January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 7637

คุณค่าร่วมที่ตอบโจทย์ SDGs

December 04, 2018 2775

เมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยงานริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย (Thailand Social Business Initiative: TSBI) ประกอบด้วย Yunus Center AIT สถาบันไทยพัฒน์ และ บริษัท อิมเมจ พลัส คอมมิว นิเคชั่น จำกัด ได้ร่วมกันจัดการอภิปราย (Panel Session) ในหัวข้อ "Strategic CSR through SDGs: The Opportunities & Competitiveness to 2020" ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจ ที่จะขอนำมาถ่ายทอดไว้ ดังนี้

 เริ่มจาก การแนะนำว่า Strategic CSR นั้น ไม่ได้เกิดจากการลอกแบบ Best Practices ที่องค์กรอื่นดำเนินการ และพยายามทำให้เทียบเท่าหรือดีกว่า แต่เป็นการค้นหาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์หรือทุนที่สั่งสมในองค์กรของตน นำมาสร้างให้เกิดความแตกต่างในการดำเนินการ ในทางที่เสริมสร้างขีดการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

การทำ Strategic CSR จะดำเนินการผ่านความริเริ่มหรือโครงการที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่มาก แต่คุณค่าร่วม (Shared Value) ระหว่างธุรกิจกับสังคมที่เกิดขึ้น จะมีนัยสำคัญและเห็นผลเด่นชัด

ตัวอย่างหนึ่งที่ยกในการอภิปราย คือ การต่อต้านทุจริต สามารถยกระดับจากการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance) ซึ่งเป็นการทำงาน (ตามเช็คลิสต์) ในเชิงรับ และจำกัดเฉพาะองค์กรของตน มาเป็น Strategic CSR ที่อาศัยบทบาทขององค์กร ผลักดันให้เกิดการต่อต้านทุจริตในห่วงโซ่ธุรกิจ ไปยังคู่ค้าและลูกค้า โดยเฉพาะการมุ่งไปยังส่วนงานที่มีผลกระทบสูง อาทิ ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายขาย จะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่เกิดจากการประหยัดงบประมาณและค่าใช้จ่ายที่รั่วไหลไปกับการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรม

ในฐานะหนึ่งในผู้ร่วมอภิปราย ผมได้มีโอกาสชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของ Strategic CSR กับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ด้วยการนำห่วงโซ่ธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นสายคุณค่า (Value Chain) มาใช้เป็นเครื่องมือในการระบุจุดที่องค์กรสามารถลดผลกระทบเชิงลบ (Minimizing Negative Impact) และเพิ่มผลกระทบเชิงบวก (Increasing Positive Impact) ที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

 

Source: GRI and UNGC, Integrating the SDGs Into Corporate Reporting: A Practical Guide, 2018.

 

ตัวอย่างของธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม ที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน และวัตถุดิบจากภาคเกษตร กรณีของการลดผลกระทบเชิงลบ สามารถตอบสนองต่อ SDG เป้าที่ 3 เรื่องสุขภาวะ ที่เป็นการจัดสถานประกอบการและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย SDG เป้าที่ 6 เรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ที่เป็นการลดน้ำเสียจากการประกอบการ และ SDG เป้าที่ 15 เรื่องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เป็นการลดความเสื่อมโทรมของดิน

กรณีของการเพิ่มผลกระทบเชิงบวก สามารถตอบสนองต่อ SDG เป้าที่ 8 เรื่องเศรษฐกิจและการจ้างงาน ที่เป็นการดูแลเรื่องค่าครองชีพของพนักงานในทุกระดับ และ SDG เป้าที่ 12 เรื่องแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ที่เป็นการเพิ่มช่องทางแก่ผู้บริโภคในการนำเครื่องนุ่งห่มใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เป็นต้น

จะเห็นว่า บทบาทของธุรกิจหรือภาคเอกชน สามารถใช้ Strategic CSR ในการตอบสนองต่อ SDGs ได้ โดยการวิเคราะห์สายคุณค่าที่องค์กรดำเนินงานอยู่ว่ามีส่วนใดที่ส่งผลกระทบ (ทั้งทางบวกและทางลบ) ต่อ SDGs และองค์กรจะตอบสนองต่อ SDGs ที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ได้อย่างไร

หากใช้ตรรกะข้างต้น ในการพิจารณาบทบาทของภาครัฐ ที่เป็นหน่วยราชการ กระทรวง ทบวง กรม ต่างมีภารกิจของหน่วยงาน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนการบรรลุ SDGs อยู่แล้ว ไม่มากก็น้อย (โดยอาจไม่จำเป็นต้องริเริ่มโครงการใหม่เพิ่มเติมจากที่ดำเนินการอยู่) แต่จำเป็นต้องมีการประเมินและปรับกระบวนการให้เกิดความสอดคล้องกับ SDGs ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน

ข้อแนะนำสำหรับหน่วยราชการ ในการขับเคลื่อน SDGs ได้แก่

  • เลิกสร้างโครงการใหม่ (New Projects) ด้วยงบประมาณก้อนใหม่
    เริ่มปรับกระบวนงานปัจจุบัน (Existing Processes) ให้สอดรับกับการตอบสนอง SDGs
  • ลดความริเริ่มที่เป็นการทำงานแบบบนลงล่าง (Top-down)
  • เพิ่มความริเริ่มที่เป็นการทำงานแบบล่างขึ้นบน (Bottom-up)
  • ขจัดบรรยากาศการทำงานในแบบที่มีพิธีรีตองมากเกินไป (Bureaucratic)
  • เพิ่มบรรยากาศการทำงานในแบบสานความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกฝ่าย (Collaborative)
  • เน้นส่งเสริมการพัฒนาแบบกลุ่มความร่วมมือ (Cluster)
  • แทนการพัฒนาในแบบทีละส่วน ทีละอย่าง (Piecemeal)

รัฐบาล ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดินในระดับสูงสุด จำต้องตระหนักถึงบทบาทที่เอื้อให้เกิดความสำเร็จต่อการบรรลุ SDGs ทั้งในแง่ของการกำหนดนโยบาย กลไก และกระบวนการขับเคลื่อน

 

 

Adapted from Michael E. Porter’s Presentation on a Strategy for Haitian Prosperity, September, 2017.

 

จากการทำงานในรูปแบบเดิม (Old Model) ที่รัฐบาลเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนโยบายจากบนลงล่าง เป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้ให้ทุนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ จะต้องปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบใหม่ (New Model) โดยตระหนักว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกระบวนการทำงานร่วมกัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับทั้งรัฐบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในทุกระดับ ภาคธุรกิจทั้งบริษัทสัญชาติไทยและต่างสัญชาติ สมาคมการค้า ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา สถาบันวิจัย รวมทั้งชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนภาคพลเมือง

ที่สำคัญ การมีนโยบายที่ดีโดยลำพัง ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อน แต่ปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จ เกิดจากความแน่วแน่ในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ (Translating Policy into Action)


บทความ โดย : พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Friday, 04 October 2019 07:10
X

Right Click

No right click