“ผมมีความรู้ทางด้านเทคนิกเยอะแล้ว อยากจะไปต่อในด้าน Commercial และอยากมองโลก ได้กว้างกว่านี้ครับ” คือเหตุผลที่หนุ่มวิศวะไฟแรงสูงในวัย 25 อย่าง “ทิม-วุฒิกร อนุศาสน์อมรกุล” ตัดสินใจรับทุนจากทาง ปตท. ไปโกยความรู้ที่ “CMU Tepper” มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon หลังทำงานให้บริษัทลูกในเครือในนาม “GPSC” ดูแลโพรเจกต์พลังงานไฟฟ้าอยู่นานเกือบ 3 ปี
บนเส้นทาง MBA ที่เลือกเดินครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะทิ้งความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ ที่เคยมุ่งมั่นในฐานะบัณฑิตรั้วจามจุรี สาขาวิศวกรรมเครื่องกล แต่กำลังจะหยิบเอาโมเดลธุรกิจมาเชื่อมโยงเข้าหากัน เพื่อกลับมาแก้ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศของเราให้ได้อย่างที่ตั้งมั่นเอาไว้
Q: เรื่องราวแบบไหนที่แนะนำตัวกับทางมหาวิทยาลัยไป แล้วคิดว่าทำให้เขาสนใจเลือกเรา
A: แต่ละมหาวิทยาลัยจะถามต่างกันนะครับ แต่ที่ Tepper เขาถามว่าถ้าเจอคนที่รับสมัครที่แอร์พอร์ต และมีเวลาคุยกันได้แค่ 500 คำ คุณจะเขียนอะไรลงไปให้เขาประทับใจ ผมตีโจทย์ว่าเขาคงอยากเห็นทุกมุมของเรา ก็เลยพยายามเขียนทั้งเรื่องในที่ทำงาน ทั้งชีวิตส่วนตัวประจำวันด้วยว่าเราสมดุลสิ่งที่ทำมายังไงบ้าง เคยประสบความสำเร็จอะไรมาแล้วบ้าง
Q: แล้วเราเล่าความสำเร็จในโพรเจกต์ไหนลงไปในนั้น
A: เรื่องที่เขียนลงไปที่คิดว่าทำให้เขารับ น่าจะเป็นเรื่องที่ทำงานครับ ตอนนั้นทำโพรเจกต์ซื้อโรงไฟฟ้าเราต้องการผู้เชี่ยวชาญที่เก่งที่จะให้คำแนะนำเราได้ และมีคนเก่ง 2 คนมาให้เลือกคนแรกดูโดดเด่นมาก ทุกคนในทีมเชียร์ว่าต้องคนนี้แหละ เพราะเขาถนัดด้านพลังงานแก๊ส ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องดูแล แต่ผมมองว่ามันยังมีความเสี่ยงเรื่องพลังงานความร้อนใต้พิภพอยู่อีกที่น่าเป็นห่วง และตัวเลือกแรกเขาไม่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ แต่คนที่สองเขาศึกษาด้านนี้มาโดยตรง ผมก็เลยมองว่าถ้าเราจ้างคนที่สอง ยังไงก็ดีกว่า เพราะเขาคือคนที่รู้ในสิ่งที่เราขาด ส่วนเรื่องพลังงานแก๊ส ในบริษัทเราก็มีทรัพยากรคนช่วยให้คำปรึกษาเรื่องนี้ให้ได้ และทาง ปตท.ก็ถนัดเรื่องแก๊สอยู่แล้ว ผมก็เลยพยายาม Contribute สุดท้าย คนที่ผมเลือกและแนะนำทีมจนเห็นด้วย ก็ช่วยให้เราได้ไปเจอปัญหาเรื่องความร้อนใต้พิภพเต็มไปหมด จนทำให้เราชนะการประมูลได้ ก็เลยเป็นเรื่องที่หยิบไปเล่าได้ครับว่าเรา Lead ทีม จนทำให้โพรเจกต์นั้นชนะได้ยังไง
Q: ความฝันสูงสุดบนเส้นทางนี้คืออะไร
A: ผมอยากทำธุรกิจของตัวเอง ควบคู่ไปกับการทำงานบริษัท อยากเป็นคนไป Lead ทีมในสายงานต่างประเทศ ช่วยขยายฐาน ให้บริษัทไปบุกเบิกในประเทศใดประเทศหนึ่งที่ยังไม่เคยไปได้ ในเมื่อบริษัทที่เราทำเป็นบริษัทใหญ่สัญชาติไทย ก็มองว่ามันก็จะช่วยสร้าง Impact ที่ใหญ่ให้สังคมให้ประเทศไทยไปด้วยในตัว
Q: มีปัญหาเรื่องพลังงานเรื่องไหนไหมที่มองเห็น และอยากช่วยแก้ไข
A: เรื่องที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือการใช้พลังงานไม่สะอาด หรือพลังงานกำลังจะหมดไป ซึ่งผมมองว่ามันยังมีพลังงานทางเลือกให้ใช้ได้ อย่างพลังงานความร้อนใต้พิภพก็เป็นอีกทางหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คิดว่าถ้าสามารถเอาพลังงานทางเลือกมาผสมกับพลังงานแบบเดิมๆ ให้ลงตัวได้ ก็จะทำให้เกิดทางออกอีกทางที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศเรา