December 21, 2024

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) เผย 5 ข้อเสนอเร่งด่วนต่อที่ประชุม แนะทางเร่งการฟื้นตัวและกระตุ้นเศรษฐกิจ

August 05, 2022 1137

 

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council - ABAC) เผยข้อสรุปจากการประชุมครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฮาลอง ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 26 - 29 กรกฎาคม 2565 เพื่อรวบรวมส่งมอบแก่การประชุมเอเปคปลายปี โดยยกข้อเสนอเร่งด่วน 5 ประการ มุ่งเป้า การเร่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และการกระตุ้นให้เกิดการพลิกฟื้นสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุม และมีความยืดหยุ่นในระยะยาว” อันเกิดจากผลกระทบที่ยืดเยื้อของการระบาดใหญ่ ความขัดแย้งทางการเมือง ภาวะเงินเฟ้อ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

การร่วมตัวของผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคครั้งที่ 3 เป็นการติดตามความคืบหน้าจากการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา (ประเทศสิงคโปร์ และประเทศแคนาดา ตามลำดับ) โดยแบ่งคณะทำงานออกเป็น 5 กลุ่ม* ภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก เพื่อเตรียมนำข้อสรุปส่งมอบต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้  “คณะทำงานมีความเห็นตรงกันว่า เราจะเรียกร้องให้สมาชิกเอเปค มาร่วมบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกร่วมกระชับการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยสนับสนุนระบบการค้าตามกฎสากล และเร่งให้เกิด FTAAP (เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก) อย่างเป็นรูปธรรม โดยเรายังต้องการให้เอเปคส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวและการเติบโต ผ่านการสนับสนุนกลุ่ม MSMEs โดยเฉพาะในธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของ และธุรกิจของคนท้องถิ่น และการนำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาใช้” นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 กล่าว

ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ได้ยกวาระเร่งด่วน 5 ประการ อันเป็นส่วนหนึ่งของ 5 กลยุทธ์หลักของคณะทำงาน เพื่อส่งมอบต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อันได้แก่ 

  1. Regional Economic Integration: เส้นทางสู่เขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการค้าภาคบริการ
    สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคเห็นว่า FTAAP ควรตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกที่ค่อยๆ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นควรในการพัฒนาแผนงานนี้ต่อไปเพื่อให้วาระนี้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม และในขณะเดียวกัน นวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในภูมิภาคโดยเฉพาะในภาคบริการผ่านการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมนวัตกรรม โดยเฉพาะเกี่ยวกับบริการดิจิทัลที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ, บริการทางโลจิสติกส์, บริการด้านสุขภาพ และบริการด้านสิ่งแวดล้อม
  2. Digital – การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์และดิจิทัล
    แนวทางการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สอดคล้องและบูรณาการ นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และนับเป็นความสามารถในการปกป้องความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่างๆ คณะทำงานจึงขอเรียกร้องให้เอเปคสร้างแพลตฟอร์มในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับภูมิภาค ที่จะประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ร่วมกัน
  3. MSME and Inclusiveness – การเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืนของ MSMEs

ด้วย MSMEs มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จึงเห็นควรในการพัฒนามาตรการเพื่อสนับสนุนการเติบโตนี้อย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบการทำงานและการค้าระดับโลก โดยมาตรการดังกล่าว หมายรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง การบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า และการสนับสนุนในมาตรการนี้ให้เป็นสากล

  1. Sustainability - ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น

ผู้ผลิตและผู้บริโภคในภูมิภาคกำลังได้รับผลกระทบครั้งประวัติศาสตร์จากราคาอาหารโลกที่พุ่งสูงขึ้น และภาวะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร คณะทำงานจึงเร่งดำเนินการ

‘แผนงานความมั่นคงด้านอาหารของ APEC สู่ปี 2030’ และให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนา

และการดำเนินการตามแผนดิจิทัลความมั่นคงด้านอาหาร ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต การจำหน่ายและการค้า ตลอดจนการนำ Bio-Circular-Green (BCG) มาปรับใช้

  1. Finance and Economics – การดำเนินการตามมาตรการเศรษฐกิจมหภาค การคลัง และการเงิน เพื่อเร่งการฟื้นตัว และการระบุการปฏิรูปโครงสร้างหลัก เพื่อเพิ่มผลผลิตและการเติบโต

คณะทำงานเห็นความสำคัญของการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายทางการเงินด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยในระยะยาว คณะทำงานเชื่อว่ารัฐบาลควรปฏิบัติตามสองเป้าหมาย คือการการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลและความยั่งยืนอย่างครอบคลุม 

ดร.​พจน์​ อร่ามวัฒนานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ของไทย และประธาน APEC CEO Summit 2022 กล่าวเสริมถึงประเด็นการยกระดับความเข้มข้นในการผลักดันเรื่องความยั่งยืนทางด้านอาหารที่นำเทคโนโลยีและ BCG มาปรับใช้ไว้ว่า “ข้อเสนอแนะในครั้งนี้ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคยังเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามขึ้นเป็นสองเท่าเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และยับยั้งข้อห้ามและข้อจำกัดต่างๆในการส่งออกและการร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างกันมากขึ้นในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับระบบนิเวศอาหาร เพื่อให้มั่นใจว่า ภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญ ในความร่วมมือด้านนโยบายของเอเปคเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากในอนาคต” ดร.​พจน์​กล่าว

สำหรับการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นายกอบศักดิ์​ ดวงดี สมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ของไทย เผยว่า “ เรามีความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตให้กับภูมิภาคของเรา ดังนั้นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการค้าจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน อาทิ การจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรักษาความปลอดภัยของระบบดิจิทัล (Cybersecurity) เสริมโครงสร้างข้อมูลพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการค้าดิจิทัล (Data Infrastructure for Digital Trade) การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย (MSMEs) ในการใช้เทคโนโลยี และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการชำระเงินในตลาดดิจิทัล (Digital Market Infrastructure) ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องสนับสนุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานบริการของภาคเอกชนในภูมิภาค

การประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ครั้งที่ 3 ได้ปิดท้ายลงอย่างงดงาม ท่ามกลางความมุ่งมั่นในการยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนเอเชียแปซิฟิก สู่ความมั่งคั่ง เติบโต และความเป็นอยู่ที่ดีร่วมกันอย่างยั่งยืน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 กล่าวปิดท้ายไว้ว่า เสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางความร่วมมือในระดับภูมิภาค ด้วยมาจากความต้องการที่แท้จริงของผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุประดับ และเราเชื่อมั่นว่า จะเป็นแนวทางในการช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วนต่อไป”

 

X

Right Click

No right click