพัฒนานักวิชาชีพบัญชี และอาจารย์ประจำหลักสูตรการบัญชียุคดิจิทัล วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า การเรียนการสอนด้านบัญชี ส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนรู้ตามหลักสูตรตำราเรียนที่เน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ แต่สำหรับนักบัญชีในยุคใหม่ การเรียนรู้จากตำราเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดในรูปแบบของแคมป์นักบัญชีมือใหม่ (Novice Accountant Camp) เพื่อต้องการพัฒนานักวิชาชีพบัญชีให้กลายเป็นนักบัญชีดิจิทัล ที่มีความรู้พื้นฐานด้านบัญชีและรู้จักการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“ในการปัจฉิมนิเทศปีนี้ของนักศึกษาบัญชีระดับ ปวส.ชั้นปีที่ 2 ของ วิทยาลัย อี.เทค ทางสมาคม TAFA และ CIBA DPU ได้จัดอบรมให้คำแนะนำและเตรียมความพร้อมในการออกไปศึกษาต่อหรือเข้าสู่ตลาดแรงงาน ให้กับ น้องๆ โดยปัจจุบันนักบัญชีต้องแตกต่างไปจากเดิม การมีความรู้พื้นฐานยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ต้องรู้จักเรียนรู้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ อย่าง ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligenc : AI) หรือ คลาวด์ (Cloud) และต้องเป็นผู้ใช้งานเทคโนโลยีเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรมากที่สุด” ดร.อรัญญา กล่าว
สำหรับแคมป์นักบัญชีมือใหม่ (Novice Accountant Camp) 2 วัน ที่จัดขึ้น จะเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ผ่านการเวิร์กช็อปเพื่อเติมเต็มทักษะที่จำเป็นสำหรับนักบัญชีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น จรรยาบรรณวิชาชีพบัญชี การจดทะเบียนนิติบุคคล ความรู้เกี่ยวกับบัญชี ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีนิติบุคคล การคำนวณและกรอกแบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมทั้งมีการเวิร์กช็อปกรณีศึกษาการประกอบธุรกิจขายเสื้อผ้าแฟชั่น มีหน้าร้านและขายออนไลน์ รวมถึงการแนะนำหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานด้านบัญชี เช่น กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นต้น
ดร.อรัญญา กล่าวด้วยว่า ภายใต้โครงการนี้ น้องๆ จะได้เตรียมพร้อมและฝึกปฏิบัติจริง รวมทั้งเรียนรู้ว่าจะนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติด้านบัญชีอย่างไรได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันนักบัญชีจะมาทำหน้าที่เพียงจดบันทึกไม่ได้แล้ว และนอกจากทักษะพื้นฐานวิชาชีพ ยังต้องรู้จักการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์ ปัจจุบันมีการนำเรื่อง AI OCR (AI-Optical Character Recognition ) เทคโนโลยีสำหรับอ่านข้อมูลบนเอกสารกระดาษแล้วดึงข้อมูลออกมาเป็นไฟล์ หรือจะต่อยอดด้วยการนำ RPA (Robotic Process Automation ) มาป้อนข้อมูลเข้าระบบอื่นโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้งานบัญชีสะดวกขึ้น หรือมีการนำคลาวด์มาใช้ นักบัญชียุคใหม่ไม่จำเป็นต้องมาเขียนบันทึกบัญชีเอง เพียงแต่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน โดยมีนักบัญชีเป็นผู้สั่งการ
“อาจารย์เชื่อว่านักบัญชีเป็นอาชีพที่ไม่ตกงาน เพราะทุกสถานประกอบการ บริษัท องค์กรจำเป็นต้องมีบัญชี และต้องมีนักวิชาชีพบัญชี ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ต้องมีใบอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นผู้ทำบัญชี หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ดังนั้น สิ่งที่เทคโนโลยีจะเข้ามาดิสรัปชันนักบัญชีได้นั้น คือ การไม่เรียนรู้เพิ่มเติม ไม่ปรับตัว หรือความไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยีของนักบัญชี หากนักบัญชีปรับตัว เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ พัฒนาทักษะของตัวเองตลอดเวลา เปลี่ยนตัวเองเป็นนักบัญชีดิจิทัล สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยี รู้จักวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีทำให้งานเร็วขึ้น สะดวกมากขึ้น และช่วยการตัดสินใจแก่นักธุรกิจเพื่อประโยชน์ขององค์กร เชื่อว่านักบัญชีดิจิทัลจะเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการอย่างแน่นอน” ดร.อรัญญา กล่าว
ทั้งนี้ หลักสูตรการบัญชียุคดิจิทัลของ CIBA DPU เน้นการเรียนการสอนด้านบัญชีดิจิทัล และเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อตอบโจทย์ยุค Digital Transformation เช่น การนำเสนอข้อมูลทางบัญชีง่ายๆ เพียงปลายนิ้ว ด้วยโปรแกรม Power BI for Data Analytics หรือสรุปข้อมูลให้เข้าใจง่ายด้วยการใช้งาน Dashboard ประเภทต่างๆ จาก Cloud Accounting Software ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน รวมถึงมีการเพิ่มทักษะด้านบัญชีดิจิทัลให้ผู้เรียน โดยได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มบัญชีชั้นนำ อาทิ ระบบจัดการทรัพยากรองค์กรภายในบริษัท (SAP ERP) , Express Software, FlowAccount, PEAK, NEXTTO รวมทั้ง การนำ Optical character recognition (OCR) และ ระบบการจัดการร้านบนมือถือ (Point of Sale System : POS on Mobile) มาใช้ในการเรียนการสอน และเชิญผู้เชี่ยวชาญมาสอนเสริม ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้เทคโนโลยีควบคู่กับองค์ความรู้ด้านบัญชี พร้อมเป็นนักบัญชีดิจิทัลที่สามารถทำงานได้จริง
วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดโครงการแข่งขันเพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.)และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ส่งเสริมการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ สำหรับนักเรียนและนักศึกษา 2.พัฒนาทักษะที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น การแก้ปัญหา การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยี และ3.เตรียมความพร้อมกำลังคนคุณภาพในการพัฒนาประเทศ
โครงการดังกล่าว เปิดรับสมัครนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และนักศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ตั้งแต่วันนี้ - 17 มกราคม 2568 โดยมีกิจกรรมการแข่งขัน 4 เวทีหลัก ดังนี้:
1. โครงการแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชี "สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร" ครั้งที่ 10 เนื่องด้วยวิชาชีพบัญชี เป็นหนึ่งในสาขาวิชาชีพที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังเป็น 1 ใน 7 สาขาวิชาชีพ ที่มีการพัฒนาข้อตกลงในการโอนย้ายแรงงานเสรีในกรอบข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวิชาชีพนักบัญชีของประชาคมอาเซียน DPU เห็นความจำเป็นในการสร้างความเข้าใจเชิงลึก และความตระหนักรู้ในความรับผิดชอบทางวิชาชีพให้แก่นักเรียนสายวิชาชีพบัญชีในระดับอาชีวศึกษา ในการพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีศักยภาพในอนาคต
การจัดการแข่งขันครั้งนี้ จึงจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาความรู้และทักษะของนักเรียน นักศึกษา ในสายวิชาชีพบัญชี โดยมีกำหนดจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2568 เวลา 08.00 - 16.30 น. ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ชั้น 7อาคารเฉลิมพระเกียรติ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์และสมัครได้ที่: https://forms.gle/nH5KR4WkhkrTQpWk6
2. โครงการเทรดหุ้น "GenZ Biz-Investor สู่โลกลงทุนเรียนรู้ตลาดหุ้นจริงกับ App เทรดของคน GenZ-Season2" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาทักษะการลงทุนในตลาดหุ้นจริง ผ่านการใช้แอปพลิเคชัน "Finansia HERO" ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้มุ่งเน้นการนำความรู้ด้านการเงินและการลงทุนมาร่วมกับการใช้เทคโนโลยีทางการเงินผ่านเครื่องมือการเทรดหุ้นจำลอง เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาการเรียนรู้ผ่านการลงทุนเสมือนจริง รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งการประเมินจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม และการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่สำคัญในการลงทุน ได้แก่ ทักษะการทำงานกับผู้อื่น ทักษะการแก้ปัญหาและการวิเคราะห์ เป็นต้น โดยกำหนดการจัดกิจกรรมแข่งขัน ในวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2568 เวลา 08.00 - 17.30 น. ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ ชั้น 6 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และ สมัครได้ที่:https://forms.gle/2Zf5qhXaskx1UnRf8
3. โครงการประกวดโมเดลธุรกิจและสร้างแบรนด์ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 1 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษา ผ่านการส่งเสริมทักษะผู้ประกอบการที่ครอบคลุม อาทิ การคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม และความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นให้นักเรียนและนักศึกษาสามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจที่มีความยั่งยืน โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความสำเร็จทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และเพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพและมีวิสัยทัศน์ในอนาคต โดยกำหนดการจัดกิจกรรมแข่งขันในวันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม 2568 เวลา 08.00 - 16.30 น. น. ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ ชั้น 7 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และสมัครได้ที่: https://forms.gle/6CXQox2X2WXr3zzE9
4. โครงการแข่งขันเกมจำลองบริหารธุรกิจนวัตกรรมและความยั่งยืน ครั้งที่ 3 ด้วยตระหนักถึงความท้าทายในโลกปัจจุบันที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การจัดโครงการแข่งขันเกมจำลองฯ จึงมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ผ่านแพลตฟอร์มเกมจำลองซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะสำคัญ อาทิ การทำงานร่วมกัน การแก้ปัญหา การสื่อสาร และความคิดสร้างสรรค์ โดยมุ่งหวังให้เยาวชนสามารถปรับตัวและสร้างนวัตกรรมท่ามกลางความท้าทายของโลก ด้วยการเรียนรู้การวางแผนธุรกิจ การสร้างแบรนด์ และคำนึงถึงความยั่งยืนอย่างรอบด้าน โดยกำหนดการจัดกิจกรรมแข่งขันในวันที่ศุกร์ 31 มกราคม 25668 เวลา 08.00 - 16.30 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และสมัครได้ที่ : https://forms.gle/aJkTsbKbHTjDskUT7 (จำกัด 66 ทีม)
วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษาที่มีความมุ่งมั่น มีความคิดสร้างสรรค์ มาร่วมพัฒนาทักษะและแสดงศักยภาพผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ การทำงานร่วมกัน รวมทั้งพัฒนาทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับนักศึกษา เพื่อก้าวสู่การเป็นบุคลากร ที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ - 17 มกราคม 2568 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ciba.dpu.ac.th/
คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยและตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นการบูรณาการแนวคิด Sustainability Trends เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STGs) เข้ากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด High Value Added Services
ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่จัดตั้งโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อแก้ปัญหาระดับโลกใน 17 เป้าหมายสำคัญในมิติต่าง ๆ เช่น การศึกษา สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายหลักให้สำเร็จภายในปี 2573 ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI( Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ แต่ยังมีข้อจำกัดที่ต้องพิจารณา เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล ฯลฯ
ดร.ยุวรี โชคสวนทรัพย์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกวงการ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นทางคณะฯ จึงได้ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับแนวโน้มดังกล่าว โดยเน้นการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้นักศึกษานำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบูรณาการแนวคิด SDGs สอดแทรกไปในทุกรายวิชา เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน
เสริมการเรียนรู้ผ่านชุมชน
ดร.ยุวรี กล่าวว่า หลักสูตรการเรียนมีทั้งหมด 3 สาขา ประกอบด้วย 1.สาขาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ ได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดรับกับรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ปรับเป็นการจัดทัวร์แบบกลุ่มเล็ก เพื่อลดมลภาวะ ทั้งยังพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ โดยให้มีการจัดตั้งบริษัททัวร์จำลอง เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้การจัดทัวร์ในรูปแบบที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีรายวิชาที่ส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น นักศึกษายังได้เรียนรู้การเป็นมัคคุเทศก์ที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนจะก้าวไปเป็นเจ้าของธุรกิจนำเที่ยวในอนาคต
ปลูกจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม
จากการขึ้นทะเบียน อุทยานธรณีโลก UNESCO (UGGP) ของประเทศไทย 2 แห่ง คือ อุทยานธรณีโลกสตูล และ อุทยานธรณีโลกโคราช รูปแบบการท่องเที่ยวในพื้นที่เหล่านี้ เน้นจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ โดยรูปแบบการท่องเที่ยวแบบใหม่ถูกนำมาสอดแทรกกับรายวิชาการท่องเที่ยวลดมลภาวะ ที่ผ่านมาคณาจารย์ของทางคณะฯ ได้ทำวิจัย หัวข้อ “การสำรวจศักยภาพในการจัดกิจกรรมดูนกเพื่อการเรียนรู้โดยใช้พื้นที่สถานศึกษาขนาดกลางในเขตเมือง กรณีศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” พบว่ามีนกรวม 39 ชนิดในมหาวิทยาลัย งานวิจัยดังกล่าวถูกนำมาใช้ในการสอนในรายวิชาท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ผ่านการเรียนรู้กิจกรรมดูนก โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมดูนกมาร่วมเป็นวิทยากร รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านโครงการรีไซเคิลที่นักศึกษาจะต้องคิดค้นร่วมกับอาจารย์ผู้สอน เช่น การเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการรวบรวมฝาขวดน้ำมอบให้กับบริษัท Qualy เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากพลาสติก พร้อมกับเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรมาบรรยายความรู้ เพื่อให้เห็นความสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนจากวัสดุเหลือใช้
นอกจากนี้ ยังได้รับนโยบายจากมหาวิทยาลัย โดยทางคณะฯ ได้ดำเนินการตาม SDGs เป้าหมายที่ 15 Life on Land ด้านการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก โดยกิจกรรมที่ผ่านมา นักศึกษาร่วมกับอาจารย์ทำโครงการอนุรักษ์ที่ ศูนย์อนุรักษ์นกน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ผ่านกิจกรรมปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและในปีต่อมา คณะฯ ได้ขยายกิจกรรมไปยัง ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า จ.นครนายก โดยนักศึกษาได้ร่วมกิจกรรมทำความสะอาดและปรับปรุงกรงเสือ ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้ถูกบูรณาการเข้าไปในหลักสูตรตั้งแต่ปี 1 เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เริ่มต้นการศึกษา
ปูพื้นความรู้ Green Hotel
ดร.ยุวรี กล่าวเพิ่มเติมว่า 2.หลักสูตรสาขาการโรงแรมและธุรกิจอาหาร ได้ร่วมมือกับโรงแรม 5 ดาว เช่น เครือแมริออท ผ่านโครงการ CWIE (Cooperative and Work-Integrated Education) เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกงานในสถานประกอบการจริง และยังได้เรียนรู้แนวคิด Green Hotel ผ่านโครงการนำ Food Waste หรือเศษอาหารเหลือใช้มาแปรรูปให้เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ นักศึกษายังนำแนวคิดนี้มาต่อยอดเป็น Project ของการฝึกงานในสถานประกอบการ ภายใต้โครงการ “การศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากขยะอาหารจากอาหารมื้อเช้าโรงแรม” โดยมีแนวทางแก้ไขโดย นำอาหาร Food Waste มาแปรรูปเป็นคุกกี้เบคอนสำหรับสุนัข ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยประเภทโปสเตอร์จากโครงการ CWIE ปีการศึกษา 2566
ทั้งนี้ ก่อนฝึกงาน นักศึกษาได้เรียนรู้แนวคิด Green Hotel จากการเรียนการสอนที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับ โรงแรมขนาดเล็กและโฮมสเตย์ โดยเรียนรู้จากการได้ฝึกประสบการณ์จริงในโรงแรม DPU Park Hotel ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของคณะฯ และเปิดให้บริการกับบุคคลทั่วไป อีกทั้งยังได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาของอาจารย์ในหลักสูตร ที่มีการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอาชีพด้านการโรงแรมและการบริการ รวมถึงแนวทางจัดการสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงที่พักให้ได้มาตรฐาน ให้เหมาะสมกับแนวคิดการท่องเที่ยวยั่งยืน
ปั้นเชฟมืออาชีพ-สร้างมูลค่าเพิ่ม Food Waste
และ 3.สาขาวิชาศิลปะการประกอบอาหาร นักศึกษาจะได้ฝึกทักษะระดับเชฟในโรงแรมและร้านอาหารมิชลินสตาร์ โดยนอกจากเรียนรู้การทำอาหารแล้ว ยังต้องเข้าใจการจัดการ Food Waste ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะอาหารและสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบเหลือทิ้ง เพื่อลดมลพิษจากขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสนับสนุน SDGs เป้าหมายที่ 12 Responsible Consumption and Production ด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
นำ AI มาประยุกต์ใช้
ในปีการศึกษา 2567 ทางคณะฯ รับนโยบายจากมหาวิทยาลัย และ Academic Group 1 กำหนดให้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาสนับสนุนการเรียนการสอน เช่น นำ ChatGPT มาช่วยจำลองสถานการณ์บริการในงานโรงแรมและการท่องเที่ยว โดยมีที่ปรึกษาด้านไอทีคอยแนะนำการเขียน ChatGPT Prompts เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ โดยคาดหวังให้นักศึกษาสามารถออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว สร้างโปรแกรมนำเที่ยว และตอบคำถามของลูกค้าได้เสมือนจริง สำหรับ AI ในงานบริการ ยังมีบทบาทสำคัญในโรงแรม เช่น การเก็บข้อมูลประวัติลูกค้า เพื่อนำไปใช้วางแผนบริการที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น โดยในภาคเรียนถัดไปจะเริ่มนำ AI เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม
“ทั้งนี้ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมยังเน้นปลูกฝังแนวคิด High Value Added Services หรือ การบริการมูลค่าสูง ให้กับนักศึกษา โดยมุ่งสร้างบัณฑิตที่ไม่เพียงแค่มีความรู้ด้านงานบริการ แต่ยังสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการให้บริการมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการที่เปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ของโลก”ดร.ยุวรี กล่าวในตอนท้าย