เนื่องในเดือนแห่งวันสิ่งแวดล้อมโลก ที่ตรงกับทุกวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี มาร์เก็ตบัซซ ได้ร่วมกับวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำการสำรวจหัวข้อ “10 อันดับแรกที่คนไทยวิตกกังวลมากที่สุด” อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 โดยผลการสำรวจล่าสุดในปี 2566 มีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 1,000 คน ในเดือนเมษายน 2566 พบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่คนไทยมีความกังวลใจสูงที่สุดถึง 42% หากเทียบกับผลสำรวจในปี 2565 คนไทยส่วนใหญ่มีความกังวลในเรื่องของค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการปรับราคาของสินค้าอุปโภคบริโภค แต่ในปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายมาเป็นสิ่งที่คนไทยมีความกังวลมากที่สุด มีตัวเลขเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากหัวข้ออื่นๆ ที่เป็นคำถามหลักของการสำรวจในเรื่องความกังวลในระดับประเทศ เช่น เรื่องของการทุจริตคอรัปชั่น การดูแลสุขภาพ การจราจร อาชญากรรม และสภาพเศรษฐกิจโดยรวม
ความกังวลต่อสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยความกังวลอันดับต้นๆ จะเป็นเรื่องระดับมลพิษในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยค่ามลพิษจะมีค่าสูงสุดในช่วงเดือนพฤศจิกายนและเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ปัญหามลพิษทางอากาศได้กลายเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพที่ร้ายแรงในประเทศไทย และคนไทยยังคงมีความกังวลกับปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่คนไทยพูดถึงและกังวลตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เราได้มีการจัดทำแบบสำรวจ โดย 71% ของคนไทยเชื่อว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีตัวเลขของการสำรวจอยู่ที่ 62% และสิ่งที่น่ากังวลคือ กว่า 51% ของคนไทยเชื่อว่าสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะมีความเลวร้ายลงอีกใน 5 ปีข้างหน้า
มร.แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาร์เก็ตบัซซ (Marketbuzzz) กล่าวว่า “สำหรับข้อกังวลของคนไทยในหลายๆ หัวข้อที่เราทำการสำรวจพบว่า สิ่งแวดล้อมยังคงเป็นหัวข้อใหญ่ของความกังวลหลักในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความร่วมมืออย่างเต็มที่ทั้งภาครัฐและการสนับสนุนจากภาคเอกชน ที่ให้ความสำคัญและความพยายามที่จะช่วยกันปกป้องสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คนไทยส่วนใหญ่มีความกังวลและคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา คนไทยมองโลกในแง่ดีน้อยลงในเรื่องของการปรับปรุงแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในอีก 5 ปีข้างหน้า และพวกเขาคิดว่าสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงกว่าปีที่ผ่านมา”
การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ตามมามากมาย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นอกจากจะสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อมแล้วควรมีแผนการดำเนินการมากขึ้นเพื่อช่วยลดผลกระทบเชิงลบดังกล่าว
การสำรวจเผยให้เห็นว่าผู้คนตระหนักในเรื่องนี้และให้ความร่วมมือในการปกป้องสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนในทุกวัน พฤติกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เห็นโดยทั่วไปคือ 42% มีการใช้ถุงผ้าหรือภาชนะที่สามารถนำกลับไปใช้ซ้ำได้มากขึ้น, 40% ลดจำนวนการใช้ไฟฟ้าที่บ้านน้อยลง รวมถึงรณรงค์ไม่สนับสนุนการซื้อขายหรือบริโภคของป่าถึง 38% ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่ายังมีอีกหลายวิธีที่สามารถให้ความร่วมมือกันในการปกป้องสิ่งแวดล้อม
มร.แกรนท์ บาร์โทลี่ กล่าวเสริมว่า “เมื่อพูดถึงความรับผิดชอบ ผู้คนมองหาความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนทั้งจากภาครัฐบาลและภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยที่ดีขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ในช่วงหลายปีที่เราได้ทำการศึกษาจะเห็นได้ชัดว่า ความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมสามารถนำไปใช้เพื่อกำหนดแผนของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ดีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย คนไทยคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีบทบาทสำคัญและมีอิทธิพลต่อข้อกำหนดและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และต้องการให้คนไทยมีความรับผิดชอบเท่าเทียมกันและสร้างความคาดหวังให้ทุกคนปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของตนเองและร่วมมือกันในเรื่องนี้ ผลการศึกษานี้ทำให้เห็นถึงความชัดเจนของคนไทยที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องของสิ่งแวดล้อม”
จากผลการสำรวจในด้านของสิ่งแวดล้อม 3 อันดับต้นๆ ที่ผู้บริโภคชาวไทยมีความกังวลมากที่สุด 44% เป็นเรื่องของสภาวะโลกร้อน, 44% มลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อีก 25%
ผศ.ดร.ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เห็นว่าคนไทยตระหนักถึงภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมลภาวะต่อชีวิตที่พวกเรากำลังเผชิญมากขึ้น แม้ว่าต้องเผชิญกับความท้าทายอื่นๆ อีกมากมายก็ตาม งานของเราที่คณะวิชาโลกคดีศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจ ความท้าทายต่างๆ ผ่านสาขาวิชาที่หลากหลายและมุ่งเน้นให้ความรู้เพื่อให้พวกเขาเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่จำเป็นและเอาชนะกับความท้าทายเหล่านี้”
ผศ.ดร.ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช ได้กล่าวเสริมอีกว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของเรา นอกเหนือไปจากการริเริ่มของภาครัฐ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีคำว่าสายเกินไปที่เราจะมาร่วมมือกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ด้วยการทำหน้าที่ในส่วนของแต่ละคนเพื่อช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม