สาเหตุหลักเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง กอปรกับการประกอบธุรกิจหลายประเภทประสบภาวะอิ่มตัว ส่งผลให้หลายธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำเป็นต้องขยายธุรกิจออกนอกประเทศ และประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งจุดหมายยอดนิยมที่นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นเลือกมาลงหลักปักฐานการผลิตกันไม่น้อย
รศ.ดร.บัณฑิต โรจน์อารยานนท์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น หรือ TNI คนล่าสุด ชี้ให้เห็นว่า นี่คือโอกาสของสถาบันการศึกษาไทยที่จะเร่งผลิตบุคลากรคุณภาพให้ทันต่อความต้องการของธุรกิจญี่ปุ่นเหล่านี้ “เพราะสถาบัน TNI ก่อตั้งขึ้นโดยดำริของ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าสถาบันการศึกษาของเราตั้งขึ้นเพื่อ Support อุตสาหกรรมญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งหมด เพียงแต่ในตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ญี่ปุ่นเป็น Investor ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย และฐานการผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงระดับ SMEs ก็ขยายมาตั้งที่ประเทศไทยในรูปแบบของ FDI หรือ Foreign Direct Investment จำนวนไม่น้อย รวมถึงธุรกิจประเภท Service ก็เข้ามาเยอะ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งกิจการญี่ปุ่นเหล่านี้ก็ต้องการบุคลากรที่แม่นทั้งทฤษฎีและเชี่ยวชาญด้านปฏิบัติ และที่สำคัญต้องสื่อสารกับเขาได้ ทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ บัณฑิตของเราจึงเป็นตัวเลือกแรกที่เขาสนใจ เพราะการวางแผนหลักสูตรที่กำหนดให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งทางวิชาการและภาคปฏิบัติ ควบคู่ไปกับการเสริมทักษะด้านภาษา โดยเน้น ภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ ในระดับที่สื่อสารได้”
ขณะเดียวกัน มีอีกหนึ่งภารกิจที่อธิการบดีท่านนี้มุ่งจะดำเนินการให้เห็นผลในเร็ววัน คือ การขับเคลื่อนงานด้านการทำงานวิจัย คิดค้นนวัตกรรม ให้เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจทุกระดับ รวมถึงเพื่อประโยชน์ของภาคสังคมอย่างแท้จริง
“ในการทำธุรกิจทุกระดับ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีส่วนของงานด้าน Research & Development หรือ R&D โดยในบริษัทใหญ่ดูจะไม่น่าห่วง เพราะแทบทุกบริษัทจะมีการตั้งงบประมาณไว้ทำ R&D อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็น SMEs ส่วนใหญ่จะไม่มีเงินลงทุนมากพอกับการทำ R&D เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เข้มแข็ง กอปรกับยังมีหน่วยงานที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือไม่มากพอ ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันมีจำนวน SMEs เพิ่มขึ้นเยอะมาก ถ้าเราละทิ้ง ไม่ช่วยเหลือ SMEs ในด้านนี้ ทำนายอนาคตได้เลยว่า SMEs หลายแห่งไปไม่รอดแน่นอน
เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นสถาบันการศึกษาที่มีทั้ง Know how และ Tools TNI เราจึงตั้งใจอยู่แล้วว่าจะให้ความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม เพื่อช่วย SMEs รวมถึงธุรกิจในทุกระดับอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและฮาร์ดแวร์ เพื่อสนับสนุนและพัฒนาให้อุตสาหกรรมและธุรกิจการบริการในประเทศเติบโตได้อย่างน่าพอใจ”
นอกจากภารกิจในการผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ และมีทักษะภาษาที่พร้อมแล้ว รศ.ดร.บัณฑิต ยังปรับเอาแนวคิดในการสร้างคนของประเทศญี่ปุ่น มาปรับใช้กับการหล่อหลอมบัณฑิตคุณภาพของสถาบันด้วย
“อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการสร้างประเทศให้เป็นผู้นำในเอเชียได้เพราะเขาใส่ใจในการสร้างคนของเขา ให้พร้อมทั้งทักษะด้านวิชาชีพ ด้านภาษา และที่สำคัญต้องเป็นคนมีวินัย มีคุณธรรม มีจริยธรรมที่ดีด้วย ซึ่งเมื่อคนเหล่านี้เติบโตขึ้นก็จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น TNI จึงยึดแนวทางนี้ เพื่อปลูกฝัง Soft Skill ที่จำเป็นให้แก่บัณฑิตของเราทุกคนสรุปเป็น keywords ได้ทั้งหมด 6 คำ คือ
Monozukuri เป็น motto หลักของ TNI ที่สอนให้เรียนด้วยใจรักในสิ่งที่เรียน รักในการสร้างสรรค์ผลงาน รักในคุณภาพของงาน รักองค์กร สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ด้วยตนเอง และในการเรียนรู้นั้น ไม่ได้ให้รู้แค่หลักการหรือทฤษฎี แต่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงด้วย
Kaizen หมายถึง การปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นตลอดเวลา และไม่หยุดค้นคว้า พัฒนา เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่าเสมอ
Hansei ทุกคนต้องรู้จักยอมรับในความผิดพลาดของตนเอง และคิดที่จะปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องในครั้งหน้า
อีก 3 Keywords คือ Respect ให้เกียรติผู้อื่นไม่ว่าจะอยู่ในระดับสูงหรือต่ำกว่า เปิดโอกาสให้คนอื่นแสดงความคิดเห็น และเคารพในความคิดที่มีเหตุผลของคนอื่น Honest ความซื่อสัตย์ และ Public Interest คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก แต่ในความคิดเห็นของผม ผมว่าสังคมไทยยังขาดคุณธรรมในข้อ “Hansei” มากที่สุด เพราะไม่ยอมรับในความบกพร่องของตนเอง ยืนกรานแต่ว่าตัวเองถูก สังคมไทยจึงยังคงมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ส่งผลให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้อย่างไม่เต็มที่เท่าที่ควร”