โดยสามารถแบ่งตามคุณภาพจากต่ำไปสูงได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ 1) พีท (Peat) 2) ลิกไนต์ (Lignite) 3) ซับบิทูมินัส (Subbituminous) 4) บิทูมินัส (Bituminous) และ 5) แอนทราไซต์ (Anthracite) ดังแสดงในรูปที่ 1 ซึ่งถ่านหินแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติและความเหมาะสมในการใช้งานเป็นเชื้อเพลิงที่แตกต่างกัน ดังสรุปในตารางที่ 1
ที่มา : B.H. Bowen, M.W. Irwin (2008) Coal Characteristics CCTR Basic Facts File #8. Indiana Center for Coal Technology Research
สถานการณ์ถ่านหินทั่วโลก
ถ่านหินนั้นเป็นทรัพยากรที่สามารถขุดขึ้นมาใช้ได้ง่าย ราคาถูก และมีปริมาณสำรองสูง โดยพบมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ออสเตรเลีย และอินเดีย ดังแสดงตารางที่ 2
ที่มา : World Energy Council (2013). World Energy Resources 2013 Survey
สำหรับประเทศไทยมีแหล่งถ่านหินกระจายอยู่ในทุกภาคแต่จะพบมากในภาคเหนือและภาคใต้ โดยมีปริมาณสำรองทั้งสิ้นประมาณ 1,372 ล้านตัน1 โดยมีปริมาณสำรองคงเหลือที่เหมืองแม่เมาะ 1,227 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 89 ของปริมาณสำรองถ่านหินคงเหลือทั้งหมดของประเทศไทย
ในข้างต้นเราได้รู้จักถ่านหินในด้านชนิดและปริมาณ ซึ่งทำให้เห็นว่าทั่วโลกยังมีการใช้ประโยชน์จากถ่านหินอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากถ่านหินนั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ โดยในการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงนั้นจะต้องมีการควบคุมและจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด รวมไปถึงกระบวนการเผาไหม้ถ่านหินที่จะทำให้เกิดมลสารต่างๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการกำจัดและควบคุม เช่น ก๊าซกลุ่มซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx) ก๊าซกลุ่มไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) หรือฝุ่นขนาดเล็ก ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีการใช้ประโยชน์จากถ่านหินจึงมีการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบต่าง ๆ ดังกล่าว เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากถ่านหินเป็นไปอย่างคุ้มค่าที่สุด ทั้งนี้สถานการณ์การใช้ถ่านหินของโลกในปัจจุบันจึงมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าจะมีการใช้ถ่านหินในปริมาณที่สูงขึ้น เนื่องจากมีราคาเหมาะสมและมีปริมาณสำรองเพียงพอและมั่นคง
ย้อนกลับมาที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยข้อมูลจาก กฟผ. ที่ออกเผยแพร่ในโลกออนไลน์ทำให้เรารับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกใช้ชนิดของถ่านหินและเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าเพื่อควบคุมมลสารที่ต้องทำการกำจัดและควบคุมเพื่อลดผล
กระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แสดงดังตารางที่ 3
ที่มา : https://www.egat.co.th/addon/krabi
จากตารางด้านบนหลายคนอาจเกิดความสงสัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทาง กฝผ. ได้นำมาใช้กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ว่ามีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด โดยในฉบับหน้าเราจะมาทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันต่อไปครับ
เรื่องโดย : รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย