จะ “คุ้มทุน” ไหมกับที่ทุ่มเงินลงเรียนไป? ไม่ใช่คำถามที่อยู่ในความสนใจของ “แพม-จิตรานุช อมรวัฒนา” เพราะความสัมพันธ์ที่จะได้รับกลับมา มัน “คุ้มค่า” เพียงพอในสายตา “นักลงทุนเพื่อสังคมหัวก้าวหน้า” ผู้ดำรงตำแหน่ง Country Product Manager ให้แก่บริษัท Startup “Garene” เจ้าของแอปพลิเคชันแก้ปัญหา “โชห่วย” ขาดทุนในประเทศไทย
บอกเลยว่า “Yale SOM (Yale School of Management)” ที่เลือกเอาไว้ให้ตัวเองบนเส้นทางที่กำลังจะมุ่งไป คือ “Perfect Match” ที่ลงตัวต่อหัวใจ เพราะมหาวิทยาลัยนี้ตรงตามคอนเซ็ปต์ “ธุรกิจเพื่อสังคม” ตรงกับคำว่า “Educate Leader For Business Society” ที่ต้องการ
Q: คนที่ตัดสินใจลงทุนไปเรียนเอง ส่วนใหญ่อาจคิดหนักเรื่องทำยังไงให้คุ้มทุน เราคิดไว้บ้างไหม
A: (ยิ้มรับ) แพมไม่เคยมองเลยค่ะว่าต้องไปอยู่กี่ปีถึงจะคืนทุน สำหรับแพมแค่ได้ไปอยู่ในสภาวะแวดล้อมแบบนั้น ได้ไปเจอความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ มันก็คุ้มแล้ว แพมเชื่อว่าการจะทำงานในโลกธุรกิจ ความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเรารู้จักใครและสามารถสร้างสิ่งดีๆ จากความสัมพันธ์เหล่านั้นได้ มันก็คือคุณค่าที่มหาศาลมากๆ แล้ว เมื่อเรามี Impact กับคนกลุ่มนั้นแล้ว เดี๋ยวเรื่อง Financial Return มันจะตามมาเอง
Q: เตรียมตัวหนักแค่ไหน เพื่อให้ได้มหาวิทยาลัยในฝันแห่งนี้
A: ถ้าเป็นเรื่องสอบ GMAT แพมว่ามันเป็นสงครามจิตวิทยาที่ต้องอดทนกับมันมากๆ (หัวเราะ) เป็นพาร์ตที่เราไม่ถนัดเท่าไหร่ แพมสอบแค่ 2 ครั้ง เอาแค่คะแนนผ่านเกณฑ์เข้า Top U ก็พอแล้วค่ะ นอกนั้นเอาเวลาไปเตรียมเรื่อง Essay ซึ่งเป็นส่วนที่ทำแล้วสบายใจที่สุดแล้วค่ะ (ยิ้ม) พาร์ตของ Essay มันคือการเล่าชีวิตจริง พูดถึงสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด สะท้อนความเป็นตัวเราออกไป ก็โชคดีค่ะที่เรื่องราวของเราค่อนข้างแหวกแนว ด้วยโอกาสที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่ที่ทางบริษัทมอบให้ด้วย ทำให้เรามีประวัติที่ออกมาค่อนข้างสวย
Q: เรื่องไหนที่เล่าไปแล้ว คิดว่าเป็นจุดขายที่ทำให้เขาเลือกเรา
A: แพมเล่าเหตุการณ์จริงที่ได้ไปบ้านเอื้ออาทรที่สมุทรปราการค่ะ ได้ไปเจอสามีภรรยาคู่หนึ่งที่อาศัยอยู่บนห้องเช่าเล็กๆ ที่ใช้เป็นห้องนอนด้วย เขาบอกว่าก่อนหน้านี้เขาใช้พื้นที่ตรงนี้ขายของไม่กี่อย่างเพื่อให้อยู่ได้ พอเราเข้าไปช่วยเขา เอาแอป จ่ายบิล, เติมเงิน, เติมเกม ฯลฯ ไปให้เขาใช้ มันทำให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น และเขาก็เอาเงินตรงนี้ไปซื้อสินค้ามาสต็อกมากขึ้น จนเขามีตู้แช่น้ำเป็นของตัวเอง ทำให้คนอื่นๆ รับรู้ว่าที่แห่งนี้มีมินิมาร์ตเล็กๆ ที่เทิร์นมาจากห้องนอน พอได้เจออะไรแบบนี้ก็รู้สึกขนลุกนะ (ยิ้มแววตาเปี่ยมสุข) และสิ่งนี้แหละค่ะที่จะจุดประกายให้เรา อยากใช้ความตั้งใจของตัวเองทำให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นมาอีกในอนาคต
Q: อะไรคือสิ่งดีๆ ที่อยากทำให้เกิดในอนาคต หลังจบ MBA แล้ว
A: สิ่งที่อยากทำก็คือได้ปล่อยผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด และทำให้เรื่อง Business รันไปได้ด้วยดี ควบคู่ไปกับเรื่องช่วยสังคม จริงๆ แล้ว แพมเปิดไว้หลาย Option ค่ะ มีทั้งมุม Startup อยากใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาชีวิตคน ทั้งมุมทำธุรกิจเพื่อสังคม ยังไม่อยากตีกรอบอะไรให้ตัวเองมากเกินไป แต่สิ่งที่ทำต้องมั่นใจได้ว่าต้องมีคนอื่นๆ ในสังคมได้ประโยชน์จากเรา