ซึ่งเป็นการเปิดตัวหลักสูตรปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร (Gastronomy Business Management) นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่สอนเกี่ยวกับธุรกิจอาหารครอบคลุมทุกมิติในระดับปริญญาโท โดยผสมผสานศาสตร์วิชาหลากหลายที่เป็นสากลและจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เน้นการนำความรู้ไปใช้ได้จริงในธุรกิจอาหารร่วมสมัยทั้งในระดับประเทศและระดับสากล และสอนโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ทั้งผู้บริหารจากโรงแรมดุสิตธานีอันเป็นองค์กรแม่ของวิทยาลัยดุสิตธานี เจ้าของธุรกิจ และเซเลบริตี้เชฟชื่อดัง
คุณฟราวเกอะ เกอร์เบนส์ อธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นสถาบันสอนด้านธุรกิจบริการชั้นแนวหน้าของเมืองไทย วิทยาลัยดุสิตธานีจึงมุ่งเน้นในการนำองค์ความรู้จากองค์กรแม่คือโรงแรมดุสิตธานี (Dusit International) ที่สั่งสมกว่า 29 ปีมาผสานเข้ากับองค์ความรู้ที่เป็นสากลอื่นๆ ในการพัฒนาหลักสูตรทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท ดังเช่นการเปิดกลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร (Gastronomy Business Management) ระดับปริญญาโทในครั้งนี้
อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการดำรงชีวิต เพราะคนเราจำเป็นต้องรับประทานอาหารทุกวัน ต่างจากปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจำเป็นต้องใช้เพียงไม่กี่ครั้งหรือใช้เป็นครั้งคราว นอกจากนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งมาตอกย้ำว่า ในขณะที่ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แต่ธุรกิจอาหารกลับยังสามารถดำเนินต่อไปได้ วิทยาลัยดุสิตธานีซึ่งทุ่มเทในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมบริการทั้งในระดับประเทศและสากล จึงมุ่งมั่นในการพัฒนาหลักสูตรที่บ่มเพาะผู้เรียนให้ประกอบธุรกิจและทำงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งปรับองค์ความรู้ให้เหมาะสมกับเทรนด์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไปของโลก และคาดหวังว่า กลุ่มวิชามุ่งเน้นใหม่นี้จะมาช่วยส่งเสริมผู้เรียนให้ก้าวไปได้ไกลกว่า สามารถเอาตัวรอดได้ในทุกวิกฤติการณ์ และช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ทางด้าน ดร. วิลาสินี ยนต์วิกัย คณบดีหลักสูตรไทย วิทยาลัยดุสิตธานี ได้กล่าวเสริมว่า “หลักสูตรนี้นับเป็นแห่งแรกในเมืองไทยที่สอนด้าน Gastronomy Business Management โดยตรง ไม่ใช่สอนแค่ด้าน Food หรือสิ่งที่อยู่บนจานเพียงเท่านั้น ทั้งนี้จะพบว่า เมื่อเทียบกับหลักสูตรการตลาดและการจัดการทั่วไปแล้ว หลักสูตรปริญญาโทเฉพาะทางด้านธุรกิจอาหารยังนับว่ามีน้อยมากทั้งในไทยและต่างประเทศ วิทยาลัยดุสิตธานีซึ่งได้รับการยอมรับมานานว่ามีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ อีกทั้งมีคอนเน็กชันด้านธุรกิจอาหารจำนวนมาก จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะเปิดกลุ่มวิชานี้ขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งผู้ที่จบมาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอาหารและผู้มีแพสชันในการทำธุรกิจอาหาร แต่อาจไม่ได้มีพื้นฐานด้านครัวมาโดยตรง จะได้มีทักษะในการบริหารธุรกิจอาหารให้ประสบความสำเร็จ”
ภายในงานเปิดตัวหลักสูตรใหม่ครั้งนี้ คุณศิรเดช โทณวณิก รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจและโครงการใหม่ กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ กลุ่มโรงแรมอาศัย (ASAI) ได้ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “The Next Chapter of Career Opportunities in Food Industry and Business Trends” ซึ่งคุณศิรเดชกล่าวว่า โรงแรมดุสิตธานีเน้นความยั่งยืนเป็นสำคัญ และในอนาคตอันใกล้ทุกธุรกิจในเครือจะส่งเสริมการซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกส์จากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งไม่เพียงช่วยขจัดปัญหาพ่อค้าคนกลางอันจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร แต่ยังสอดคล้องกับทิศทางของโลกด้วย ดังนั้นการเปิดหลักสูตรป.โทของวิทยาลัยดุสิตธานี ก็จะมาช่วยตอกย้ำผู้เรียนให้ตระหนักถึงความยั่งยืนดังกล่าวนี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรมการบริการและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้
ในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ “โอกาสของธุรกิจอาหาร เมื่อกองทัพต้องเดินด้วยท้อง” โดย เชฟชุมพล แจ้งไพร หนึ่งในผู้วิพากษ์หลักสูตร, เชฟเตย-พัดชา กัลยาณมิตร ศิษย์เก่าวิทยาลัยดุสิตธานี ผู้แข่งขันจากรายการ MasterChef Thailand และ คุณธนพร โฆษิตชัยวัฒน์ ผู้บริหาร G Hua Hin Resort and Mall ที่มาเปิดเผยมุมมอง โอกาส และทิศทางในการเติบโตของธุรกิจอาหารว่า แม้จะต้องเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ตราบใดที่กองทัพยังต้องเดินด้วยท้องตามชื่อหัวข้อการเสวนา ธุรกิจอาหารก็ยังคงมีโอกาสในการเติบโต นอกจากนี้ยังมีการอัพเดตข้อมูลของอีก 2 กลุ่มวิชามุ่งเน้นหลักสูตรปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิทยาลัยดุสิตธานี ที่เป็นหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565 ด้วย ได้แก่ กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจการบริการ และ กลุ่มวิชาผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรม
วิทยาลัยดุสิตธานีเชื่อมั่นว่า หลักสูตรปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต กลุ่มวิชาการจัดการธุรกิจอาหาร (Gastronomy Business Management) ที่เปิดใหม่นี้ จะสามารถบ่มเพาะให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะในฐานะผู้ประกอบการ เชฟ นักออกแบบอาหาร อาจารย์สอนการประกอบอาหาร หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้เหนือกว่าคนอื่นๆ