January 22, 2025

ช่วงนี้ลงทุนอะไรดี

November 13, 2019 3022

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่สับสนวุ่นวายจนทำให้เศรษฐกิจไทยชะงักงันมาเป็นเวลากว่า 6 เดือน และแม้วิวัฒนาการทางการเมืองจะคืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ

อย่างวันที่ 7 พ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเอกฉันท์ ให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ ร.ม.ว. กลาโหม และรัฐมนตรีอีก 9 คน สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี และหยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการแต่งตั้งโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ประกอบกับวันที่ 8 พ.ค. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็มีมติ ให้ชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ในโครงการรับจำนำข้าว ทำให้มีการชุมนุมทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในวงกว้างขึ้นส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้ว มีสัญญาณที่ไม่น่าไว้วางใจมากยิ่งขึ้น

หลายสำนักเศรษฐกิจต่างก็ออกมาเตือนพร้อมปรับลดการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยหากปัญหาการเมืองยังยืดเยื้อต่อไป ตัวอย่างเช่นสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) วิเคราะห์ว่า ผลกระทบของสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 57 มีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวที่หดตัวและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -9.4 ต่อปีทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 57 หดตัวร้อยละ -5.9 ต่อปี ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 57 หดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -4.4 ต่อปีและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ระดับ 85.7 ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 56 เดือน สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณหดตัวลงเช่นกัน สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -1.2 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 57 หดตัวร้อยละ -0.2 ต่อปีและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 58.7 ซึ่งเป็นการปรับลดลงในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 12

ผลกระทบทางการเมืองต่อเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทจัดอันดับเครดิตออกมาเตือนเรื่องของการทบทวนอันดับเครดิต อาทิ ฟิทช์ เรทติงส์ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ว่า ภาวะชะงักงันทางการเมืองในไทยที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะส่งผลลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ และมีแนวโน้มที่จะทำให้ฟิทช์ทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของไทย สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ บริษัท มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และ บริษัท สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ก็แสดงความเห็นเช่นเดียวกันว่าความขัดแย้งการเมืองยืดเยื้อ มีความเสี่ยงที่จะปรับลดความน่าเชื่อถือของไทย

เมื่อภาวะเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะหดตัวต่อเนื่องและซ้ำร้ายอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถืออีก คำถามที่นักลงทุนกังวลก็คือ ควรจะทำอย่างไรกับเงินออมที่ตนเองมีอยู่ หรือการลงทุนที่มีอยู่ควรปรับอย่างไรดี จึงจะเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และทำให้เงินออมของเราเติบโตหรืออย่างน้อยก็เสียหายน้อยที่สุด

โชคดีครับ พอดีผมได้ข้อมูลจากศูนย์ส่งเสริมพัฒนาความรู้ตลาดทุน (TSI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อคิดการจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยมองว่าภาวะเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไปมาในรูปคลื่น มีขึ้นก็มีลง ซึ่งพอสรุปได้คร่าวๆ เป็น 4 ช่วง ดังนี้

โดยการจัดสรรเงินลงทุนที่เหมาะสมตามวัฏจักรเศรษฐกิจจะเป็น ดังนี้ครับ

การจัดพอร์ตสำหรับวัฏจักรธุรกิจในช่วงฟื้นตัว (Early Recovery)

  • ในช่วงนี้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะดีขึ้นตามเศรษฐกิจที่ขยายตัว ตราสารหนี้และเงินฝากจะให้ผลตอบแทนต่ำ สินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจก็คือ “หุ้นสามัญ” เพราะหุ้นจะได้ผลบวกโดยตรงจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและเศรษฐกิจที่ขยายตัว โดยเฉพาะหุ้นที่ได้รับผลประโยชน์จากเศรษฐกิจฟื้นตัว (cyclical stocks) ตราสารหนี้เอกชนก็สามารถลงทุนได้เพราะความเสี่ยงต่ำลง แต่ควรลงทุนตราสารหนี้ที่อายุสั้น

การจัดพอร์ตสำหรับวัฏจักรธุรกิจในช่วงเฟื่องฟู (Late Recovery)

  • ช่วงนี้แม้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่การลงทุนในหุ้นก็ไม่ได้มีความน่าสนใจมากนัก เนื่องจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น สินทรัพย์ที่น่าสนใจคือ “ทองคำ” เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเอง และป้องกันเงินเฟ้อได้ดี และลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุยาว เพื่อล็อคดอกเบี้ยสูง เพราะดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับลดลงในอนาคต

การจัดพอร์ตสำหรับวัฏจักรธุรกิจในช่วงถดถอยและเงินเฟ้อ (Stagflation)

  • เศรษฐกิจในช่วงนี้เริ่มที่จะถดถอยส่งผลลบต่อตลาดทุน เนื่องจากผลประกอบการที่ยังชะลอตัวตามเศรษฐกิจ ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูงและน่าสนใจ ส่วนตราสารหนี้ก็ไม่น่าสนใจ เพราะแนวโน้มดอกเบี้ยที่จะขยับสูงตามเงินเฟ้อ การเลือกถือ “เงินฝาก” จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่ขยับเพิ่มขึ้น หากลงทุนในหุ้นควรลงทุนในหุ้นที่มีผลประกอบการดี แม้ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย (defensive stock)

การจัดพอร์ตสำหรับวัฏจักรธุรกิจในช่วงถดถอย (Recession)

  • เศรษฐกิจในช่วงนี้เป็นช่วงที่ ทั้งภาคธุรกิจและตลาดการเงินได้ชะลอตัวลงอย่างมากและเตรียมที่จะฟื้นตัว อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้อยู่ในภาวะขาลง เนื่องจาก เป็นนโยบายทางการเงินที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวในอนาคต ตราสารทุนยังให้ผลตอบ แทนที่ไม่น่าสนใจนัก สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและได้รับผลประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาลง เช่น ตราสารหนี้ จึงมีความน่าสนใจ

หลักการลงทุนที่กล่าวมาเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการพิจารณาจัดพอร์ตการลงทุนเท่านั้นครับ ในการเลือกหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนจริงๆ เราจึงควรจะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และ พิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย อย่างเช่น ภาวะการเมือง (โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบัน) นโยบายของภาครัฐ ภาวะเศรษฐกิจโลก หรือ นโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจหรือคู่ค้าที่สำคัญของไทย ฯลฯ

นอกจากนี้ อยากขอย้ำอีกครั้งว่าหลักการนี้เป็นหลักการของการจัดพอร์ต จึงให้ความสำคัญมากของการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ต่างประเภทกัน และนอกจากการคำนึงภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องคำนึงความชอบและความสามารถในการรับความเสี่ยงของเราเองในฐานะผู้ลงทุนด้วย

อ้อ ลืมไป หลายท่านคงสงสัยนะครับว่า แล้วช่วงนี้ภาวะเศรษฐกิจของไทยอยู่ในช่วงไหน ตามความเห็นของผมนะครับ ผมว่าเริ่มเข้าสู่ช่วงถดถอยและเงินเฟ้อ (Stagflation) แล้ว ดังนั้น ช่วงนี้เก็บเงินสดไว้กับตัวดีกว่า ยังไม่ต้องรีบร้อนลงทุนเพราะกลัวตกรถไฟหรอกครับ เพราะขึ้นรถไฟไม่ทัน เงินเรายังอยู่ครบ แต่ถ้าติดดอย มันจะหนาว เงินจะหดครับ

ขณะนี้ผมได้เปิด Fanpageใน Facebook ชื่อ Sathit CFP ซึ่งได้รวบรวมบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆ สำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจทุกท่าน ท่านใดสนใจขอเชิญไปกด Like เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ...ขอบคุณครับ


เรื่อง : สาธิต บวรสันติสุทธิ์

-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 176 May - June 2014

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 13 November 2019 08:49
X

Right Click

No right click