10 เคล็ดลับการบริหารเงินต้อนรับปีใหม่

December 04, 2019 2781

เริ่มปีใหม่กันแล้ว หลายๆ คนคงตั้งเป้าหมายในปีใหม่ว่า จะทำอะไร บางคนอาจตั้งเป้าหมายว่าจะออกกำลังกายมากขึ้น จะตื่นเช้ามากขึ้น จะ...มากขึ้น ฯลฯ

และเรื่องนึงที่คนมักตั้งใจมากขึ้น ก็คือ แม้ว่าเรื่องการบริหารเงินจะเป็นเรื่องที่จำเป็นที่พวกเราควรจะทำกันทุกวัน ไม่จำเป็นต้องเริ่มทำกันวันปีใหม่ เหมือนการรักแม่ พวกเราก็ควรรักและกตัญญูต่อแม่ทุกวัน ไม่จำเป็นต้องเฉพาะวันแม่

แต่อย่างไรก็ตาม เป็นประเพณีของเราที่มักหาสิ่งที่ดีๆ ให้กับตนเองเมื่อปีใหม่มาถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกปี 2558 นี้ไม่ง่าย การบริหารการเงินจึงต้องจริงจังมากขึ้นและทำด้วยความระมัดระวัง วันนี้ผมจึงขอแนะนำ 10 เคล็ดลับการบริหารเงิน เผื่อเอาไปเริ่มใช้ตั้งแต่ต้นปี ครับ

 1. จับจ่ายอย่างพอเพียงในสิ่งที่คุ้มค่า และ ใช้จ่ายน้อยกว่าที่หาได้ 

ฟังดูอาจง่าย แต่เชื่อมั๊ยครับ เรื่องนี้กลับเป็นเรื่องที่ทำให้หลายๆ คนไม่สามารถออมเงินได้มากตามที่ตั้งใจไว้ โดยเฉพาะช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ที่หลายๆ ที่มีโปรโมชั่น ส่งเสริมการขายมากมายจนเราอดใจไม่ไหวที่จะซื้อ พูดง่ายๆ ก็คือ แพ้ใจตัวเอง หรือ ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ

ข้อแนะนำ: ท่องไว้เลยครับ “ไม่ใช้ ไม่ซื้อ” มีโปรโมชั่นยังไง ถ้าไม่ใช้ ก็ไม่ซื้อ แต่ถ้าเงินอยู่ในกระเป๋าเยอะ ก็มักจะอดใจไม่ไหว ดังนั้นเมื่อมีรายได้ขอแนะนำรีบกันส่วนหนึ่งออมไว้ก่อนตามที่ตั้งใจในที่ๆ ถอนได้ยาก เช่น บัญชีกองทุน เงินฝากประจำ ประกันชีวิต ฯลฯ ที่เหลือค่อยไว้สำหรับใช้จ่าย วิธีนี้เราจะประหยัดรายจ่ายเองครับ

 2. จัดทำงบประมาณ และยึดมั่นกับงบประมาณที่ทำไว้ 

งบประมาณไม่ใช่เรื่องของบริษัทเท่านั้น เป็นเรื่องของพวกเราด้วยเช่นกัน ในการทำงบประมาณ เราต้องประเมินว่ารายได้เราเป็นอย่างไร มั่นคงแค่ไหน ส่วนค่าใช้จ่าย ก็ดูว่าเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง อันไหนจำเป็น อันไหนไม่จำเป็น ภาระหนี้เป็นยังไง มีการจ่ายเงินเพื่อการลงทุนหรือไม่ ฯลฯ เราก็จะรู้ว่าในแต่ละเดือนเราจะมีเงินเหลืออยู่เท่าไหร่ ใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ ขอให้เราปรับปรุงงบประมาณ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ลดภาระหนี้ที่ไม่มีประโยชน์ เพิ่มรายจ่ายเพื่อการลงทุน และยึดมั่นกับงบประมาณที่เราทำนั้น

ข้อแนะนำ: ทำงบประมาณเป็นลายลักษณ์อักษร และทำบนพื้นฐานของข้อมูลจริง และบนความสามารถที่เราจะทำได้ หลายคนตั้งงบประมาณแบบเกินความสามารถ สุดท้ายก็จะหยวนๆ กับตัวเอง ทำให้เราเหยาะแหยะกับงบประมาณ ปัจจุบันมี Application บนมือถือ tablet เกี่ยวกับการทำงบประมาณ บัญชีรายรับรายจ่ายมากมาย อย่างที่ผมใช้ตอนนี้ ก็คือ Expense Manager ก็ Ok นะ ฟรีด้วย

 3. อย่าเป็นหนี้บัตรเครดิต 

พยายามชำระหนี้บัตรเครดิตให้เต็มจำนวน และตรงเวลา การชำระหนี้ช้ากว่ากำหนดหรือจ่ายไม่เต็มจำนวน เราจะเสียค่าปรับ และต้องจ่ายดอกเบี้ยที่แสนแพง อย่าไปเสียดอกเบี้ยหรือค่าปรับโดยไม่จำเป็น เราสามารถหาดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของสินเชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ฯลฯ ของสถาบันการเงินต่างๆ ได้ที่ http://www2.bot.or.th/feerate/index.aspx

ข้อแนะนำ: เราอาจใช้การหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติสำหรับการชำระหนี้บัตรเครดิต และหนี้รายการสำคัญอื่นๆ เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ เพื่อสร้างวินัยในการชำระหนี้

 4. ออมเงินเพื่อวัยเกษียณ 

ลองถามตัวเอง 2 ข้อ

  1. ถ้าตกงานจริงๆ เงินที่เก็บจะพอให้ใช้ได้กี่เดือน
  2. แล้วถ้าต้องตกงานซัก 50 ปีหล่ะ เงินที่เก็บตอนนี้พอใช้มั๊ย

การเกษียณก็เหมือนการตกงานนั่นแหละ แต่หนักกว่า คือ ตกงานหลายๆ ปี แล้วยิ่งอายุเรายืนยาวขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตวัยเกษียณก็ยาวนานขึ้น หากเราไม่วางแผนออมเงินเพื่อวัยเกษียณในวันนี้ เราอาจต้องพบกับปัญหาด้านการเงินในช่วงเกษียณได้ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นเราอาจไม่มีใครที่เราจะพึ่งพิงได้

ข้อแนะนำ: มีการออมเงินเพื่อวัยเกษียณมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต หรือกองทุน RMF ซึ่งนอกจากจะช่วยเราออมเงินแล้ว ยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอีก รีบๆ ออมซะตั้งแต่วันนี้ อย่าประมาทคิดว่าอีกนานกว่าเกษียณ คนที่คิดแบบนั้น ตอนนี้นั่งกลุ้มใจไม่มีเงินใช้แล้ว

 5. ใช้ระบบหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ 

มีเงิน ให้ออมก่อน เหลือค่อยใช้ คือหลักการเบื้องต้นที่สำคัญสำหรับการออมเงิน วิธีหนึ่งที่ช่วยได้ คือ การใช้ระบบหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ เหมือนกับที่เราใช้หักสำหรับการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ นั่นเอง เพียงแต่ครั้งนี้เป็นการจ่ายสำหรับเป็นเงินออมให้ตนเองได้ใช้ในอนาคต

ข้อแนะนำ: ติดต่อธนาคารที่เรามีบัญชีเงินฝากอยู่เพื่อขอใช้บริการ และควรกำหนดให้หักในช่วงเวลาที่เรามีเงิน เช่น ช่วงเงินเดือนออก และในจำนวนเงินที่เราสามารถออมได้ เพราะหากธนาคารหักไม่ได้ ก็จะยกเลิกการให้บริการ และควรศึกษาเรื่องค่าธรรมเนียมในการหักบัญชีด้วย

 6. ลงทุน 

ดอกเบี้ยเงินฝากก็ต่ำแสนต่ำและคงต่ำไปอีกระยะหนึ่งตราบใดที่รัฐบาลยังต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นหากเราต้องการความมั่งคั่งในอนาคต เราก็จำเป็นต้องลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ระลึกไว้เสมอว่า “ผลตอบแทนที่สูงมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงด้วยเช่นกัน” ขนาดประเทศไหนจะเจริญแค่ไหน ก็จะดูงบประมาณด้านการลงทุนของประเทศนั้นๆ ทำนองเดียวกันกับชีวิตเรา ชีวิตเราจะมั่งคั่งมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีการลงทุนมากน้อยเพียงใดด้วยเช่นกัน แต่ไม่ใช่ว่าเอาเงินไปลงทุนดื้อๆ อย่างนั้นอาจเจ๊งได้ ก่อนลงทุนศึกษาหาความรู้ก่อนนะครับ

ข้อแนะนำ: ปรึกษาหรือเข้าดูเว็บสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ธนาคาร หรือ บริษัทหลักทรัพย์ ฯลฯ เพื่อศึกษารายละเอียด และขอคำปรึกษาด้านการเงินก่อนการตัดสินใจลงทุน

 7. หาผลประโยชน์สูงสุดจากงานที่ทำ 

ไม่ใช่แนะนำให้เราโกงหรือยักยอกทรัพย์สินของบริษัทหรือองค์กรที่เราทำอยู่นะ แต่แนะนำให้เราทำงานให้เต็มความสามารถและพัฒนาตัวเราตลอดเวลา เมื่อผลงานเราดี เราก็ย่อมได้รับผลตอบแทนที่ดี ไม่ว่าจะเป็นโบนัส หรือการขึ้นเงินเดือน นอกจากนั้น การเข้าร่วมในสวัสดิการที่บริษัทให้ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพกลุ่ม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ ก็เป็นช่องทางที่เราสามารถหาประโยชน์ได้สูงสุดจากงานที่ทำ

ข้อแนะนำ: เพียงเราทำงานให้เก่งกว่า ทุ่มเทมากกว่า คนอื่นๆ ในบริษัทเพียง 5% เสมอ เราก็สามารถสร้างผลประโยชน์จากงานที่ทำได้มากกว่าคนอื่นๆ หลายเปอร์เซ็นต์

 8. ประเมินความพอเพียงของประกันที่ทำ 

เมื่ออายุเราเปลี่ยน สิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ ภาระความรับผิดชอบ ความมั่นคงของรายได้ ฯลฯ ประกันชีวิตที่เคยเหมาะสมสำหรับเราเมื่อสมัยวัยรุ่น ตอนนี้อาจไม่เหมาะแล้ว (ก็ช่วงวัยรุ่น สุขภาพก็ยังแข็งแรง ยังโสด ไม่มีภาระ ตอนนี้ก็แก่แล้ว สุขภาพก็ไม่ดี แถมยังมีลูกหลานต้องคอยดูแลอีก) เราจึงควรต้องบริหารความเสี่ยงของเราด้วยการทำประกันชีวิตที่เหมาะสมกับชีวิตเราที่เปลี่ยนไป

ข้อแนะนำ: ปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงินที่วางใจได้ หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองโทรหาบริษัทประกันชีวิตต่างๆ เปรียบเทียบหลายๆ เจ้าก่อนซื้อ จะได้ประกันที่ดี ราคาถูกและเหมาะสมกับเราจริงๆ

 9. ปรับปรุงพินัยกรรม 

ขณะที่ความไม่แน่นอนเกิดขึ้นบ่อยมาก ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเราเองในอนาคต การทำพินัยกรรมจะช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น แต่พวกเราเองส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครทำพินัยกรรมกัน และยิ่งตอนนี้มีเรื่องภาษีมรดกเข้ามาเกี่ยวข้อง ยิ่งต้องวางแผนให้ดี

ข้อแนะนำ: ปรึกษาสำนักกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามสำนักงานเขตเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมที่สามารถมีผลทางกฎหมาย

 10. Keep Good Records 

ไม่เพียงพินัยกรรมที่เราต้องทำ การทำบัญชีทรัพย์สินของเราก็ต้องทำด้วยเหมือนกัน ไม่งั้นอาจเป็นเหมือนอย่างกรณีของคนที่บริจาคเตียงที่มีทรัพย์สินมูลค่าหลักล้านซ่อนอยู่ที่หัวเตียงให้พระพยอม วัดสวนแก้ว กว่าจะหาตัวทายาทเจ้าของเพื่อคืนทรัพย์สินได้ ทายาทก็เกือบไม่ได้ทรัพย์สินก้อนนั้นแล้ว นอกจากนี้การทำบัญชีทรัพย์สินจะช่วยให้เรารู้ว่าปัจจุบันเรามีความมั่งคั่งอยู่เท่าไหร่ มีภาระหนี้สินอย่างไรบ้าง

ข้อแนะนำ: ทำบัญชีทรัพย์สินเสมอ และบอกคู่ชีวิตหรือคนที่ไว้ใจว่าบัญชีดังกล่าวเก็บไว้ที่ไหน เพื่อว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจะได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ทั้งหมดนี้เป็น 10 เคล็ดลับด้านการเงินอย่างง่ายๆ ที่จะช่วยให้เราสามารถสร้างความมั่งคั่งได้ในอนาคตครับ

ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆ สำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจทุกท่าน ขอเชิญไปกด Like ได้ที่ Page ใน Facebook ชื่อ Sathit CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ...ขอบคุณครับ


เรื่อง : สาธิต บวรสันติสุทธิ์

-----------------------
นิตยสารMBA ฉบับที่ 184 Jan - Feb 2015

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Wednesday, 04 December 2019 11:35
X

Right Click

No right click