November 08, 2024

ดีป้า เดินหน้าเสริมศักยภาพดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยต่อเนื่อง รุกส่งเสริม 3 โครงการผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล คาดสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 25 ล้านบาท พร้อมช่วยกระตุ้นการจ้างงาน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่ผู้ใช้บริการดิจิทัลโซลูชันจากดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ได้รับการส่งเสริม

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดีป้า มุ่งยกระดับศักยภาพดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยในทุกระยะการเติบโตด้วยการเสริมสร้างความรู้และทักษะสำคัญผ่านโครงการต่าง ๆ ควบคู่กับการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล พร้อมเปิดโอกาสให้เกิดการจับคู่ธุรกิจกับเหล่าผู้ประกอบการ เกษตรกร และชุมชนที่กำลังมองหาดิจิทัลโซลูชันที่เหมาะสมกับบริบทของตนเองก่อนนำมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งร่วมผลักดันดิจิทัลสตาร์ทอัพที่มีความพร้อมเพื่อก้าวสู่เวทีระดับสากล โดยปัจจุบัน ดีป้า ยกระดับดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยแล้วมากกว่า 165 ราย ขณะที่ปี 2567 มีแผนที่จะส่งเสริมสตาร์ทอัพเพิ่มกว่า 20 ราย

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ดีป้า มีมติเห็นชอบข้อเสนอโครงการที่ขอรับการส่งเสริมสนับสนุนตามมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อการเริ่มต้นธุรกิจอุตสาหกรรมดิจิทัล (depa Digital Startup Fund) ระยะเริ่มต้น (Early Stage) จำนวน 3 ราย รวมมูลค่าการลงทุน 3 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • Pettinee Televets แพลตฟอร์มให้บริการปรึกษาสัตวแพทย์ทางไกลและดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงครบวงจร โดย บริษัท เพทที่นี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
  • ThaiMarket แพลตฟอร์มจับคู่ระหว่างพ่อค้าแม่ค้า และเจ้าของตลาด โดย บริษัท สวัสดีไทยมาร์เก็ต จำกัด
  • Lightster แพลตฟอร์มทดสอบผลิตภัณฑ์และรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้งานสำหรับบริษัทเทคโนโลยี โดย นายปฏิเวธ เสถียรสัมฤทธิ์

สำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพทั้ง 3 รายที่ได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนฯ ในครั้งนี้มาจากบริการดิจิทัลที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคประชาชน อีกทั้งมีศักยภาพที่จะเติบโตสู่ระดับสากลได้ในอนาคต พร้อมกันนี้ยังประเมินว่า ดิจิทัลสตาร์ทอัพทั้ง 3 ราย จะสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 25 ล้านบาท ทั้งในส่วนของการต่อยอดบริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การยกระดับทักษะบุคลากร กระตุ้นการจ้างงาน ตลอดจนการมีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้บริการจากดิจิทัลสตาร์ทอัพทั้ง 3 รายผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft System Standard Testing Center) โดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนภายใต้มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งภาครัฐและเอกชน (depa Digital Infrastructure Fund) โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) พื้นที่รวมกว่า 800 ตารางเมตรของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการภายในอาคาร (Indoor Labs) และพื้นที่ทดสอบการบินบริเวณลานบิน รองรับความต้องการวิเคราะทดสอบและยืนยันศักยภาพของผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

เดินหน้ายกระดับความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล

กระทรวงดีอี โดย ดีป้า และ Digital China Group พันธมิตรจากประเทศจีนร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมดิจิทัลรอบด้าน

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ Mr. Chen Zhenkun, Digital China Group ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมดิจิทัล โดยมี Mr. Guo Wei, Chaiman of Digital China Group และ ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) ร่วมเป็นสักขีพยานภายในงาน Data & Cloud Innovation – Digital China Bangkok Summit และขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ

ผศ.ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี มอบหมายให้ ดีป้า ดำเนินการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุน และการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนองตอบแผนการดำเนินงานสำคัญของกระทรวงอย่าง The Growth Engine of Thailand

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดีป้า ในนามของ กระทรวงดีอี ได้ร่วมส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งเดินหน้าหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนด้านดิจิทัลผ่าน Greater Bay Area (GBA) กับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความร่วมมือระหว่าง ดีป้า กับ Digital China Group ในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมดิจิทัลครั้งสำคัญ ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ของประชาชน และยกระดับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเปิดรับทุกความร่วมมือเพื่อเติมเต็มระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศให้สมบูรณ์ ช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมผู้ประกอบการไทย และเสริมสร้างศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืนผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ด้าน Mr. Guo Wei กล่าวว่า ความร่วมมือในวันนี้ถือเป็นครั้งแรกในการเริ่มต้นความร่วมมือระหว่าง ประเทศไทยกับ Digital China Group ซึ่งเราขอให้ความเชื่อมั่นว่า จีนพร้อมที่จะนำความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลรอบด้านมาร่วมเป็นพันธมิตรในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ทั้งในด้านการขับเคลื่อนระบบนิเวศดิจิทัลเพื่อเติมเต็มเข้าสู่ประเทศไทย เรามุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและ ธุรกิจในไทยสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้สามารถปรับตัวเตรียมพร้อมรองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล (Digital Transformation) ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือ Digital China Group ยินดี ที่จะมอบคำแนะนำเชิงลึก โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมขั้นสูง อาทิ ระบบคลาวด์ (Cloud) และการบูรณาการข้อมูล (Data Integration) รวมถึงการต่อยอดไปสู่ความร่วมมือในด้านที่สำคัญของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง ดีป้า กับ Digital China Group จะครอบคลุมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรมดิจิทัลรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น 1. การส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุน เพิ่มตำแหน่งงาน และผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลไทยเติบโต 2. การส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยผ่านกิจกรรมด้าน e-Commerce, Digital Payments, Fintech และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล 3. การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 4. การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การฝึกอบรม เพื่อยกระดับทักษะดิจิทัลแรงงานไทยให้เหมาะสมกับการจ้างงาน 5. การร่วมมือสร้าง Big Data Centers รองรับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลชั้นสูงและการพัฒนานวัตกรรม 6. การร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยี Cloud เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการ 7. การส่งเสริมการพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ รองรับและต่อยอดการทำธุรกรรมออนไลน์ 8. การสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยและการใช้งาน AI เช่น Machine Learning, Natural Language Process, Robotics ต่อยอดสู่การพัฒนานวัตกรรม AI และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเท และ 9. การนำพันธมิตรด้าน AI เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศเพื่อเติมเต็มระบบนิเวศดิจิทัลและผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโต

มุ่งยกระดับความรู้และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาด้านดิจิทัล

กระทรวงดีอี - ดีป้า พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร ในนาม TH.ai จัดงาน TH.ai Forum EP01: AI Trend in Agriculture เดินหน้าขับเคลื่อนแนวทางส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเอไอในทุกมิติ โดยเริ่มต้นจากภาคเกษตรกรรม คาดกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศสามารถเข้าถึงและเข้าใจเทคโนโลยีเอไอ ก่อนนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการก้าวกระโดดและส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้เทคโนโลยีเอไอในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกัน ประเทศไทยยังขาดแคลนเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) ที่เกิดจากการพัฒนาโดยฝีมือคนไทย ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ

ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อน 5 องค์ประกอบสำคัญเพื่อให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดังกล่าว และรองรับความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับเอไอจากนอกประเทศ (AI Importer) การส่งเสริมการพัฒนาเอไอภายในประเทศ (AI Provider) การประยุกต์ใช้เอไอเพื่อพัฒนาบริการดิจิทัล (AI Distributor) การยกระดับกำลังคนดิจิทัลสาขาเอไอ (AI Manpower) การสร้างความตระหนักรู้แก่คนไทยเพื่อประยุกต์ใช้เอไออย่างปลอดภัย (AI User) และควรวางแนวทางการประยุกต์ใช้เอไอในด้านต่าง ๆ เช่น Generative AI Guideline, Responsible AI Guideline, AI Ethics Guideline Synthesis AI Guideline และ AI Algorithms Guideline

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) โดย ดีป้า จึงได้ร่วมกับ สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย หอการค้าไทย บริษัท วิสัย เอไอ จำกัด และ บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด ในนาม TH.ai (Thailand Artificial Intelligence) จัดงาน TH.ai Forum EP01: AI Trend in Agriculture เพื่อเปิดมุมมอง พร้อมขับเคลื่อนแนวทางส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีเอไอมาประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมในทุกอุตสาหกรรม โดย EP01 เริ่มต้นกับอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า และผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเอไอของประเทศร่วมงานโดยพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าวมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘AI Trends in Agriculture Industry’ โดย นายพิชัย องค์วาสิฏฐ์ Data Platform Director บริษัท ซีพีเอฟ ไอทีเซ็นเตอร์ จำกัด (AXONS) และ การเสวนาในหัวข้อ ‘AI Startup Revolutionizing Agriculture’ โดย ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ซีอีโอ บริษัท ลิสเซินฟิลด์ จำกัด (ListenField) นายสมพล สุนทระศานติก Head of Hardware Engineering บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด (HiveGround) และ นายภูวินทร์ คงสวัสดิ์ ซีอีโอ บริษัท อีซีไรซ์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด (EASYRICE)

เครือข่าย TH.ai เป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีเอไอของประเทศในทุกมิติผ่านแผนการส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาที่ชัดเจน ซึ่ง TH.ai หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมภายใต้เครือข่ายที่จัดขึ้นจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศสามารถเข้าถึงและเข้าใจเทคโนโลยีเอไอ ก่อนนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้องและตรงจุด อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศในอนาคตผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

นอกจากงาน TH.ai Forum ที่จัดขึ้นในวันนี้ ก่อนหน้านี้ เครือข่าย TH.ai ได้จัดกิจกรรมระดมความคิดเพื่อค้นหาความต้องการใช้เอไอของภาคเอกชน และหลังจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมภายใต้เครือข่ายอีก 3 ครั้ง โดยเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและการดูแลสุขภาพ (Health and Wellness) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ (Tourism and Services) และอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์และซอฟต์พาวเวอร์ (Digital Content and Soft Power) ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดของกิจกรรมได้ทาง Facebook Page: depa Thailand และ LINE OA: @depaThailand

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงดีอี โดย ดีป้า อยู่ระหว่างเสนอให้มีการปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) และร่วมจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานด้านเอไออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

X

Right Click

No right click