December 22, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

Who Drive Env 4.0 Featured

July 04, 2018 3080

องค์ประกอบต่างๆ ของ ENV 4.0 ที่ถูกกล่าวถึงในฉบับที่ผ่านมาจะเกิดขึ้นได้ต้องมีผู้สนองตอบแนวทาง หลักการและเหตุผลตามที่ได้กำหนดไว้ เราจึงต้องอาศัยบุคลากรจากหลากหลายสาขาอาชีพรวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน

ทั้งด้านเงินทุนอุดหนุน การบังคับใช้กฎหมายและจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมของภาคประชาชน โดยกลไกดังกล่าวสามารถสร้างเป็นแผนผังความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อน ENV 4.0 ได้ดังรูป

Input (ต้นเรื่อง) : กลไก ENV 4.0 ควรจะเริ่มต้นที่ “ต้นเรื่อง” หมายถึงเราจะต้องรู้ว่าอะไรคือปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเสีย ควันพิษ สารเคมีปนเปื้อน ฯลฯ โดยบุคลากรที่จะเป็นคนต้นเรื่องได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นและระบุได้ว่าปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนในบริเวณดังกล่าว ตัวอย่างของบุคลากรในขั้นตอนนี้ ได้แก่ ผู้แทนหรือตัวแทนองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ครูอาจารย์ในสถานศึกษา และนักข่าวชุมชน เป็นต้น โดย “ต้นเรื่อง” นั้นอาจค้นพบโดยผู้คนในชุมชน เช่น การลักลอบทิ้งกากสารเคมี การลักลอบทิ้งน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ไม่ซับซ้อนมากนัก นอกจากนี้ ในปัจจุบันเรายังสามารถประยุกต์ใช้ Application รูปแบบต่างๆ ในการเป็น “ต้นเรื่อง” ด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีผลในวงกว้างอีกด้วย แต่หากเป็นเหตุการณ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ปัญหาการปนเปื้อนสารพิษในแหล่งน้ำใต้ดิน ปัญหาควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม เหตุการณ์เหล่านี้ผู้คนต้นเรื่องจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านนั้นๆ เพื่อที่จะสามารถระบุลงไปได้ว่า ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องมีการแก้ไขบำบัดมลพิษดังกล่าวซึ่งจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการ “บำบัดมลพิษ” ในหัวข้อถัดไป
In Process (กระบวนการบำบัดและจัดการ) : เมื่อเรารับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการ “การบำบัดและจัดการ” ในขั้นตอนนี้เราจะต้องอาศัยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ทั้งในด้าน น้ำเสีย มลพิษอากาศ ของเสียอันตราย ฯลฯ ซึ่งบุคลากรเหล่านี้จะสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีและวิธีการบำบัดได้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่หากปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีความซับซ้อนหรือเป็นปัญหาที่ยังไม่เคยพบเจอหรือเกิดขึ้นบนโลกแล้ว ขั้นตอนการบำบัดนี้เองจะต้องค้นคว้า สร้างนวัตกรรมต่างๆ เพื่อรองรับกับปัญหาดังกล่าว โดยเราอาจแบ่งแยกหน้าที่ของบุคลากรในกระบวนการบำบัดออกได้เป็น
ผู้ควบคุมและปฏิบัติงาน มีหน้าที่วิเคราะห์หาวิธีการที่จะใช้ในการบำบัดมลพิษต่างๆ รวมถึงควบคุมสั่งการเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้มลพิษถูกบำบัดจนอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติได้ เช่น วิศวกรสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ รวมไปถึงช่างเทคนิค (โดยบุคลากรข้างต้นควรผ่านการอบรม มีความรู้และประสบ-การณ์ หรือมีใบประกอบวิชาชีพด้านสิ่ง-แวดล้อม) เป็นต้น
ผู้สร้างนวัตกรรม มีหน้าที่สรรสร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยในการบำบัดมลพิษ ปรับปรุงระบบการทำงานรวมทั้งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งจะทำให้งานด้านการบำบัดมลพิษมีความก้าวหน้ามากขึ้น สามารถรับมือกับมลพิษรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างทันท่วงที เช่น นักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมในสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นต้น
Output & Assessment (ติดตามและประเมินผลกระทบ) : เมื่อมลพิษถูกบำบัดและปล่อยออกสู่ธรรมชาติแล้ว หลายคนอาจมองว่าจบขั้นตอนการทำงานเพียงเท่านี้ แต่ยังมีอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญนั่นก็คือ การติดตามและเฝ้าระวัง โดยบุคลากรที่ทำงานในส่วนนี้จะมีหน้าที่ติดตาม มลสารต่างๆ ที่ผ่านการบำบัดมลพิษ เพื่อให้แน่ใจว่ามลสารต่างๆ เหล่านั้นผ่านเกณฑ์มาตรฐานและสามารถปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นบุคลากรที่ทำงานในขั้นตอนนี้จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในด้านค่ามาตรฐานต่างๆ ที่ใช้ในการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อม
โดยงานนั้นส่วนนี้ถือว่ามีความสำคัญ
ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าขั้นตอนอื่นๆ เนื่องจากการตรวจสอบมาตรฐานจะต้องปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงจะต้องปรับปรุงค่ามาตรฐานต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดล่าสุดตามกฎหมายอีกด้วย โดยบุคลากรหรือหน่วยงานในด้านนี้ได้แก่ หน่วยงานราชการ สื่อสารมวลชน หน่วยงานท้องถิ่น รวมไปถึงภาคประชาชนที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการติดตามและเฝ้าระวัง เป็นต้น โดยที่การดำเนินการในขั้นตอนนี้ จะช่วยในท้องถิ่นสามารถประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Health and Environmental Impact Assessment) ในกรณีที่จะมีการพัฒนาด้านต่างๆ ภายในท้องถิ่น ที่ตอบโจทย์ความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

Law & Social agreement ข้อตกลงประชาคมโลก
บุคลากรที่ขับเคลื่อน ENV 4.0 นอกจากจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาของตนเองแล้ว อีกด้านหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ “กรอบข้อตกลงต่างๆ” เนื่องจากโลกของเรามีความเชื่อมโยงกัน ท้องฟ้า อากาศ ทะเล มหาสมุทร แผ่นดิน หากเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมย่อมสามารถส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศหนึ่งจึงอาจส่งผลกระทบกับประเทศหรือภูมิภาคอื่นๆ ได้ เช่น ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ดังนั้นโลกของเราจึงต้องมีกรอบข้อตกลงเกิดขึ้นเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยกรอบดังกล่าวอาจเริ่มจากกฎหมายของแต่ละประเทศที่กำหนดและควบคุมภายในประเทศของตน ซึ่งจะต้องมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมและข้อตกลงของประชาคมโลกอีกด้วย ส่งผลให้อาชีพเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมีแนวทางที่ชัดเจนและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างไรก็ตามการรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ได้จำกัดหน้าที่เพียงอาชีพที่ถูกกล่าวถึงในข้างต้น เรื่องสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นเรื่องของทุกคนบนโลกนี้ที่ต้องอยู่อาศัยกันไปอีกนานแสนนาน เราทุกคนจึงต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม พลังเล็กๆ ของคนหนึ่งคนอาจดูเล็กน้อยแต่หากรวมพลังเล็กๆ เหล่านั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็สามารถกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน “We Drive Env 4.0”

 

เรื่องโดย : รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Wednesday, 02 October 2019 11:53
X

Right Click

No right click