ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการบินต้องเผชิญความท้าทายหลายรูปแบบ ส่งผลให้พนักงานเกิดความเครียดและความกังวล ซึ่งจากงานวิจัยเรื่อง “ทัศนคติของลูกเรือต่อการทำงานในช่วงที่มีโรคระบาด” จากพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุว่าพนักงานมีความกังวลและความเครียดในรูปแบบต่าง ๆ เนื่องจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในขณะนั้น
แต่ในช่วงกลางปี 2564 หลังจากการฉีดวัคซีนเริ่มเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง ประกอบกับมีระบบ มาตรการป้องกันที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สายการบินต่าง ๆ และประชาชนเริ่มมีความมั่นใจ และสายการบินก็ทยอยกลับมาให้บริการ และมีการเรียกตัวพนักงานให้กลับมาประจำการ
แล้วพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และพนักงานที่เกี่ยวข้อง พวกเขารู้สึกอย่างไรกับการทำงานช่วงนี้
ได้มีการการสำรวจสอบถามความคิดเห็นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของหลาย ๆ สายการบิน พบว่า หลายคนรู้สึกเครียดตอนทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเจอกับผู้โดยสารที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสายการบินแต่อย่างไรก็ตาม พนักงานอีกส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่าไม่เครียดเท่าใดนัก เนื่องจากเข้าใจถึงธรรมชาติของงานว่าต้องพบเจออะไรบ้าง
จริง ๆ แล้วงานบริการบนเครื่องบินนั้น พนักงานอาจจะต้องเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ มากมายนอกเหนือจาก COVID-19 อาทิเช่น ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และโรคต่าง ๆ บางครั้งอันตรายอาจเกิดขึ้นได้จากผลของ Flight Turbulence (การตกหลุมอากาศ) ทีอาจทำให้เกิดแผล การฟกช้ำ หรือศีรษะกระทบกระเทือนจากการกระแทก เป็นต้น หรือแม้กระทั่งอาการ Shift Work Disorder (SWD) หรือความผิดปกติของการนอนจากการทำงานเป็นกะ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้
สรุปว่าลูกเรือนั้นมีความเข้าใจถึงธรรมชาติของงานเป็นอย่างดี และพร้อมเผชิญความท้าทายต่าง ๆ นั่นเอง โดยสิ่งที่ทำได้ และต้องทำ คือป้องกันตนเองให้ดีที่สุด ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ ขั้นตอนของสายการบิน และองค์กรด้านการบินอย่างเคร่งครัด โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร ของตนเอง ควบคู่กับการบริการที่ดีเลิศไปพร้อม ๆ กัน
แต่มีปัจจัยที่น่าสนใจปัจจัยหนึ่งที่งานวิจัยเรื่อง Flight Attendants' Attitudes Against The Pandemic Outbreaks: Investigate On How Pandemics Affect On The Job Stress and Job Performance ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ค้นพบคือ ความเครียดที่เกิดจากแรงกดดันของญาติ (พ่อ แม่ พี่ น้อง) ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ที่ส่วนใหญ่จะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของลูก หลาน พี่น้อง ที่เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เนื่องจากไม่ได้รับข้อมูลด้านมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆที่ สายการบินกำหนดอย่างเพียงพอ ส่งผลให้เกิดแรงกดดันกับพนักงานเมื่อต้องไปทำงานนั่นเอง
ซึ่งในช่วงนี้ภาพรวมจะดีขึ้นเนื่องจากมีการสื่อสารที่เข้าถึงทุกกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ และนโยบายการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรในกลุ่มเสี่ยง ทำให้ความเครียดที่เกิดจากความกังวลในการทำงานลดลง
ด้านสมาคมพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (The Association of Flight Attendants: AFA) ที่มีสมาชิกที่เป็นลูกเรือกว่า 50,000 คน จากกว่า 20 สายการบิน ระบุว่าทางสมาคมหวังว่าสายการบินต่าง ๆ จะเข้มงวดเรื่องการบังคับใช้กฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเป็นการป้องกันสวัสดิภาพของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ทางสมาคมได้มีการออกข้อเรียกร้องต่อสายการบินต่าง ๆ หลายอย่าง เช่น การขอให้เลิกบริการผ้าร้อน มีการขอให้ใช้แก้วน้ำแบบใช้แล้วทิ้งแทน เป็นต้น
ด้านสายการบินเองก็มีมาตรการต่าง ๆ ออกมามากมาย เช่น การให้พนักงานใส่ชุดและอุปกรณ์ป้องกัน การให้ผู้โดยสารใส่หน้ากากตลอดเวลาการเดินทาง อย่างสายการบินฝั่งอเมริกา และอีกหลายสายการบินได้มีการยกเลิกการบริการอาหารและเครื่องดื่มขณะเดินทาง เป็นต้น
ล่าสุดทางองค์กรอย่าง ICAO และ IATA เองก็ได้หาแนวทางการเดินทางทางอากาศที่ปลอดภัยมากยิ่งขี้น เช่น การใช้ IATA Travel Pass หรือ Vaccine Passport และคาดว่าจะนำมาใช้จริงในเร็วๆ วันนี้ ใครสงสัยว่า IATA Travel Pass คืออะไร อ่านเพิ่มเติมได้ที่ >>> CLICK
สรุปแล้ว การที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่จำกัดอย่างบนเครื่องบิน และด้วยธรรมชาติของงานด้วยแล้ว ความเครียดจากการทำงานนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยมาตรการทั้งขององค์กรด้านการบิน ภาครัฐ สายการบิน ทีมงานที่ดี หรือแม้กระทั่งการปฏิบัติตัวของตัวพนักงานเอง ล้วนมีส่วนช่วยให้บรรเทาความเครียดลงได้
วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจการบิน และสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีการบินและการอำนวยการบิน
โทร 02-588-6060 ต่อ 101
มือถือ 092-549-8992
Line: @cadt
บทความโดย:
อาจารย์สถาวร เลิศสุวรรณกุล
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ
วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์