×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 6847

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 802

ตลาดทุนและตลาดเงินของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีต้องเผชิญความผันผวนที่เพิ่มขึ้นจากเงินทุนที่เคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศ จากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า และสภาพคล่องที่ลดลงจากการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมและความผันผวนของค่าเงินบาทเพิ่มสูงขึ้น นักลงทุนและผู้ประกอบการจึงควรเตรียมรับมือ

หลังจากวิกฤติการเงินปี 2008 ธนาคารกลางใหญ่ๆ ทั่วโลกเลือกใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายโดยการลดดอกเบี้ยนโยบายจนอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และอัดฉีดสภาพคล่องผ่านโปรแกรม QE ทำให้เกิดสภาวะสภาพคล่องล้นตลาด นักลงทุนจึงเลือกที่จะเอาเงินไปลงในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เกิดเป็นพฤติกรรม Search for Yields ทำให้มีเงินทุนจำนวนมากไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ ทั้งในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน และตลาดหุ้น ทำให้ spread ของหุ้นกู้เอกชนลดลง ในขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้น โดย spread ของหุ้นกู้ BBB rating ของไทยลดต่ำลง จากที่ระดับกว่า 300bps ก่อนที่จะมีมาตรการ QE ในปี 2009 ลงมาอยู่ที่ระดับ 170bps หลังเฟดยกเลิกมาตรการ QE ในปี 2014 ในขณะที่ SET Index ก็ปรับเพิ่มขึ้นจาก 500 จุด ไปเป็น 1600 จุด

ดังนั้น ตอนนี้ธนาคารกลางที่เคยเป็นคนเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบ กลายเป็นคนที่ดูดสภาพคล่องของระบบออกไป โดยการยกเลิกการทำ QE และเริ่มลดขนาดงบดุล ประกอบกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ทำให้สินทรัพย์ของสหรัฐฯน่าดึงดูดมากขึ้น ทำให้ที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะประเทศที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจด้านต่างประเทศยังไม่แข็งแกร่ง เช่น เงินสำรองระหว่างประเทศต่ำ ในขณะที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อย่างเช่น อาร์เจนตินา บราซิล ตุรกี และอินโดนีเซีย ทำให้ค่าเงินอ่อนลงไปตั้งแต่6% ถึง กว่า 30% จากเงินทุนที่ไหลออกรุนแรง จนทำให้ประเทศเหล่านี้ ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความกดดันจากค่าเงินที่อ่อนค่าจากเงินทุนไหลออกและเงินเฟ้อที่ทยอยปรับขึ้น

นอกจากจะได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของเฟดแล้ว ตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ก็ยังถูกกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน แม้ผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงยังไม่ชัดเจนก็ตาม โดยหลังจาก Trump เริ่มประกาศสงครามการค้ากับจีนตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2561 มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ค่อนข้างรุนแรง จนค่าเงินในตลาดเอเชียอ่อนค่าลงโดยเฉลี่ยกว่า 5%

สำหรับประเทศไทย แม้จะมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ดี เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เงินทุนยังไม่ไหลออกรุนแรงเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่อื่นๆ แต่หากนับจากช่วงต้นปีนี้ ตลาดทุนและตลาดเงินไทยก็มีเงินไหลออกสุทธิรวมกันแล้วกว่า 8 หมื่นล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2016 และ ปี 2017 ที่มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิกว่า 2.8 แสนล้านบาทโดยเฉลี่ยต่อปี  ที่ประเทศไทยมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าสุทธิมาโดยตลอด ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนมาก โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงตอนนี้ เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.10 ถึง 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าจากต้นปีแล้วกว่า 2.2%

ความผันผวนในตลาดทุนและตลาดเงินจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าที่ตลาดมอง จากตลาดแรงงานที่ร้อนแรงขึ้น เมื่อความต้องการแรงงาน 6.7 ล้านตำแหน่งสูงกว่าจำนวนคนว่างงาน 6.1 ล้านคน กดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งอาจทำให้เกิด market correction รุนแรง เงินทุนไหลออก มูลค่าสินทรัพย์ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการเงินเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมาก ดังนั้นทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบการ จึงควรเตรียมป้องกันความเสี่ยงในอนาคต ไว้ด้วย

รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่าก.ล.ต. ได้ออกประกาศที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลด้วยกระบวนการไอซีโอ และการให้ความเห็นชอบไอซีโอพอร์ทัล ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก.) แล้ว โดยจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 16 กรกฎาคม 2561

เนื่องจาก พ.ร.ก. กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะออกไอซีโอต้องผ่านการคัดกรองจากไอซีโอพอร์ทัล  ในชั้นแรกภายหลังประกาศที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับ ก.ล.ต. จึงจะพิจารณาให้ความเห็นชอบไอซีโอพอร์ทัลก่อน  โดยผู้ยื่นขอความเห็นชอบเป็นไอซีโอพอร์ทัลจะต้องเป็นบริษัทไทย มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน ตลอดจนบุคลากรที่เหมาะสมเพียงพอต่อการประกอบธุรกิจ และมีความพร้อมในการทำหน้าที่คัดกรองผู้ระดมทุน ประเมินแผนธุรกิจและโครงสร้างการกระจายโทเคนดิจิทัล ตรวจสอบชุดรหัสทางคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในกระบวนการไอซีโอ (ซอร์สโค้ด) ให้ตรงกับข้อมูลที่เปิดเผยทำความรู้จักตัวตนและสถานะของผู้ลงทุน ตลอดจนประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน เมื่อมีไอซีโอพอร์ทัลที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว ก.ล.ต.จะเริ่มพิจารณาคำขออนุญาตออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลของผู้ประสงค์ออกไอซีโอ  

ผู้ที่ประสงค์จะออกไอซีโอต้องเป็นบริษัทที่จัดตั้งภายใต้กฎหมายไทยที่มีแผนธุรกิจและข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือโทเคนดิจิทัลที่ชัดเจน มีการเปิดเผยซอร์สโค้ด แบบแสดงรายการข้อมูล ร่างหนังสือชี้ชวน และงบการเงินที่เป็นไปตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. 

โดยการออกไอซีโอแต่ละครั้งสามารถเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (ultra high net worth investors) นิติบุคคลร่วมลงทุน (venture capital) กิจการเงินร่วมลงทุน (private equity) ได้โดยไม่จำกัดวงเงิน  ส่วนการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อยในแต่ละครั้งจะจำกัดวงเงินที่รายละไม่เกิน 300,000 บาท  นอกจากนี้ วงเงินรวมที่ขายผู้ลงทุนรายย่อย ต้องไม่เกิน 4 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด  โดยผู้ออกไอซีโอสามารถรับชำระค่าโทเคนดิจิทัลเป็นเงินบาทหรือคริปโทเคอร์เรนซี ได้แก่ Bitcoin, Bitcoin Cash, Ethereum, Ethereum Classic, Litecoin, Ripple และ Stellar

เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. ยินดีให้ผู้ประสงค์จะขอความเห็นชอบเป็นไอซีโอพอร์ทัล เข้ามาหารือกับ ก.ล.ต. ในรายละเอียดได้ทันที เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการยื่นขอความเห็นชอบเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้  และเมื่อมีไอซีโอพอร์ทัลที่ ก.ล.ต. เห็นชอบแล้ว ก.ล.ต. ก็พร้อมจะพิจารณาอนุญาตการออกไอซีโอต่อไป

ทั้งนี้ แม้เกณฑ์ที่ออกมาจะช่วยสร้างมาตรฐานในการออกไอซีโอ และเพิ่มกระบวนการคัดกรองเพื่อป้องกันผู้ลงทุนจากการถูกหลอกลวง  แต่การได้รับอนุญาตการเสนอขายโทเคนดิจิทัลจาก ก.ล.ต. ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันความสำเร็จของโครงการที่ระดมทุน ราคา หรือผลตอบแทน  ผู้ลงทุนยังมีโอกาสขาดทุน หรืออาจมีช่องทางการเปลี่ยนมือโทเคนดิจิทัลที่จำกัด  ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนและแน่ใจว่า สามารถยอมรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้ก่อนตัดสินใจลงทุน”

ผู้สนใจและผู้ประสงค์จะขอความเห็นชอบเป็นไอซีโอพอร์ทัล หรือสนใจออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลผ่านไอซีโอ สามารถดาวน์โหลดประกาศที่เกี่ยวข้องได้ที่ https://www.sec.or.th/digitalasset

ท่ามกลางการการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล (Digital Disruption) ที่โลกต้องเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนผ่าน (Digital transformation) และการเข้ามาของบล็อกเชน และสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) นั้น จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กรุ๊ป ซีอีโอ บล็อกเชนแคปิตัล และอดีตผู้ก่อตั้ง Coins.co.th เผยความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ 

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จัดการประชุมเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมาพิจารณาเห็นชอบแนวทางกำกับดูแลการออกไอซีโอและการประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคาดว่าจะออกประกาศที่เกี่ยวข้องได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้

                รายละเอียดโดยสรุปของเกณฑ์ที่จะออกมามีดังนี้

ผู้จะออกไอซีโอ Isuuer

ผู้ลงทุน Invester

ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล  ICO Portal ,ExChange, Broker, Dealer

-เป็นบริษัทตามกฎหมายไทย

-มีแผนธุรกิจชัดเจน

-มีงบการเงินผ่านการตรวจสอบตามเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด

-ข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือโทเคนชัดเจน

-เปิดเผยชุดรหัสคอมพิวเตอร์ (Source Code)

-เสนอขายผ่าน ICO Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. โดย ICO Portal ทำหน้าที่คัดกรอง โครงการและทำ KYC ผู้ลงทุน

-ผู้ลงทุนสถาบัน ลงทุนได้ไม่จำกัด

-ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ(Ultra High Net Worth) ลงทุนได้ไม่จำกัด

-กิจการร่วมทุน (Private Equity, Venture Capital)  ลงทุนได้ไม่จำกัด

-ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนได้ไม่เกิน 300,000 บาท

-วงเงินรวมที่ขายผู้ลงทุนรายย่อยไม่เกิน 4 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น หรือไม่เกิน 70% ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด

-ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี

-มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่าที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด

-สินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายเป็นไปตามข้อบังคับของศูนย์ซึ่งได้รับความเห็นขอบจาก ก.ล.ต.

 ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นชอบในการยกเว้นโทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง (Utility Token) ซึ่งผู้ถือสามารถใช้ประโยชน็ได้ทันทีออกจากการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน นอกจากนี้ผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่เทียบกับเงินบาท หรือให้บริการแลกเปลี่ยนระหว่าง Utiliy Token ด้วยกันที่ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะในลักษณะเดียวกัน เช่น ระหว่างเหรียญในเกมส์ หรือแต้มสะสมคะแนนแลกสินค้าหรือบริการไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก.นี้

 ทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต. บอกว่า หลักเกณฑ์ที่ออกมานี้พยายามหาจุดสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรม และการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยได้นำความเห็นจากทุกฝ่ายมาพิจารณา เกณฑ์ที่ออกมา อาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างทางการและธุรกิจ

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดตัว การจ่ายเงินอุดหนุนให้กับผู้ประสบปัญหาทางสังคม ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ Krungthai Corporate Online โดยมี สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง นภา  เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และ ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ร่วมในพิธีเปิด ณ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

ผยง กล่าวว่า ความร่วมมือกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมบัญชีกลางในครั้งนี้ นอกจากสนองนโยบายภาครัฐในเรื่องธรรมาภิบาลแล้ว ยังช่วยเพิ่มความรวดเร็ว มั่นใจ โปร่งใส และสะดวกสบายให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยระบบ Krungthai Corporate Online จะดำเนินการโอนเงินโดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ประสบภัยทางสังคมที่มีบัญชีธนาคารกรุงไทยจะได้รับเงินในทันที ส่วนผู้ที่มีบัญชีของธนาคารอื่นจะได้รับเงินภายใน 2 วัน

ทั้งนี้ ระบบดังกล่าว ผู้ทำรายการสามารถดูสถานะการทำรายการต่างๆ รวมถึงมีหลักฐานแสดงข้อมูลการทำรายการทั้งแบบสรุป และแบบมีรายละเอียดอย่างครบถ้วน  รวมทั้งมีระบบตรวจสอบข้อมูลของผู้รับเงินก่อนจะดำเนินการโอนเงินด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ธนาคารกรุงไทยได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการเปิดบัญชีสำหรับผู้รับเงินอุดหนุนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร ค่ารักษาบัญชีสำหรับผู้มีบัญชีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเมื่อโอนเงินเข้าบัญชีแล้ว ผู้รับเงินจะได้รับ SMS แจ้งเตือนเงินเข้าบัญชี ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้งไว้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผู้รับเงินอุดหนุนที่ไม่มีบัญชีธนาคารหรือไม่สะดวกในการไปเปิดบัญชี ในอนาคต จะสามารถรับเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือใช้บัตร E-​​​​​Money ได้อีกด้วย

X

Right Click

No right click