January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

CSR ในยุค ENV4.0

July 05, 2018 2808

CSR ที่ถูกกล่าวถึงในยุค ENV 3.0 เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยองค์กรภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีแนวคิดจะชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ตนเองได้กระทำลงไป

แต่ทว่ากิจกรรม CSR ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นั้น ไม่ได้ทำให้เกิดการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่โดยตรง ไม่ว่าจะเป็น CSR After process ผ่านกิจกรรมปลูกป่า การบริจาคสิ่งของ และทุนการศึกษา รวมถึง CSR as Process ผ่านการจัดตั้งมูลนิธิหรือสมาคมการกุศลเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยไม่มุ่งหวังผลกำไร ในขณะที่ประเภท CSR in Process ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมดูแลสวัสดิการพนักงาน ความรับผิดชอบต่อลูกค้า และการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่ง-แวดล้อมนั้น จัดเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม CSR ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่โดยตรงในมุมมองของผู้เขียน สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเป็นเหตุผลว่าทำไมในในยุค ENV 3.0 : CSR ≠ การพัฒนาที่ยั่งยืน ในการนี้ CSR ในยุค ENV 3.0 ที่กล่าวถึงข้างต้น ควรมี 4 ประเด็นที่ควรปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดกิจกรรม CSR ที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ได้แก่


1. ประเด็นผลกระทบและข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กิจกรรม CSR นอกจากจะมุ่งเป้าไปที่ประเด็นทางสังคม ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว ผู้เขียนยังอยากให้พวกเราทุกคนคิดถึงประเด็นทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยว่ากันว่าจะรู้ถึงปัญหาก็ต่อเมื่อความสามารถในการรองรับ (Carrying capacity) ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นหมดลง ดังนั้น ส่วนตัวยังอยากเห็นคุณค่าของกิจกรรม CSR นั้น ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยตรงมากยิ่งขึ้น


2. ประเด็นพื้นที่และโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรม ควรมีการขยายหรือเพิ่มการกำหนดพื้นที่ทางสังคมที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยทั่วไป เรามักจะแบ่งพื้นที่ทางสังคมออกเป็น สังคมภายใน (ประกอบไปด้วย ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร พนักงาน ฯ) สังคมใกล้ (ลูกค้า คู่ค้า คู่แข่ง ฯ) และสังคมไกล (ชุมชนท้องถิ่น สถานการศึกษาในชนบท กลุ่มหรือหน่วยงานที่มีความสนใจเฉพาะด้าน) แต่ในความเป็นจริงแล้วกิจกรรม CSR ที่เกิดขึ้นนั้น ค่อนข้างจะมีข้อจำกัดทั้งในด้านพื้นที่และจำนวนประชาชนที่มีโอกาสเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้ผลลัพธ์หรือประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมนั้น ไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือได้ประสิทธิภาพสูงสุด ซ้ำร้ายยังอาจก่อให้เกิดการทำธุรกิจแบบผิดๆ เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรม CSR อีกทางหนึ่งด้วย


3. การถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบ-การณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่ง-แวดล้อม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม CSR ควรให้ความสำคัญและมีการดำเนินการอย่างจริงจังกับการจัดเตรียมองค์ความรู้ การเก็บรวบรวมฐานข้อมูล รวมไปถึงการเผยแพร่ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปริมาณและพื้นที่ของทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่ต้องการการดูแลนั้น มีมากกว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม CSR จะรองรับได้ ดังนั้น นอกจากการสร้างกิจกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง อาจกล่าวได้ว่า การสร้างและถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ (Content & Experience) ที่เกิดขึ้นออกไปในวงกว้าง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดและเพิ่มจำนวนคนรุ่นใหม่ และภาคประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศ ให้เข้ามามีส่วนรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง 


4. งานวิจัยและพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “R&D : Research and Developments” เป็นการวิจัยที่มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนางาน วิชาชีพ รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาวิถีชีวิตของมนุษย์ ในปัจจุบัน ดังนั้น อีกประเด็นที่องค์กรและภาคสังคม ควรคำนึงถึงก็น่าจะเป็นกิจกรรม CSR ที่ส่งเสริมผลงานวิจัยและพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแน่นอนว่า ภูมิปัญญา
ชาวบ้านและข้อดีจากแนวทางปฏิบัติในแต่ละชุมชนของประเทศนั้น น่าจะเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการวิจัยและพัฒนาต่อไป

นอกเหนือจากการปรับปรุงกิจกรรม CSR ที่กล่าวไปข้างต้น ในอีกภาคส่วนหนึ่งที่ควรตื่นตัวและควรเพิ่มการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั่นก็คือ “ภาคประชาชน” ด้วยแนวคิด “ความรับผิดชอบของภาคประชาชนต่อสิ่ง-แวดล้อม” หรือ Public Environmental Responsibility : PER และวิถี 6R ซึ่งได้ถูกกล่าวถึงในฉบับที่แล้วนั่นเองครับ

 

เรื่องโดย : รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 02 October 2019 11:52
X

Right Click

No right click