หลายคนต้องฝ่าฟันอุปสรรคในการพัฒนาและรักษาธุรกิจนั้นให้ดำรงอยู่ได้อย่างภาคภูมิเหมือนที่คนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ได้สร้างไว้ พรพรรณ ศรมยุรา หรือ พร กรรมการบริหาร บริษัท เกษมชัยฟาร์มกรุ๊ป จำกัด (KCF) เป็นหนึ่งในทายาทธุรกิจที่ตั้งใจเช่นนั้น เธอต้องการนำพาให้กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ไข่และสินค้าแปรรูปจากไข่ KCF ของครอบครัว เป็นผู้นำในตลาดอาหารของไทยและของเอเชียในเร็ววัน
พรเริ่มปูทางในวงการธุรกิจด้วยการตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี สาขาบัญชีบริหารมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ ABAC ด้วยมุมมองว่า ในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท ต้องมีการทำบัญชี ซึ่งบัญชีนี้เปรียบไปเหมือนกระจกส่องให้เห็นสุขภาพของธุรกิจนั้นว่ายัง Healthy อยู่ไหม จากนั้นปริญญาโทใบต่อมา เธอเลือกที่จะเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ในด้าน Accounting & Finance ที่ Kingston University และเมื่อคุณพ่อของพรแนะนำเธอต่อว่า อยากให้เรียนภาษาจีนเพิ่ม สาวเก่งคนนี้ก็คล้อยตามเพราะการรู้แค่ 2 ภาษา คือไทยและอังกฤษ ดูจะไม่เพียงพอกับการทำธุรกิจแล้ว กอปรกับทุกวันนี้ประเทศจีนพัฒนาขึ้นเป็นประเทศที่มีอิทธิพลกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เธอจึงใช้เวลาไม่นานในการตกลงใจที่จะเรียนภาษาจีนเพิ่มเติม ณ ประเทศเจ้าของภาษา
“พรตัดสินใจไปเรียนต่อที่ประเทศจีนแบบไม่ได้มีคนรู้จักอยู่ที่นั่นเลย แถมพูดภาษาจีนไม่ได้เลยด้วย การใช้ชีวิตในจีนช่วงแรกจึงลำบากมาก แต่จำได้ว่าสิ่งที่ทำให้ฮึดสู้และต้องอยู่ที่นั่นให้ได้คือคำพูดของคุณพ่อ ที่ปกติท่านจะเป็นคนที่สอนลูกทุกคนว่าต้องอดทน ต้องสู้ ทั้งเรื่องเรียนและเรื่องงาน แต่ตอนนั้นด้วยความเป็นห่วง ท่านบอกว่า ถ้าไม่ไหว กลับบ้านเรานะลูก มันทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้นะ เราต้องไหว ต้องสู้สิ คิดได้อย่างนั้นพรก็ตั้งใจเรียนภาษาจีนอยู่ 1 เทอม จนพอพูดภาษาจีนได้ แล้วจึงมีความคิดว่าเพื่อไม่ให้เสียเวลา เลยลงเรียนหลักสูตร MBA เพิ่มเติมที่ University of International Business and Economics ที่ปักกิ่งค่ะ”
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทายาทธุรกิจไข่ KCF ได้เก็บเกี่ยวความรู้ในหลักสูตร MBA ท่ามกลางบรรยากาศการเรียนรู้ที่แตกต่างของประเทศจีน ซึ่งหลากหลายเทคนิคจากการเรียนในหลักสูตรนี้ เธอได้นำมาปรับใช้เพื่อกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจ บริษัท เกษมชัยฟาร์มกรุ๊ป จำกัด (KCF) ได้อย่างน่าพอใจ
MBA @ China...More than Expectation
แรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้พรตัดสินใจเรียน MBA ที่ University of International Business and Economics ประเทศจีน คือ ความต้องการสร้าง connection กับผู้คนในแวดวงธุรกิจที่ประเทศจีน รวมถึงนักธุรกิจรุ่นใหม่ของประเทศจีน ที่ตั้งใจมาศึกษาศาสตร์ด้านการบริหารธุรกิจเพิ่มเติมเช่นเธอ
“พรตัดสินใจถูกมากที่เลือกเรียนหลักสูตร MBA ที่ประเทศจีน เพราะพรได้ Connection ของนักธุรกิจชาวจีนเพิ่มเติม ทั้งที่เป็นเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งเป็นนักธุรกิจรุ่นราวคราวเดียวกัน ไปจนถึงอาจารย์หลายท่านที่ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจหรือทำงานในบริษัทใหญ่ๆ มาก่อน นอกจากนั้น จากการเรียน MBA ที่จีนนี้ ทำให้พรได้ทราบถึงเคล็ดลับการทำธุรกิจกับคนจีนให้ประสบความสำเร็จราบรื่น โดยอาจารย์ผู้สอนจะสอดแทรกเข้าไปในการเรียนการสอนแทบทุกวิชา ไม่ว่าจะเป็นคติธรรมการทำธุรกิจที่เอามาจากนวนิยายเรื่องสามก๊กของจีน ไปจนถึงแนวปฏิบัติเฉพาะกับชาวจีน เช่น มีเทคนิคเฉพาะที่เรียกว่า เผิงโหย่ว แปลว่า เพื่อน คือผู้เจรจาจะต้องสร้างความรู้สึกของความเป็นเพื่อนให้เกิดขึ้นกับคู่ค้าที่เป็นนักธุรกิจชาวจีน ยิ่งถ้าพูดภาษาจีนได้ด้วย ยิ่งจะทำให้การเจรจาการค้าจบลงอย่างไร้อุปสรรค ซึ่งนี่เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่พรได้นำมาปรับใช้จริงกับการขยายธุรกิจไปสู่ประเทศในเอเชีย”
ไม่เพียงเท่านั้น พรยังชี้ให้เห็นว่า การเรียน MBA ที่ประเทศจีนไม่เหมือนกับการเรียน MBA ในประเทศตะวันตกตรงที่ ในทุกวิชาอาจารย์จะสอดแทรก case study ควบคู่ไปกับการทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมการทำธุรกิจของประเทศจีน รวมถึงคนในฝั่งโลกตะวันออก ซึ่งสำหรับพรแล้ว ความรู้เหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้ในการขยายธุรกิจของเธอไปยังประเทศในแถบเอเชียได้จริง
Keep Moving on Business Passion
ความท้าทายที่เป็นเหมือน Passion ที่มาขับเคลื่อนให้พรมีแรงบันดาลใจอยากพัฒนาสินค้าหลักของแบรนด์ KCF อย่างผลิตภัณฑ์ไข่ โดยตั้งต้นมาจากแนวคิดที่ว่า เธอไม่ได้มองว่าสินค้าไข่เป็นเพียง Commodity Product เท่านั้น แต่อยากให้ ไข่ เป็นมากกว่า ไข่ ซึ่งพรอธิบายเพิ่มเติมว่า
“เพราะธรรมชาติของไข่คือของสด เก็บไว้ได้ไม่กี่วันก็เสีย เราเลยรู้สึกว่ามันต้องเอามาแปรรูป ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเพิ่มมูลค่าให้มัน อีกด้านหนึ่ง พรอยากให้ผู้บริโภครู้จักผู้ผลิต รู้ถึงความตั้งใจในการผลิตสินค้าของเรา ให้เขารู้ว่าทำไมต้องซื้อไข่ยี่ห้อ KCF ไม่ไปซื้อแบรนด์อื่น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความท้าทาย และเป็น Passion ในการทำธุรกิจของพรเอง เพราะการจะสร้างความรับรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้แบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ด่านแรกเราต้องสู้กับแนวคิดของคนรุ่นพ่อ แม่ ของเราด้วยที่เขามองว่ายังไงไข่ก็คือไข่ มันไม่น่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้น ซึ่งเราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามันทำอะไรได้มากกว่านั้นจริงๆ”
และวันนี้ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่แตกแขนงออกมาจากไข่ เช่น ไข่เหลวพาสเจอร์ไรซ์ ที่ตอบโจทย์ของการเก็บไว้ได้นานขึ้น แถมผู้ใช้ยังสะดวกสามารถนำไปใช้ได้ทันที หรือ ไส้กรอกไข่ลูกรอก นวัตกรรมใหม่เหมาะกับผู้รักสุขภาพ รับประทานมังสวิรัติ ไปจนถึงเด็กๆ ที่ต้องการสารอาหารครบถ้วน ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าผู้บริหารรุ่นใหม่อย่างเธอทำได้จริง ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จนี้ คือ การปรับเอาองค์ความรู้เรื่องของการวิเคราะห์ตลาดมาใช้ โดยพรเล่าให้ฟังว่ากว่าจะเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคยอมรับเช่นทุกวันนี้ เธอกับทีมงานต้องผ่านการลองผิดลองถูก มีสินค้าไม่น้อยที่ทำแล้วไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเท่าที่ควร ซึ่งเธอบอกว่านั่นเป็นเพราะความประมาท ที่ไม่ได้เอาความรู้ด้านการวิเคราะห์ตลาดมาใช้ อย่างหลักการตลาดพื้นฐาน 4 P หรือการทำ Marketing Research ที่ได้เรียนมาในหลักสตร MBA ก็สามารถนำมาปรับใช้ได้หมด ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ทิศทางของตลาด และผลิตสินค้าออกมาโดนใจผู้บริโภคได้ในที่สุด