นายสำมิตร สกุลวิระ ประธานสายสินเชื่อธุรกิจธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมา นับเป็นปีสำคัญของสายสินเชื่อธุรกิจ ที่สามารถทำวงเงินสินเชื่ออนุมัติใหม่ได้สูงที่สุดเท่าที่เคยทำมา จากการที่ธนาคารได้เริ่มขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ โดยที่ผ่านมาสายสินเชื่อธุรกิจ มุ่งเน้นทำตลาดในอุตสาหกรรมที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ได้แก่ สินเชื่อกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายกลางรายเล็ก และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (สินเชื่อธุรกิจอพาร์ตเม้นต์และโรงแรม สินเชื่อธุรกิจขนส่ง สินเชื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม และสินเชื่อเพื่อเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้าง)
“สำหรับปี 2561 นั้น ด้วยทิศทางเศรษฐกิจและความต้องการของลูกค้า ธนาคารได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบและการทำงานเพื่อตอบความต้องการของลูกค้าและสนับสนุนความสำเร็จของธุรกิจ ด้วยแนวทางการดำเนินงาน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. เจาะกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในทุกเซกเมนต์ ส่วนกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีมุ่งขยายธุรกิจไปยังลูกค้ากลุ่มเดิม 2. เป็นธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ด้วยประสบการณ์ยาวนานของทีมงาน 3. ขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูง (high net worth) ในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร โดยมุ่งให้บริการทางการเงินแก่กลุ่มคนดังกล่าวที่ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและเจ้าของกิจการให้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างยั่งยืน และ 4. ชูแพลตฟอร์มการเป็น Financial Solution Expert โดยพัฒนาบุคลากร ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ครอบคลุมความต้องการทางธุรกิจของลูกค้า ตลอดจนนำเสนอเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการและสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับกิจการ โดยปี 2561 สายสินเชื่อธุรกิจวางเป้าหมายสินเชื่ออนุมัติใหม่ที่ประมาณ 33,500 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ยอดสินเชื่อของสายสินเชื่อธุรกิจขยายตัวราว 5% คิดว่าการให้บริการลูกค้าด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมุ่งเน้นความสำเร็จของลูกค้าเป็นสำคัญ จะส่งผลให้การทำงานบรรลุเป้าหมายตามที่ได้วางไว้” นายสำมิตร กล่าว
ทั้งนี้ นายสำมิตร อธิบายเพิ่มว่า ตามการประเมินของฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคิน การขยายตัวของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2561 น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว 9.0% ต่อปีจากมาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยผลักดันการฟื้นตัวของภาคการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะทรงตัวในระดับ 1.5% ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2561 และดอกเบี้ยฝั่งธนาคารพาณิชย์ก็น่าจะยังไม่ปรับขึ้นมาก ทั้งดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ สำหรับเงินฝากแม้ว่าดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกอาจปรับขึ้น แต่ทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าลดแรงจูงใจของนักลงทุนไทยในการไปลงทุนในต่างประเทศ ทำให้ไม่กระทบกับสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยเงินฝากจึงน่าจะอยู่ใกล้เคียงระดับเดิม ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ (MLR) ก็ไม่น่าจะปรับขึ้นจากระดับปัจจุบันเช่นกัน เนื่องจากสินเชื่อของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ยังขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ส่วนภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มที่จะทยอยดีขึ้นต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ 1. การเริ่มกลับมาให้ความสำคัญในสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ 2. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3. ภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ทำให้รายได้ของประชาชนเริ่มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงบน 4. แนวโน้มดอกเบี้ยในตลาดการเงินยังอยู่ในระดับต่ำ และ 5. การกลับมาเร่งประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลบวกต่อการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่รอบข้างของโครงการ”
อนึ่ง ในปี 2560 ที่ผ่านมา สินเชื่อธุรกิจ มียอดสินเชื่อรวม 44,283 ล้านบาท ขยายตัวที่ 7% จากสิ้นปี 2559
แบ่งเป็น สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 21,276 ล้านบาท สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (สินเชื่อธุรกิจอพาร์ตเม้นต์และโรงแรม สินเชื่อธุรกิจขนส่ง สินเชื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม และสินเชื่อเพื่อเครื่องจักรและวัสดุก่อสร้าง) 23,007 ล้านบาท