บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้าเซ็นเตอร์ จำกัด หรือ ทรู ไอดีซี ผู้นำการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์และระบบคลาวด์ของประเทศไทยลงทุนเพิ่มกว่า 10,000 ล้านบาท ในการขยายศักยภาพธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ครั้งใหญ่ โดยการลงทุนนี้จะประกอบไปด้วยหลายโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการขยายดาต้าเซ็นเตอร์ที่ ทรู ไอดีซี อีสต์ บางนา แคมปัส และทรู ไอดีซี นอร์ท เมืองทอง โครงการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนเพื่อก้าวเป็น Green Data Center เต็มรูปแบบ และโครงการพัฒนาความเป็นเลิศในการดำเนินงาน ตลอดระยะเวลา3 ปี ตั้งแต่ปี 2567 ถึงปี 2570 โดยโครงการทั้งหมดจะเพิ่มขีดความสามารถให้กับบริษัทฯ ในการรองรับธุรกิจของไฮเปอร์สเกลเลอร์ ผู้ให้บริการโอทีที และผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีชั้นนำจากต่างประเทศที่กำลังยกขบวนเข้ามาในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

ขึ้นแท่นดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดของไทย

การลงทุนหลักจะเน้นการขยายดาต้าเซ็นเตอร์โครงการทรู ไอดีซี อีสต์ บางนา แคมปัส และโครงการ ทรู ไอดีซี นอร์ท เมืองทอง โดยมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานดาต้าเซ็นเตอร์ให้กับประเทศไทยในการรองรับการเข้ามาของธุรกิจระดับโลก เช่น ผู้ให้บริการระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ (Hyperscaler) อย่างระบบคลาวด์และระบบโซเชียลมีเดีย ผู้ให้บริการสื่อผ่านอินเทอร์เน็ต (Over-the-Top; OTT) อย่างระบบคอนเทนต์สตรีมมิง ตลอดจนธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีการปรับใช้และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อส่งมอบสินค้าและบริการดิจิทัลออกสู่ตลาดโดยเฉพาะด้าน AI ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยทั้งสองโครงการจะมีพื้นที่ให้บริการกว่า 60,000 ตารางเมตร ก่อสร้างตามมาตรฐาน Uptime และ TIA-942 ส่งมอบความยืดหยุ่นให้กับธุรกิจด้วยรูปแบบการให้บริการแบบ Build-to-Suit ซึ่งเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถออกแบบการวางอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รูปแบบต่าง ๆ เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ประเภทเน้นการประมวลผลขั้นสูงที่รองรับเทคโนโลยี AI (High Density Computing) ระบบคอมพิวเตอร์ประเภทใช้ของเหลวเพื่อปรับอุณหภูมิ (Liquid Cooling Computing) ตลอดจนลูกค้าสามารถกำหนดการใช้พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ของตนเองได้ในปริมาณที่สูงและมีความอิสระมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการขยายปริมาณไฟฟ้าอีกจำนวน 41 เมกะวัตต์ ซึ่งส่งผลให้ ทรู ไอดีซี สามารถให้บริการด้วยกำลังไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเมื่อรวมกับกำลังไฟฟ้าเดิม อีกทั้งยังมีการควบคุมประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า (Power Usage Effectiveness: PUE) ไว้ที่ระดับต่ำที่สุดในไทย ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่มีการเชื่อมต่อโครงข่ายเสรีด้วยระบบเน็ตเวิร์ก 4 เส้นทางแบบอิสระจากกัน การันตีการเข้าถึงและส่งผ่านข้อมูลอย่างไร้รอยต่อ พร้อมบริการเชื่อมต่อตรงไปยังระบบคลาวด์ต่างประเทศและบริการ Internet Exchange ที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างฉับไวกว่าการเชื่อมต่อแบบทั่วไป โครงการขยายดาต้าเซ็นเตอร์ดังกล่าวคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการในตั้งแต่ช่วงปี 2568

ยกระดับความยั่งยืนตั้งแต่รากฐานดิจิทัล

การลงทุนส่วนถัดมาจะเป็นโครงการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนเพื่อก้าวเป็น Green Data Center เต็มรูปแบบ ซึ่งทรู ไอดีซีเล็งเห็นว่าความยั่งยืนทางดิจิทัลต้องเริ่มพัฒนาตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ ตั้งแต่การออกแบบอาคารสีเขียวตามมาตรฐาน Leadership in Energy & Environmental Design (LEED) เน้นการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ระบบและอุปกรณ์ที่สนับสนุนความยั่งยืน เช่น อุปกรณ์ที่ปราศจากสารซัลเฟอร์เฮกซาฟลูออไรด์ (SF-6) การใช้แบตเตอรี่แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เป็นต้น ในด้านของพลังงานไฟฟ้าที่มีการนำร่องติดตั้งระบบโซลาร์เซลส์ไปในดาต้าเซ็นเตอร์เฟสก่อนหน้า จะนำเอาพลังงานสะอาดรูปแบบอื่นอย่างพลังงานลมและเซลส์เชื้อเพลิงมาใช้ควบคู่ในเฟสใหม่ด้วย และภายนอกดาต้าเซ็นเตอร์จะมีการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยจะผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลส์ที่ติดตั้งบริเวณหลังคาของพื้นที่จอดรถเพื่อสนับสนุนการใช้งานพลังงานสะอาดให้กับผู้ใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ นอกจากนี้ทรู ไอดีซีได้ตั้งเป้าหมายให้สอดคล้องกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่จะผลักดันธุรกิจสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutral ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2,573 อีกด้วย 

ผนึกความอัจฉริยะคู่กับการบริหารจัดการแบบฉบับสากล

ทรู ไอดีซี ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของดาต้าเซ็นเตอร์ให้มีความเป็นเลิศมากยิ่งขึ้น จะเพิ่มการใช้งานซอฟต์แวร์จัดการข้อมูลดาต้าเซ็นเตอร์อัจฉริยะ (AI Data Center Infrastructure Management) ผสานการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ไอโอทีและเซนเซอร์เพื่อการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลของอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถเฝ้าระวังแบบเรียลไทม์พร้อมการวิเคราะห์ผลจากศูนย์กลางแห่งเดียว เพิ่มการกำกับดูแลและรักษาสมดุลอุณหภูมิภายในดาต้าเซ็นเตอร์ให้อุปกรณ์และระบบคอมพิวเตอร์ที่มีความร้อนให้สูงทำงานได้อย่างราบรื่น การดำเนินงานทั้งหมดของดาต้าเซ็นเตอร์ได้ถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้แนวทางปฎิบัติของมาตรฐาน Uptime ระดับ Tier III Gold ซึ่งทางทรู ไอดีซีได้รับการรับรองเพียงหนึ่งเดียวในไทยและอินโดไชน่า ครอบคลุมในเรื่องการบำรุงรักษาเชิงรุก การสำรองอุปกรณ์ซัพพอร์ตระบบ การตรวจสอบระบบอย่างถี่ถ้วน ปฎิบัติงานโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะและประสบการณ์สูง ช่วยให้การดำเนินงานด้านไอทีของลูกค้าเป็นไปอย่างไร้กังวล

นายธีรพันธุ์ เจริญศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไปของทรู ไอดีซี เปิดเผยว่า “การเติบโตของตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ในปี 2024 นั้นมีการคาดการณ์จาก USDC Technology ว่าจะเติบโตสูงถึง 12.9% และมีมูลค่าตลาดถึง 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 122,500 ล้านบาท ประกอบกับการคาดการณ์การเติบโตของการใช้งานเทคโนโลยี AI ในเอเชียจาก Statista ในปี 2023 ถึง 2030 ว่าจะเติบโตสูงสูงถึง 19.5%  เราจึงตระหนักและเล็งเห็นว่าการลงทุนในโครงการดาต้าเซ็นเตอร์ครั้งนี้จะสร้างโอกาสใหม่ให้กับเศรษฐกิจของไทยและอาเซียน ตลอดจนสนับสนุนชีวิตดิจิทัลของผู้คนในสังคมให้ดียิ่งขึ้นและยั่งยืนขึ้น เพราะธุรกิจเราเป็นรากฐานที่จะรองรับการต่อยอดทางเทคโนโลยีของธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลและยุคของ AI ที่ผู้เล่นจากต่างประเทศก็ต่างพากันเข้ามาทำธุรกิจ ถึงแม้ว่าเราจะเป็นผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์อันดับหนึ่งของไทยและดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 20 ปี เรายังคงต้องเพิ่มศักยภาพและพัฒนาบริการให้ครอบคลุมตอบโจทย์ของทุกธุรกิจให้มากที่สุด”

ผู้ที่สนใจใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์และบริการระบบคลาวด์ของทรู ไอดีซี หรือต้องการเยี่ยมชมศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์สามารถติดต่อเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.trueidc.com/th/contact หรือ โทรฯ 02-494-8300

จากผลสำรวจ Telenor Asia Digital Lives Decoded 2566 ระบุว่า คนไทยมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนเอเชีย ซึ่งมีเพียง 17% ของคนไทยเท่านั้นที่ตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวจากการใช้โทรศัพท์มือถือ

เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการเคารพความเป็นส่วนตัว ปกป้องคุ้มครองข้อมูล และสร้างความเชื่อมั่น เนื่องในวัน Data Privacy Day หรือวันความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ในวันที่ 28 มกราคมของทุกปี

มนตรี สถาพรกุล Head of Data Protection บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) พูดคุย วิเคราะห์เจาะลึกถึงพัฒนาการแนวคิดความเป็นส่วนตัว ความท้าทายองค์กรเอกชนต่อการจัดการภายใน และสิ่งที่ผู้บริโภคควรตระหนักถึงความเป็นส่วนตัวในยุคปัญญาประดิษฐ์

ความเป็นส่วนตัวคือสิทธิมนุษยชน

มนตรี ฉายภาพกว้างประเด็นความเป็นส่วนตัวว่า นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประชาคมโลกมีความตื่นตัวด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก ในปี 2491 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ครอบคลุมมิติต่างๆ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ฯลฯ

อนึ่ง ความเป็นมนุษย์ล้วนถูกประกอบสร้างด้วยความหลากหลาย ซึ่งหนึ่งในบริบทที่สำคัญคือ “ความเป็นตัวตน” (Identity) และเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอย่างสมเกียรติความเป็นมนุษย์คือ ข้อมูล โดยมีภาษาเป็น “ตัวเชื่อม” ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์สังคม

สำหรับการสื่อสารสองทางที่มีองค์ประกอบสำคัญคือ ผู้ส่งสารและผู้รับสาร และชุดข้อมูล หากผู้รับสารต้องการนำชุดข้อมูลที่เกิดขึ้นไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นใด ควรจะมีการขอ “ความยินยอม” (Consent) กับผู้ส่งสาร ซึ่งเป็นสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของข้อมูล (Data Subject) ตามแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน การขอความยินยอมถือเป็นกลไกหนึ่งที่ผู้รับสารแสดงถึง “ความเคารพ” ในสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ของเจ้าของข้อมูล เพื่อชี้แจ้งถึงวัตถุประสงค์ในการใช้ข้อมูลของเจ้าของข้อมูลอย่างโปร่งใส ในทางกฎหมายเรียกว่า “สิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่ถ่ายทอดผ่านเงื่อนไขของข้อมูล”

ซึ่งแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าวถือเป็นกรอบความคิดหลักที่นำมาพัฒนาต่อยอดจนเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยกำกับผ่านกฎหมายที่ดูแลด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสหภาพยุโรปในปี 2563 ที่เรียกว่า General Data Protection Regulation (GDPR) และต่อมาไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ซึ่งการประกาศกฎหมายดังกล่าวถือเป็นการ “คืนสิทธิ” ความเป็นส่วนตัวอันชอบธรรมแก่ผู้บริโภค ผ่านการกำกับหน่วยงานห้างร้านที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการ ขณะที่ความเป็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคลมีกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์คุ้มครองอยู่แล้ว

“ที่ผ่านมา GDPR ใช้เวลาในการพัฒนาถึง 20 ปี PDPA ของไทย ใช้เวลา 21 ปี จนพัฒนาเป็นแนวคิดที่หนักแน่นด้านความเป็นส่วนตัว โดยกำหนดนิยาม ขอบเขต การกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงผู้มีแนวโน้มในการละเมิดสิทธิมนุษชนสูงสุด ซึ่งกรณีกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลได้กำหนดไว้เป็นผู้ให้บริการ ผู้ประกอบการ ห้างร้าน ดังนั้น พวกเขาจึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้” มนตรี กล่าว

ความเสี่ยงในศักยภาพจากข้อมูลดิจิทัล

เขาอธิบายเสริมว่า ในยุคอนาล็อก การส่งผ่านข้อมูลมีลักษณะ 1-1 ข้อมูลที่เกิดขึ้นในระหว่างให้บริการที่สามารถระบุตัวตนได้มีเพียง หมายเลขโทรศัพท์เท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 โลกเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ผู้คนพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมทางการเงิน ค้นหาข้อมูล ดูคลิปวิดีโอผ่านโซเชียลมีเดีย ข้อมูลที่เกิดขึ้นมีรูปแบบที่หลากหลายและลึกขึ้น นำมาซึ่งศักยภาพที่เพิ่มขึ้นของข้อมูลโดยเฉพาะการระบุตัวตน พฤติกรรมและความสนใจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งทาง “บวกและลบ” ได้

ด้วยศักยภาพของข้อมูลดิจิทัลที่เป็นอนันต์ กล่าวคือ ผู้รับบริการอาจได้รับประโยชน์จากสิทธิพิเศษและโปรโมชั่นด้านการตลาดที่เกินความคาดหมายในรูปแบบ Contextual Marketing แต่คุณประโยชน์นั้น ก็นำมาซึ่ง “ความกังวล” ในสิทธิความเป็นส่วนตัว

“การได้รับประโยชน์ทางการตลาดถือเป็นสิ่งที่ดีที่ผู้ให้บริการสามารถมอบให้กับลูกค้าได้ แต่นั่นต้องอยู่บนพื้นฐานและหลักการสิทธิมนุษยชนและความโปร่งใสผ่านกลไกความยินยอม โดยไม่ทึกทักหรือคิดเองว่าสิ่งนั้นคือประโยชน์ที่ลูกค้าต้องการ” มนตรีเน้นย้ำ

เช่นเดียวกับกรณีบริการโทรคมนาคม หากผู้ให้บริการต้องการนำข้อมูลที่เกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจากบริการโทรคมนาคม ผู้ให้บริการจะต้องขอความยินยอมจากลูกค้าเป็น “รายบุคคลและรายกรณี” นั่นหมายถึง ผู้ให้บริการจะสามารถนำข้อมูลลูกค้าไปประมวลผลหรือวิจัย เพื่อส่งมอบบริการอื่นๆ ก็ต่อเมื่อลูกค้าให้ความยินยอมแล้วเท่านั้น

ในยุคที่เทคโนโลยีมีวัฒนาการอย่างรวดเร็ว ทำให้ความเสี่ยงจากการใช้ข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของเทคโนโลยีด้วย ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี Automation ที่มีความตายตัวมากกว่า เมื่อเทียบกับ AI ที่ขึ้นอยู่กับ บริบทและการตีความ” ของชุดข้อมูล นำไปเรียนรู้และพัฒนาต่อจนเป็นข้อมูลใหม่ได้ นำมาซึ่งความเสี่ยงที่มากขึ้น

3 เสาแห่งความสมดุลเพื่อสิทธิความเป็นส่วนตัว

มนตรี ในฐานะ Data Protection Officer ของทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เล็งเห็นความเสี่ยงที่สูงขึ้นในความเป็นส่วนตัวที่มาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย จึงมีความจำเป็นต้องกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยี AI ให้อยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น โดยยึดตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ อันได้แก่ ความเป็นธรรมและศีลธรรมอันดีของสังคม และไม่เป็นอันตรายและกัดกร่อนความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับการทำงานของพนักงานที่ได้รับสิทธิให้เข้าถึงข้อมูลลูกค้า (เช่น พนักงานคอลเซ็นเตอร์) ก็ต้องทำงานภายใต้ “ระเบียบ” เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการ

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า การรักษาสมดุลระหว่างสิทธิผู้บริโภคและผลประโยชน์ทางธุรกิจอาจเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนหลัก “ความโปร่งใส” และหลัก “ความจำเป็นและการได้สัดส่วน” (Principle of Necessity and Proportionality) ภายใต้เงื่อนไขความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งการรักษาสมดุลทั้ง 3 เสานั้น ทรู คอร์ปอเรชั่น ใช้กระบวนการที่เรียกว่า Privacy and Security by Design เคารพความเป็นส่วนตัว ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ประกอบด้วย

  1. ความยินยอมและการรับรู้จากเจ้าของข้อมูล คือหัวใจของกระบวนการ Privacy and Security by Design ซึ่งในกรณีบริการโทรคมนาคม ข้อมูลที่ใช้จะต้องเกี่ยวข้องกับสัญญาบริการโทรคมนาคมเท่านั้น
  2. หากการใช้ข้อมูลไม่เกี่ยวข้องกับบริการโทรคมนาคม ได้มีการขอความยินยอมจากลูกค้าหรือไม่
  3. และหากไม่ จะต้องขอบริการ “ทุกครั้ง” ตามวัตถุประสงค์ จะเก็บหรือใช้ต้องให้มีความชัดเจน

ทั้งนี้ การแจ้งขอความยินยอมจากลูกค้า จะต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ขณะเดียวกัน การใช้ข้อมูลทุกชุดต้องมีภายใต้หลักความจำเป็นและการได้สัดส่วน “ไม่มีการขอเผื่อ”

“มันอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและยุ่งยากสำหรับธุรกิจที่ต้องใช้ข้อมูลให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย แต่การรักษาไว้ซึ่งหลักการ สิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน” เขากล่าวและเสริมว่า ในช่วงแรกของการตีกรอบกฎเกณฑ์ภายในเหล่านี้ อาจต้องปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งสุดท้าย หน่วยงานที่ต้องการใช้ข้อมูลเหล่านั้นล้วนตระหนักและให้ความเคารพถึงสิทธิความเป็นส่วนตัว แม้จะต้องเล่นท่ายาก แต่ทุกคนเห็นภาพเดียวกันมากขึ้น โดยยึดเอาผลประโยชน์และสิทธิผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง ซึ่งแม้เมื่อมีการควบรวมกิจการแล้ว ก็จะต้องร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาในสอดรับกับหลักการสิทธิมนุษยชนตามกฎหมาย

มนตรี ให้ข้อคิดแก่ผู้บริโภคว่า “อย่าหลงเชื่อผลลัพธ์ที่ได้เสียทีเดียว และควร ‘เอ๊ะ’ หรือตั้งข้อสงสัยต่อการได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านั้นว่าเป็นตามหลักที่ควรจะเป็นหรือไม่ เพื่อ “รักษา” ในสิทธิความเป็นส่วนตัวของตัวเอง”

บริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company เผยผลสำรวจด้านนวัตกรรมว่า 85 % ของผู้บริหารระดับสูงกล่าวว่าความกลัวเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการสร้างสรรค์นวัตกรรมขององค์กรอยู่เสมอหรือบ่อยครั้ง เนื่องจากพนักงานมักกลัวความล้มเหลว และการวิพากษ์วิจารณ์ อย่างไรก็ดี หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พนักงานเอาชนะความกลัวเหล่านั้น คือ การให้ความเชื่อมั่นและให้คุณค่าต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม

 ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า “ทุกคนสามารถเป็นนวัตกรได้” ของทีม True Innovation Center คือหนึ่งแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรทรู ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร ลูกค้า สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญในด้าน “องค์กรนวัตกรรมดีเด่น” ประเภทองค์กรขนาดใหญ่

โอกาสนี้ ทีม True Innovation Center และนวัตกรทรู ได้เปิดเผยถึงเบื้องหลังการสร้าง “องค์กรแห่งนวัตกรรม” รวมถึงผลงานที่ภูมิใจ และเป้าหมายต่อไปในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างยั่งยืน ก้าวสู่การเป็น Telecom-Tech Company

นวัตกรรมเกิดจากการมองเห็นปัญหา ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของทรูออนไลน์ อาจไม่เคยรู้ว่า True GIGATEX Intelligent Fiber Router คือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในองค์กร จากฝีมือของนวัตกรทรู โดยมีจุดเริ่มต้นจากความต้องการพัฒนาคุณภาพของโครงข่ายและบริการ พร้อมไปกับการแก้ปัญหาการผูกขาดจากผู้ผลิตอุปกรณ์

ศศิกานต์ ตั้งชูทวีทรัพย์ Engineering Specialist หนึ่งในนวัตกรและผู้จัดการโครงการพัฒนา Intelligent Fiber Router เล่าว่า เดิมโครงข่ายของบริการทรูอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีลักษณะเป็นแบบถูกผูกขาดจากผู้ผลิตอุปกรณ์ กล่าวคือ อุปกรณ์ด้านโครงข่าย(ตัวส่ง) และอุปกรณ์ที่ติดตั้งที่บ้านลูกค้า (ตัวรับ) จำเป็นต้องมาจากผู้ผลิตรายเดียวกันเท่านั้นถึงจะให้บริการลูกค้าได้ ซึ่งเป็นผลทำให้ทรูซึ่งเป็นผู้ให้บริการได้รับผลกระทบในด้านการบริหารจัดการต้นทุน เนื่องจากมีต้นทุนสูงในการปรับปรุงคุณภาพโครงข่ายและบริการ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายสูงเนื่องจากในโครงข่ายของทรูมีผู้ผลิตหลากหลายมากถึง 6 ราย

ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทีมวิศวกรทรู จึงศึกษาหาแนวทางที่ช่วยลดต้นทุน พร้อมไปกับปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ โดยใช้เทคนิคทางวิศวกรรมที่เรียกว่า “Inter Operability ONT-OLT” (IOP) ซึ่งเป็นการออกแบบพัฒนาให้มีการใช้ภาษากลางที่ทำให้อุปกรณ์ตัวส่งกับตัวรับสัญญาณจากต่างผู้ผลิตกันสามารถทำงานร่วมกันได้

ทีมวิศวกรทรูได้ไปศึกษาดูงานกับ China Mobile ผู้ให้บริการในประเทศจีน และนำมาพัฒนาต่อยอดจนสามารถทำให้ตัวรับสัญญาณจากผู้ผลิต 1 รายทำงานร่วมกับอุปกรณ์ส่งจากผู้ผลิต 6 รายของทรูได้ภายในเวลา 2 ปี โดยเป็นการปรับทั้งโครงข่ายเพื่อรองรับเทคนิค IOP ได้

“เมื่อเราใช้เทคนิคแบบ IOP ที่เป็นคอนเซปต์แบบ Any to One ก็ทำให้ลูกค้าได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ ได้รับบริการที่ดีขึ้น รวมถึงทรูเองก็สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้มากขึ้น ด้านผู้ผลิตก็ต้องพยายามพัฒนาอุปกรณ์ให้มีคุณภาพดีรองรับกับเครือข่ายของเราได้ เมื่อสามารถปรับเปลี่ยนด้วยเทคนิคใหม่นี้ได้ องค์กรก็ลดต้นทุนได้ถึง 5,460 ล้านบาท และมีรายได้เพิ่มขึ้น 40 ล้านบาทต่อเดือนจากการที่ลูกค้าเพิ่มขึ้น 50,000 รายต่อเดือนอีกด้วย จะเห็นได้ว่า นวัตกรรมทำให้เกิด Cost Saving ได้” ศศิกานต์ สรุป

เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้ลองทำ

ที่ผ่านมานวัตรกรทรูได้คิดค้นนวัตกรรมมากว่า 680 ผลงาน คิดเป็นรายได้และลดต้นทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ปัจจัยที่ทำให้เกิดนวัตกรรมภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เริ่มมาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรที่มองว่า นวัตกรรมส่งเสริมให้บริษัทขับเคลื่อนต่อไปได้ จึงเปิดกว้างให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผลงานไปด้วยกัน

ย้อนกลับไปตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว คุณศุภชัย เจียรวนนท์ มีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างว่า นวัตกรรมจะเป็นสิ่งที่คิดค้นใหม่ หรือปรับสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ได้ เพราะต้องการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองทำ ลองผิดลองถูกได้” วีรศักดิ์ พงษ์ธัญญวิชัย Head of Innovation Center Department กล่าว

 

การส่งเสริมนวัตกรรมในองค์กรของทรูจึงมีการวางรากฐานไว้อย่างดี โดยมีทีมงานที่ดูแลด้านนวัตกรรมโดยเฉพาะ นั่นคือ ทีม True Innovation Center ที่มีความเชื่อว่า “คน” คือกลไกสำคัญที่สุดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในองค์กร ทีมนี้จึงทำหน้าที่ช่วยจุดประกาย เป็นที่ปรึกษา สร้างโอกาส ให้พนักงานทุกคนเป็นนวัตกรได้ ผ่านวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้

· Innovation Advocacy: สร้างบรรยากาศในการริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร ผ่านการให้ความรู้ ทำเวิร์กชอป และเวิร์กชอปสัญจร สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานทรูทุกฝ่ายงานทั่วประเทศ

· Empowerment: สนับสนุนให้พนักงานได้ลองผิดลองถูก โดยคิดริ่เริ่มและพัฒนาเป็นโครงการของตัวเอง โดยทีมจะทำหน้าที่เสมือนพี่เลี้ยงที่ให้คำปรึกษา แนะนำผ่าน Innovation Clinic

· Feedback Mechanism: สร้างเครื่องมือที่เรียกว่า Innovation Matrix หรือ I-Score เพื่อวัดความระดับความเป็นนวัตกรรมของชิ้นงาน และหาแนวทางในการพัฒนาให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงต่อไป

· Contest: เปิดเวที True Innovation Award ให้พนักงานได้มีโอกาสประกวดผลงาน โดยเปิดกว้างตั้งแต่ไอเดียแรกเริ่มในเรื่องใกล้ตัว ที่เรียกว่าระดับ IDEA SEED (เมล็ดพันธุ์ความคิด) ไปจนถึงการต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ใช้ได้จริง หรือ INNO TREE (สุดยอดนวัตกรรม)

· System and Platforms: พัฒนาอินทราเน็ตแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Innovation Tank เพื่อให้พนักงานในองค์กรเข้ามาค้นหาผลงานที่เคยมีแล้ว และนำมาต่อยอด หรือส่งผลงานของตัวเอง

· Innovative Culture: ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กร Co-Creation ในการร่วมคิดสร้างสรรค์ ร่วมทำงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ พร้อมกับการเปิดกว้างรับฟังความคิดที่หลากหลายจากมุมมองที่แตกต่างกัน

“เมื่อพูดถึงนวัตกรรม เราอยากให้ทุกคนในองค์กรรู้สึกสนุกก่อน อยากให้มีความรู้สึกว่า นวัตกรรมไม่ได้เป็นแค่เรื่องเทคโนโลยี และไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว ทุกไอเดียที่พนักงานคิดและเสนอมามีคุณค่าทั้งหมด เราจะไม่ไปกำหนดว่า สิ่งนี้ทำได้หรือทำไม่ได้ การเปิดรับไอเดียที่แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สุดท้ายอาจต่อยอดไปเป็นนวัตกรรมในอนาคตก็ได้” สรรควร สัตยมงคล Innovation Specialist ของทีม True Innovation Center เน้นย้ำ

จาก Close innovation สู่ Open innovation

 นอกเหนือจากการสร้างสรรค์วัฒนธรรมภายในองค์กรแล้ว ทีมงานTrue Innovation Center ยังได้ประสานความร่วมมือกับภายนอก มีการจัดตั้ง True LAB เพื่อทำงานกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 9 แห่ง ร่วมกันทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม พร้อมไปกับการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยและถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เกิดเป็น Open Innovation ซึ่งนับเป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร และเป็นการต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่ออกสู่ตลาดได้จริง

“ที่ผ่านมามีนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกว่า 100 ผลงาน สำหรับตัวอย่างความร่วมมือที่ทำอยู่ตอนนี้ เป็นการพัฒนากล่องกกลูกสุกร ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้ประโยชน์ของ IoT จากทีมทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เพื่อลดอัตราการตายของลูกสุกรในฟาร์มต่างๆ และมุ่งหวังที่จะยกระดับการปศุสัตว์ของไทยให้ดีขึ้น” สรรควร กล่าว

นอกจากนี้ True LAB ยังทำหน้าที่บ่มเพาะนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ให้ก้าวเข้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพกว่า 1,000 ทีม และปัจจุบันได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในทรู เพื่อพัฒนานวัตรรมที่ใช้งานได้จริงในธุรกิจ พร้อมมุ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทย

ม่หยุดพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 ด้วยหลักการ “คิดค้นนวัตกรรมเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” ทรู ไม่เพียงสร้างนวัตกรรมทั้งที่เป็นสินค้าและบริการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้า แต่ยังสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกมากมาย

ในด้านสังคม มีนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบางอย่าง แอปพลิเคชัน Autistic ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้เด็กออทิสติกให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กผ่านการลากเส้นที่ ต้องใช้สมาธิ รวมไปถึงการสื่อสารที่ต้องใช้ชีวิตประจำวัน และการดูแลตัวเอง ท้ายที่สุดคือการนำไปสู่การฝึกอาชีพและมีรายได้อย่างยั่งยืน

เมื่อก่อนพ่อแม่ของเด็กออทิสติกต้องมีเวลามาสอนให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ซ้ำๆ จนจดจำได้ พอมีแอปพลิเคชันนี้ เด็กจะเรียนรู้กิจวัตรต่างๆ เช่น การแปรงฟัน รวมไปถึงการใช้ชีวิต เช่น ฝึกออกไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ สิ่งที่น่าภูมิใจคือ มีน้องๆ ที่เคยดูแลตัวเองไม่ได้เลย เขาเกิดพัฒนาการที่ดี และบางคนก็ได้มาเป็นบาริสต้าของ True Coffee ด้วย” วีรศักดิ์เล่า

ในด้านของสิ่งแวดล้อม มีหนึ่งนวัตกรรมสำคัญที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาแก้ปัญหาอย่างตรงจุด นั่นคือ โซลูชันเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Elephant Smart Early Warning) ที่ช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้สำเร็จด้วยการผสานศักยภาพของเทคโนโลยีสื่อสาร ระบบ IoT เข้าไปช่วยในการทำงานของหน่วยลาดตระเวน กรมอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเจ้าหน้าที่องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ( WWF)

 

รมมุก เพียจันทร์ Senior Leader Project Development จากหน่วยงานทรูปลูกปัญญา ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการนี้เล่าว่า โซลูชันดังกล่าวประกอบด้วย กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติพร้อมซิมจากทรู ซึ่งจะแจ้งเตือนพิกัดที่พบช้างแบบเรียลไทม์ไปยังระบบ Cloud โดยเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เฝ้าระวังฯ จะตรวจสอบภาพและพิกัดอีกครั้ง และประสานงานไปยังชุดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการผลักดันช้างผ่านแอปพลิเคชัน Smart Adventure ที่ติดตั้งใน Trunked Mobile ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบ Cloud เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลความถี่และสถิติที่ช้างป่าออกมาได้

“หลังจากที่เราเริ่มติดตั้งภายใน 1 ปี ก็พบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นน้อยกว่า 1% ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนาต่อโดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี นำระบบ AI มาเข้ามาเสริม ทำให้การตรวจสอบและ Detect ทำได้แม่นยำมากขึ้น” รมมุกกล่าว

องค์กรแห่งนวัตกรรมเกิดขึ้นได้จริงที่ผ่านมานวัตกรรมที่มีความหลากหลายของทรู ได้รับรางวัลในระดับประเทศและในเวทีต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปี 2566 ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้าน “องค์กรนวัตกรรมดีเด่น” ประเภทองค์กรขนาดใหญ่ ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องจริงจัง

“รางวัลนี้มีการประเมินอย่างรอบด้าน ตั้งแต่วิสัยทัศน์ผู้นำ ผลงานที่เกิดจากพนักงานในองค์กร ระบบการจัดการนวัตกรรม รวมไปถึงรางวัลและการเชิดชูผลงานจากเวทีต่างๆ ทั้งในไทยและนานาชาติ ซึ่งเมื่อรวบรวมย้อนหลังไป 3 ปี ทรูมีครบทุกองค์ประกอบ ทั้งยังมีการจัดการในเรื่องการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เรียกได้ว่าครบวงจรของการจัดการนวัตกรรมอย่างแท้จริง” วีรศักดิ์เน้นย้ำ

ด้วยเป้าหมายภายในปี 2573 ที่ต้องการสร้างนวัตกรทรูให้ถึง 5,000 คน โดยจัดให้มีทุนวิจัยพัฒนาเป็น 3% ของงบใช้จ่าย พร้อมไปกับการเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าและบริการให้มีสัดส่วนต่อรายได้รวมบริษัท 15% รวมถึงการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา 200 ผลงาน ท้ายที่สุดแล้ว “คน” คือปัจจัยสำคัญที่สุด ที่จะทำให้องค์กรเดินหน้าให้ถึงเป้าหมาย รวมถึงก้าวสู่การเป็น Telecom Tech Company อย่างแท้จริง

 “ถ้ามีเครื่องมือล้ำสมัยทุกอย่าง แต่คนของเราไม่ใช้หรือใช้ไม่เป็น ก็ไม่อาจสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ เราจึงให้ความสำคัญกับ ‘คน’ เป็นอันดับแรก มุ่งสร้างคนให้เป็นนวัตกร สร้างแรงบันดาลใจ แล้วนวัตกรรมดีๆ จะเกิดขึ้นได้จริง” วีรศักดิ์ ทิ้งท้าย

 

ผลิตกำลังคนดิจิทัลคุณภาพ ปูทางประเทศไทยให้พร้อมสู่ยุคดิจิทัล มอบทุนอัปสกิลดิจิทัลที่ควรมีในยุคนี้ จากทรู ดิจิทัล อคาเดมี

 บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานผลดำเนินการไตรมาส 3/2566 รายได้รวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากผลจากการเติบโตต่อเนื่องทั้งรายได้บริการและยอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น ขณะที่การดำเนินการบูรณาการเป็นไปตามแผนที่วางไว้โดยเฉพาะในเรื่องหลักที่นำไปสู่การผสานร่วมกัน สะท้อนถึงความพยายามที่เห็นผลสำเร็จอีกทั้งการรับรู้ด้านประสิทธิภาพเชิงโครงสร้างนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของ EBTIDA ในไตรมาสที่สามติดต่อกันหลังควบรวมกิจการ

นาย มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ผลประกอบการทางการเงินของทรู คอร์ปอเรชั่น ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่สามภายหลังจากการควบรวมทรูดีแทคผ่านไป 6 เดือน ซึ่งผลประกอบการดังกล่าวไม่เพียงทำได้ตามเป้าหมายแต่นับว่ามากเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ สะท้อนชัดถึงความมุ่งมั่นและความพยายามของเรา การกลับมาของกลุ่มนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ได้ส่งผลเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจระดับมหภาค ขณะที่สถานการณ์ภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลเทคโนโลยีคงการแข่งขันต่อเนื่อง โดยผู้ให้บริการโอเปอเรเตอร์ยังคงต่างมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มตอบโจทย์หลากหลายไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ทั้งนี้บริษัทยังคงดำเนินการเป็นไปตามแผนการรวมธุรกิจที่วางไว้ โดยเริ่มเห็นผลจากการผสานจุดแข็งของทั้งทรู-ดีแทค ตามที่ได้รายงานผ่านวันพบนักลงทุน (Capital Markets Day) ที่ผ่านมา

ในไตรมาสที่ 3/2566 ผลจากการรวมธุรกิจทำให้เรามีรายได้จากการให้บริการสุทธิ 4.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ (ค่าใช้จ่ายการลงทุน) CAPEX และ EBITDA สำหรับโครงการดำเนินการรวมโครงสร้างเสาสัญญาณภายใต้โครงข่ายเดียว (Single Grid) มีความคืบหน้าเป็นไปตามแผนหลังจากการเริ่มดำเนินการไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยภายในช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน มีการบูรณาการเสาสัญญาณไปแล้วมากกว่า 300 แห่ง และปรับปรุงจุดที่ซ้ำซ้อน 100 แห่ง ทำให้มีส่วนช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีที่ยิ่งขึ้น อีกทั้งได้บริหารค่าเช่าได้ดียิ่งขึ้น โดยโครงการ Single Grid อัจฉริยะที่เพิ่มจำนวนสถานีฐาน ตอกย้ำความตั้งใจของบริษัทที่มุ่งส่งมอบบริการที่ดียิ่งกว่าให้แก่ลูกค้าของเราที่เติบโตขึ้นผ่านการบริหารจัดการจำนวนสถานีฐานและการขยายเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินการ Single Grid จะเดินหน้าอย่างเต็มที่ในไตรมาสที่ 4 ตามแผนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เรายังคงเดินหน้าตามแผนงานที่สอดคล้องตามกลยุทธ์ของบริษัท  บริษัทยังสามารถบรรลุรายได้ของการผสานพลังทรูดีแทคด้วยการนำเสนอบริการที่รวมเทคโนโลยีด้านการสื่อสารทั้งในแบบเคลื่อนที่และประจำที่ (FMC) ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการ FMC เพิ่มขึ้น 8% หลังจากการควบรวม และมีรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) กลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 10% ทรู คอร์ปอเรชั่นยังคงมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ที่จะใช้ประโยชน์สูงสุดจากการผสานความแข็งแกร่งในการดำเนินการทางการตลาดร่วมกันตามแผน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างมูลค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน"

 นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ดีแทคและทรูยังคงเป็นแบรนด์ชั้นนำในใจของนักท่องเที่ยวและกลุ่มแรงงานต่างชาติ โดยเรายังคงนำศักยภาพเทคโนโลยีทั้งการวิเคราะห์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาออกแบบบริการให้ตรงใจเฉพาะแต่ละกลุ่มลูกค้า สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ซึ่งเราได้เห็นรายได้เฉลี่ยต่อวันของนักท่องเที่ยวเติบโตขึ้นถึง 3.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคะแนนความพึงพอใจลูกค้าสูงขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการรวมธุรกิจ อันเป็นผลจากความพยายามร่วมกันที่จะให้บริการลูกค้ามุ่งเน้นการส่งมอบสิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันได้มีการแลกสิทธิประโยชน์ไปแล้ว 120 ล้านรายการภายใต้โปรแกรมสิทธิพิเศษของทั้ง ทรูและดีแทค และ ณ สิ้นสุดของไตรมาสที่ 3/2566 ทรู คอร์ปอเรชั่นมีฐานผู้ใช้งานดิจิทัลรวมประมาณ 15 ล้านราย สะท้อนความเป็นผู้นำด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่ง

สำหรับการดำเนินงานเชิงพาณิชย์นั้น เราประสบความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพถึง 56% ด้วยการใช้แพลตฟอร์มอันหลากหลายเป็นช่องทางในการให้บริการลูกค้าในรูปแบบ Omni Channel ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปี 2566 ทำให้มีจำนวนช้อปที่สามารถนำเสนอสินค้าและบริการทั้งหมดแก่ลูกค้าทั้งดีแทคและทรูเพิ่มขึ้น อันนำไปสู่การยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น อีกทั้งนำมาซึ่งประสิทธิผลในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น สามารถบูรณาการได้อย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งลดการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความครอบคลุมของ 5G 90% และ 4G 99% ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ทำให้ทรูยังคงเป็นผู้นำเครือข่าย 5G ที่มีสัญญาณครอบคลุมมากที่สุดในประเทศ โดยไตรมาสที่ 3/ 2566 มีจำนวนผู้ใช้งาน 5G มากที่สุดถึง 9.4 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่าเครือข่าย 5G ของทรูเป็นเครือข่ายที่ได้รับการชื่นชอบมากที่สุดในไทย ซึ่งความตั้งใจที่จะเพิ่มประสบการณ์ของลูกค้าอย่างต่อเนื่องนำมาสู่การใช้งานดาต้าทั้ง 4G และ 5G ของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา พร้อมกับการเพิ่มรายได้ ARPU ของลูกค้า 5G มาโดยตลอด"

ดีแทคและทรูยังคงเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าไว้ใจอย่างต่อเนื่องทั้งประสบการณ์ใช้งานและตอบสนองความคุ้มค่าตรงความต้องการ ในไตรมาสที่สามนี้ มีจำนวนผู้ใช้บริการมือถือเพิ่มขึ้น 254,000 ราย รวมเป็น 51.4 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้น 0.5% จากไตรมาสที่ผ่านมา และ จำนวนผู้ใช้งาน 5G สูงถึง 9.4 ล้านราย เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสที่ 2/2566 โดยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในการใช้งานและการเพิ่มขึ้นของ ARPU 10-15% โดยมาจากปัจจัยหลักคือการจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารพร้อมกับบริการร่วมกัน

นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัทฯ รายงานผลการดำเนินงานทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นสำหรับไตรมาสที่ 3/2566 โดยได้แรงหนุนจากรายได้บริการที่เพิ่มขึ้นและจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง EBITDA ที่เป็นมาตรฐานดีขึ้นเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกันนับตั้งแต่การควบรวมกิจการ โดยได้ประโยชน์จากการผสานรวมกัน และการริเริ่ม

ดำเนินการสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องตามแผนที่วางไว้ ตอกย้ำสถานภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท

รายได้จากการดำเนินงานรวมปรับเพิ่มขึ้น 2.4% จากไตรมาสก่อน โดยได้แรงหนุนจากรายได้จากการบริการและยอดขายผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น รายได้จากการบริการเพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ) โดยได้แรงหนุนจากกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (Pay TV) พร้อมกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ การเติบโตแบบแข็งแกร่งส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มเป็น 51.4 ล้านเลขหมาย ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ในขณะที่รายได้จากบริการมือถือเพิ่มขึ้น 1.4% (QoQ) ซึ่งได้ผลดีจากกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มใช้แรงงานข้ามชาติ ควบคู่ไปกับการปรับข้อเสนออย่างเหมาะสม โดยรายได้จากโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (Pay TV) เพิ่มขึ้น 5.8% (QoQ) โดยได้แรงหนุนหลักจากคอนเสิร์ต สำหรับยอดขายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น 18.7% (QoQ) จากการเปิดตัว iPhone ใหม่ในไตรมาส 3/2566

 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (D&A) เพิ่มขึ้น 7.7% จากไตรมาสที่ผ่านมา จากการเพิ่มขึ้นด้านต้นทุนขายควบคู่กับผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น 15.1% ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (one-time positive impact) ในไตรมาส 2/2566 ทั้งนี้ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนอื่นของการดำเนินงานเป็นอย่างดี จากการริเริ่มด้านประสิทธิภาพของโครงสร้างและประโยชน์จากการผสานรวมกัน ขณะที่การปรับปรุง (Normalized) EBITDA เพิ่มขึ้น 2.0% (QoQ) ซึ่งนับเป็นไตรมาสที่สามติดต่อกันของการเติบโตนับตั้งแต่การควบรวมกิจการ การปรับตัวดีขึ้นของ EBITDA ได้รับแรงหนุนจากรายได้ที่เติบโตขึ้น และการรับรู้ผลประโยชน์จากการผสานรวมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลอัตรากำไร EBITDA รายได้รวมอยู่ที่ 54.1% โดยขาดทุนสุทธิหลังหักภาษี จำนวน 1,598 ล้านบาท ปรับฟื้นขึ้น 31.1% (QoQ) รวมค่าใช้จ่ายผสานรวมกันในไตรมาส เงินลงทุน หรือ CAPEX ในไตรมาส 3/2566 อยูที่ 3,481 ล้านบาท โดยได้รับประโยชน์จากการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพจากการควบรวมกิจการ  ขณะเดียวกัน ในด้านความยั่งยืน ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงครองอันดับ 1 ดัชนีความยั่งยืนระดับโลก DJSI กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคมของโลก 5 ปีซ้อน และคงสถานะสมาชิกดัชนีความยั่งยืน DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 แสดงถึงความมุ่งมั่นด้านความรับผิดชอบครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ทั้งมิติด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล

สำหรับการคาดการณ์ในปี 2566 บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงแนวโน้มสำหรับปี 2566 ซึ่งคิดเป็นระยะเวลา 10 เดือนของการดำเนินงานนับจากวันที่ควบรวมกิจการเสร็จสิ้น โดยคาดว่า EBITDA จะมีการเติบโตที่เป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ-ปานกลาง (low-to-mid single digit) และยังคงแนวโน้มที่ทรงตัวสำหรับรายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) ทั้งนี้ เงินลงทุน หรือ CAPEX ประมาณการณ์ไว้ที่ 25,000 – 30,000 ล้านบาท ตามที่เคยประกาศไว้

ตัวเลขสำคัญทางการเงินในไตรมาส 3 ปี 2566

 · รายได้จากบริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC (การจัดประเภทใหม่) จำนวน 39,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% (QoQ)

· EBITDA อยู่ที่ 21,443 ล้านบาท ลดลงราว 3.9% (QoQ)

· อัตรากำไร EBITDA (เมื่อเทียบกับรายได้รวม) อยู่ที่ 54.1%

· ขาดทุนสุทธิ จำนวน 1,598 ล้านบาท

Page 5 of 9
X

Right Click

No right click