December 21, 2024

Episode 07 | Part 2 สัญญาต้องเป็นสัญญา

December 12, 2019 9328

เกริ่นเรื่องสำหรับการบรรยาย ตอน “สัญญา ต้องเป็นสัญญา” 

ศ. แซนเดล แนะนำให้เราได้รู้จักนักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ผู้หนึ่ง คนใหม่มาก-จนถือได้ว่าเป็นคนยุคปัจจุบัน ท่านเป็นอดีตอาจารย์ที่ฮาร์วาร์ด ชื่อ จอห์น รอลส์ มีความคิดปฏิปักษ์ต่อแนวประโยชน์นิยม เช่นเดียวกับ คานท์ บุคคลผู้นี้เป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่า นักปรัชญาการเมืองตะวันตกไม่ได้มีอายุสองพันกว่าปีอย่าง เพลโต อะริสโตเติล หรือหกร้อยปีอย่าง แมคเคียเวลลี หรือสามสี่ร้อยปีอย่างคนช่างคิดทั้งหลาย--ในยุคแสงสว่างทางปัญญาในอัศดงคต

ศ.แซนเดล ชี้ชวนให้เราได้รู้จักกับ ทฤษฎี “สัญญาประชาคมโดยสมมติ” ของอาจารย์จอห์น รอลส์ ที่แถลงเหตุผลว่า หลักความยุติธรรมจะต้องกำเนิดจาก การตกลงแบบพิเศษ ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เกิดจากการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ

พิเศษอย่างไร? กล่าวคือ ในกรณีที่เราตกลงกันเลือกกติกาอย่างใดอย่างหนึ่ง (ข้อตกลง) ขึ้นมาบังคับใช้เป็นขื่อแปบ้านเมือง (ประชาคม-ตำบล-หมู่บ้าน-อบต.) กติกาที่ “ยุติธรรม” นั้นกระบวนการตกลงกำหนดกติกา ต้องไม่มีใครมีอำนาจต่อรองเหนือใคร ต้องเป็นคนเสมอภาคกันหมด มาร่วมกันคิดอ่านตกลงด้วยกัน

แล้วเราจะประกันได้อย่างไร ว่าสมาชิกในที่ประชุม จะไม่มีใครมีอำนาจต่อรองเหนือใคร?

ทางเดียวที่จะแน่ใจได้ว่า จะไม่มีใครมีอำนาจต่อรองเหนือใคร ในการประชุมตกลงกติกา อาจารย์จอห์น รอลส์ ให้เราลองใช้จินตนาการ ทำการทดลองทางความคิด หรือทดลอง “ในมโนนึก” ลองนึกถึงสถานการณ์สมมติสถานการณ์หนึ่ง ที่คนทั้งหลายเสมอภาคกันหมด ไม่มีผู้ใดแตกต่างกับใคร เรื่องอายุ เพศ ชาติพันธุ์ ปัญญา พละกำลัง สถานะทางสังคม ตระกูลสกุลรุนชาติ สมบัติพัสถาน สัทธิความเชื่อ หรือศาสนา หรือแม้กระทั่งเป้าหมายในชีวิตและเบื้องหน้าเบื้องหลัง

อาจารย์ รอลส์ เรียกสถานการณ์ในจินตนาการที่ไม่มีใครเหนือใคร ทุกคนเสมอหน้ากันหมด ว่าเป็นประชาคมที่อยู่หลัง “ม่านแห่งอวิชชา” (--วลีนี้ท่านใช้โดยมีความหมายเชิงบวก ไม่ได้เกี่ยวกับการพร่องความรู้ ภาษาอังกฤษว่า The Veil of Ignorance)


ตอนก่อน ศ.แซนเดลพูดเรื่อง กฎศิลธรรมของ คานท์ หรือ Categorical Imperative พร้อมกับนำมาปรับใช้กับเรื่อง การตอแหล

การบรรยายตอนที่สองนี้ ศ.แซนเดล กล่าวถึงการนำหลักศีลธรรมดังกล่าวของคานท์ มาใช้กับ การเมือง โดยคานท์กล่าวว่า ธรรมนูญที่ยุติธรรมของบ้านเมือง จะกำเนิดขึ้นจากสัญญาประชาคมชนิดพิเศษชนิดหนึ่ง--ไม่ใช่เกิดจากการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีคนมาประชุมพบปะกันจริง ๆ แต่จะเกิดจาก ความคิดอ่าน-ของเหตุผล”

ทำไมรึ? และเป็นอย่างไร? เพราะว่า คนที่มาประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้สรุปภาษาไทยขอยกตัวอย่างเองว่า เช่น พวกนายห้าง นายธนาคาร นายพล อดีตผู้พิพากษา อดีตอัยการ อดีตนายพลทหารตำรวจ อาจารย์มหาวิทยาลัย กำนันดัง ๆ ฯลฯ เหล่านี้ แต่ละคนก็มีผลประโยชน์ที่จะพิทักษ์รักษา--ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาเราไม่ได้ว่าอะไรกันนะครับ--เราเพียงแต่แถลงความจริงว่า พวกเขามีผลประโยชน์ที่จะต้องปกป้อง ซึ่งผลประโยชน์เหล่านั้น ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน

ดังนั้น ที่ประชุม--ก็เลยจะกลายเป็นที่พบปะหาทางประนีประนอม รอมชอม หาทางประสานประโยชน์กันออกมาให้ได้ คานท์เห็นว่า กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญที่ได้จากการประชุมลักษณะนี้ จะ “ไม่ยุติธรรม” อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการเรื่อง “สิทธิ์” เพราะว่า กฎหมายที่ได้มา จะเกิดจากอำนาจต่อรองอันแตกต่างกันในหมู่สมาชิกทั้งหลาย (หมายความว่า สมาชิกไม่ได้มีสถานะเสมอภาคกัน)

คานท์ เห็นว่า “Just Law” หรือ “กฎหมายที่ยุติธรรม” จะต้องถือกำเนิดจากสัญญาประชาคมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่การประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะมีที่มา จาก...

A contract that generates principles of right is merely an idea of reason, but it has undoubted pracitcal reality, because it can oblige every legislator to frame his laws in such a way that they could have been produced by the united will of the whole nation. --Immanuel Kant (สไลด์คำกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในคำบรรยาย ณ เวลาประมาณ 25:15)

“เหตุผล” เป็นผู้ให้กำเนิดสัญญาที่ธำรงหลักการเรื่องสิทธิ์ โดยสัญญาดังกล่าวจะมีสภาพการใช้งานจริงที่ไร้ข้อสงสัยและปราศจากข้อครหา เพราะว่่าผู้ยกร่างแต่ละคนอยู่ในกรอบที่จะต้องยกร่างเสมือนกับว่าได้สร้างกฎหมายขึ้นจากเจตนาอันประสานกันของประชาชนทั้งชาติ --ปรีชา ทิวะหุต แปล

สัญญาประชาคมฉบับดังกล่าวของ คานท์ มีลักษณะเป็น “สัญญาสมมติ” เกิดจากที่ประชุมสมมติ และเจตนาสมมติ

ศ.แซนเดล ตั้งคำถามว่า แล้วพลังทางศีลธรรมของสัญญาสมมติชนิดนี้ จะมาจากไหน? ต่อคำถามนี้ ทฤษฎี “สัญญาประชาคมโดยสมมติ” (A Hypothetical Contract) ของอาจารย์จอห์น รอลส์ จะช่วยไขปริศนา

อาจารย์รอลส์ กับอาจารย์คานท์ ใจตรงกันในแง่ที่ต่างคนต่างก็แอนตี้พวกประโยชน์นิยมด้วยกันทั้งคู่ ดังที่อาจารย์ รอลส์ แถลงไว้ว่า

Each person possesses an inviolability founded on justice that even the welfare of society as a whole cannot override… The right secured by justice are not subject to political bargaining or to the calculus of social interest. --John Rowls (สไลด์คำกล่าวนี้ ปรากฏอยู่ในคำบรรยาย ณ เวลาประมาณ 26:37)

มนุษย์แต่ละคน ผู้ใดจะล่วงละเมิดเขามิได้ สภาพอันล่วงละเมิดไม่ได้ของ คน ตั้งอยู่บนกฎแห่งความยุติธรรม ซึ่งแม้แต่ผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมก็ จะมาละเมิดมนุษย์ไม่ได้...สิทธิแห่งความเป็นคนที่มีความยุติธรรมค้ำประกัน อยู่นี้ ไม่ขึ้นต่อการต่อรองทางการเมืองใด ๆ และไม่ขึ้นกับการคิดคำนวณ เรื่องผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคม --ปรีชา ทิวะหุต แปล

นั่นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งที่อาจารย์ รอลส์ คล้อยตามอาจารย์ คานท์ ได้แก่เรื่องที่ว่า ความยุติธรรมจะต้องคิดอ่านกันออกมาจาก “สัญญาประชาคมสมมติ” คือสมมติทั้งสัญญาและประชาคม ไม่ใช่คิดขึ้นจากโลกที่เป็นจริง

อาจารย์ รอลส์ ท่านสร้างตัวอย่างความคิดที่แยบคายและคมคาย กระจ่าง ชัดเจน ใคร ๆ ก็เข้าใจได้ ท่านเสนอแนวคิดเรื่อง “ม่านแห่งอวิชชา” (The Veil of Ignorance)

คือ.....

ผู้สรุปภาษาไทยขอยกตัวอย่างเอง ไม่ใช่จากคำบรรยายของ ศ.แซนเดล แต่ก็อยู่ในกรอบของท่านและลอกเลียนจากท่าน.....สมมติว่าในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งในอินเดีย ซึ่งมีคนอยู่กันครบทุกวรรณะ ถ้าเราเกณฑ์ชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน ให้ออกจากบ้านมายืนรวมกันที่ลานกว้างหน้าหมู่บ้าน แล้วเราโรยม่านแห่งอวิชชาลงมาจากสวรรค์ ให้ม่านกั้นอยู่ระหว่าง ชาวบ้าน กับ หมู่บ้านของพวกเขา

สมมติต่อไปว่า เทพบนสวรรค์ปกาศิต ถอดวรรณะออกจากตัวชาวบ้านทุกคน เปลื้องทุกคนออกจากกรรมเก่าของตน รวมทั้งความรู้ความสามารถที่แต่ละคนมีอยู่ เปลื้องสิทธิในสมบัติพัสถานที่มีอยู่เดิม ล้างออกหมด แม้แต่อายุและสุขภาพจะดีหรือไม่ก็ถูกล้างออกเช่นเดียวกัน ชาวบ้านทุกคนถูกทำ “รี-ฟอร์แมท” โดยเทพปกาศิต

เพราะฉะนั้น บัดนี้ ก็จะไม่มีใครแตกต่างจากใคร สถานการณ์ใหม่ของบรรดาชาวบ้านทั้งหลาย ที่ถูกทำรี-ฟอร์แมทแล้วนี้ อาจารย์จอห์น รอลส์ ท่านบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเรียกสถานการณ์สมมตินั้นว่า “โลกต้นกำเนิด” อันเป็นแนวความคิดที่คู่อยู่กับ “ม่านแห่งอวิชชา”

บัดนี้ ก็ขอให้ชาวบ้านทั้งหลาย ที่ถูกทำรีฟอร์แมทแล้วและกำลังอยู่ใน “โลกต้นกำเนิด” นั้น ได้อภิปรายกันก่อน ว่าจะจัดการการปกครอง ตลอดจนแบ่งสันปันส่วน สถานะทางสังคม ชั้นวรรณะ สติปัญญา สมบัติพัสถาน อาชีพ รายได้ ฯลฯ ของคนในหมู่บ้านเดิมเสียใหม่อย่างไรจึงจะดี?

เมื่ออภิปรายจนตกลงกันได้แล้ว ว่า กติกาสังคมใหม่ในหมู่บ้านจะเป็นอย่างไร จึงขอให้เทพม้วนม่านแห่งอวิชชากลับขึ้นฟ้า

เปิดโอกาสให้ชาวบ้าน ได้เฮ! วิ่งกลับเข้าหมู่บ้าน ซึ่งบัดนี้ได้จัดสังคมเสียใหม่แล้ว แต่จะกลับเข้าบ้านเก่าไม่ได้นะ ทั้งนี้เพราะว่า ระหว่างที่ตกลงกติกาสังคมกันหลังม่านแห่งอวิชชานั้น ก็จะไม่มีหลักประกันว่า ใครจะได้เข้าไปสวมสิทธิ์อะไร ในหมู่บ้านเดิมของตน

เพราะว่า สถานะเดิมถูกยกเลิกไปหมดแล้ว ตัวเองก็โดน รีฟอร์แมท แล้ว

สังคมหมู่บ้านกลายเป็นสังคมใหม่ ซึ่งก็ไม่มีใครได้รับการค้ำประกันว่า ตนจะได้ลงตำแหน่งใด อายุเท่าไร มีสมบัติพัสถานอะไรบ้าง สติปัญญาจะเป็นอย่างไร (วิธีการนี้ชวนให้นึกถึงที่พวกเขมรแดงไล่ต้อนคน ออกจากกรุงพนมเปญในอดีต) ส่วนการที่จะคัดสรรและจัดสรรผู้คนลง ณ ที่ใดในสังคมใหม่ ก็จะมีวิธีการที่เสมอภาคกัน เช่น จับสลาก หรือออกเบอร์ หรือปั่นแปะ เป็นต้น

วิธีคิดแบบนี้มีข้อดีและมีประโยชน์ ตรงที่จะบังคับให้ผู้คิด หรือนักคิด ต้องไปคิดมาจากใจของผู้ด้อยโอกาสที่สุดในสังคม เพราะว่าก็ในเมื่อเราไม่รู้ว่าพอม่านแห่งอวิชชาม้วนกลับเข้ากลีบเมฆไป ตัวเราเองซึ่งโดนฟอร์แมทใหม่โล่งโจ้งล่อนจ้อนแล้วนี้ เราจะได้เข้าไปสวมบทบาทหรือตำแหน่งใดในสังคม เพราะฉะนั้น เราย่อมคิดสร้างแบบแผนสังคม ที่ผู้ด้อยโอกาสที่สุด ก็ยังพออยู่ได้ตามอัตภาพ ไม่ใช่ต้องอยู่แบบตกนรก--เผื่อว่าผู้ด้อยโอกาสที่สุดคนนั้น จะเป็นเรางัย!

ศ. แซนเดล เดินเรื่องบรรยายต่อไปว่า กติกาที่ตกลงกันจากเบื้องหลังม่านแห่งอวิชชา ของอาจารย์รอลส์ จะยุติธรรมหรือไม่? อย่างไร? โดยท่านได้ยกตัวอย่างข้อตกลงในโลกจริง ๆ ที่ได้ผลลัพธ์ ไม่ยุติธรรม

เรื่องนี้ท่านผู้อ่าน และผู้เขียนสรุปภาษาไทย เราคงมีประสบการณ์กันมาทุกคน ว่าบางทีเราไปเซ็็นสัญญาอะไรไว้ หรือไปตกลงกันด้วยวาจาไว้ ต่อมาภายหลังไม่นาน เรารู้สึกว่าสัญญาที่เราตกลงไปแล้วนั้น--ไม่ยุติธรรม ในที่นี้ ศ.แซนเดล ต้องการจะชี้ว่า สัญญา ไม่ได้แปลว่าจะเป็นข้อตกลงที่ยุติธรรม ดังจะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้เรามีกฎหมายเกี่ยวกับข้อตกลงหรือข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม (ซึ่งในประเทศไทยก็มี – ปรีชา)

ศ.แซนเดล ชวนให้นักศึกษาพิจารณา “นิติกรรม-สัญญา ในโลกแห่งความเป็นจริง” ว่าจริง ๆ แล้วสัญญาต่าง ๆ ที่เราทำกันในชีวิตประจำวัน โดยแท้จริงนั้นมีพลังทางศีลธรรมอันใด หนุนอยู่ หรือแฝงอยู่ หรือเจือสมอยู่บ้าง อะไรที่ทำให้สัญญาเหล่านั้นใชับังคับกันได้--หมายถึงพลังในทางปรัชญา ไม่ใช่ลักษณะบังคับทางบ้านเมือง--แบบว่าเดี๋ยวเรียกตำรวจจับ หรือเดี๋ยวเหอะจะฟ้องศาล เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เพื่อที่จะรู้พลังเบื้องหลังสัญญาประชาคมสมมติ เราจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้จากสัญญาของจริง ที่ไม่ใช่สัญญาสมมติ ดูซิว่าศีลธรรมของสัญญาของจริง ได้พลังมาจากไหน ซึ่งตรงนี้มีคำถามที่เราจะต้องแสวงคำตอบ คือ

How do actual contracts bind me or obligate me?

1) สัญญาผูกพันฉัน หรือเรียกร้องเอาจากฉัน หรือก่อหนี้ให้ฉัน ได้อย่างไร?

ตัวอย่างของศ.แซนเดล : ฉันจะจ่ายเงินให้คุณ 100 ดอลลาร์ ถ้าคุณไปหาหอย นางรมมาให้กิน 100 ตัว แต่ปรากฏว่า เมื่อฉันกินหมดแล้ว ฉันไม่จ่าย คุณถามฉันว่า ทำไมไม่จ่าย ก็ในเมื่อเราได้ตกลงสัญญากันไว้แล้วอ่ะ?

กรณีนี้ สัญญา ผูกพัน เพราะมีผลประโยชน์ต้องตอบแทนกัน ฉันได้ประโยชน์จาก หยาดเหงื่อแรงงานของคุณ ฉันกินหอยนางรมหมดแล้ว เพราะฉะนั้น ฉันก็ต้องตอบแทนคุณด้วยการจ่ายเงิน 100 ดอลลาร์

ทั้งนี้เพราะ ตัวสัญญาได้กลายเป็นเครื่องมือแห่งประโยชน์ร่วม/หรือเครื่องมือแห่ง ประโยชน์ชนิดต่างตอบแทน (An Instrument of Mutual Benefit/Reciprocal Exchange)

หมายเหตุของผู้สรุปภาษาไทย--กฎหมายไทย เรื่องสัญญาต่างตอบแทน อยู่ที่ประมวลแพ่งฯ มาตรา 369 ซึ่ง สามารถบังคับชำระหนี้ได้ ตามมาตรา 203-225

ศ.แซนเดล ขยายมิติของตัวอย่างออกไปอีกเล็กน้อย โดยสมมติว่า เพียงสองนาทีที่ได้ตกลงกัน คุณยังไม่ทันจะได้ลงมือทำงาน ฉันบอกเลิกสัญญา ประโยชน์ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ฉันก็ไม่รู้จะตอบแทนคุณด้วยเรื่องอะไร จะตอบแทนอะไร--ในเมื่อคุณยังไม่ได้ทำอะไร

ศ.แซนเดล ตั้งคำถามกับนักศึกษาว่า กรณีเช่นนี้ ฉันยังจะต้องตอบแทนคุณ เพียงเพราะเราได้ทำสัญญากันไว้ เท่านั้นล่ะหรือคือเหตุุผล?

“ฉัน เป็นหนี้อะไร คุณ?” (ในความหมายที่ว่า Why do I owe you? ไม่ใช่ ความหมาย What do I owe you?)

How do they justify the terms they produce?

2) การมีสัญญากัน แปลว่า ข้อตกลงนั้นเป็นธรรม จริงหรือ?

ศ.แซนเดล ตอบว่า “ไม่จริง”

สัญญาในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่โลกของสัญญาประชาคมสมมตินั้น ยากที่จะเป็นเครื่องมือศีลธรรมที่พอเพียงอยู่ในตัวเอง หมายความว่า จะเกิดคำถามขึ้นได้เสมอว่า-- “ที่ตกลงกันนั้น ยุติธรรมแล้วหรือยัง?” (=หมายความว่า มีศีลธรรมหรือไม่)

เมื่อมีการตกลงเซ็นสัญญากันก็ดี หรือตกลงอะไรกันด้วยวาจาก็ดี ไม่ได้แปลว่ามีความเป็นธรรม ความชอบธรรม หรือความยุติธรรมเกิดขึ้นแล้ว หามิได้--คนเราลงนามในสัญญาที่ไม่เป็นธรรมออกบ่อยไป (สัญญาไม่เป็นธรรม ในทางปรัชญาก็เท่ากับว่า สัญญานั้นผิดศีลธรรม)

ศ.แซนเดล ยกตัวอย่างหญิงชราชาวเมืองชิคาโก ที่ชักโครกรั่ว ด้วยใจสมัคร-เธอลงนามในสัญญาซ่อมชักโครกกับช่างซ่อมเจ้าเล่ห์ ผู้เสนอซ่อมโดยคิดค่าซ่อมถึง 50,000 ดอลลาร์ แต่ต่อมา-โชคดีที่มีผู้เข้ามาช่วยเหลือ แก้ไขสถานการณ์ให้ร้ายกลายเป็นดี ไม่ต้องเสียเงินขนาดนั้น

สัญญาในโลกแห่งความเป็นจริง จึงไม่ใช่เครื่องมือศีลธรรมที่พอเพียงอยู่ในตัว เพราะมีขีดจำกัดทางศีลธรรม--หมายความว่า คนอาจลงนามในสัญญาที่ผิดศีลธรรม ก็เป็นได้

ณ เวลาในวิดีโอ ประมาณ 37:00 ศ.แซนเดล ฉายสไลด์แสดงพลังทางศีลธรรมที่แฝงอยู่กับ ข้อสัญญาในโลกแห่งความเป็นจริง --ที่ไม่ใช่ประชาคมสมมติ แสดงเหตุผลว่า สัญญาหรือข้อตกลง ก่อให้เกิดพันธะผูกพัน (หรือ “หนี้”) ได้อย่างไร?

How do actual contracts generate obligation?

1. Consent-Based --------à AUTONOMY

สัญญาเกิดจากความยินยอม ซึ่งหมายถึง อัตโนอนุมัติ ของ คานท์

เมื่อฉันทำสัญญา หนี้ที่เกิดขึ้นจึงเป็น Self Imposed คือว่า ด้วยใจสมัคร

2. Benefit-Based -------à RECIPROCITY

สัญญาอิงผลประโยชน์ หมายถึงลักษณะ ต่างตอบแทน ซึ่งกันและกัน

คือเป็น Mutual Benefit --ผลประโยชน์ร่วมกัน

พิจารณาตามข้อ 2. ก็แปลว่า สัญญาอาจเกิดขึ้นได้ในลักษณะ ต่างตอบแทน โดยที่ ความยินยอม (ใจสมัคร) จะไม่ใช่เงื่อนไขหลักของการเกิดสัญญา ศ.แซนเดล แจงเหตุผลว่า เมื่อมีลักษณะต่างตอบแทน-มีการแลกเปลี่ยนกัน ดังนั้น ผู้รับประโยชน์ย่อมมีพันธะ (เกิดหนี้) แม้จะไม่ได้สมัครใจที่จะก่อหนี้ก็ตาม-แต่หนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

หมายเหตุของผู้สรุปภาษาไทย--กฎหมายไทย ที่ว่า ความยินยอม เป็นองค์ประกอบหนึ่งของนิติกรรม อยู่ที่ประมวลแพ่งฯ มาตรา 149 โดยที่บัญญัติเรียกว่า “ด้วยใจสมัคร”

ศ.แซนเดล ยกตัวอย่าง นักปรัชญาศีลธรรม (ทางแพ่ง) ชื่อดัง ชาวสก็อต นายเดวิด ฮูม ผู้แอนตี้ ความยินยอม ว่าไม่ใช่พื้นฐานหลักแห่งการเกิดข้อสัญญา เรื่องราวมีว่า.....

เดวิด ฮูม ถูกทดสอบแนวความคิดของตนเอง ด้วยเหตุการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริง กล่าวคือ ฮูม มีบ้านอยู่หลังหนึ่งในนครเอดินเบอะเรอะ เขาให้มิตรผู้หนึ่งเช่าบ้านหลังนั้น แล้วมิตรผู้นั้นนำบ้านไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง ต่อมาผู้เช่าช่วงเห็นว่า บ้านหลังนั้นสมควรทาสีเสียใหม่ จึงว่าจ้างช่างมาทาสี แล้วส่งใบเสร็จไปเก็บเงินที่ฮูม และฮูมปฏิเสธไม่จ่าย

ทั้ง ๆ ที่ ฮูม เคยเขียนหนังสือแอนตี้เรื่องความยินยอมว่าเป็นรากฐานของสัญญา แต่เมื่อความขึ้นศาล เขากลับแก้ตัวว่า ช่างทาสีทำไปโดยพลการ เขาไม่ได้ให้ความยินยอม ช่างทาสีแย้งว่า บ้านฮูมอยู่ในสภาพที่ต้องการการทาสี และเขาก็ได้ทาสีให้อย่างดี ฮูมโต้ว่า ถ้าจะใช้เหตุผลเช่นนั้นแล้วละก้อ ช่างทาสีผู้นี้สามารถหาเรื่องทาสีให้แก่บ้านหลังไหนก็ได้ในเอดินเบอะเรอะ แต่-ในที่สุดศาลตัดสินให้ฮูม จ่ายเงิน ด้วยเหตุว่าเขาเป็นผู้รับประโยชน์ เขาต้องตอบแทน ตามหลักศีลธรรมเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทน-Reciprocity อันเป็นรากเหง้าหนึ่งของสัญญา

หมายเหตุของผู้สรุปภาษาไทย--กฎหมายไทย มีตัวบทว่าด้วย การจัดการงานนอกสั่งและลาภมิควรได้ ไว้กำกับกรณีนี้ ประกอบด้วยมาตราสำคัญ และมีชื่อเสียงโด่งดัง สามมาตรา ในประมวลแพ่งฯ คือ

มาตรา “เสือก” 395 บัญญัติว่า “บุคคลใด เข้าทำกิจการแทนผู้อื่น โดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ให้ทำ.....”

มาตรา “เสือกไม่เข้าท่า” 396 บัญญัติว่า “ถ้าการที่เขาเข้าจัดการงานนั้น เป็นการขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ.....”

มาตรา “เสือกเข้าท่า” 401 บัญญัติว่า “ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้น เป็นการสมประโยชน์ของตัวการ.....”

สรุป

ศ.แซนเดล สรุปเรื่อง “สัญญา ต้องเป็นสัญญา” ว่า สัญญาในโลกแห่งความเป็นจริง มีรากเหง้าศิลธรรมอยู่สองเหง้า คือ อัตโนอนุมัติ (ตัวเองยินยอมทำสัญญาเอง) กับ ต่างตอบแทน

แต่ในความเป็นจริง สัญญาทุกสัญญามักจะพร่องพลังทางศิลธรรมสองประการนั้น เช่น อัตโนอนุมัติ อาจจะพร่อง เพราะคู่สัญญามีอำนาจต่อรองไม่เท่าเทียมกัน ส่วนประเด็น ต่างตอบแทน ก็อาจจะพร่องได้ เพราะคู่สัญญารู้ข้อมูลไม่เท่าเทียมกัน จึงประเมินคุณค่าหรือราคาของสิ่งที่จะตอบแทนผิดพลาด ประเภทเอาทองดีแลกกระเบื้อง เป็นต้น

ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังได้อ้างมานั้น เราน่าจะลองจินตนาการถึงการทำสัญญาสักฉบับหนึ่ง ที่สมบูรณ์พร้อม ไม่ว่าจะเป็น อัตโนอนุมัติ หรือ ต่างตอบแทน และมีหลักประกันว่าคู่สัญญาเสมอภาคกัน--ทั้งในแง่กำลังอำนาจและแง่ข้อมูลความรู้ ต่างฝ่ายต่างมีสถานะทัดเทียมกัน มิใช่แตกต่างกัน ซึ่งสภาพเช่นนี้ก็คือแนวคิดของอาจารย์ รอลส์ ที่ว่า วิธีคิดถึงความยุติธรรม จะต้องคิดจากสัญญาสมมติที่ตกลงกันหลังม่านแห่งอวิชชา--อันเป็นสภาพแห่งความเสมอภาค ฉะนี้แล้ว สัญญาจึงจะยุติธรรม

ชมต้นฉบับวีดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สำหรับตอนนี้ 

สัญญาต้องเป็นสัญญา

 


สรุปคำบรรยายปรัชญา/ปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศ.ไมเคิล แซนเดล

-- ปรีชา ทิวะหุต สรุปเป็นภาษาไทย

-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 185 Feb - Mar 2015

X

Right Click

No right click