(Environmental, Social and Governance: ESG) และความยั่งยืนของกิจการในประเทศไทย เข้าร่วมในหลักการประกันภัยที่ยั่งยืนภายใต้ข้อริเริ่มด้านการเงินของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP Finance Initiative) มุ่งเพิ่มแรงผลักดันในอุตสาหกรรมต่อเรื่อง ESG รองรับการเติบโตของตลาดประกันภัยในประเทศ
เป็นเวลากว่า 30 ปี ที่ข้อริเริ่มด้านการเงินของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP FI) ได้เชื่อมร้อยองค์การสหประชาชาติกับสถาบันการเงินทั่วโลกในการกำหนดวาระด้านการเงินที่ยั่งยืน และสร้างกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนที่สำคัญระดับโลกในการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการเงินรับมือกับความท้าทายต่อประเด็น ESG ในระดับสากล
กรอบความยั่งยืนที่ UNEP FI ได้ริเริ่มและร่วมจัดทำ ประกอบด้วย
- หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Banking: PRB) ที่เปิดตัวในเดือนกันยายน พ.ศ.2562 ปัจจุบัน มีธนาคารกว่า 300 แห่ง มีสัดส่วนเกือบครึ่งของอุตสาหกรรมธนาคารในโลก เข้าร่วมลงนาม
- หลักการประกันภัยที่ยั่งยืน (Principles for Sustainable Insurance: PSI) เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2555 โดย UNEP FI ปัจจุบัน มีสมาชิกกว่า 200 ราย รวมบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่ของโลก (คิดเป็น 33% ของเบี้ยประกันภัยรวมทั่วโลก) ในบรรดาข้อริเริ่มที่จัดทำขึ้น PSI นับเป็นแนวทางของอุตสาหกรรมในการผนวกการพิจารณาความเสี่ยงด้าน ESG ครอบคลุมทั้งธุรกิจประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันวินาศภัย
- หลักการลงทุนที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Investment: PRI) เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2549 โดยความร่วมมือระหว่าง UNEP FI และ UN Global Compact ปัจจุบัน มีผู้ลงทุนสถาบันราวครึ่งโลก (มีขนาดสินทรัพย์รวมกันราว 83 ล้านล้านเหรียญ) เข้าร่วมลงนาม
กรอบดังกล่าวข้างต้น ได้กลายเป็นบรรทัดฐานด้านการเงินที่ยั่งยืน เป็นพื้นฐานสำหรับการกำหนดมาตรฐาน และช่วยให้มั่นใจว่าระบบการเงินภาคเอกชนดำรงบทบาทอย่างเต็มศักยภาพในการสนับสนุนการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลทั่วโลกในปี ค.ศ.2015
“ในนามของ UNEP FI เรามีความยินดีที่ได้ต้อนรับสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะสถาบันสนับสนุนรายใหม่ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2565 ด้วยคำมั่นนี้ เป็นการแสดงออกถึงภาวะผู้นำภาคองค์กรและภาวะผู้ดูแลความยั่งยืน และเราแน่ใจว่า สถาบันไทยพัฒน์ สามารถสนับสนุนการประกันภัยที่ยั่งยืน และจะเป็นผู้นำในการขับเน้นความสำคัญของประเด็นความยั่งยืน” นายเอริก อัชเชอร์ หัวหน้าหน่วยงาน UNEP FI กล่าว
การประกันภัยที่ยั่งยืน เป็นแนวดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ ที่ซึ่งกิจกรรมทั้งปวงในสายคุณค่าประกันภัย รวมทั้งการปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย ถูกดำเนินการอย่างรับผิดชอบและคาดการณ์ล่วงหน้า ด้วยการระบุ การประเมิน การบริหาร และการเฝ้าสังเกตความเสี่ยงและโอกาสที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็น ESG ทั้งนี้ การประกันภัยที่ยั่งยืน มุ่งที่จะลดความเสี่ยง พัฒนาการแก้ปัญหาเชิงนวัตกรรม ปรับปรุงผลประกอบการทางธุรกิจ และสนับสนุนความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
“ไทยพัฒน์ มีประสบการณ์ที่ยาวนาน นับแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ.2542 ในการจัดแพลตฟอร์มและความรู้ด้านความยั่งยืนของกิจการและแนวปฏิบัติด้าน ESG ให้แก่บริษัทและองค์กรหลายแห่งในประเทศ เรามีความภาคภูมิใจที่ได้เข้าเป็นสถาบันสนับสนุนหลักการประกันภัยที่ยั่งยืน (PSI) เราให้คำมั่นที่จะสร้างคุณค่าด้าน ESG ผ่านหลักการ PSI ให้กับลูกค้าธุรกิจของเรา และจะช่วยสร้างเสริมให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ” นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ กล่าว
หลักการประกันภัยที่ยั่งยืน (PSI) เป็นความริเริ่มที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2012 ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Rio+20) โดยได้รับการลงนามรับรองจากเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเหล่าบรรดาซีอีโอในอุตสาหกรรมประกันภัย ก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันขนานใหญ่ระหว่างองค์การสหประชาชาติและแวดวงอุตสาหกรรมประกันภัย ปัจจุบัน มีองค์กรสมาชิกที่เติบโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอ กว่า 200 รายทั่วโลก ประกอบด้วย บริษัทผู้ลงนามเป็นภาคี PSI จำนวน 132 แห่ง (ถือเบี้ยประกันภัยรวมทั่วโลกอยู่ราว 33%) และสถาบันสนับสนุน PSI อีกจำนวน 97 แห่ง