จอห์น ล็อค นักปรัชญาสายเสรีนิยมคนสำคัญอีกคนหนึ่ง เชื่อว่า บุคคล (หรือปัจเจกชน) มีเอกสิทธิ ส่วนตัวบางอย่างบางประการ ซึ่งสำคัญถึงขั้นเป็น “ขวัญ” ของคน อันระบบการปกครองใด ๆ ก็ไม่อาจจะฉวยกระชาก เอาไปเสียจากคนได้ แม้จะเป็นระบอบการปกครอง แบบ “เสียงข้างมาก” ก็ตาม
เอกสิทธิ์ระดับ “ขวัญ” ดังกล่าวมี 3 ประการ คือ สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในชีวิต และ สิทธิเสรีภาพ
สิทธิ์ทั้งสามนี้ติดตัวมนุษย์มา “ตามธรรมชาติ” อีกนัยหนึ่ง มีอยู่แล้วก่อนที่จะเกิดระบอบการปกครองใด ๆ และก่อนที่จะมีระบบกฎหมายใดๆ
แต่จะกระนั้นก็ดี สิทธิตามธรรมชาติดังกล่าวนั้น อาจารย์จอห์น ล็อค เห็นว่า ก็ยังขึ้นกับ “กฎ” อันมิใช่กฎหมายบ้านเมือง แต่เป็นกฎธรรมชาติ ซึ่งบังคับไว้ว่า เราจะ แยกสิทธิตามธรรมชาติ ออกเสียจากตัวตนของเรามิได้ หรือเราจะไปฉวย ฉกเอาสิทธิตามธรรมชาติของผู้อื่นมาก็ไม่ได้ หรือจะโยกย้ายถ่ายโอนสิทธิของตน ไปให้ผู้อื่นก็ไม่ได้
อาจารย์ จอห์น ล็อค (และอาจารย์ โธมัสเจฟเฟอร์สัน -ในลำดับต่อมา) เห็นว่า เหตุที่สิทธิ์ตามธรรมชาติ จะพรากจากตนเสียมิได้ นั้น (= Unalienable Right) ก็เพราะว่า
1) พระเจ้าประทานมา มนุษย์จึงพรากสิทธิ์ออกจากตัว และจะพรากสิทธิ์นั้นออกจากตัวผู้อื่น ไม่ได้ พระเจ้าทรงบุริมสิทธิเหนือมนุษย์ --ประเด็นนี้นั้น ศ. แซนเดล ตั้งคำถามว่า แล้วสำหรับผู้ไม่เชื่อพระเจ้าเล่า เขาจะสมาทานความคิด เรื่องสิทธิตามธรรมชาติ อันจะพรากจากตนเสียมิได้นี้ ด้วยเหตุผลใด
2) อาจารย์ล็อค เห็นว่า กฎธรรมชาติ ก็คือ “เหตุผล” ซึ่งเหตุผลสอนว่า คนเราเสมอภาคกันและเป็นอิสระจากกัน เพราะฉะนั้น เราจะไปเบียดเบียนผู้อื่นในเรื่องชีวิต สุขภาพ อิสรภาพ และทรัพย์สิน ไม่ได้ ถ้าไปเบียดเบียนกันในเรื่องเหล่านี้ได้ ก็จะกลายเป็นว่า คนเกิดมาไม่เสมอภาคกัน และไม่เป็นอิสระแก่กัน
อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกต ที่พิศดารอยู่ 2 ประการ เกี่ยวกับลักษณะของสิทธิ์ดังกล่าว คือ
1. ที่ว่าพิศดารประการแรก คือ สิทธิตามธรรมชาติ ในความเห็นของอาจารย์จอห์นล็อค มีลักษณะ “จำกัดสิทธิ์อยู่ในที” กล่าวคือ ใช่ว่าเราจะทำอะไรกับสิทธิ์ได้ตามอำเภอใจ จึงดูราวกับว่าสิทธิ์นั้น จะไม่ได้เป็นของเราโดยสมบูรณ์ เนื่องจาก จะย้ายถ่ายโอนไปจากตนมิได้ สิทธิ์ดังกล่าวจึงมีลักษณะคล้าย ตั๋วเครื่องบิน ซึ่ง จำกัดสิทธิ์ มากกว่าตั๋วรถไฟ เพราะตั๋วรถไฟ เราจะยกให้เพื่อนก็ได้ หรือขายให้ผู้อื่นก็ได้ หรือเราทำตั๋วหล่นหาย ผู้ที่เก็บตั๋วได้ เขาจะนำไปใช้เดินทางก็ได้ แต่ตั๋วเครื่องบิน เขาออกให้เฉพาะตัวเราเท่านั้น ผู้อื่นจะถือตั๋วใบนั้นไปขึ้นเครื่อง ไม่ได้
2. ที่ว่าพิสดารประการที่สอง ก็คือ มองอีกแง่หนึ่ง ลักษณะที่ใครจะ พรากสิทธิตามธรรมชาติ ออกเสียจากตัวตนของเรามิได้ นั้น ศ.แซนเดล กล่าวว่า มองอีกแง่หนึ่งยิ่งทำให้สิทธิดังกล่าว (ตั๋วเครื่องบิน) เป็นของเราเหนียวแน่นขึ้นอีก และ อาจารย์ ล็อค ท่านคงจะเห็นตามมุมมองนี้ คือ ท่านไม่เห็นว่า การพรากจากตนไม่ได้ เป็นการจำกัดสิทธิ แต่กลับเห็นเป็นการ ยืนยันสิทธิ เหนียวแน่นขึ้นอีก
ดังที่ โธมัส เจฟเฟอร์สัน ผู้เป็นที่นับถือกันว่า เป็นบิดาผู้หนึ่ง ในกลุ่มผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ (Founding Fathers) และเป็นนักคิด ผู้ยกร่างคำประกาศอิสรภาพ ได้ยืมความคิดอาจารย์จอห์น ล็อค เรื่องสิทธิตามธรรมชาติ ที่จะพรากออกเสียจากตัวตนของเรามิได้ มาเป็นเครื่องมือทางความคิด ก่อตั้งประเทศ โดยบัญญัติไว้ในคำประกาศอิสรภาพ สหรัฐอเมริกา ว่า
“เราถือว่า ข้อความจริงต่อไปนี้ชัดแจ้งอยู่ในตัว กล่าวคือ มนุษย์ทั้งหลายถูกสร้างขึ้นมาอย่างเสมอภาค พระผู้สร้างได้ประทานสิทธิ อันจะแยกออกเสียจากตัวคนมิได้ มาบางประการ อาทิเช่น สิทธิในชีวิต สิทธิเสรีภาพ และสิทธิที่จะแสวงสุข”
-ทั้งนี้โดย โธมัส เจฟเฟอร์สัน ได้เปลี่ยน “ทรัพยสิทธิ” ของ จอห์น ล็อค มาเป็น “สิทธิที่จะแสวงสุข” = The Persuit of Happiness
สิทธิในชีวิต และ สิทธิเสรีภาพ น่าจะพอเข้าใจกันได้ ไม่มากก็น้อย เหลือแต่เรื่อง สิทธิในทรัพย์สิน ซึ่งอาจารย์ ล็อค บอกว่า เป็นสิทธิที่มีติดตัวมนุษย์อยู่ในธรรมชาติ ไม่ได้เพิ่งจะมาก่อตั้งสิทธิกันในเวลาที่คนเข้ามาอยู่เป็นบ้านเมือง มีระบบกฎหมายแล้ว ซะเมื่อไหร่
ท่านอ้างเหตุผลว่า ด้วยเหตุที่ เราเป็นเจ้าของตัวเราเอง เพราะฉะนั้น หยาดเหงื่อแรงงาน น้ำพักน้ำแรงของเรา ที่ไปเจือสมอยู่กับสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นของเรา รวมทั้งการคราดไถพลิกฟื้นที่ดินว่างเปล่า ไปทำไร่ข้าวโพดหรือไร่มันฝรั่ง หรือไปล้อมรั้ว ที่ดินนั้นก็เป็นของเรา
ซึ่งประเด็นนี้มีผู้วิจารณ์กันว่า เป็นปรัชญาที่คิดขึ้นมา หาเหตุผลสนับสนุน การครอบครองแผ่นดินโลกใหม่ (ทวีปอเมริกา) ของพวกฝรั่ง
ศ. แซนเดล สรุปการบรรยายครั้งนี้ ด้วยการตั้งคำถามว่า “สิทธิตามธรรมชาติ ได้รับความกระทบกระเทือนประการใด หรือไม่ เมื่อเรายินยอมเข้ามาอยู่ในสังคม แล้วเรายอมอยู่ใต้บังคับของระบบกฎหมายบ้านเมือง” (ซึ่งเป็น กฎที่มนุษย์สร้างขึ้น มิใช่กฎธรรมชาติ และไม่ใช่กฎของพระเจ้า)
และท่านตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีก ว่า สิทธิตามธรรมชาติทั้งสามประการนี้ คือ สิ่งที่คอยตีกรอบ กำหนดขอบเขต อำนาจการปกครองของรัฐบาล ปรัชญาเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของ จอห์น ล็อค หรือ “อำนาจรัฐ” ของ จอห์น ล็อค สร้างขึ้นจากสิทธิพื้นฐานตามธรรมชาติทั้งสาม อันจะพรากไปเสียมิได้ จากตัวมนุษย์ (the Unalienable Right)
ความยินยอมในระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกัน || Episode 04 Part 2
องค์ประกอบ ของแนวความคิดหลัก ในเรื่องการเมืองของอาจารย์ จอห์น ล็อค มีอยู่สองประการ คือ ประการที่ 1) เรื่องสิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในชีวิต และสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติ ที่ไม่อาจพรากไปได้จากคน และประการที่ 2) เรื่องความยินยอม ในระหว่างคนโต ๆ ด้วยกันแล้ว - Consenting Adults
ก็ในเมื่อ เรามีสิทธิตามธรรมชาติ ซึ่งกฎธรรมชาติระบุว่า ผู้ใดจะพรากสิทธินั้น จากเราไปไม่ได้ คือ สิทธิในชีวิต สิทธิในทรัพย์สิน และสิทธิเสรีภาพ ฉะนี้แล้ว และในเมื่อเราก็อยู่กันตามธรรมชาติ และอยู่กับกฎธรรมชาติดี ๆ อยู่แล้ว ทำไมเล่า มนุษย์จึงเข้ามาอยู่ในบ้านในเมือง ซึ่งมีขื่อแป มีกฎหมายบ้านเมือง อันเป็นกฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่กฎธรรมชาติ ทำไมเราจึงยินยอมให้ขื่อแปของบ้านเมือง คอยกำกับควบคุม ความเป็น ความอยู่ และการอยู่ร่วมกัน ซึ่งกฎหมายบ้านเมืองนั้น อาจกระทบกระเทือน สิทธิตามธรรมชาติของเรา
[หมายเหตุขนาดยาวของผู้เขียนสรุปภาษาไทย – นานมาแล้ว ครั้งแรก ๆ ที่ได้ยินแนวคิดเรื่อง “กฎธรรมชาติ” ของอาจารย์ จอห์น ล็อค ผู้เขียนก็จะพยายามจินตนาการ ตามประสาผู้ยังอ่อนประสบการณ์ และอ่อนข้อมูล ว่า อาจารย์ จอห์น ล็อค ท่านบรรยายความเป็นไปในประเทศอังกฤษ เพราะว่า ท่านเป็นคนอังกฤษ เวลาท่านพูดถึงทรัพย์ อันเกิดจากหยาดเหงื่อแรงงานของเรา ไปเจือสมกับสิ่งใด รวมทั้งการทำไร่ทำนา หรือการหักร้างถางพง กระทั่งที่สำคัญคือการล้อมรั้วที่ดิน ซึ่งก็ทำให้ที่ดินนั้นกลายเป็นของเรา ผู้เขียนก็จะพยายามจินตนาการ ให้แลเห็นที่ดินในหุบเขาแม่น้ำเธมส์ ที่เรียกว่า Thames River Valley ในประเทศอังกฤษ แต่ความเล็กของเกาะอังกฤษ ประกอบกับความที่เกาะอังกฤษ มีคนอยู่อาศัยกันมากมานานแล้ว จินตนาการเรื่องกฎธรรมชาติก็ดี เรื่องการล้อมรั้วแล้วได้สิทธิครอบครองที่ดินก็ดี สำหรับผู้เขียนยังพร่ามัว ไม่ชัดเจน ไม่ลงตัว มองไม่เห็นว่าจะไปล้อมรั้วแล้วถือสิทธิครอบครองที่ดิน ที่ไหนได้ ในเมื่อคนอยู่กันเต็มไปหมด และทำให้ไม่ค่อยเข้าใจความคิดเรื่องนี้ของ อาจารย์ จอห์น ล็อค ว่าเกิดขึ้น และพัฒนาขึ้นมา ได้อย่างไร
ครั้นได้ฟังคำบรรยายของ ศ. แซนเดล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จึงทราบว่า ทั้งหมดทั้งนั้น ท่านอาจารย์ จอห์น ล็อค ท่านใช้โลกใหม่ คืออเมริกา เป็นฉากหลังให้กับปรัชญาการเมืองของท่าน เพราะว่า ท่านได้รับแต่งตั้งจากทางการอังกฤษ ให้เป็นผู้บริหารดินแดนอาณานิคมแห่งหนึ่งในอเมริกา ในยุคที่ฝรั่งในอเมริกา เริ่มทะเลาะเบาะแว้ง แย่งชิงดินแดน กับพวกอินเดียแดง
ความเข้าใจที่ชัดแจ้งขึ้นของผู้เขียน ก็เกิดขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้ กฎธรรมชาติ คือ กฎที่บรรยายสภาพดั้งเดิมในโลกใหม่ อันได้แก่ทวีปอเมริกา การทำไร่ข้าวโพดหรือไร่มันฝรั่ง ก็ล้วนเป็นพืชพื้นเมืองในทวีปอเมริกา อาจารย์ จอห์น ล็อค ท่านกำลังพยายามหาความชอบธรรม ให้กับการเข้าไปครอบครองพื้นที่ ที่ดินในอเมริกา ของพวกฝรั่ง ข้อสรุปในลักษณะเช่นนี้ ก็ปรากฏอยู่ในคำบรรยายของ ศ.แซนเดล ด้วย—ไม่ใช่ผู้เขียนคำสรุปภาษาไทย เข้าใจอยู่เองแต่ผู้เดียว]
อาจารย์ จอห์น ล็อค อธิบายว่า มนุษย์ ยินยอม (Consent) มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมบ้านสังคมเมือง มนุษย์ ยินยอม ยอมรับขื่อแปของบ้านเมือง เพื่อแลกกับการ “บังคับใช้” กฎเกณท์ ทั้งนี้ เพราะว่า ในธรรมชาตินั้น ทุก ๆ คนสามารถ “บังคับใช้” กฎธรรมชาติกันได้เอง คนมาลักขโมยข้าวโพดของเรา เรามีสิทธิตามธรรมชาติที่จะ ฆ่า เขาเสียก็ได้ ทุก ๆ คนมีสิทธิบังคับใช้กฎ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า มนุษย์จะบังคับใช้กฎจนเกินเหตุ เช่น มีคนมาขโมยมันฝรั่งสองหัว เราก็อาจโมโห ฆ่าเขาตาย เป็นต้น จึงเกิดเหตุฆ่ากันไปฆ่ากันมา ทำให้ชีวิตในธรรมชาติ ที่ฟังดูอ่อนโยน เอื้อเฟื้อเมื่อแรกเห็น ลึก ๆ ลงไปแล้วเป็นสภาพที่โหดร้าย ไม่มีความมั่นคง และน่ากลัว [ถึงช่วงนี้ เราอาจจินตนาการเห็น สภาพอเมริกาดั้งเดิม เห็นพวกอินเดียแดงฆ่าล้างเผ่า แย่งฝักข้าวโพดกัน หรืออะไรเว่อ ๆ ทำนองนั้น อันเป็นสภาพที่กฎหมายบ้านเมือง ไม่มี—ผู้เขียนสรุปภาษาไทย]
เมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเมือง มนุษย์ก็มีระบบความยุติธรรม ตำรวจ อัยการ ศาลสถิตยุติธรรม และอ.บ.ต. มาคอยบังคับใช้กฎ (หมาย) ให้ มนุษย์ไม่ต้องเสี่ยง เปลืองตัว บังคับใช้กฎเอง เช่น เราเป็นความกับเพื่อนบ้าน คดีคอมพ์ เราชนะคดี กรมบังคับคดีก็ไปยึดคอมพ์ในบ้านเพื่อนบ้าน มาให้เรา เราไม่ต้องเสี่ยงภัย ลุยเข้าไปในบ้านเขา เพื่อยึดคอมพ์ เสียเอง
แต่ รัฐจะเรียกเก็บภาษีจากเรา โดยอ้างกฎหมายภาษีอากร ที่ผู้แทนเสียงข้างมากลงมติเห็นชอบ มาบังคับใช้กับเราได้แน่หรือ? จะมิใช่เป็นการบังคับ เรียกเอาทรัพย์ จากคนบางคน หมายถึงคนในฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยที่บุคคลนั้น มิได้ ยินยอม ละหรือ เพราะว่า สิทธิตามธรรมชาติ อันมิอาจจะพรากจากตัวได้ ยังคงติดตัวมนุษย์มา แม้มาอยู่ร่วมกันเป็นบ้านเมืองแล้ว แล้วกฎหมายออกโดยฝ่ายเสียงข้างมาก จะมาพรากทรัพย์ ไปจากเราได้หรือ
ล็อค ตอบคำถามนี้ว่า เมื่อเรา ยินยอม อยู่อาศัยในสังคมใด หรือในบ้านเมืองใด ก็เท่ากับว่าเราได้ ยินยอม โดยนัย ที่จะเชื่อฟังกฎหมายภาษีอากร อันฝ่ายเสียงข้างมาก เห็นชอบให้บังคับใช้ เพราะฉะนั้น การเรียกเก็บภาษี จึงชอบด้วยกฎหมาย และสอดคล้องกับหลักสิทธิตามธรรมชาติเรื่องสิทธิในทรัพย์สิน ตราบเท่าที่กฎหมายดังกล่าวนั้น ออกมาตามกระบวนการอันบริสุทธิ์ยุติธรรม และออกมาบังคับใช้กับทุกคนเสมอหน้ากัน มิใช่เพ่งเล็ง เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นการเฉพาะตัว (To Single Out)
ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิในชีวิต ก็เช่นเดียวกัน เมื่อกฎหมายออกมาเกณฑ์คนไปรบ ซึ่งคนอาจสูญเสียชีวิตได้ แต่ถ้าบังคับใช้เสมอหน้ากัน มิใช่เพ่งเล็งคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ –To Single Out- ก็ถือว่า ชอบด้วยแนวคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติแล้ว
แต่ ข้อปรัชญาของอาจารย์ จอห์น ล็อค แอนตี้กฎหมายที่แม้จะออกโดยเสียงข้างมาก แต่เพ่งเล็งไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นการเฉพาะตัว (To Single Out) เช่น ออกกฎหมายเสียงข้างมาก ไปเรียกเก็บภาษีจาก นายบิลล์ เกต เพื่อนำเงินไปทำสงครามในอิรัค เป็นต้น
อาจารย์ แซนเดล ทิ้งท้ายคำบรรยายว่า ในครั้งต่อไป ท่านจะพูดเรื่อง ความยินยอม ในการซื้อขาย อีกนัยหนึ่ง ความยินยอมในตลาดการค้า
ชมต้นฉบับวีดิทัศน์ และชมบรรยากาศการเรียนการสอน ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สำหรับตอนนี้
แผ่นดินนี้เราจอง กับ ความยินยอมระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกัน
คำคัดเด็ด ประจำตอนนี้
...อาจารย์ จอห์น ล็อค บอกว่า มนุษย์ ยินยอม (Consent) มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นบ้านเมือง ทั้งนี้โดยมนุษย์ ยินยอม ยอมรับขื่อแปของบ้านเมือง เพื่อแลกกับการ “บังคับใช้กฎเกณฑ์” ที่มนุษย์เคยทำได้ด้วยตนเองเมื่ออยู่ตามธรรมชาติ ทั้งนี้ เพราะว่า ในธรรมชาตินั้นทุก ๆ คนสามารถ “บังคับใช้” กฎธรรมชาติกันได้เอง คนมาลักขโมยข้าวโพดหรือมันฝรั่งของเรา เรามีสิทธิตามธรรมชาติที่จะ ฆ่า เขาเสียก็ได้ เมื่อทุก ๆ คนมีสิทธิบังคับใช้กฎได้เอง ก็เป็นไปได้ว่า มนุษย์จะบังคับใช้กฎจนเกินเหตุ เช่น มีคนมาขโมยมันฝรั่งสองหัว เราก็อาจโมโห ฆ่าเขาตาย เป็นต้น จึงอาจเกิดเหตุฆ่ากันไปฆ่ากันมา ทำให้ชีวิตในธรรมชาติ ที่ฟังดูอ่อนโยน เอื้อเฟื้อ เมื่อแรกเห็นนั้น ลึกลงไปแล้ว สภาพความเป็นอยู่ตามธรรมชาติ เป็นสภาพที่โหดร้าย ไม่มีความมั่นคง และน่ากลัว...
สรุปคำบรรยายปรัชญา/ปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศ.ไมเคิล แซนเดล
-- ปรีชา ทิวะหุต สรุปเป็นภาษาไทย
-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 181 October - November 2014