แนะนำบทบรรยาย | สำนึกในความยุติธรรม-สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ คืออย่างไร?

October 15, 2019 7899

ศิลธรรม ที่เขาพิจารณากันนี้ ไม่ใช่ศิลห้า ศิลแปด หรือหลักศาสนาใด ๆ ในที่นี้ท่านเสนอความคิดเชิงศิลธรรม ที่เป็น “ศิลธรรมทางแพ่ง” หรือ ศิลธรรมแบบอาณาจักร ไม่ใช่ข้อศิลธรรมของศาสนจักร

ศิลธรรมศาสนจักร ก็เป็นเรื่องดี ที่น่าสนใจมิใช่น้อย แต่วิชาปรัชญาท่านจะแยกไปเรียนและสอนในปรัชญาอีกหมวดหนึ่งต่างหาก เรียกชื่อว่า เทววิทยา

ข้อพิจารณาศิลธรรมทางแพ่ง หรือศิลธรรมชาวบ้าน ของมหาวิทยาฮาร์วาร์ด ที่ถ่ายทำจากห้องเรียนจริง แล้วเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตประมาณสิบตอนเศษ เป็นข้อคิดประกอบการตัดสินใจในชีวิตประจำวัน สำหรับเราท่านทั้งหลาย เพื่อนำไปคิดพิจารณาเกี่ยวกับว่า อะไรถูก อะไรควร และอะไรคือสิ่งดีที่พึงทำ ท่านไม่ได้สอนอะไรที่เซ็กซี่ไปกว่านี้

ปรัชญาตะวันตก ที่จะสรุปนำมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟัง ศ.แซนเดลท่านอ้างและอิงนักปรัชญาทางแพ่งในโลกตะวันตก ดังนั้น อาจารย์ดังที่ใบ้เลขเด็ด ก็จะมีอาจารย์เจอเรมี แบนแธม อาจารย์จอห์น สจวต มิลล์ อาจารย์จอห์น ล็อค อาจารย์เอมมานูเอล คานต์ อาจารย์จอห์น เราส์ อะไรประมาณนั้น เป็นต้น (เพลโต อะริสโตเติล เป็นแบคกราวน์ รวมอยู่ในนี้ด้วยแล้ว ม.ต.ห.-ไม่ต้องห่วง)

อะไรถูก-อะไรผิด อะไรดี-อะไรชั่ว อะไรควร-อะไรไม่ควร?

ปริศนาเหล่านี้ เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา ท่านผู้รู้ถือว่า เป็นข้อกังขาเชิงปรัชญา แม้แต่เด็กยังไม่พ้นวัยทารก ก็จะต้องเผชิญกับปริศนาเหล่านี้ เราจะต้องตัดสินว่า อะไรถูกอะไรควร อะไรที่พึงกระทำ มาแต่อ้อนแต่ออก

ปรัชญาชีวิตและปรัชญาการเมืองเรื่อง “ความยุติธรรม สิ่งที่ถูกที่ควรอันพึงทำ” ของ ศ. แซนเดล เป็นคำบรรยายปรัชญาที่ แพร่หลายที่สุดในโลก -- ในเวลานี้ (พ.ศ.2557) ถูกถ่ายทอดเป็นภาษาญี่ปุ่น จีน รัสเซีย เวียดนาม ฯลฯ ผู้เขียนจะได้ทยอยย่อการเรียนการสอนในห้องเรียน ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ออกเป็นภาษาไทย พร้อมกับแนบลิงก์วิดีโอต้นฉบับ แต่ละตอน ไว้ให้ท่านผู้อ่านด้วย

หรือว่า เพียงท่านเขียนชื่อ Michael Sandel ในหน้า youtube.com ท่านก็จะพบวิดีโอต้นฉบับครบถ้วน แม้บางท่าน อาจจะไม่ถึงกับถนัดภาษาประกิตมากนัก แต่ท่านก็ควรคลิกเข้าไปชม เพื่อจะได้เห็นบรรยากาศการเรียนการสอน กะลูกกะตาตัวเอง เพื่อฝึกฝนการฟังภาษาอังกฤษของเราท่านทั้งหลาย (รวมทั้งตัวข้าพเจ้า--ผู้สรุป) ไปด้วยในตัว และภาษาที่เขาใช้กันเป็นภาษาอังกฤษชั้นดี

แม้ท่านจะไม่ใช่คอการเมือง แต่ในฐานะประชาชนในระบอบประชาธิปไตย--หมายความว่า ประชาชน ที่มีวิจารณญาณ มีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง ท่านก็น่าจะลองอ่านดูเล่น ๆ อีกประการหนึ่ง ท่านใช้ประโยชน์จากข้อคิดเหล่านั้นได้ในชีวิตท่านเอง เช่น เราควรทอนเงินขาด--ดีไหม หรือถ้าเราจะผ่าตัดมดลูก เราควรเปิดโอกาสให้เพื่อนบ้าน หาเสียงลงคะแนน ใครได้เสียงข้างมาก ก็จะมีสิทธิผ่าตัดมดลูกเรา--ดีไหม เป็นต้น บทบรรยายเหล่านี้จะช่วยให้ท่านจะฟังคนอื่นพูด แล้วเห็นดีเห็นงามได้หลายแง่มุมขึ้น รวมทั้งเห็นชั่วเห็นเลวชัดเจนขึ้นด้วย อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการหงุดหงิด งุนงง อันเกิดจากการฟังข่าวสารทั้งหลาย ทั้งไทยและเทศ—โดยเฉพาะข่าวเมืองไทย—ในโลกที่เราทุกคน ถูกถล่มด้วยสึนามิข่าวสาร ได้บ้างไม่มากก็น้อย

ขออภัย -- ผู้สรุปเป็นภาษาไทย ไม่ใช่ “ผู้รู้” หรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องเหล่านี้ เป็นเพียง "ผู้เรียน" เช่นเดียวกับหลาย ๆ ท่าน ผู้ที่ยังสนใจจะรู้จะเรียน ยังรู้สึกว่าตนเองเยาว์เรื่องการบ้านการเมือง เพราะฉะนั้น กับท่านผู้สนใจกลุ่มนี้ เราต่างก็เป็น “ผู้เรียน” ด้วยกัน – ดังนั้น เนื่องจากผู้สรุปภาคภาษาไทยไม่ใช่ “ผู้รู้” ถ้าท่านผู้อ่านพบว่า สรุปผิดนิดผิดหน่อย หรือผิดมาก – โปรดอภัยและท้วงติง จะเป็นพระคุณ ครับ

ท้ายที่สุด เรื่องแนวปรัชญา ไม่ใช่เรื่องที่เราศึกษาแล้ว จะได้อะไรเป็นเนื้อเป็นหนัง หรือได้รับประโยชน์ที่สามารถ ชั่ง ตวง วัด หรือนับจำนวนได้ แต่ว่า – ข้อคิดแนวปรัชญา หรือธรรมะ เป็นสิ่งที่จะทำให้เราไม่ตายไปอย่างโง่เขลา กระนั้นก็ดี การที่มนุษย์คนหนึ่ง อันได้แก่เราท่านทั้งหลายบางคน ไม่ตายไปอย่างโง่เขลา ก็คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โภชผลอะไร ที่จะชั่ง ตวง วัด หรือนับได้ แต่นั่นแหละ ท่านเคยรู้ตัวหรือไม่ว่า แต่ละวัน ท่านทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะ ชั่ง ตวง วัด หรือนับได้ เช่น ดูบอลโลก เป็นต้น วันละกี่นาที?

เพราะฉะนั้น ประเด็นเรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับรสนิยมส่วนบุคคลเป็นสำคัญ กล่าวคือ คนบางคนเขาชอบที่จะไม่ตายไปอย่างโง่เขลา ถึงแม้ว่าสมัยเด็ก ๆ คุณยายจะพร่ำพูดให้ได้ยินตอนเช้า ๆ กะลังงัวเงีย เรื่อยเลยว่า…

Ignorance is bliss.

หรือ “สุขใด จะเสมอด้วยโง่ ไม่มี” ก็ตาม


สรุปคำบรรยายปรัชญา/ปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศ.ไมเคิล แซนเดล

-- ปรีชา ทิวะหุต สรุปเป็นภาษาไทย

-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 178 July-August 2014

X

Right Click

No right click