ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยความสำเร็จทดสอบ “Cell Broadcast” ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านจอมือถือสำเร็จในห้องแลปเมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา กำลังเจรจาความร่วมมือกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หวังเปิดระบบให้คนไทยได้รับทราบข้อมูลเหตุฉุกเฉิน 5 ระดับทุกพื้นที่ทั่วไทย แบบเจาะจงพื้นที่เกิดภัยพิบัติเพื่อความปลอดภัย อาทิ ภัยแผ่นดินไหว ภัยสึนามิ ภัยน้ำท่วม เป็นต้น เป้าหมายเพื่อป้องกันอันตรายความเสี่ยงทั้งชีวิตและทรัพย์สินทั้งผู้ใช้งานคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “เราเดินหน้าทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast ในห้องทดสอบปฏิบัติการ (Lab test) เป็นผลสำเร็จเมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในสถานการณ์ฉุกเฉินของผู้ใช้งานมือถือทรูและดีแทคทั่วประเทศไทย โครงการริเริ่มนี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของทรู คอร์ปอเรชั่น ด้านความปลอดภัยสาธารณะผ่านนวัตกรรมโซลูชันโทรคมนาคม ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาร่วมมือกับภาครัฐเพื่อนำไปใช้งานจริง ซึ่งระบบนี้ประเทศไทยยังไม่เคยนำมาใช้งาน นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกที่ทางทรู คอร์ปอเรชั่นเร่งเดินหน้าพัฒนาและร่วมมือสู่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เพื่อเปิดใช้งานโดยเร็ว”

ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast คือระบบแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความบนหน้าจอมือถือ จากเสามือถือทุกพื้นที่ทั่วไทย และสามารถเจาะจงพื้นที่เฉพาะที่เกิดเหตุและสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที ซึ่งจะส่งข้อความเตือนไปยังมือถือของลูกค้าทรู และดีแทค ทุกเครื่องในพื้นที่ต้องการแจ้งเหตุซึ่งต่างจากระบบ SMS ทั่วไป เพราะระบบจะแจ้งเตือนทันทีแม้ปิดเครื่อง โดยจะมีทั้งสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดง (Pop up) บนหน้าจอ แจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายให้ทราบพร้อมกันแบบรอบเดียว ทำให้ผู้ใช้งานมือถือทุกท่านทราบข้อมูลอย่างรวดเร็วครอบคลุมพื้นที่ แค่มีมือถือเท่านั้นไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันใดๆ สามารถได้รับการแจ้งเหตุทันที

ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast ของทรู คอร์ปอเรชั่นสามารถตั้งระดับการเตือน 5 ระดับตามฟังก์ชั่นการใช้งานและร่วมมือกับภาครัฐ ประกอบด้วย

  1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert) การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที
  2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert) การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่นภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น
  3. การแจ้งเตือนเด็กหาย (Amber Alert) ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตุการณ์และรายงานถ้าพบคนร้าย
  4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น
  5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert) ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast สามารถนำมาใช้งานอย่างสะดวกเพื่อประชาชนที่มีมือถือโดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใดๆ และสามารถรับข้อมูลได้ทันทีผ่านการเตือนทั้งระบบเสียงเตือนภัย ข้อความแจ้งเหตุที่ทางทรู คอร์ปอเรชันนำมาทดสอบสามารถรองรับ 5 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ด้วยการแจ้งเหตุเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ในโลกธุรกิจสมัยใหม่ การควบรวมกิจการ (Merger and Acquisition: M&A) ถือเป็นหนึ่งเครื่องมือทางธุรกิจเพื่อการสร้างการเติบโตระยะยาว ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company ระบุว่า ในทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกรรมที่เกิดจากการควบรวมกิจการ (M&A) ทั่วโลกมีมูลค่ารวมถึง 8.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คำนวณจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก 2,000 อันดับแรก)

แม้ M&A จะเติบโตขึ้นอย่างมาก แต่นั่นเป็นเพียงกระดุมเม็ดแรก เพราะข้อมูลจาก Harvard Business Review บ่งชี้ว่า ภายหลังจากที่กระบวนการ M&A เสร็จสิ้นลง บริษัทเหล่านี้เผชิญหน้ากับอัตราความล้มเหลวระหว่าง 70-90% โดยส่วนหนึ่งมาจากความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมองค์กร (Cultural Clash)

เนื่องในวันที่ 1 มีนาคม 2567 ครบรอบหนึ่งปีที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมภายใต้ชื่อบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) True Blog ได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมงานเฉพาะกิจ “Culture” ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ในรูปแบบของ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ซึ่งภายใต้การนำของ ชนิสรา สมมติวงศ์ หัวหน้าแผนก Culture & People Solutions กลุ่มทรัพยากรบุคคล และ อดิศร อธิคมชาคร หัวหน้าแผนก Internal Communications กลุ่มกิจการองค์กร

 

4C, 3 เป้าหมาย, 6 โครงการ

ชนิสรา เล่าว่า จากเป้าหมายเพื่อทรานส์ฟอร์มสู่ Telco-Tech Company คณะผู้บริหารตระหนักดีว่า People หรือพนักงานคือหัวใจสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กร ดังนั้น จึงได้มีการทำสำรวจ Organizational Health Index: OHI ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความสามารถในการพัฒนาสมรรถนะ และได้จัด workshop สำหรับคณะผู้บริหารและพนักงาน เปิดพื้นที่ให้คนทรูได้แลกเปลี่ยนความคิดผ่านการนำวัฒนธรรมองค์กรมาปรับใช้ในชีวิตการทำงาน เพื่อพัฒนากรอบการทำงานด้านวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเปรียบเสมือนหางเสือเรือ ควบคุมองค์กรทิศทางให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากความแตกต่าง ท้ายที่สุดจึงออกมาเป็น 4C ได้แก่ Compassion, Credibility, Co-creation, Courage อันถือเป็นพื้นฐานกำหนดคุณค่าองค์กรและพฤติกรรม จากกระบวนการที่คนทรูได้บ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรร่วมกัน

ภายใต้วัฒนธรรม 4C ยังได้มีการกำหนดกรอบการทำงานด้านวัฒนธรรมองค์กรโดยแบ่งออกเป็น 3 ธีม ดังนี้

  1. One Team with Trust and Respect รวมกันเป็นหนึ่งด้วยความเคารพและเชื่อมั่นในกันและกัน ผลักดันองค์กรไปข้างหน้า ผสานจุดแข็งของ 2 บริษัทไว้ด้วยกัน พัฒนา สรรค์สร้างและต่อยอด
  2. High Performance Organization ก้าวสู่องค์กรสมรรถนะสูง มีประสิทธิภาพในทุกมิติ
  3. Being Customer Centric ยึดความต้องการลูกค้าเป็นที่ตั้ง ส่งต่อบริการที่เป็นเลิศสู่ตลาดอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรม 4C และ 3 เป้าหมาย จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากขาดกิจกรรมสนับสนุนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิง “พฤติกรรม” ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลัก นั่นคือ “พนักงานภายใน” ทีมงานจึงได้วางแผนและออกแบบกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม โดยเเบ่งออกได้เป็น 6 โครงการ ดังนี้

  1. Change Stories สื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงผ่านเรื่องราวของคนทรู ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเน้นย้ำถึงความเข้าใจในวัฒนธรรม 4C
  2. On-ground Activity กิจกรรมลงพื้นที่เพื่อให้ผู้บริหารได้มีโอกาสในการสร้างปฏิสัมพันธ์ สื่อสารทิศทาง กลยุทธ์ และการเปลี่ยนแปลงขององค์กร โดยเฉพาะกับหน่วยงานแนวหน้า (frontliners)
  3. Performance Management System สร้างระบบการบริหารและประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อก้าวสู่องค์กรสมรรถนะสูง
  4. Culture Ignitor ตัวแทนด้านการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรจากหลากหลายหน่วยงาน เพื่อสนับสนุน ขับเคลื่อน พร้อมสร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมความผูกพันภายในองค์กร
  5. Coaching Culture สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ผ่านกระบวนการโค้ชชิ่ง เพื่อพัฒนาศักยภาพ ทักษะ และสมรรถนะ ของบุคคลากร
  6. Hackathon กิจกรรมระดมสมองและท้าทายตามโจทย์ที่วางไว้ ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด เพื่อสร้างวัฒนธรรม Co-creation อันเป็นคุณค่าสำคัญที่นำมาสู่นวัตกรรม

 

God is in Details

อดิศร อธิบายต่อว่า ด้วยความแตกต่างทั้งด้านวัฒนธรรม ระบบ กระบวนการ และโครงสร้างองค์กร ทำให้เกิดความท้าทายนานัปการ อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การทำงานที่สร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ การจะเป็น One Team ได้นั้นจะต้องเริ่มจากการทำให้พนักงาน “เปิดใจ” และยอมรับในความต่าง

“เป็นธรรมดา ที่คนที่มาจากสองกลุ่ม ในวันที่ต้องมารวมตัวกัน ความรู้สึกลึกๆ ข้างในยังมี การแบ่งแยก กลุ่มฉันกลุ่มเธอ กลุ่มใครอยู่ หากเราเอางานเข้ามา แล้วหวังว่าจะทำให้คนสองกลุ่มที่มาจากต่างวัฒนธรรม เข้ากันได้ในช่วงเวลาสั้นๆ คงเป็นไปได้ยาก แต่ธรรมชาติทุกคนชอบความสนุก ชอบความเป็นกันเอง ชอบเสียงหัวเราะ ดังนั้น เราต้องดึงเอาความรู้สึกที่ดีเป็นจุดเชื่อม ทำให้คนสองกลุ่มมีปฏิสัมพันธ์กันและ เริ่มเปิดใจเข้าหากันมากขึ้น”

สำหรับโปรเจกต์ Culture นี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่างทีม Internal Comms ภายใต้กลุ่มกิจการองค์กร และทีม Culture & People Solutions ภายใต้กลุ่มทรัพยากรบุคคล ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการ Co-creation และทำงานแบบ Cross functional โดยอาศัยจุดแข็งของแต่ละทีมมาผลักดันองค์กร ดังเช่น ทีม Internal Comms ที่อาศัยทักษะการเล่าเรื่อง (Storytelling) ทำให้วัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่จับต้องได้และพนักงานทุกคนเข้าใจ

อดิศร อธิบายคอนเซ็ปต์การทำงานว่า “เรียบง่าย แต่แฝงด้วยกุศโลบาย” คือ แนวคิดและการออกแบบกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่ผ่านมา ยึดความต้องการของพนักงานเป็นที่ตั้งผ่านมุมมองแบบ Outside-in ไม่ยัดเยียด ตัวอย่างเช่น Happy PAYday เป็นกิจกรรม Flagship ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “เติมความสุข” ในที่ทำงานให้คนทรู ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเชิดชูวัฒนธรรมองค์กรที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ร่วมกัน (Co-creation) เพื่อริเริ่มความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งในเอพิโสดแรกที่จัดขึ้นในเดือนกันยายน 2566 เป็นกิจกรรมแข่งขันร้องเพลงคาราโอเกะ แบ่งตามกลุ่มงาน นำโดย ผู้บริหาร หรือ CxO ของแต่ละกลุ่ม ซึ่งผลออกมาเป็นที่เซอร์ไพรส์กับพนักงานทรูเป็นอย่างมาก ผู้บริหารทุกท่านเต็มที่กับกิจกรรม เผยความสามารถและอีกด้านอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งท้ายที่สุด กิจกรรมนี้ช่วยทำให้ช่องว่างระหว่างผู้บริหาร-พนักงาน หัวหน้า-ลูกน้อง ลดลง เมื่อช่องว่างเหล่านี้ลดลง นำมาสู่ความกล้า ​(Courage) ถือเป็น 4 ที่สำคัญที่สุดในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน บ่มเพาะพฤติกรรมที่กล้าออกความคิดเห็น ท้าทายตัวเอง (Challenge Status-quo) และยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง

“การหล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน ดังนั้น จึงต้องเริ่มจากความเข้าใจ วันนี้ ผู้นำองค์กรได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง พร้อมทั้งสนับสนุนในทุกไอเดียที่นอกกรอบ” อดิศร กล่าว

กิจกรรม Happy PAYday ดูเหมือนเป็นกิจกรรมที่เรียบง่าย แต่เบื้องหลังมีกระบวนการและวางกุศโลบายไว้อย่างเป็นระบบ ผู้บริหาร ผู้ร่วมงาน ได้ร่วมกิจกรรมโดยให้ตัวเองเป็นธรรมชาติที่สุด เอาความเป็นมนุษย์ แบ่งปันความรู้สึก แก้ปัญหาด้วยกัน ให้ทุกคนมีโมเมนท์ร่วมกันมากที่สุด อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแรงเสริมเชิงบวกหรือ Positive Reinforcement

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวดำเนินมาอย่างต่อเนื่องทั้ง Happy PAYday ตอน ฮาlloween รวมผี fun fair และ Happy PAYday ตอน Culture Play Day

ในปีที่ผ่านมา และเอพิโสดถัดไป กำลังเกิดขึ้นในทุกไตรมาสของปี 2567 ติดตามได้ที่ True Blog สำหรับแผนงานในปีนี้ทาง Internal Comms จะมุ่งเน้นในการส่งต่อ กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัท เพื่อให้พนักงานได้ตระหนักรู้ในบทบาทในการทำงานเป็น Team Player ไม่ใช่แค่ Team Member เพราะพนักงานเป็นทรัพยากรสำคัญของบริษัทที่จะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันในการเป็นผู้นำเทเลคอม-เทคโนโลยีของไทย

 

ก้าวถัดไปสู่ Sustainable Culture

นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาราว 1 ปีของเส้นทางการเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมองค์กร กิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อัตราการเข้าร่วมกิจกรรมสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจากกิจกรรมออนกราวน์และออนไลน์ บรรยากาศภายในมีความสนุกขึ้น แสดงให้เห็นถึงการโอบรับวัฒนธรรมองค์กรและดีเอ็นเอใหม่ๆ เหล่านี้

“Happy PAYday เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการหลอมรวมองค์กรที่มีลักษณะ Top-Down และ Bottom-up ไปพร้อมๆ กัน” อดิศร กล่าว

ชนิสรา กล่าวถึงก้าวต่อไปของการสร้างองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่หลอมรวมเป็นหนึ่งอย่างยั่งยืน (Sustainable Culture) ผ่านการออกแบบกิจกรรมและโครงการใหม่ๆ ที่สอดรับกับบริบทขององค์กรและมุมมองของผู้นำรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูง เช่น โครงการ Hackathon ที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้ระดมสมองและท้าทายตามโจทย์ที่วางไว้ เพื่อนำมาสู่นวัตกรรมใหม่ๆ และ Reverse Mentoring โครงการที่ให้คนรุ่นใหม่มาพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้บริหาร เพื่อลดช่องว่างระหว่างเจเนอเรชั่น

นอกจากนี้ เพื่อให้มีความเป็น One “Stronger” Team สอดรับกับบริบทแวดล้อมและเป้าหมายทางธุรกิจที่ต้องการเป็น Data-Driven Organization จึงได้มีการเตรียมความพร้อมหลักสูตรการพัฒนาบุคคล รวมถึงเครื่องมือและวิถีการทำงานในรูปแบบใหม่ เพื่อให้องค์กรเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดปัดฝุ่น โครงการ “ปลูกรัก” เพื่อสร้างความสุขทั้งกายและใจให้พนักงาน ผ่าน 4 ด้าน ได้แก่ ปลูกรักสุขภาพดี ปลูกรักปลูกธรรม ปลูกรักปลูกความมั่งคั่ง และปลูกรักปลูกความผูกพัน

“การก้าวสู่ Telecom-Tech Company พนักงานและการสื่อสารด้วยหัวใจ (Humanized) คือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน” ชนิสรา กล่าวทิ้งท้าย

ทรู คอร์ปอเรชั่นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำของประเทศไทย ปล่อยหมัดเด็ดด้วยศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ Business and Network Intelligence Center (BNIC)  พร้อมปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มประสิทธิภาพความเชื่อมั่นเครือข่าย 5G, 4G และอินเทอร์เน็ตบ้าน พร้อมดูแลและบริหารเครือข่ายครอบคลุมทุกบริการ ชูเป้าหมายหลักเพิ่มคุณภาพวอย์และดาต้า เร็ว มั่นใจในสัญญาณเพื่อลูกค้ามากกว่า 50 ล้านเลขหมายทั่วไทย

BNIC ชูจุดเด่นด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning รวมถึงระบบการทำงานอัตโนมัติ (Automation) มาทำงานร่วมกันกับชุดข้อมูลที่เรียกว่าบิ๊กดาต้า (Big data) โดยนำมาเทรนนิ่ง AI เพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์ดาต้าเชิงลึกอย่างแม่นยำ และการวิเคราะห์ขั้นสูง AI รูปแบบ Anomaly Detection สามารถทำให้ BNIC ที่โดยพื้นฐานออกแบบสำหรับทำงานเชิงรับในการจัดการโครงข่าย เป็นการทำงานเชิงรุกจากความสามารถคาดการณ์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จากชุด Algorithm ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการใช้งาน

นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “นี่คือก้าวสำคัญอีกครั้งในการยกระดับประสิทธิภาพเครือข่ายของทรู คอร์ปอเรชั่น ด้วยการนำศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ หรือ Business and Network Intelligence Center (BNIC)  ซึ่งสร้างขึ้นเป็นศูนย์กลางการบริหารและดูแลระบบเครือข่ายดิจิทัลด้านการสื่อสารของบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย ที่ครอบคลุมทุกการบริการของทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งภายหลังควบรวมมีเครือข่ายขนาดใหญ่และซับซ้อน โดยเฉพาะเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีคลื่นความถี่ที่หลากหลายมากที่สุดในไทย จึงจำเป็นต้องมีการดูแลอย่างรอบด้านเพื่อพร้อมให้บริการคุณภาพสูงแก่ลูกค้ามากกว่า 50 ล้านหมายเลขทั่วประเทศ รวมทั้งลูกค้าองค์กร และทรู ออนไลน์ อินเทอร์เน็ตบ้านโครงข่ายไฟเบอร์อัจฉริยะที่มีลูกค้าเกือบ 4 ล้านรายทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ทีมงานวิศวกรได้ปฏิบัติการที่ศูนย์ BNIC ทุกวันไม่เคยหยุด กล่าวคือ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน และตลอดปี ซึ่งเป็นฮีโร่ที่อยู่เบื้องหลังที่ดูแลลูกค้าหรือผู้ใช้งานทุกพื้นที่ทั่วไทยให้ได้รับคุณภาพสูงสุดทุกเวลา”

ศูนย์ BNIC เปรียบเสมือนสมองกลสำคัญที่ทำงานอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการให้บริการเครือข่ายของทรุ คอร์ปอเรชั่น ด้วยการวิเคราะห์ วางแผน จัดการ ซึ่งเชื่อมโยงทุกพื้นที่ทั่วไทยและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดทั้ง โครงสร้างพื้นฐาน และแพลตฟอร์มภายนอกที่เชื่อมโยงสู่การใช้งานในระบบเครือข่าย อาทิ OTT หรือ Over-the-top ทั้งรูปแบบแอปพลิเคชัน โซเชียลมีเดีย สตรีมมิ่ง ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือถ้ากรณีเกิดเหตุ (Incident) สามารถวิเคราะห์จัดการดูแลได้ทันที เพื่อลดผลกระทบต่อการใช้งานของลูกค้า อีกทั้งสามารถนำข้อมูลในรูปแบบบิ๊กดาต้ามาประมวลผลเพื่อวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย (Manage Performance) และบำรุงรักษา (Manage Maintenance) ได้ดีขึ้น

ความสามารถหลัก BNIC

การตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย คือ หน้าที่พื้นฐานสำคัญของ BNIC ซึ่งต้องมอนิเตอร์การใช้งานของเครือข่ายต่อเนื่อง เช่น การรับส่งข้อมูลเครือข่าย การใช้แบนด์วิธ ความสมบูรณ์ของระบบ การเชื่อมต่ออุปกรณ์ เครื่องมือตรวจสอบขั้นสูงให้ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของส่วนภายในเครือข่ายที่ใช้งานต่างๆ โดยครอบคลุมปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • การตรวจสอบเครือข่ายแบบเรียลไทม์ และวิเคราะห์ประสิทธิภาพของเครือข่ายทรู คอร์ปอเรชั่นทั้งประเทศ
  • แจ้งเตือนทันทีในกรณีเกิดเหตุ (Incident) หรือเหตุจากภัยพิบัติ (Disaster) ที่กระทบการใช้งานทุกบริการ
  • รายงานประสิทธิภาพ พร้อมโซลูชันในการเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย และแก้ไขในกรณีเกิดเหตุทันที
  • รายงานประสิทธิภาพและข้อเสนอในการเพิ่มประสิทธิภาพ OTT ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อประสบการณ์ใช้งานของลูกค้า
  • การอัปเดต การแก้ไขปัญหา และติดตามการแก้ไขปัญหาจนเสร็จสมบูรณ์

นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นยังนำ Anomaly Detection ซึ่งเป็นการใช้ AI มาตรวจจับความผิดปกติ จากรูปแบบการใช้งาน ซึ่งทาง BNIC มีข้อมูลบิ๊กดาต้ารายงานการใช้งานแบบเรียลไทม์ในทุกพื้นที่ทั่วไทย ซึ่งสามารถใช้บิ๊กดาต้าจากกราฟนับแสนนับล้านในโครงข่ายมาตรวจหาข้อมูล กรณีถ้ามีสิ่งผิดปกติ ระบบจะ Alert ให้รู้ทันที พร้อมนำเสนอโซลูชันในการจัดการปัญหาได้อย่างเร็วที่สุด โดยทั้งหมดนี้เพิ่มประสิทธิภาพความเชื่อมั่นเครือข่าย 5G, 4G และอินเทอร์เน็ตบ้าน พร้อมดูแลและบริหารเครือข่ายครอบคลุมเพื่อลูกค้าทรู คอร์ปอเรชั่นในทุกบริการอีกด้วย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ “Guardians of Good” ถ่ายทอดเรื่องราวความมุ่งมั่นของคนทรูที่มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางด้านความยั่งยืนของทรู คอร์ปอเรชั่น โดยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้คะแนนการประเมิน  CSA (Corporate Sustainability Assessment) สูงสุดจาก 166 บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโลกที่ได้เข้าร่วมการประเมินของ S&P Global และติดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ปี ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.true.th/blog/djsi/

การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลของประเทศไทยกำลังเกิดขึ้นอย่างเร็วเร่ง สะท้อนจากการพัฒนาโครงข่าย 5และปัญญาประดิษฐ์ โดย ทรู คอร์ปอเรชั่นถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์ม ตลอดจนโซลูชั่นต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อนโยบายประเทศไทย 4.0

ด้วยภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานต่างๆ สอดรับกับหลักธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงตั้งฝ่ายตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวน (Internal Audit & Investigation) นำโดย วรัญญา ชื่นพิทธยาธร ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการการควบคุมภายในต่างๆ ขององค์กร ให้เป็นตามนโยบายภายในองค์กร กฎเกณฑ์ภายนอก และมาตรฐานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ เธอยังทำหน้าที่รับผิดชอบสืบสวนสอบสวนเหตุแห่งพฤติการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ การทุจริตภายในองค์กร ซึ่งเป็นการปกป้องคุ้มครองชื่อเสียงและทรัพย์สินขององค์กร

วรัญญา ได้ร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบทบาทและความท้าทายของ ฝ่ายตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวนซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยสร้างพื้นฐานที่สำคัญขององค์กร ในการสนับสนุนให้ ทรู คอร์ปอเรชั่น พิชิตเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำ Telecom-Tech Company ของภูมิภาค

ผู้พิทักษ์ความเที่ยงธรรม

วรัญญากล่าวถึงความสนใจงานด้านการตรวจสอบของเธอว่า เกิดขึ้นจากความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับการวิธีการในการดำเนินธุรกิจ การระบุความเสี่ยง และความโปร่งใสทางการเงิน นอกจากนี้ ด้วยธรรมชาติของการตรวจสอบที่เป็นพลวัตน์และโอกาสในการปรับปรุงธรรมาภิบาลองค์กร ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงดึงดูดให้เธอทำหน้าที่นี้” กล่าว

เธอย้ำว่า การรักษาความเที่ยงธรรม และความเป็นอิสระถือเป็นหัวใจสำคัญของานตรวจสอบภายใน ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานสามารถรักษาสถานะดังกล่าวไว้ได้ ทางฝ่ายได้มีการร่าง “กฎบัตรของฝ่ายตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวน” (Internal Audit & Investigation Charter) ซึ่งกำหนดบทบาท ความรับผิดชอบ และแนวทางการรายงานอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ แผนการตรวจสอบภายใน มีความสอดรับกับเป้าหมาย คุณค่า และกลยุทธ์องกร  ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ความสำคัญต่องานตรวจสอบภายใน ฝ่ายตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวน จำเป็นต้องมีการรายงานต่อคณะผู้บริหารระดับสูง และคณะกรรมการตรวจสอบ ตลอดจนคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

“ความเที่ยงธรรมและความเป็นอิสระ ถือเป็นคุณค่าสำคัญที่คนทำสายงานตรวจสอบภายในต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด โดยสมาชิกในทีม จะมีการตรวจสอบและประเมินผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการปกป้องคุ้มครองผู้เกี่ยวข้อง ทำให้องค์กรดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ขณะเดียวกัน ยังคงรักษาไว้ซึ่งปราศจากอคติในการปฏิบัติงาน” เธออธิบาย

เฝ้าระวัง

วรัญญา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การตรวจสอบภายในของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ใช้วิธีการตรวจสอบตามฐานความเสี่ยงเป็นแนวทาง ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการประเมินกระบวนการออกแบบ และความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ซึ่งพิจารณาทั้งด้านธรรมาภิบาลด้านไอที ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการปกป้องข้อมูล

ทั้งนี้ การประเมินความเสี่ยงจะดำเนินงานตามแผนการตรวจสอบภายใน โดยจะมีการทำงานร่วมกันอย่างกับฝ่ายปฏิบัติการ (first line of defense) และฝ่ายบริหาร (second line of defense) ซึ่งการประเมินดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ดี

“เราพัฒนาช่องทางสื่อสารแบบเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนได้มีส่วนร่วม โดยจะมีการรายงานผลการตรวจสอบภายใน ต่อคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบยัง โดยการรายงาน มุ่งเน้นความครบถ้วนและกระชับรัดกุมของข้อมูล ระบุถึงประเด็น ผลกระทบ ตลอดจนข้อแนะนำ อย่างตรงเป้า ให้มุมมองต่อเคสต่างๆ ที่ค้นพบอย่างรอบด้าน” เธออธิบาย

ทั้งนี้ งานด้านตรวจสอบภายในของ ทรู คอร์ปอเรชั่น จะมีการติดตามผลการปรับปรุงตามข้อแนะนำในประเด็นที่ตรวจพบ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริหารดำเนินการตามแผนการปรับปรุงที่ให้ไว้ ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และมีการสื่อสารกระบวนการดังกล่าวกับผู้บริหารผ่านช่องทางการประชุม Management Committee อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องในเป้าหมาย และการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ

โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

“เราอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงบริการด้านโทรคมนาคม เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว งานตรวจสอบภายในจึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี และกำหนดให้มีการพัฒนาความรู้ ความสามารถ ในการตรวจสอบภายใน โดยนำเอาเทคโนโลยีที่จำเป็นมาใช้ ผ่านการอบรมผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยี อาทิ RPA (Robotic Process Automation) ใช้ในงานตรวจสอบ  นอกจากนี้ เรายังมีการประเมินและปรับใช้เทคโนโลยีในแนวทางการตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้เท่าทันและสามารถคุมความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น” วรัญญากล่าว

วรัญญาและทีม ยืนหยัดต่อการทำหน้าที่พิทักษ์ธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ความทุ่มเทเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ความสอดประสานเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนความตั้งมั่นและเด็ดเดี่ยวในการประเมิน การควบคุม และการบริหารความเสี่ยง แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของงานตรวจสอบภายใน และสืบสวนสอบสวน ต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งธรรมาภิบาลองค์กรในยุคสมัยใหม่ ท่ามกลางพลวัตน์ของเทคโนโลยีที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย งานตรวจสอบภายในและสืบสวนสอบสวน พร้อมแล้วที่จะเดินไปพร้อมความสำเร็จขององค์กร ภายใต้หลักธรรมมาภิบาลที่ดี และพร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกยุคดิจิทัลแห่งอนาคต เพื่อมุ่งไปสู่การเป็น Digital Internal Auditor และ Trusted Data & Tech Advisor ของ ทรู คอร์ปอเรชั่น

Page 4 of 9
X

Right Click

No right click