“สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร” ครั้งที่ 8 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมรับทุนการศึกษา 100% ด้าน CIBA เชื่อเวทีการแข่งขันมุ่งเน้นเสริมทักษะบัญชีดิจิทัล Soft Skill การสื่อสารกับผู้อื่น พร้อมเปิดโลกการทำงานด้านบัญชียุคใหม่แก่นักศึกษาอาชีวะ
ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อย สำหรับการแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชี “สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร” ครั้งที่ 8 จัดโดยวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(DPU) ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อต้นเดือนก.พ.2566 ที่ผ่านมา ซึ่งทีมที่คว้ารางวัลจากการแข่งขันระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จะได้รับถ้วยพระราชทานรางวัล “สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร” จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ และทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัย
สำหรับทีมที่ชนะการแข่งขันในระดับ ปวส. รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “ทีมวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค)” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 “ทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 “ทีมวิทยาลัยพณิชยการเชตุพน” และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 “ทีมวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก”
ส่วนทีมชนะการแข่งขันระดับปวช. มีดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “ทีมวิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 “ทีมวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก(อี.เทค)” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 “ทีมวิทยาลัยศึกษาอุตรดิตถ์” และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 “ทีมวิทยาลัยพณิชการธนบุรี”
โดยในการแข่งขันครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล และ ผศ.ดร. พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) คณาจารย์และนักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วม
ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวว่า CIBA มีการจัดการแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชี “สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร” มาอย่างต่อเนื่องในทุกปี ซึ่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 8 และมีความแตกต่างจากปีก่อนๆ โดยปีนี้เป็นปีแรกที่มีเครือข่ายซึ่งมีการนำบัญชีดิจิทัลมาใช้ ทั้งบริษัท แอคเคาท์ติ้ง ทรานส์ฟอร์เมชั่น จำกัด จัดทำระบบ AccRevo The Book โปรแกรมบันทึกบัญชีอัตโนมัติ, PEAKaccount.com บริษัท Fintech Startup หรือ NEXTO นวัตกรรมแห่งวงการบัญชี Mobile Application และ FLOWACCOUNT โปรแกรมบัญชีใช้งานง่าย สำหรับนักธุรกิจยุคใหม่ ซึ่งทั้ง 4 บริษัทให้การสนับสนุนการแข่งขัน
“CIBA ถือเป็นหลักสูตรบัญชีดิจิทัลแรกๆ ที่ผ่านการรับรองวิชาชีพจากสภาวิชาชีพบัญชี ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะพิเศษของนักศึกษาบัญชี CIBA DPU ที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี โปรแกรมบัญชีดิจิทัลต่างๆ ซึ่งวิทยาลัยมีซอฟต์แวร์ มีพันธมิตรเป็นสำนักงานบัญชีดิจิทัล ดังนั้น จะเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของนักบัญชีในอนาคต และเป็นแนวทางวิชาชีพบัญชีก้าวไปสู่บัญชีดิจิทัลมากขึ้น การลดลงของการทำบุ๊กคีปเบอร์ นักบัญชีทำงานบัญชีรูทีน คงเป็นไปได้ยาก เพราะAI และเทคโนโลยี มาแทน จึงต้องพัฒนาให้นักบัญชีมีความรู้เรื่องบัญชีดิจิทัลมากขึ้น”ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว
“งานบัญชี” เป็นหนึ่งในงานที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำงานให้มีความแม่นยำ ถูกต้องได้ 100% อย่าง การทำบันทึกรายการต่างๆ แต่ในส่วนการตรวจสอบรายการ การวิเคราะห์รายการยังต้องเป็นหน้าที่ของนักบัญชีที่มีความเชี่ยวชาญ และมี Soft Skill สามารถสื่อสารทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดี ดังนั้น อาชีพบัญชี จึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีและมนุษย์
ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวต่อว่า การแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชี “สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร” เป็นการฝึกฝนให้นักศึกษาอาชีวะได้เรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและเพิ่มเติมทักษะ ประสบการณ์นอกห้องเรียน รวมถึง พัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร เพราะสายงานบัญชีมักถูกมองว่าสื่อสารกับผู้อื่นไม่รู้เรื่อง ฉะนั้น น้องๆ ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับการฝึกฝนให้สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจ มีทักษะมนุษยสัมพันธ์ ทำงานกับผู้อื่น การทำงานอย่างมืออาชีพ ซึ่งเป็นไปตามหลักในการพัฒนาผู้เรียนบัญชี CIBA
“นักศึกษาอาชีวะ เป็นบุคลากรที่สำคัญด้านการพัฒนาบัญชี สามารถเข้าสู่การทำงานได้ทันทีหลังจากเรียนจบปวช.และปวส. การแข่งขันจึงเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้พัฒนาศักยภาพ เห็นรูปแบบการทำงานสมัยใหม่และเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนได้เห็นโลกของวิชาชีพบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สร้างความตระหนักในการปรับตัวให้เท่าทัน และเป็นการลับคมทางความคิด เพราะบางครั้งต่อให้เรียนเก่งในชั้นเรียน แต่เมื่อได้มาลงเวทีสนามการแข่งขัน มาลับคมกับผู้อื่น จะทำให้พวกเขาเข้าใจโลกการแข่งขัน การทำงานจริงมากขึ้น ทำให้เกิดไอเดีย ความคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาตนเอง และการแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่คับขัน” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว
ด้านทีมชนะเลิศระดับปวส. น.ส.วราภรณ์ นาคชัยยะ นายภาณุสรณ์ เหมรัตน์ภูริดา และนายชัชภูมิ สิทธิเวช นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยอี.เทค ช่วยกันเล่าว่าหลังจากที่ได้รับคัดเลือกจากวิทยาลัยให้เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ มีการฝึกทำโจทย์ ซึ่งการแข่งขันเป็นการเปิดประสบการณ์การทำงานด้านบัญชี ได้นำความรู้ที่เรียนมาใช้และเรียนรู้โจทย์ใหม่ๆ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี เพราะงานบัญชีต้องเป็นการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี
“เราทั้ง 3 คนอยากเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้ ทางCIBA ได้มอบทุนการศึกษาให้แก่ทีมชนะเลิศร่วมด้วย เราก็ยิ่งสนใจอยากเข้าร่วม เพราะหลักสูตรบัญชีของCIBA มีการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน ทำให้เรามีทักษะในการทำงานมากขึ้น อีกทั้งมีเครือข่ายในการทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำร่วมด้วย ดังนั้น การแข่งขันดังกล่าวมีประโยชน์ต่อนักศึกษาอาชีวะอย่างมาก เนื่องจากเป็นการเปิดโลกทัศน์ ประสบการณ์ต่างๆมากมาย และทำให้เราได้เห็นมุมมองโลกของการทำงานด้านบัญชี การเตรียมพร้อมทักษะของนักบัญชีที่เราควรมี” นักศึกษาทีมวิทยาลัยอี.เทค กล่าว
เช่นเดียวกับ 3 สาว น.ส.ประกายดาว รอดเสน น.ส.รัชนีวรรณ กล่อมจิตร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 และน.ส.ทิวารัตน์ จันคำวงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากวิทยาลัยเทคนิคธัญบุรี ช่วยกันเล่าว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของพวกเราที่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ เพราะการแข่งขันทำให้ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ได้ฝึกฝนทำโจทย์ทางบัญชี ได้เห็นมุมมองการคิด การทำงานของเพื่อนๆ จากทีมวิทยาลัยอื่นๆ และเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ การทำงานเป็นทีม ส่งผลต่อการเตรียมพร้อมการทำงาน ให้พวกเราเท่าทันโลกงานบัญชีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา