November 21, 2024

เรียนรู้พฤติกรรมการเงินจากการเมือง

November 13, 2019 2933

เช้าวันนี้ (24 ก.พ.) เศร้า หดหู่ กับวิกฤติการเมืองเมืองไทยมากครับ

ที่ความรุนแรงขยายตัวมากขึ้นถึงกับมีการใช้อาวุธสงคราม จนชาวบ้านและเด็กเล็กๆ ที่ไม่รู้เรื่องด้วยต้องมาเสียชีวิต ขอให้วิกฤตการเมืองครั้งนี้ผ่านด้วยดี และจบลงโดยเร็วเถิด และขออย่าได้มีผู้เสียชีวิต หรือบาดเจ็บอีกเลย

จากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น หากเราศึกษาและนำมาเป็นบทเรียนให้ดี นอกจากจะช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดในอนาคตแล้ว สิ่งที่สังเกตยังอาจเป็นประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องการบริหารเงินได้เช่นกัน วันนี้ผมจะขอนำเหตุการณ์การเมืองมามองในเรื่องการเงินดู ซึ่งก็มีหลายอย่างที่น่าสนใจสำหรับพวกเรานำไปใช้สังเกต ป้องกัน และตัดสินใจอย่างถูกต้องเหมาะสมสำหรับการลงทุนต่อไป

Over Confidence เหตุแห่งความหายนะ อย่างตัวจุดชนวนของความไม่สงบทางการเมืองขณะนี้ที่ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์แม้จะครองเสียงข้างมาในสภา ยังต้องประกาศยุบสภาเลย คือ “พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย” เราลองมาวิเคราะห์กันดูนะครับว่า ทำไมพรรคร่วมรัฐบาลถึงกล้าดัน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอยนี้ออกมา ทั้งที่คนไม่เห็นด้วยมากมายเพราะขัดกับหลักความยุติธรรมอย่างรุนแรง สาเหตุผมว่าน่าจะเป็นเพราะความมั่นใจมากเกินไป (Over Confidence) นี่แหละครับ เพราะที่ผ่านมา ไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะผลักดันกฎหมายอะไรก็ตาม เช่น จำนำข้าว, ม.190, ที่มา ส.ว. ฯลฯ แม้จะมีคนไม่เห็นด้วย แต่กระแสการคัดค้านก็ไม่รุนแรง ทำให้รัฐบาลเองก็เกิดความมั่นใจว่า ครั้งนี้ก็ไม่น่ามีกระแสคัดค้านรุนแรงเช่นกัน เมื่อเกิด Over Confidence สิ่งหนึ่งที่จะตามมา ก็คือ The Illusion of Control คือ เกิดการประเมินความไม่แน่นอนในอนาคตต่ำไป เชื่อว่าสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่มากระทบได้ ผมก็คาดเดาว่า รัฐบาลเองก็คงประเมินเหตุการณ์ความไม่แน่นอนในอนาคตต่ำไปเช่นกัน เชื่อว่ากระแสการปลุกมวลชนน่าจะปลุกไม่ขึ้นเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา กว่ารัฐบาลจะรู้ตัวว่าคิดผิด ก็สายเกินแก้เสียแล้ว

ในด้านการลงทุนก็เช่นกัน ตอนที่ตลาดหุ้นบูมๆ เป็นตลาดกระทิง นักลงทุนหลายคนกลายเป็นเซียนหุ้นกันหมด volume ซื้อขายวันๆ หลายหมื่นล้านบาท คนที่เล่นหุ้นส่วนใหญ่จะยิ้มแย้มแจ่มใส เหมือนคนที่เล่นทองช่วงกระทิงที่ผ่านมา เมื่อทุกคนได้กำไรจากหุ้นกันมาก ก็เกิด Overconfidence ว่าตัวเอง ที่ทำกำไรได้เยอะเพราะฝีมือล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับตลาดเลย และก็เกิด The Illusion of Control คิดว่าตลาดไม่น่าจะลงมาก ถึงลงก็ออกจากตลาดทัน กว่าจะรู้ตัวว่า เราไม่ได้เก่งจริง พอร์ตก็ขาดทุนไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว กลายเป็นนักลงทุนระยะยาว (เพราะติดดอย) อย่างแท้จริง

Overconfidence หากพูดง่ายๆ ก็คือ ความประมาท นั่นเอง พุทธศาสนสุภาษิตมีบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “เย ปมตฺตา ยถา มตา” ผู้ประมาทเหมือนคนตายแล้ว เมื่อไหร่ที่เราประมาท เราก็เตรียมพบความหายนะได้เลย ขนาด Warren Buffett กูรูการลงทุนของโลกยังเคยกล่าวเตือนนักลงทุนทั้งหลายเลยว่า “จงกล้าตอนที่คนอื่นกลัว จงกลัวตอนที่คนอื่นกล้า”

Confirmation Bias

ในช่วงนี้ที่การติดต่อสื่อสารผ่านสื่อ Online เช่น Facebook หรือ Line ฯลฯ มีบทบาทมากขึ้นทางการเมือง เรามักจะเลือกเป็น Fan หรือ Friend ใน Facebook หรือ Line ที่มีความเห็นทางการเมืองตรงกับเรา และเลือกที่จะมองข้าม หรือ โต้แย้งเพื่อนหรือ ข้อความที่ส่งมาจากคนที่มีความเห็นต่าง พฤติกรรมอย่างนี้หล่ะครับ คือ Confirmation Bias คือพฤติกรรมที่เราจะเลือกรับรู้ข้อมูลเฉพาะที่ตรงกับความเชื่อของเรา จนตอนนี้เกิดปรากฏการณ์ “Unfriend” ใน Social Media จากการที่เราเลือกที่จะคบคุยกับเพื่อนที่มีทัศนคติทางการเมืองตรงกันเท่านั้น และ Unfriend เพื่อนที่มีความเห็นทางการเมืองต่างกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะปรากฏการณ์ unfriend ดังกล่าวจะไม่เป็นผลดีต่อสังคมไทย เนื่องจากทำให้ผู้คนเริ่มขาดการสนทนากันโดยลามจาก Social Media มาสู่ชีวิตจริง ผลก็คือจะทำให้การเมืองมีลักษณะแบ่งขั้วมากขึ้น ประเทศชาติแตกแยกมากขึ้น

Confirmation Bias นี้จะก่อให้เกิดพฤติกรรมต่อเนื่องอีกอย่าง คือ Selective Search for Evidence คือการที่คนเรามีแนวโน้มมองหาข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อของเรา และปฏิเสธข้อมูลที่ขัดแย้งความเชื่อ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะเลือกเป็น Fan หรือ Friend ใน Facebook หรือ Line ที่มีความเห็นทางการเมืองตรงกับเราซะเป็นส่วนใหญ่

ในการลงทุนก็ไม่ต่างกัน Confirmation Bias ทำให้นักลงทุนจะหาข้อมูลที่มาสนับสนุนความคิดเกี่ยวกับการลงทุนของตนมากกว่าหาข้อมูลมาโต้แย้ง ซึ่งเป็นผลให้เกิดการตัดสินใจผิดเพราะข้อมูลด้านเดียวจะทำให้กรอบความคิดของนักลงทุนบิดเบือนไป เหมือนภาพที่ไม่สมบูรณ์...อย่างเช่น ถ้าเราตัดสินใจซื้อหุ้น A ไปแล้ว เราก็จะพยายามหาข้อมูลและบทวิเคราะห์ที่มาสนับสนุนว่าหุ้น A สุดยอด ใครบอกว่าหุ้น A ไม่ดีก็ไม่เชื่อ

พฤติกรรมการรับรู้ข้อมูลเพียงด้านเดียวจาก Confirmation Bias นี้จะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ ดังนั้นเพื่อให้การตัดสินใจสมเหตุสมผล เราควรจะหาข้อมูลให้ครบทุกด้าน ทั้งด้านที่สนับสนุนและกล้าที่จะเผชิญหน้ากับข้อมูลด้านที่ขัดแย้งกับความคิดของตนเอง...เพื่อให้การตัดสินใจนั้นถูกต้องเหมาะสม

พฤติกรรมอันสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึง คือ Representativeness Bias ไม่รู้พวกที่สนับสนุนแต่ละฝ่ายทางการเมืองในปัจจุบันจะเคยมีความรู้สึกนี้บ้างมั๊ย อย่างเช่น ตอนช่วงแรกๆ ก็ยังเป็นไทยเฉยอยู่ เพราะอาจไม่แน่ใจว่า แนวคิดของแต่ละฝ่าย ฝ่ายไหนจะถูกต้อง แต่เมื่อมีบุคคลที่เราเชื่อถือ ซึ่งเป็นได้ทั้ง บุคคลในอาชีพที่เราเชื่อถือ เช่น แพทย์ ศิลปิน ฯลฯ หรือบุคคลที่เราชื่นชมอยู่ในใจ เช่น เป็นอาจารย์ของเราในอดีต เป็นต้น ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง ก็เลยทำให้เราที่เป็นไทยเฉยเปลี่ยนเป็น “ไทยไม่เฉย” เข้าร่วมแสดงจุดยืนทางการเมืองกับพวกเขาด้วย เพราะเชื่อมั่นว่าการตัดสินใจของบุคคลเหล่านี้เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง พฤติกรรมแบบนี้หล่ะครับ เค้าเรียกกันว่า “Representativeness Bias” แนวโน้มที่คนเราจะมีพฤติกรรมเปรียบเทียบสิ่งที่ตนเองกำลังประสบอยู่กับประสบการณ์ที่เคยพบ และมีแนวโน้มที่จะพยายามหาหลักฐานหรือตัวอย่างของเหตุการณ์ในอดีตมาเป็นเงื่อนไขในการพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคต กรณีนี้ ภาพอาจารย์ บุคลากรทางการแพทย์ คือภาพในอดีตที่ความเชื่อของเรา คือ ผู้ที่มีความรู้สูง มีจรรยาบรรณสูง น่าเชื่อถือ ดังนั้นเมื่อบุคคลเหล่านี้มาแสดงจุดยืนทางการเมืองแบบใด เราก็ใช้ความเชื่อในอดีตมาตัดสินปรากฏการณ์ในปัจจุบัน ว่าการตัดสินใจของบุคคลเหล่านั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะผู้ตัดสินใจเปี่ยมด้วยความรู้และคุณธรรมดังได้กล่าวมาแล้ว

พฤติกรรมนี้เป็นหลักการโดยทั่วไปที่เราตัดสินความเป็นไปได้ของข้อสมมุติฐานใดๆ โดยพิจารณาว่าข้อสมมุติฐานนั้นเหมือนกับข้อมูลที่มีอยู่มากแค่ไหน และพฤติกรรมนี้แหละที่ทำให้เราอาจละเลยความถูกต้องของข้อมูล ของเหตุการณ์ และเกิดอคติทางการคิดได้

ในด้านการลงทุนก็มีพฤติกรรมอย่างนี้เช่นกัน มาพิสูจน์กันง่ายๆ ครับ พวกเราลองตอบคำถามเหล่านี้ดูว่าเราเชื่ออย่างนี้รึเปล่า

  • บริษัทที่ดี หุ้นต้องดี
  • บลจ. ที่ดูน่าเชื่อถือ กองทุนที่บริหารต้องดี
  • คนที่เรียนการเงิน ต้องเล่นหุ้นเก่ง
  • ฯลฯ

ถ้าพวกเราเชื่ออย่างนี้ แสดงว่าเราถูกอคติแบบ Representativeness Bias ครอบงำเรียบร้อยแล้ว เพราะในชีวิตจริง

  • บริษัทที่ดีหลายบริษัท หุ้นในตลาดกลับไม่สร้างผลตอบแทนที่ดีให้ผู้ถือหุ้น
  • บลจ. ที่ดูน่าเชื่อถือ กลับบริหารกองทุนได้แย่กว่า บลจ. ขนาดเล็ก
  • คนที่เรียนการเงินหลายคน หุ้นยังติดดอยอยู่เลย

ดังนั้น ก่อนตัดสินใจเชื่ออะไร ให้พิจารณาที่เนื้อหาเป็นสำคัญครับ

 

สุดท้ายขอฝากหนังสือ “กลยุทธ์ภาษี เรื่องง่ายๆ ใกล้คุณ”

ซึ่งอธิบายหลักการ เหตุผลของกลยุทธ์และเทคนิคการวางแผนภาษีต่างๆ

ที่อ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายๆ อ่านแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้วางแผนภาษีด้วยตนเองได้

สนใจหาซื้อได้ที่ร้านนายอินทร์ หรือ ถ้าซื้อ online ก็ได้หลายที่

www.chulabook.com

www.b2s.co.th

booksmile

www.naiin.com

 

 


เรื่อง : สาธิต บวรสันติสุทธิ์

-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 174 February - March 2014

 

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Monday, 18 November 2019 17:32
X

Right Click

No right click