November 25, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 808

Step up to Success จริยา บุตรเนตร

July 06, 2017 2761

ความสำเร็จในชีวิตของคนรุ่นใหม่หลายคน อาจได้มาง่ายดายเหมือนกินบะหมี่สำเร็จรูป แค่ฉีกซองแล้วเติมน้ำ ก็อิ่มอร่อยได้แล้ว แต่กับอีกหลายคนกลับไม่เป็นอย่างนั้น

เพราะความสำเร็จของ จริยา บุตรเนตร หรืออ้อ วิศวกรปฏิบัติการกลุ่มก๊าซชีวภาพ สำนักวิจัย ค้นคว้าพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เกิดจากมันสมองและสองมือของเธอ บวกกับการไม่ทิ้งทุกโอกาสแล้วมุ่งมั่นทำมันด้วยความตั้งใจ จนทำให้เธอเก็บเกี่ยวความสำเร็จในทุกก้าวย่างบนบันไดแห่งโอกาสได้อย่างน่าพึงพอใจ

“อ้อเรียนจบจากโรงเรียนวัดธรรมดาเลยค่ะ ที่เพชรบุรี” อ้อเริ่มเกริ่นให้ฟังถึงก้าวแรกของเส้นทางการเรียนที่ไม่ได้เลิศหรู หากแต่ด้วยความมานะ ขยัน และพยายามก็ทำให้เธอสอบติดและเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐชั้นนำทั้งในระดับปริญญาตรีอย่าง มหาวิทยาลัยศิลปากร และในระดับปริญญาโท อย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้ในที่สุด 

“ตอนตัดสินใจเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย อ้อเลือกตามความชอบและความถนัดโดยดูจากผลการเรียนแต่ละวิชาที่ได้ในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย ปรากฏว่าวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ อ้อทำคะแนนได้ดีที่สุด ในขณะที่วิชาอื่นๆ ก็มีผลการเรียนรองลงมา เลยทำให้ตัดสินใจเรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะดีกว่า แล้วประกอบกับช่วงนั้นมีกระแสความนิยมเรียนต่อในสาขา Food Science พอดี อ้อเห็นว่าน่าสนใจเลยเลือกเรียนสาขาเทคโนโลยีอาหาร แล้วก็สอบได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรพอดี ส่วนการเรียนในระดับปริญญาโท อ้อก็ได้เรียนโดยได้รับทุนการศึกษาสาขาวิศวกรรมอาหารจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ค่ะ”

จากนั้นอ้อเล่าให้ฟังต่อว่า ระหว่างเรียนเธอต้องใช้ความพยายามอย่างสูง เพราะแม้จะได้เกรดเฉลี่ยในระดับดีจากโรงเรียนมัธยมในต่างจังหวัด แต่เมื่อมาอยู่ท่ามกลางเพื่อนนักศึกษาที่จบจากโรงเรียนในเมืองหลวง อ้อรู้ทันทีว่าพื้นฐานทางวิชาการของเธอยังอยู่ในระดับเป็นรองเพื่อนๆ เธอจึงต้องพยายามให้มากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจบทเรียนที่ยากและซับซ้อนให้ได้ และแล้วจากปีแรกที่เกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 2.80 กระทั่งสามารถจบการศึกษาด้วยเกรดเฉลี่ย 3.34 ได้เกียรตินิยมอันดับสองมาครอง เช่นกันกับในระดับปริญญาโทที่จบมาด้วยเกรดเฉลี่ยสูงถึง 3.61 ซึ่งนอกจากเธอจะภูมิใจไม่น้อยแล้ว ยังมีอีก 2 ท่าน ที่ปลาบปลื้มใจในตัวลูกสาวคนนี้เป็นที่สุดด้วย

“ทั้งพ่อและแม่ของอ้อให้ความสำคัญเรื่องการเรียนมาเป็นที่หนึ่งเลยค่ะ ส่วนหนึ่งอาจเพราะท่านทั้งสองไม่ได้เรียนสูง อย่างแม่ท่านเรียนจบแค่ชั้น ป.4 เพราะฉะนั้นตั้งแต่เด็ก ท่านจะให้อ้อเรียนอย่างเดียว และคอยพร่ำสอนว่าให้ตั้งใจเรียน จนอ้อมีความคิดเลยว่า สำหรับอ้อ สิ่งสำคัญที่สุดคือการเรียน เราเลยตั้งใจเรียนมาตลอด เพราะอยากให้ท่านภูมิใจ”

มาถึงตอนนี้ อ้อ น้ำตาคลอด้วยความสำนึกในบุญคุณบุพการี ซึ่งด้วยความกตัญญูนี่เองที่นำทางให้วิศวกรสาวคนนี้เดินมาสู่ก้าวที่ 2 ของชีวิตกับการทำงานราชการ

“เมื่อเรียนจบปริญญาโท อ้อได้ไปทำงานด้านวิชาการอยู่ 8 เดือน และได้กลับไปทำงานด้านอุตสาหกรรมอาหารที่บริษัทเอกชน ในตำแหน่งวิศวกรฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตอาหารในระดับอุตสาหกรรมอาหารอยู่ประมาณ 1 ปี จากนั้นก็ตัดสินใจมาสมัครเข้าสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการ ในตำแหน่งนักพัฒนาระบบราชการปฏิบัติการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. ได้จัดขึ้น เพื่อสรรหาคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีสมรรถนะสูง เพื่อเข้ารับราชการและพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการสอนงานเพื่อถ่ายทอดความรู้จากวิทยากรที่มากประสบการณ์ รวมถึงการปฏิบัติราชการในหน่วยงานต่างๆ โดยการสอนงานของผู้บริหารระดับสูง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน แล้วโอนย้ายไปยังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ด้านคุณพ่อและคุณแม่ ท่านก็มีความฝันที่จะให้ลูกสาวของท่านได้ทำงานราชการด้วยความเชื่อของท่าน ว่าเป็นงานที่มีความมั่นคง ซึ่งโดยส่วนตัว อ้อไม่เคยคิดจะรับราชการมาก่อนเลย แต่พอรู้ว่าเป็นความใฝ่ฝันของพ่อและแม่ ที่อยากให้เรารับราชการ อ้อก็เลยอยากทำให้ความฝันของทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นจริง และสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับท่านด้วย เพื่อตอบแทนบุญคุณและอยากให้ท่านดีใจ”

และแล้วเธอก็พบว่าการตัดสินใจนี้เป็นการเปิดรับโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิต เพราะตั้งแต่ผ่านการสอบคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการนี้ อ้อได้รับประสบการณ์ดีๆ มากมายจากการเรียนรู้ในห้องเรียนและฝึกปฏิบัติงาน ตลอดระยะเวลาที่ได้เข้าร่วมโครงการ 22 เดือน ที่เธอได้เปิดหน้าต่างการเรียนรู้การทำงานราชการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง เมื่อถึงเวลาที่เธอต้องมารับบทบาทข้าราชการในตำแหน่ง วิศวกรปฏิบัติการ กลุ่มก๊าซชีวภาพ ที่สำนักวิจัย ค้นคว้าพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ในวันนี้ นอกจากนั้น โครงการนี้ยังติดตั้งแนวคิดใหม่ต่องานราชการให้เธอเพิ่มขึ้นด้วย

“อ้อปรับเปลี่ยนความคิดที่มีต่องานราชการไปในทางที่ดีขึ้นก็เพราะการเข้าร่วมโครงการนี้อ้อคิดได้ว่า ไม่ว่าสภาพสังคม เศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดก็ตาม ระบบราชการก็ย่อมต้องเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนประเทศ และที่สำคัญการทำงานราชการ เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ความรู้ความสามารถทำงานเพื่อประชาชนทั้งประเทศ มันทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตของเรามีคุณค่า”

ยิ่งการทำงานของวิศวกรหญิงเก่งคนนี้ เป็นการนำความรู้ความสามารถที่เธอมีไปสร้างสรรค์โครงการส่งเสริมการใช้ก๊าซชีวภาพที่ถูกต้องและปลอดภัยในอุตสาหกรรมและครัวเรือน ยิ่งสร้างความภูมิใจให้อ้อ ในฐานะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้ครอบครัวได้รู้จักการนำของเสีย/มูลสัตว์มาผลิตเป็นพลังงาน แล้วใช้หุงต้มอาหารทดแทนการใช้ก๊าซ LPG ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกลิ่นจากของเสียเหล่านั้นได้

ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยปรัชญาประจำใจที่ยึดมั่นมาตลอดของอ้อ ที่จะไม่ปฏิเสธทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามา เพียงเพราะกลัว หรือไม่กล้า โดยเลือกที่จะเดินหน้าชนทุกโอกาส ส่งผลให้เธอสามารถก้าวสูงขึ้นไปอีกขั้นกับการเป็นตัวแทนของกรมฯ ที่เธอสังกัดอยู่ เพื่อไปทำหน้าที่วิทยากรในงานสัมมนาในระดับนานาชาติได้สำเร็จ 

“หลังจากทำงานได้ 1 ปี อ้อก็ได้รับโอกาสจากหัวหน้าให้ไปเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อนโยบายการพัฒนาพลังงานทดแทนและมาตรการส่งเสริมของประเทศไทยที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งเป็นงานประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเอเปค ด้านพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน ครั้งที่ 38 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศนิวซีแลนด์ จำได้ว่า ทันทีที่หัวหน้าของอ้อถามว่าอ้อไปพูดได้ไหม อ้อก็ตอบตกลงทันที เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พัฒนาศักยภาพของตนเองขึ้นอีกก้าวหนึ่ง แม้ว่าจะยังไม่มั่นใจเรื่องการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษต่อผู้เข้าร่วมงานประชุมและเนื้อหาที่จะพูด อ้อก็คิดว่าจะพยายามเตรียมตัวไปให้ดีที่สุด อย่างเรื่องการพูด อ้อก็ได้เรียนรู้และศึกษาแนวทางการเป็นวิทยาการจากผู้บริหารของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จากที่อ้อเคยได้มีโอกาสได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายจากท่านจากประชุมต่างๆ ในระดับนานาชาติ ซึ่งหัวข้อที่เคยได้มีโอกาสรับฟังเวลาที่ท่านบรรยายนั้น มีเนื้อหาคล้ายกับเนื้อหาที่อ้อจะต้องไปบรรยาย นอกจากนั้นอ้อก็ยังได้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดข้อมูลที่จะต้องนำไปใช้บรรยายก่อนที่จะนำข้อมูลดังกล่าวไปนำเสนอต่อที่ประชุม ทำให้เกิดความมั่นใจในการที่จะเดินทางไปบรรยายในต่างประเทศในหัวข้อที่ได้รับเชิญมา ซึ่งทุกท่านก็ให้คำแนะนำและช่วยเหลืออย่างดีมากค่ะ ถึงตอนนี้ อ้อได้เดินทางไปเป็นวิทยากรในงานประชุมระดับนานาชาติมาแล้วรวม 5 ครั้ง ณ ประเทศนิวซีแลนด์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย และในแต่ละครั้งที่ได้ไป ถือว่าได้ไปเปิดโลกทัศน์และได้มีโอกาสพบปะผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนในแต่ละประเทศ และยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมและสังคมไปด้วยค่ะ” มาถึงตอนนี้ เมื่อให้อ้อสรุปถึงเคล็ดลับในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เธอบอกว่า

“ทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ และสุดความสามารถ ทำให้ได้ดี และความสำเร็จส่วนหนึ่งยังเกิดมาจาก อ้อชอบเอาชนะใจตัวเองแบบ “ไม่ได้ ต้องได้” ซึ่งวันนี้ถือว่า อ้อมาไกลกว่าที่คิด รู้สึกภูมิใจค่ะส่วนหนึ่งเรามาโดยใช้ความกตัญญูนำทางจนได้มาเป็นข้าราชการ จากนั้นอ้อตั้งใจว่า เมื่อเราได้มาอยู่ในระบบราชการแล้ว เราก็ต้องสร้างก้าวหน้าของตัวเองให้มั่นคงและมีคุณค่า และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ต่อยอดโอกาสที่ได้รับ เพื่อให้ตัวเรามีคุณค่ากับองค์กรมากขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ด้วย”

แล้วทุกคนก็ได้เห็นว่า working woman คนนี้ ไม่ใช่แค่พูด แต่ทำด้วย เพราะทุกวันนี้ เธอกำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ จากงานอดิเรกที่เธอชื่นชอบ คือ การถ่ายภาพ ทุกครั้งที่เธอเดินทางไปที่ไหนก็ตาม ทั้งไปทำงานและไปเที่ยว เธอจะพกกล้องคู่ใจไปด้วยเสมอ แล้วถ่ายทอดมุมมองจากสิ่งที่เธอเห็น ออกมาผ่านรูปภาพแต่ละรูป ซึ่งส่วนหนึ่งอ้อบอกว่าการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกที่ช่วยให้เธอได้ผ่อนคลายจากการทำงาน เผยให้เห็นอีกมุมของตัวเธอที่รักธรรมชาติ รักการเดินทาง เพราะการเดินทางนี่เองที่ช่วยสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตดีๆ ให้กับอ้อเสมอมา จุดเริ่มต้นที่ได้ดำเนินโครงการพัฒนาสื่อเพื่อเผยแพร่การผลิตและการใช้พลังงานก๊าซชีวภาพอย่างปลอดภัย ทำให้เธอได้รู้จักกับคุณนาวิน นาคนาวา ผู้อำนวยการกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ของกรมฯ และ “พี่นาวิน” ยังสวมหมวกอีกใบเป็น ประธานชมรมถ่ายภาพและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (บ้านป่า) พัฒนาการ 32 ซึ่งตรงกับความสนใจของสาวเก่งคนนี้พอดี อ้อจึงได้มาสมัครเรียนเป็นลูกศิษย์รุ่นที่ 32 ของอาจารย์นาวิน ในปัจจุบัน ทำให้รู้ว่าความจริงแล้ว การถ่ายภาพเป็นการสื่อสารที่เป็นศิลปะศาสตร์แขนงหนึ่งที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติถึงจะสร้างภาพที่สามารถถ่ายทอดจินตนาการได้อย่างลึกซึ้งและเป็นสากลได้

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Thursday, 06 July 2017 09:26
X

Right Click

No right click