จากนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ต้องการผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยที่คิดค้นโดยบุคลากรในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมดีๆ มากมายของคณะต้นน้ำต่างๆ ที่ได้รับการรับรองสิทธิบัตรแล้ว ให้นำไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ “จากหิ้งสู่ห้าง”
ผ่านกลไกการสนับสนุนของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ CMU STeP และคณะบริหารธุรกิจในฐานะคณะปลายน้ำที่ฝึกฝนและผลิตผู้ประกอบ-การยุคใหม่ ซึ่งนำมาสู่โครงการของ STEP CMU ที่ได้คัดเลือกนักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจและคณะวิทยาศาสตร์มาเป็นตัวแทนเพื่อร่วมประกวดในการแข่งขันระดับประเทศ ในชื่อทีม MH Fusion
โดยทีม MH Fusion ประกอบด้วย จันทร์จิรา สมิทธิกุล (นุช) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นภสร ศรีชัย (แก้ม) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ เบญจรงค์ สินธุยะ (แตงโม), ณัฐธิดา จินตการราศี (ฟิล์ม), จิราวรรณ จินดาแก้ว (นิว) ซึ่งทั้ง 3 คนเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์ สาขาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และทีม MH Fusion ก็มีมติร่วมกันที่จะเลือกผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.ภก.จีรเดช มโนสร้อย และ ศาสตราจารย์ ดร.ภ.
อรัญญา มโนสร้อย อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับทุนจาก สกว. คิดค้น น้ำลายเทียมในรูปแบบสเปรย์ ผลิตมาจากกระเจี๊ยบเขียว สามารถใช้ได้ทันทีเมื่อมีภาวะขาดน้ำลาย ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่พบมากในผู้สูงอายุและผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดและการให้เคมีบำบัด ส่งผลให้การกลืนอาหารเป็นไปอย่างยากลำบาก และเมื่อปริมาณน้ำลายมีไม่เพียงพอ แบคทีเรียในช่องปากก็จะทำงานได้ดี เป็นสาเหตุของโรคฟันผุและกลิ่นปาก อีกทั้งยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในช่องปาก ทั้งในระยะฉับพลันและเรื้อรังได้ง่ายด้วย
ด้วยความมั่นใจในประสิทธิภาพที่ผ่านการศึกษาวิจัยและพิสูจน์ทางเวชกรรมแล้ว ทีม MH Fusion จึงนำ น้ำลายเทียมที่ผลิตมาจากกระเจี๊ยบเขียวในรูปแบบสเปรย์ ภายใต้แบรนด์ Mouth Me มาเป็นโจทย์ในการแข่งขัน Research to Market R2M Thailand ที่จัดโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเพียงแค่การแข่งขันครั้งแรก ทีม MH Fusion ก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศมาครองได้แล้ว โดย แก้มและนุช ขอเป็นตัวแทนของทีมมาเล่าถึงการแข่งขันในครั้งแรกนี้ให้ฟังว่า
“การแข่งขันครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อประกวดนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ หรือ นวัตวณิชย์ ซึ่งเรามั่นใจว่าน้ำลายเทียมที่ทำจากกระเจี๊ยบเขียวนี้ จะเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่น่าสนใจและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ บรรเทาความทุกข์ทรมานจากภาวะขาดน้ำลายในผู้สูงอายุ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้สูงอายุอย่างเห็นได้ชัด โดยในการเตรียมตัวเพื่อการแข่งขันครั้งนี้ ทุกคนในทีมจะแบ่งหน้าที่กันชัดเจน แก้มกับนุชจะรับผิดชอบในการวางแผนการเงิน แผนการตลาด และแผนธุรกิจของผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ ในขณะที่ เพื่อนๆ คณะวิทยาศาสตร์อีก 3 คน ก็จะมาช่วยกันเตรียม Presentation ขัดเกลาภาษาที่จะใช้ให้เหมาะสม ทั้งศัพท์เฉพาะทางวิทยาศาสตร์เพื่อบรรยายถึงตัวผลิตภัณฑ์ สรรพคุณของผลิตภัณฑ์นี้ และศัพท์ทางบริหารธุรกิจในการนำเสนอแผนธุรกิจ”
ต่อมาแก้มและนุช ยังได้วิเคราะห์ถึงข้อได้เปรียบของผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมที่ทำจากกระเจี๊ยบเขียวเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันที่วางขายอยู่ในท้องตลาดทุกวันนี้ว่า Key Success ของผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียม Mouth Me คือ มีต้นทุนในการผลิตต่ำเพราะทำจากวัตถุดิบหลัก คือ กระเจี๊ยบเขียว ซึ่งเป็นพืชผักพื้นบ้านที่หาได้ง่ายและปลูกได้ตลอดปี ฉะนั้น ในเชิงพาณิชย์ การจะได้ Economies of Scale ในเวลาอันรวดเร็วไม่ใช่เรื่องยาก นอกจากนี้ทางวิทยาศาสตร์ กระเจี๊ยบเขียวยังมีคุณสมบัติโดดเด่นกว่าสารเคมีสังเคราะห์หรือพืชสมุนไพรอื่นๆ คือ เป็นพืชที่เมือกมีคุณสมบัติ Non-Newtonian กล่าวคือยิ่งเคี้ยวยิ่งกลืนจะยิ่งลื่นคล้ายน้ำลายจริง ไม่เหมือนพืชอื่นอย่างว่านหางจระเข้ หรือ เมือกจากกระเพาะหมูที่จำหน่ายกันอยู่ในท้องตลาดซึ่งจะละลายสลายไปกับการกลืนอาหาร
จากชัยชนะในการแข่งขันครั้งแรก สานต่อสู่การแข่งขันครั้งที่สองในรายการ Global Student Entrepreneur Award (An Entrepreneurs Organization Thailand Competition) ที่จัดโดย Entrepreneurs’ Organization หรือ EO ซึ่งครั้งนี้แก้มมองว่าเป็นการพัฒนาทักษะเพื่อต่อยอดพัฒนาสู่การเป็น entrepreneur ที่พร้อมจะรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการทำธุรกิจในอนาคต ชี้วัดศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการว่าจะสามารถทำให้ธุรกิจนี้เกิดขึ้นได้จริงและประสบความสำเร็จได้แค่ไหน ซึ่งในรายการนี้ทีม MH Fusion ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศมาครองอีกครั้ง และเป็นตัวแทนของนักศึกษาไทยไปแข่งในเวทีระดับภูมิภาคที่ฮ่องกง แก้มและนุชได้ร่วมกันสรุปถึงบทเรียนนอกห้องเรียนที่ทั้งสองคนได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันทั้ง 2 รายการว่า
“ในการแข่งขันทุกครั้ง ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร สิ่งที่มีค่ามากกว่ารางวัลคือประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน อย่างการเข้าร่วมการแข่งขันที่ผ่านมา ก็เปิดโอกาสให้เราได้เห็นไอเดียดีๆ ของเพื่อนจากสถาบันอื่นที่เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งช่วยเปิดมุมมองการเรียนรู้ของพวกเราให้กว้างขึ้น โดยหลายแนวคิดที่ได้รับรู้ล้วนเป็นไอเดียดีๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วย นอกจากนั้น เรายังได้เรียนรู้ทักษะของการทำงานร่วมกัน ว่าต้องเปิดกว้างยอมรับความคิดเห็นของเพื่อนร่วมทีมด้วย ไม่ใช่ยึดมั่นอยู่กับแนวคิดของตนเอง”
ด้าน รศ.ดร.สิริวุฒิ บูรณพิร คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวในฐานะหนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษาของทีม MH Fusion ว่า
“เห็นได้ว่าการแข่งขันทั้ง 2 รายการ แสดงถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นของทีม MH Fusion อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการแข่งขันแรกที่เป็นเวทีพิสูจน์และสร้างความยอมรับในนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กระทั่งมาในการแข่งขันรายการที่ 2 ซึ่งเป็นการทดสอบความเป็นไปได้ทางธุรกิจจากมุมมองของนักลงทุน ซึ่งการชนะเลิศทั้งสองเวทีนี้ทำให้นักศึกษาถูกบ่มเพาะทักษะความเป็นผู้ประกอบการ การทำธุรกิจใหม่หรือการเริ่มธุรกิจในฐานะสตาร์ตอัพ กว่าที่จะผ่านช่วงของการเป็นสตาร์ตอัพไปได้นั้นต้องผ่านอุปสรรคอะไรมากมาย เมื่อพวกเขาเรียนจบออกไปและต้องเริ่มทำธุรกิจ เขาต้องมีความอดทนที่จะก้าวผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปให้ได้ โดยสิ่งที่น่าภูมิใจในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา คือ การได้เห็นพัฒนาการของการนำเสนอและการจัดลำดับความคิด เลือกประเด็นในการนำเสนอที่โดนใจ ของนักศึกษากลุ่มนี้ พวกเขาพัฒนาจากการนำเสนอ PowerPoint มาเป็นนักเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของความเป็นผู้ประกอบการ”
ทั้งนี้ รศ.ดร.สิริวุฒิ ยังสรุปว่า เพราะฉะนั้นในการพัฒนาและบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการนั้น จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองทั้งด้านความเป็นไปได้ของนวัตกรรม และ ความเป็นไปได้ของการทำธุรกิจ โดยระหว่างกระบวนการการพิสูจน์ตนเองทั้งสองด้านนี้ต้องมีความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ ต้องยึดทัศนคติในแบบ “Can do attitude” เอาไว้แล้วนำ Feedback ทั้งหลายมาปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะทุกเวทีจะมอบประสบการณ์ให้นักศึกษาหรือผู้ประกอบการสตาร์ตอัพในรูปแบบที่แตกต่างกันไป รศ.ดร.สิริวุฒิ เชื่อว่า ที่สุดแล้วประสบการณ์นอกตำรา นอกห้องเรียน จะเป็นสมบัติติดตัวนักศึกษาที่มีค่ามากที่สุดที่สามารถหยิบมาใช้ได้ไปตลอดชีวิต