January 15, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 808

MBA@NIDA Building Bright Experience

July 06, 2017 3430
ณัฏฐ์ วัชรเมธีวรนันท์ ณัฏฐ์ วัชรเมธีวรนันท์

นอกจากความรู้ด้านบริหารธุรกิจที่ ณัฏฐ์ วัชรเมธีวรนันท์ หรือ นัท นักศึกษาหลักสูตร MBA ภาคปกติ ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า NIDA ได้รับสมความตั้งใจ กับการตัดสินใจมาเรียนในหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือ MBA ทันทีที่เรียนจบในหลักสูตรปริญญาตรีจากภาควิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้ว สิ่งที่นัทได้รับไปแบบเต็มร้อยจากการเรียนที่นิด้าอีกก็คือ ประสบการณ์ ที่ไม่มีอยู่ในตำราเรียนเล่มไหนนั่นเอง

บทสนทนากับ MBA Gen คนนี้ เริ่มจากการชวนพูดคุยถึงมุมมองส่วนตัวของเขาในประเด็นที่สะท้อนถึงเทรนด์การเรียน MBA ของคนรุ่นใหม่สมัยนี้ที่ว่า ทำไมจึงตัดสินใจมาเรียนในระดับปริญญาโททันทีที่เรียนจบปริญญาตรีโดยไม่ได้มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน 

“ผมว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเรียนในหลักสูตร MBA ของแต่ละคนย่อมมาจากเหตุผลที่ไม่เหมือนกัน หลักๆ ขึ้นอยู่กับแนวคิดและจุดมุ่งหมายในชีวิตของแต่ละคน สำหรับผม ผมเรียนจบมาทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ก็จริง แต่พอมาคิดดูแล้ว เราไม่ได้อยากไปทำงานในสายอาชีพวิศวกรโดยตรงอย่างที่เรียนจบมา แต่อยากเรียนรู้เพิ่มเติมในศาสตร์การบริหารธุรกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ศึกษาความรู้อีกด้าน ที่เชื่อมั่นว่าเราจะชอบมากกว่าและจะนำโอกาสดีๆ ในหน้าที่การงานได้”

โดยนัทอธิบายเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ คนอื่นซึ่งผ่านประสบการณ์การทำงานมาก่อน อาจตัดสินใจเรียนในหลักสูตร MBA เพราะอยากเพิ่มพูนความรู้ที่จะไปต่อยอดสร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็ได้ และนี่คือสิ่งที่เขาจำกัดความว่าเป็นการตัดสินใจจากจุดยืนที่แตกต่างกัน 

และสำหรับนัทแล้ว สาขาวิชาที่ทำให้เขาสนใจและเลือกมาศึกษาต่อในหลักสูตร MBA นั่นคือ การเงิน ส่วนหนึ่งมาจากความประทับใจเมื่อครั้งได้ฝึกงานกับบริษัทหลักทรัพย์ ส่งผลให้เขาอยากมีความรู้ด้านการบริหารการเงิน เพื่อนำความรู้นั้นไปปรับใช้ในการบริหารการเงินของตนเองและให้คำแนะนำกับคนในครอบครัวได้ และยังน่าจะเสริมกันได้ดีกับทักษะที่ได้ติดตัวมาตอนเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คือ การคิดวิเคราะห์ทุกอย่าง อย่างมีระบบและขั้นตอนด้วย

เมื่อชวนคุยถึงเหตุผลที่เลือกเรียนหลักสูตร MBA ที่นิด้า MBA Gen คนนี้ ตอบอย่างชัดเจนว่า เพราะชื่อเสียงของนิด้าที่โดดเด่นในการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจ และคณะบริหารธุรกิจของนิด้า ก็ผ่านการรับรองจาก AACSB ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ประกอบกับเหตุผลส่วนตัวที่คุณแม่ของเขาก็เป็นศิษย์เก่าของนิด้าด้วย 

จนกระทั่งได้เข้ามาเรียนในหลักสูตร MBA ของคณะบริหารธุรกิจ นิด้า สิ่งที่นัทประทับใจและพึงพอใจที่สุด ก็คือ คุณภาพของอาจารย์ทุกท่านในคณะ ที่นัทกล่าวว่า

“ผมรู้สึกว่า อาจารย์ที่นิด้าทุกท่านไม่ธรรมดา เรียกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ในองค์ความรู้เฉพาะทางด้านการบริหารธุรกิจ อาจารย์หลายท่านเป็นที่ปรึกษาอันดับต้นๆ ของบริษัทที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย เพราะฉะนั้น แม้ว่าเนื้อหา องค์ความรู้พื้นฐานที่สอนในวิชาบริหารธุรกิจของอาจารย์อาจจะเหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่าง คือ ประสบการณ์ เทคนิค ต่างๆ ที่อาจารย์สอดแทรกและสอนให้เรา ผมเชื่อว่ามันพิเศษและแตกต่างจากที่อื่นแน่นอน”

 นอกจากนั้น ไม่ใช่แค่ความรู้ดีๆ ที่ได้รับจากอาจารย์ที่นี่เท่านั้น แต่ทักษะ Soft Skill ที่นิด้าให้ความสำคัญและปลูกฝังให้นักศึกษาทุกคน ยังเป็นสิ่งที่นัทเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์นอกตำราที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ เช่น การฝึกให้นักศึกษาได้ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง การทำงานเป็นทีม และยังได้รู้จักกับเพื่อน พี่ น้อง ที่มีพื้นฐานความรู้มาจากหลากหลายด้าน ช่วยเปิดโลกทัศน์ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้นัทได้ไม่น้อย

ประสบการณ์ดีๆ ที่นัทได้เรียนรู้จากการเรียนในหลักสูตร MBA ของนิด้า ไม่ได้จบเพียงแค่นี้ เพราะนัทได้มีโอกาสไปปฏิบัติงานเป็น ผู้ช่วยอาจารย์ Teacher Assistant หรือ TA ให้กับ รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นิด้า ซึ่งทำให้เขาได้เปิดหน้าต่างแห่งการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ออกไป

“ในการเป็น TA ของอาจารย์ประดิษฐ์ ท่านจะมอบหมายให้ผมไปนั่งเรียนอยู่ในชั้นเรียนที่ท่านสอนด้วย และเปิดโอกาสให้ได้วิเคราะห์ว่าการบ้านที่ท่านสั่งในแต่ละครั้งนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ เช่นกันกับในเวลาที่อาจารย์ออกข้อสอบ ผมยังได้แสดงความคิดเห็นด้วยว่า ข้อสอบที่ออกมานั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ด้วย” 

จากการทำหน้าที่หลักๆ ที่นัทเล่าให้ฟังนี้ ทำให้เขาได้รับประโยชน์ไม่น้อย ตั้งแต่การได้ทบทวนบทเรียนในวิชาที่อาจารย์ประดิษฐ์สอน ซึ่งแม้ว่าวิชานั้นจะเป็นวิชาที่นัทได้เรียนผ่านมาแล้วกับอาจารย์อีกท่านหนึ่ง แต่เขาบอกว่า เมื่อเปลี่ยนอาจารย์ผู้สอน ก็ได้เรียนรู้บทเรียนที่แตกต่าง ขึ้นอยู่กับวิธีการสอน ประสบการณ์ของอาจารย์ท่านนั้น และสำหรับ รศ.ดร.ประดิษฐ์ นัทเล่าว่า อาจารย์จะชอบหยิบยกตัวอย่างที่น่าสนใจจากประสบการณ์ตรงของอาจารย์ทำให้เขาได้ทำความเข้าใจในรายวิชานั้นได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และนัทยังได้เก็บเกี่ยวแนวทางการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ ที่อาจารย์ประดิษฐ์สอนโดยไม่รู้ตัว เช่น การวางแผนสร้างสมดุลให้ชีวิตระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว รวมถึงแนะนำทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในสายการบริหารธุรกิจที่สำคัญด้วย 

และก่อนที่นัทจะขอตัวไปเรียน เมื่อถามถึงมุมมองการทำเพื่อสังคม ซึ่งเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งที่นิด้าปลูกฝังให้กับบัณฑิตทุกคน เขาให้มุมมองที่น่าสนใจว่า 

“การทำเพื่อสังคม ไม่จำเป็นว่าจะต้องให้สิ่งของที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้เสมอไป ผมเชื่อว่า ทุกคนทำเพื่อสังคมได้ง่ายๆ เริ่มจากการตั้งใจทำอาชีพของตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ ระลึกถึงสังคมและประเทศชาติในทุกอย่างที่เราทำ แค่นี้ก็เท่ากับได้ช่วยสังคมแล้ว อย่างอาชีพที่ผมตั้งใจทำเมื่อเรียนจบคือ นักการเงิน แน่นอนว่า คนทำงานด้านนี้ ต้องมีความรู้แตกฉานสามารถให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษาในการลงทุนให้กับประชาชน ถ้านักการเงินมุ่งแต่จะเอาค่าคอมมิชชั่น ทำกำไรให้บริษัท ให้คำแนะนำลูกค้าให้ไปลงทุนอะไรที่ไม่จำเป็น ไม่ใช่แค่ก่อให้เกิดผลเสียทั้งกับลูกค้า แต่ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสังคมและประเทศชาติที่เราอยู่ด้วย” 

 

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Thursday, 06 July 2017 09:31
X

Right Click

No right click