December 21, 2024

ฤๅโลกจะทรุด?

October 23, 2021 9299

จำได้ว่าหลังวันคริสต์มาส 2547  มีกิจธุระมาพักอยู่ชานกรุงด้านตะวันออก  แถวบางนา 

ใกล้กับมหาวิทยาลัยรามคำแหงวิทยาเขตบางนา  ช่วงบ่าย ๆ ในล็อบบี้โรงแรมโนโวเตลที่พำนัก  เสียงผู้คนพูดกันฮือฮาเรื่องเกิดคลื่นยักษ์ถล่มแถวภูเก็ตและชายฝั่งทะเลอันดามัน  คนที่ยังไม่ได้ชมข่าวต่างก็ฟังเรื่องราวจากปากของแขกโรงแรมและพนักงาน  คาดเดากันไปต่าง ๆ นานา  ไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่  ผู้เขียนซึ่งมีชีวิตปกติไปมาอยู่ทั้งสองฝั่งทะเล  โดยที่ฝั่งอ่าวไทยอยู่ห่างจากบ้านประมาณเจ็ดกิโลเมตร  ส่วนฝั่งทะเลอันดามันอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 50 กิโลเมตร  ที่ฝั่งอันดามันมีบ้านน้าอยู่ตำบลราชกรูด  จังหวัดระนอง  และบ้านเพื่อนอยู่อำเภอคุระบุรี  จังหวัดพังงา

เพื่อนคนหนึ่งเป็นชาวเกาะอยู่กลางทะเล  สมัยเด็กเพื่อนโม้ให้ฟังว่าที่เกาะนั้น  ถึงหน้าลมสลาตันบางทีคลื่นใหญ่มากสูงเท่ายอดมะพร้าว  โถมขึ้นมาจากทะเล  ผู้เขียนถามว่ามันไม่กวาดไปหมดเกาะเลยหรือ  แล้วเอ็งมาเล่าเรื่องนี้อยู่ได้อย่างไร  เอ็งก็น่าจะไปกับคลื่นเรียบร้อยแล้ว  เพื่อนมันหัวเราะ  มันบอกว่าบ้านมันอยู่บนเนินสูง(ขี้โม้)  ในฤดูคลื่นลมสงบผู้เขียนเคยเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนบนเกาะ  แล้วจากนั้นก็ได้อาศัยเรือเดินทะเลลำน้อย สร้างด้วยไม้ทั้งลำ  เดินทางจากเกาะซึ่งอยู่ในอ่าวไทยเข้ากรุงเทพฯ  เดินทางมาสองวันสองคืน  ถึงสมุทรปราการเรือก็เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา  ผู้เขียนขึ้นฝั่งแถวทรงวาดหรือราชวงศ์  ประมาณนั้น  ระหว่างการเดินทาง  ยามคลื่นลมสงบทะเลช่างสวยงามดีจริง ๆ  กลางคืนดาวเต็มฟ้า  กลุ่มดาวที่ตัวเองรู้จักมาแต่เด็กเพราะผู้ใหญ่สอนให้ดู  คือ  ดาวลูกไก่  ดาวจระเข้  และดาวว่าวปักเป้า  ขึ้นให้เห็นหมดและก็ได้เห็นดาวจระเข้หันหางขึ้นกลางหาวด้วย...ดาวที่ไม่ได้เห็นคือดาวจุฬามณี  ที่เปล่งแสงอัญมณีมาจากยอดเจดีย์วัดจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ซึ่งเป็นวัตถุชิ้นเดียวบนสวรรค์ที่มนุษย์โลกสามารถแลเห็นได้ด้วยตาเปล่า  (นอกนั้นจะเห็นได้ก็ ด้วยใจ  เท่านั้น)     

วันหลังวันคริสต์มาส 2547  ที่ล็อบบี้โรงแรมโนโวเตล  บางนา  ผู้เขียนก็นึกเดาเอาว่าคงจะเป็นเรื่องของคลื่นยักษ์ธรรมดาที่มีสิทธิมาได้กับลมสลาตันปลายฤดู  เพียงแต่ว่าลมอาจจะแรงหน่อยและคลื่นก็เลยใหญ่กว่าธรรมดาสักนิด  คิดได้ดังนั้นก็สั่งไวน์แดงมาดื่มแก้วหนึ่งเพื่อดัดจริตให้เกิดความครื้มอกครื้มใจ ค่ำวันนั้นได้ชมรายละเอียดของข่าวคลื่นยักษ์ทางโทรทัศน์ฝรั่งเศสผ่านดาวเทียม ยังจำได้ว่าผู้ประกาศรายงานข่าวเรื่องสึนามิที่เกิดขึ้นว่า “เป็นอุบัติการณ์ระดับพิภพ” เขาใช้สำนวนว่า “à l’échelle planétaire” (planetary level)  ก็รู้สึกเย็นไขสันหลังเล็กน้อย  แต่ด้วยไวน์แดงอีกหนึ่งแก้วก็สามารถกลับจริตจนเคลิ้ม ๆ ไปได้ และเมื่อหลังสงกรานต์ปี 2551 นี้เอง ที่องค์การอุตุนิยมอเมริกัน (The National Oceanic and Atmospheric Administration –NOAA) ได้สร้างภาพเคลื่อนไหวเป็นไฟล์ความจุสูง (6.6 MB  เพราะว่าเมื่อปี 2548 เขาเคยโพสต์ไฟล์ขนาดเล็ก 2.8 MB มาก่อน) แสดงให้เห็นผลกระทบจากแผ่นดินไหวใต้ทะลที่สุมาตรา เกิดสึนามิ “ระดับพื้นพิภพ” แผ่ขยายไปทุกท้องสมุทร์ของโลก ไฟล์นี้ถูกโพสต์ไว้ใหม่ ๆ ในเครือข่ายใยแมงมุมเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2551 นี่เอง นับได้ประมาณสามปีเศษหลังเหตุการณ์ ภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวจะน่าดูน่าชมสำหรับท่านที่สนใจ เขาทำนาฬิกาวิ่งให้ดูด้วยว่า คลื่นเดินทางไปถึงไหนเมื่อเวลาผ่านไปเท่าไร คลิ้กชมได้ที่  http://nctr.pmel.noaa.gov/animations/Sumatra2004-cmoore.mov คลิกแล้วบางทีหน้าจออาจเตือนว่า  อาจมีไวรัส  จะโหลดเปล่า?  ให้คลิ้กโอเคไปเลย...ยอมรับไวรัสทุกรูปแบบ แป้ปเดียวจะขึ้นไฟล์ฉายด้วยควิกไทม์นะครับ  ถ้าไม่มีควิกไทม์ก็อาจจะดูไม่ได้ก็ได้นะ

คลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทร์อินเดียคร่าชีวิตคนไปราว 230,000 ชีวิต  รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวยุโรปนับพันคนที่มาผึ่งแดดแถวจังหวัดภูเก็ตและกระบี่  แรก ๆ ก็ประกาศจำนวนคนตายนับร้อย  ต่อมาขยับขึ้นเป็นนับพัน  และต่อมาอีกก็ขยับเป็นเลขหมื่น  ในที่สุดก็จบลงด้วยตัวเลขสองแสนเศษดังว่า  ซึ่งก็เป็นตัวเลขประมาณการ  วันที่ 3 พฤษภาคม 2551 นี้  พายุนาร์กิสถล่มดินแดนลุ่มน้ำปากแม่น้ำอิระวดีซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของพม่า  แรก ๆ ประกาศกันว่ามีคนตายนับร้อย  ต่อมาขยับขึ้นเป็นนับพัน  และนับหมื่นในไม่ช้า  ขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้แหล่งข่าวบางแหล่งเล่นตัวเลขขึ้นเป็นเรือนแสนแล้ว  อีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ต่อมาที่มณฑลเสฉวน  ประเทศจีน  12 พฤษภาคม 2551 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่  จำนวนคนตายขณะนี้นับกันเป็นเรือนหมื่น  คาดว่าจะเป็นหลายหมื่นในไม่ช้า  ขณะที่กำลังเขียนนี้ตัวเลขขยับเป็นครึ่งแสนแล้ว  โศกนาฏกรรมสำหรับคนผู้สูญเสียด้วยธรณีวิบัติและวารีวิบัติคงจะประมาณกันไม่ได้  และผู้เขียนขออนุญาตท่านผู้อ่าน  ซึ่งแม้ท่านไม่อนุญาตก็จะดื้อทำ  คือจะขอละเว้นเรื่องการเมือง  อันเป็นโศกนาฏกรรมที่มนุษย์ก่อกรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองซึ่งตามมาหลังเหตุการณ์ธรณีวิบัติ  วายุวิบัติ  และวารีวิบัติ  จะเห็นว่าในขณะที่ผู้นำและรัฐบาลจีนเอาใจใส่ต่อประชาชนผู้ประสบภัยอย่างจริงจัง  แต่ผู้นำและรัฐบาลพม่ากลับเมินเฉยทำตัวเป็น uncaring government  นี่ใช้คำอย่างสุภาพที่สุดเท่าที่จะคั้นและคัดออกมาได้ (เพราะโดยสันดานแล้ว  ผู้เขียนไม่ได้เป็นคนสุภาพแต่ประการใด)

ผู้เขียนก็เป็นผู้หนึ่งที่ประทับใจกับแผ่นดินพม่า  เคยเดินทางไปท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง  ขับรถไปไหนมาไหนได้เองในกรุงย่างกุ้งสมัยที่ยังไม่ได้ย้ายเมืองหลวงไปตั้งอยู่ที่ “jungle capital” ทางเหนือขึ้นไป  และเช่นเดียวกับคนอื่นทุก ๆ คนเวลาไปเมืองพุกาม พอตกเย็นผู้เขียนก็จะปีนขึ้นไปนั่งชมพระอาทิตย์ตกดินในคุ้งน้ำอิระวดีบนเทเรซของพระเจดีย์ “สรรพพัญญู”(Thatbyinnyu)  และเช่นเดียวกับคนอื่นทุก ๆ คนที่เวลาไปหงสาวดีก็จะไปนมัสการพระธาตุมุตาว(ชเวเมาดอ)ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวังที่สมเด็จพระนเรศวรเคยถูกกักไว้เป็นตัวประกัน  เช่นเดียวกับคนอื่นทุก ๆ คนอีกเหมือนกันที่ถ้าเขามีกลองยาวกันที่วัดพระธาตุ  ผู้เขียนก็จะไปชม  ในแม่น้ำอิระวดีตอนกลางของพม่าเหนือขึ้นไปจากย่างกุ้งราว 700 กิโลเมตร  แม่น้ำกว้างใหญ่ดุจทะเลสาบน้อย ๆ ในน้ำมีปลาเข้แบบเดียวกับที่มีในแม่น้ำโขง  เนื้อเหลืองเหมือนทาขมิ้น  ซึ่งผู้เขียนก็เหมือนกับคนอื่นหลาย ๆ คนที่ชอบกิน  ก็จะไปหาปลาเข้มากิน  และทุกครั้งที่ไปพม่าก็จะเข้าประเทศทางเมืองย่างกุ้ง ซึ่งทุกครั้งผู้เขียนก็จะไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากอง นั่งพิงเสาศาลารายบนลานพระเจดีย์  แหงนหน้าชมฉัตรบนยอดพระเจดีย์ที่พระเจ้ามังระสร้างเป็นเจดีย์บูชา  ตามข่าวลือบอกว่าเงินทองของมีค่าประดับฉัตรนั้น  ได้ไปจากกรุงศรีอยุธยา...

พม่าประสบธรณีพิบัติมากกว่าเมืองไทยเยอะ  เช่นเดียวกับคนอื่นทุก ๆ คนที่ไปนมัสการพระธาตุมุตาวที่หงสาวดีซึ่งใหญ่ไม่แพ้พระปฐมเจดีย์  ผู้เขียนก็ย่อมได้เห็นยอดเจดีย์เก่าขนาดมหึมาของพระธาตุ หักปักจมธรณีอยู่บนลานพระเจดีย์นั่นเอง...ฝีมือแผ่นดินไหวในอดีต!  พม่ามีบ่อน้ำมันบนบกซึ่งคงจะเป็นสายเดียวกับบ่อน้ำมันอำเภอฝางในเมืองไทย เพราะฉะนั้น  ผู้เขียนก็เป็นเช่นเดียวกับคนอื่นทุก ๆ คนที่เคยอ่านพงศาวดารมอญเรื่องราชาธิราช  คือเราทราบว่า  สงครามแย่งบ่อน้ำมันแบบที่อเมริกันทำในอิรัค  หรืออิรัคทำกับคูเวต  ก็เคยเกิดขึ้นบนแผ่นดินพม่าในอดีตตามที่พงศาวดารมอญเล่าไว้เรื่องการวิวาทกันเพื่อแย่ง “บ่อน้ำมันดิน”    

ธรณีวิบัติ วายุวิบัติ และวารีวิบัติที่เรารับรู้กันในเวลานี้นั้น ไม่ใช่เรื่องผูกขาดของโลกตะวันออก มันบ่แน่ดอกนาย ในอู่อารยธรรมตะวันตกนั้นก็เคยพบกับเรื่องแบบนี้มา เช่น เรื่องเมืองปอมเปอีและเมืองใกล้เคียงถูกเถ้าถ่านภูเขาไฟฝังทั้งเป็นทั้งเมือง หรือก่อนนั้นก็เป็นเรื่องประภาคารแห่งอะเล็กซานเดรียถล่มจมทะเล ผู้เขียนก็เช่นเดียวกับคนอื่นอีกหลาย ๆ คนที่เคยไปชมปอมเปอีมาแล้วและนึกอยากจะไปชมอีกเพราะทางการอิตาลีเพิ่งจะจัดพิพิธภัณฑ์ใหม่เกี่ยวกับปอมเปอี แต่เรื่องของปอมเปอีเป็นเรื่องเก่ามาก ปอมเปอีไม่ใช่กรุงโรมแต่เป็นเมืองเล็ก ๆ ดังนั้น เรื่องของปอมเปอีจึงดูเหมือนจะไม่มีร่องรอย “สึนามิทางวัฒนธรรม” กระทบถึงใครสักคนในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคนตะวันตกหรือคนตะวันออก หรือชาวโลกาภิวัตน์ธรรมดา ๆ  ผู้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเป็นคนอะไร

แล้วธรณีพิบัติเหตุการณ์ใดในยุโรป  ที่มีผลเป็น “สึนามิทางวัฒนธรรม” ตกทอดถึงผู้คนจำนวนมากจำนวนหนึ่ง  ในโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน?

วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2298  ตรงกับรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์  กรุงศรีอยุธยา  และตรงกับต้นรัชกาลอะลองพญาในพม่าซึ่งเมื่อสองปีก่อนนั้นก็ได้ยกทัพไป “ปลดปล่อย” รัฐไทยใหญ่ได้สำเร็จ  ระหว่างนั้นอะลองพญาทำสงครามปลดปล่อยนั่นปลดปล่อยนี่โดยตลอด (พูดให้ทันสมัย)  เช่น  พ.ศ. 2299 ปลดปล่อยพม่าตอนล่างรวมทั้งบริเวณปากน้ำอิระวดีที่กำลังประสบภัยพายุนาร์กิสอยู่นี้  พ.ศ. 2300 ปลดปล่อยมณีปุระ  พ.ศ. 2301 ปลดปล่อยหงสาวดี  พอถึงพ.ศ. 2303 อะลองพญาก็ยกกองทัพจะมา “ปลดปล่อย” กรุงศรีอยุธยา  ระหว่างล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น  ท่านก็ยิงปืนใหญ่ด้วยตนเอง  เป็นคนเอาจริงเอาจังและขยันขนาดนั้น  ปืนระเบิดใส่เข้าให้  อาการปางตายก็เลยต้องถอยทัพกลับไป  สิ้นชีวิตระหว่างทางในเมืองไทย  แต่พวกบิ๊ก ๆ ในกองทัพพม่าพากันปิดข่าว  ยกศพท่านขึ้นนั่งทำเป็นวับ ๆ แวม ๆ ให้ไพร่พลนึกว่าอะลองพญายังเป็น ๆ อยู่  จนกระทั่งยกทัพกลับถึงเขตพม่า  ไพร่พลถึงได้รู้ว่าอะลองพญาเดินทางกลับมากับกองทัพโดยประทับอยู่ใน “เดดโหมด”(dead mode) ตลอดเลยอ่ะ...

เช้าตรู่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2298  ณ กรุงลิสบอนน์  ประเทศโปรตุเกส  ตรงกับต้นรัชกาลอะลองพญาในพม่า  และตรงกับรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์  กรุงศรีอยุธยา  กรุงลิสบอนน์เวลานั้นคือมหานครใหญ่โตที่สุดนครหนึ่งในยุโรป  เป็นเมืองหลวงอาณาจักรริมทะเลที่กว้างใหญ่สุดลูกตากว่าคาร์เธจ  ซึ่งเคยแจวเรือ(เรือแจวขนาดใหญ่ชนิดใช้ทาสนับร้อยช่วยกันแจว)และขี่ช้างสร้างอาณานิคมอยู่รอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  แต่โปรตุเกสชักใบแล่นเรือไปสร้างอาณานิคมชายฝั่งแทบจะทุกย่านสมุทร์  ถึงเวลานั้นคือพ.ศ. 2298  ก็ล่วงพ้นยุครวยเครื่องเทศจากอินเดียและหมู่เกาะอินเดียตะวันออกอันเป็นสินค้าแบรนด์เก่ากันมาแล้ว  อีกนัยหนึ่งพ้นยุคร่ำรวยด้วยเครื่องปรุงดับกลิ่นเนื้อเน่า  พูดอีกแบบว่ารวยของคาว  สมัยใหม่ (หมายถึงสมัยนั้นหรือพ.ศ. 2298) มีสินค้าตัวใหม่  คือ  น้ำตาลกับกาแฟ  ซึ่งโปรตุเกสล้อนช์สินค้าตัวใหม่ที่มีอยู่มหาศาลจากอาณานิคมบราซิลเข้ามาในยุโรป  อีกนัยหนึ่งรวยด้วยกลิ่นหอมกรุ่นของกาแฟและความหวานจากน้ำตาลอ้อย  พูดอีกแบบว่ารวยของหวาน  แถมยังพบเหมืองทองในบราซิลอีกต่างหาก  เป็นทองจริงที่ไม่ต้องไปค้าไปขายสิ่งอื่นแล้วเอากำไรมาแปลงเป็นทองคำ  เงินทองไหลมาเทมาเพราะปล้นมาได้ตามอำเภอใจ  นึกอยากจะหยิบอะไรก็หยิบ...ประมาณนั้น 

เช้าตรู่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2298 (ค.ศ.1755)  เป็นวันนักขัตฤกษ์ตามคติคาธอลิคเรียกว่า “วันนักบุญทั้งปวง”(Todos Los Santos)  เทียบอย่างหยาบแบบคร่าว ๆ ได้กับวันเช็งเม้งหรือวันบุญเดือนสิบทางปักษ์ใต้  พระราชาแห่งโปรตุเกสเวลานั้นคือ พระเจ้าโฮเซ่ ที่ 1 นำพระราชวงศ์ร่วมพิธีมิซซาแต่เช้ามืด  เสด็จออกจากพระราชวัง ปาลาซิโอ เด ริไบรา  อันสง่างามริมฝั่งน้ำตากุส  วังนั้นทำหน้าที่เป็นที่ประทับพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสมานานกว่า 200 ปีก่อนนั้น  คือนับตั้งแต่ปีค.ศ.1511 เรื่อยมาจนตลอดยุคการเริ่มเดินทางค้นหาและจัดตั้งอาณานิคมโพ้นทะเล  ท้องพระคลังเก็บทรัพย์สมบัติประมาณค่ามิได้  หอสมุดหลวงอันมีชื่อเสียงก้องยุโรป  เก็บเอกสารการเดินเรืออันหาค่ามิได้เช่นเดียวกัน  รวมทั้งบันทึกการเดินทางของ วาสโก ดา กามา  และของนักผจญภัยคนอื่น ๆ  โรงโอเปร่าที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ ชื่อ  Phoenix Opera ตั้งอยู่ใกล้พระราชวัง  เช้าตรู่วันเทศกาลนักบุญทั้งปวงครั้นเสร็จพิธีมิซซาแล้ว  พระราชวงศ์ออกจากกรุงลิสบอนเพื่อแปรราชสถานยังชนบทนอกกรุง  โดยมิได้เฉลียวใจว่าขากลับมานั้น  จะไม่ได้เห็นพระราชวัง ปาลาซิโอ เด ริไบรา  กันอีกเลย

เพราะว่าช่วงสาย  เวลาประมาณ 09.40 นาฬิกา  นครใหญ่และรุ่มรวยเลื่องลือของยุโรปพังพินาศสันตะโรราบเป็นหน้ากลอง  เมืองพินาศไปราว 90%  ผู้คนล้มหายตายจากไปประมาณครึ่งเมือง  พระราชวัง ปาลาซิโอ เด ริไบรา  หายไปทั้งวัง  โรงโอเปร่าฟินิกซ์ก็หายไปด้วย  เพิ่งจะขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณที่เคยเป็นพระราชวังกันเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง  ทั้งนี้เพราะเกิดธรณีวิบัติในมหาสมุทร์แอตแลนติคห่างออกไปราว 200 กิโลเมตร  ประมาณว่าสั่นสะเทือนราว 9 สเกลริคเตอร์  ก่อให้เกิดวารีวิบัติเป็นคลื่นยักษ์โถมเข้าถล่มกรุงลิสบอนน์  ถึงสามระลอกยักษ์  กำแพงน้ำสูงประมาณ 30 ถึง 50 เมตร  ด้วยความตระหนกตกใจกับคลื่นยักษ์ระลอกแรกผู้คนบางส่วนแตกตื่นขึ้นเรือเท่าที่หาได้  ประสงค์จะหนีออกทางทะเล  แต่ออกจากชายฝั่งไปได้ไม่ไกล  คลื่นยักษ์ลูกที่สองก็ทะมึนมาแต่ไกล  มากวาดเรือเหล่านั้นไปในกำแพงน้ำและเข้าถล่มกรุงลิสบอนซ้ำสอง  ต่อมาไม่นานคลื่นยักษ์ลูกที่สามก็ตามมา  หลังจากนั้นก็เกิดอัคคีวิบัติไฟไหม้เมืองทั้งเมือง  ลิสบอนน์กลายเป็นเมือง “อกแตก” อย่างแท้จริง  กล่าวคือในใจกลางเมืองแผ่นดินร้าวแยกออกเป็นทางยาว  รอยแตกนั้นกว้างประมาณ 5 เมตร    

พระราชาไร้พระราชวัง  ต้องกางเต็นท์อยู่นอกเมือง และโปรตุเกสต้องสร้างกรุงลิสบอนน์ขึ้นมาใหม่  ผู้เขียนไปโปรตุเกสครั้งแรกในปี 2529 ปีที่สหภาพยุโรปรับโปรตุเกสเข้าเป็นสมาชิก  อีกนัยหนึ่ง 221 ปีหลังเกิดธรณีวิบัติและวารีวิบัติครั้งใหญ่  ที่ระบุจำนวนปีมานี้เพื่อจะเรียนท่านผู้อ่านว่า  สองร้อยปีเศษผ่านไปแล้วร่องรอยของกรณีวิบัติก็ยังมีให้เห็น  กล่าวคือ  ผู้เขียนรู้สึกแตะตากับกระเบื้องปูฝาผนังสีขาวมีลายสีน้ำเงิน  พบเห็นตามอาคารเก่า ๆ เยอะมากและดูเหมือน ๆ กันหมด  มัคคุเทศอธิบายให้ฟังว่าหลังธรณีวิบัติครั้งนั้นการสร้างเมืองทั้งเมืองขึ้นมาใหม่ทำกันอย่างเร่งรีบ  อาคารบ้านเรือนของชาวบ้านทั่วไปก็จะใช้กระเบื้องชนิดนี้ที่ผลิตขึ้นมาเหมือน ๆ กันและผลิตทีละมาก ๆ เป็นกระเบื้องสีขาวลายน้ำเงินที่เห็นอยู่อย่างดาดดื่นนั่นเอง

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้การขยายดินแดนของโปรตุเกสสะดุดหยุดลง  และเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลกระทบเป็น “สึนามิทางวัฒนธรรม” ทั่วยุโรปจนตลอดศตวรรษที่ 18   บรรดา “ครู” และผู้นำทางปัญญาทั้งหลายซึ่งกำลังตั้งคำถามเอากับความคิดความเชื่อดั้งเดิมกันอยู่แล้วนั้น  ถูกสึนามิทางวัฒนธรรมดังกล่าวนี้  มาเร่งให้หาข้อสรุปต่อยอดความคิดความอ่านของตน  ไม่ว่าจะเป็นวอลแตร์  หรือฌัง-จาค รุสโซ  หรือคนอื่น ๆ ทั้งที่เป็นเยอรมัน  อังกฤษ  และอิตาลี  โดยบุคคลโดดเด่นที่น่าสนใจที่สุดซึ่งได้หยิบยกเรื่องคลื่นยักษ์ถล่มลิสบอนน์มาเป็นอุทาหรณ์โดยตรงในเนื้อหางานของตนได้แก่  วอลแตร์  ซึ่งเสนอหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่งชื่อว่า  “ก็องดีด” มีเนื้อหาคล้าย ๆ กับจะต่อต้านแนวคิดปรัชญาแบบมองโลกในแง่ดีตะพึดที่ “ครู”รุ่นก่อนท่านหนึ่งคือ ไลบ์นิซ ได้เทศนาไว้  ปัจจุบันนี้หนังสือ “ก็องดีด” เป็นงานเล่มที่ทำให้คนรู้จักกันวอลแตร์กันมากที่สุด

บุคคลที่แนะนำให้ผู้เขียน(และศิษย์ทั้งหลายของท่าน)ได้รู้จัก “ก็องดีด” คือ อาจารย์มัทนี รัตนิน  ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในวัยเยาว์นั้นผู้เขียนได้อ่าน “ก็องดีด” ในฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ  อ่านแล้วก็ไม่ใคร่จะเข้าใจอะไรสักเท่าไร  รู้แต่ว่าตัวละครทำนั่นทำนี่  ไปนี่มานั่น  อ่านเหมือนนิยายผจญภัย...ประมาณนั้น  ต่อมาเมื่อไปเรียนหนังสือในฝรั่งเศสและภาษาฝรั่งเศสใช้การได้ดีขึ้น  ก็ได้อ่านต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส  ก็เริ่มเข้าใจเนื้อหามากขึ้นกว่าที่อ่านครั้งแรก ครั้นหลายปีผ่านไปหยิบฉบับภาษาฝรั่งเศสขึ้นมาอ่านใหม่เป็นการอ่านครั้งที่สาม  เที่ยวนี้จึงเริ่ม “get” ว่าจริง ๆ แล้วหนังสือเล่มนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร แต่ก็ยังไม่เข้าใจเจตนาของท่านผู้เขียนและไม่เข้าใจเนื้อหาทะลุปรุโปร่ง  ครั้นเวลาผ่านไปจนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิเข้าถล่มชายฝั่งทะเลอันดามัน  หลังจากนั้นได้หยิบงานเล่มนั้นขึ้นมาศึกษาใหม่อีกรอบ  เที่ยวนี้รู้สึกภูมิใจและแสดงความยินดีกับตัวเอง (อาจจะกำลังสำคัญตนผิดก็ได้) ว่า  “ฉันรู้แล้วล่ะ”

ผู้เขียนรู้สึกเสียวใส้ว่า  นี่ถ้าไม่เกิดคลื่นยักษ์เข้าขย่มชายฝั่งอันดามัน  ผู้เขียนคงจะไม่สามารถอ่านหนังสือเล่มนั้นจนแตกได้ภายในชาตินี้...
ท่านผู้อ่าน  พลอยรู้สึกเสียวใส้ไปด้วยกับผู้เขียนมั๊ยครับ?

บทความโดย:

แดง ไบเล่ ( ปรีชา ทิวะหุต )
เขียนไว้เมื่อหลังปี 2551

X

Right Click

No right click