January 22, 2025

นศ.นิด้า คว้ารางวัล Teradata Technology Award 2019 เปิดประสบการณ์ชีวิตนอกตำรา

March 19, 2020 12223

เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า – NIDA) ได้ส่งตัวแทนนักศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ สาขา Flexible MBA 3 คนเข้าร่วมแข่งขันรายการ TUN DATA Challenge 2019 ผลจากการแข่งขันสามารถคว้ารางวัล Teradata Technology Award 2019 มาครอง ด้วยการนำความรู้ที่ศึกษามาปรับใช้สร้างแผนธุรกิจให้กับองค์กร HIRE HERO เหนือกว่ารางวัลที่ได้รับ นักศึกษาทั้ง 3 คนได้รับประสบการณ์ที่น่าประทับใจและความรู้จาก Keynote ระดับโลก

จาก “เพื่อน” สู่ความเป็น “ทีม”

วีรุตม์ แพทย์สุวรรณ (ชุณห์) นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขา Flexible MBA 34 กล่าวว่า การเข้าร่วมแข่งขัน TUN DATA Challenge 2019 นั้นเริ่มจากทีมของตนเองเป็นนักศึกษาสาขา Flexible MBA และได้ลงเรียนวิชา Big Data, Data Mining, and CRM Applications กับ รศ.ดร.จงสวัสดิ์ จงวัฒน์ผล อาจารย์จึงชวนให้ทำโปรเจคเพื่อส่งไปประกวดที่สหรัฐอเมริกา และถ้าได้เข้ารอบจะได้ไปร่วม “2019 Teradata Analytics Universe” Conference ที่สหรัฐอเมริกา

ตอนนั้นผมกับวินเรียนอยู่รุ่นเดียวกัน ส่วนป๊อปอยู่รุ่น 32 เราสนใจเรื่อง Data Mining และ Big Data ก็เลยมาฟอร์มทีมกัน ตอนแรกจริงๆ ผมไม่ได้ตั้งเป้าจะไปแข่งขันอะไร ผมลงเรียนวิชา Data Mining เพราะอยากลองเรียนวิชานี้เพราะเป็นเทรนด์ และเป็นสิ่งที่คนพูดกันก็เลยลงเรียน แล้วก็มาเจอป๊อปซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของผม เขาก็สนใจวิชานี้เพราะอาจารย์สอนดี เขาบอกว่าถ้าทำโปรเจ็กต์ได้ดีก็มีโอกาสไป Conference ระดับนานาชาติ ผมก็รู้สึกว่าน่าสนใจดีเลยตัดสินใจร่วมกลุ่มกัน

รับโจทย์ รับ Data ลงมือทำ

วีรุตม์: กล่าวถึงโจทย์ที่ทาง Teradata ให้ไว้ว่า “โปรเจ็กต์สำหรับปีที่ลงแข่งเป็นการเสนอ Solution ให้กับองค์กรไม่แสวงหากำไร มีชื่อโปรเจ็กต์ คือ DATA EMPOWERMENT FOR HIRE HERO ผู้จัดงานให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรนี้ว่า HIRE HERO เป็นองค์กรที่ทำพันธกิจในการหางานให้กับทหารและทหารผ่านศึก ผู้จัดงานมีการไกด์ไลน์คำถามให้เรา โดยคำถามจะเน้นไปทางด้านการจัดการ ด้านลูกค้า คำถามเกี่ยวกับการบริจาค ว่าเขามีข้อมูลแบบนี้เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง เราก็เอาข้อมูลมาสร้างกลยุทธ์ สร้างแผน เราเอาความรู้ด้านแมนเนจเม้นต์มาใช้ ที่นิด้ามีคณะสถิติประยุกต์เขาทำเรื่องข้อมูลเหมือนกัน แต่ผมเป็นบริหารธุรกิจสิ่งที่ผมแตกต่างจากเขาคือความเข้าใจในธุรกิจและเอาข้อมูลดิบมาแปลงเป็นอินไซน์เพื่อตอบโจทย์ให้กับองค์กร”

นที พนมโชคไพศาล (ป๊อป) นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขา Flexible MBA 32 กล่าวเสริมว่า “เราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้เขาถูกใจ คำถามของเขาทำให้เราเข้าใจ Data มากขึ้น”

เอาความรู้ที่เรียนมาปรับใช้

วีรุตม์: กล่าวต่อว่า “ความรู้เรียนจากที่นิด้าสามารถนำมาปรับใช้ได้มาก อย่างวิชาด้านการตลาด การเงิน หรือการบริหารทรัพยากรบุคคล อาจารย์เคยตั้งคำถามกับเราว่าคณะบริหารธุรกิจสอนเพื่อให้ตัวธุรกิจได้กำไรมากที่สุด แต่การที่เราไปช่วยองค์กรไม่แสวงหากำไร เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง จริงๆ วิชาที่เรียนมาสามารถช่วยได้มาก ถึงเขาจะเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร แต่ถ้ารายจ่ายเขามากกว่ารายได้ องค์กรเขาก็อยู่ไม่ได้ เราต้องเข้าไปช่วยทำยังไงให้เขาลดค่าใช้จ่าย ทำยังไงให้พนักงานของเขามีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่เรื่องของการตลาดทำยังไงให้มีคนมาบริจาคเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ทำให้ทีมได้รับรางวัลนั้นมาจากหลายเรื่อง ทั้งความทุ่มเท การใช้เครื่องมือ ซึ่งอาจารย์จงสวัสดิ์เป็นคนช่วยไกด์ให้ว่าควรใช้เครื่องมืออะไรแต่ทีมเป็นคนลงมือทำเองทั้งหมด”

นที: กล่าวเสริมว่า เครื่องมือที่ทีมเอามาใช้เป็นเครื่องมือที่นักศึกษานิด้าได้เรียนอยู่แล้ว อย่าง Teradata Aster, SAS Enterprise Miner, Tableau, RapidMiner ฯลฯ เหล่านี้ ทางนิด้าให้กับสนับสนุนและลงทุนกับนักศึกษาอย่างมาก

ได้มากกว่าการแข่งขันแต่ได้ความรู้ด้วย

วีรุตม์: กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากการแข่งขันในครั้งนี้ว่า ในรายการแข่งขันจะมีคนดังๆ ด้าน Big Data และ Data Mining มาบรรยายให้ฟังถึงเทรนด์ของ Data Analysis ว่าจะไปทิศทางไหน เช่น Michael Hansen – Director Business Intelligence at Vodafone Genmany บรรยายเรื่อง Driving Success with Data and Analytics at VODOFONE, Katie Linendoll พิธีกร และนักเขียนชื่อดังทางด้าน Technology & Geadgets, Oliver Ratzesberger อดีต CEO Teradata บรรยายเรื่อง The New Reality and the 5 Factors Impacting Business Success ฯลฯ ทำให้การไปแข่งขันครั้งนี้ได้ทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนที่เป็นมืออาชีพ ได้พูดคุยกับบริษัทชั้นนำ และได้รู้ว่าเทรนด์กำลังไปทิศทางไหน

นที: กล่าวเสริมต่อว่า “การไปครั้งนี้เราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากคนในวงการจริงๆ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เข้าแข่งขันเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ได้เห็นความสนใจเรื่อง Data Analysis ของเด็กมัธยมปลายที่มาร่วมการแข่งขัน Analytic Challenge และเวลาที่ Keynote บรรยายเหมือนกับเขาแนะแนวทางให้กับเรา เหมือนเขาไม่ได้สอน เขาเล่าประสบการณ์ของเขาให้ฟัง”

กิตติธรา สงวนชาติ (วิน) นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขา Flexible MBA 34 กล่าวเสริมว่า “ประสบการณ์ที่ได้ฟังจาก Keynote เราได้ฟังว่าสิ่งไหนที่เขาทำแล้วสำเร็จ สิ่งไหนไม่สำเร็จ ทำให้เราไม่ต้องไปเรียนรู้ตั้งแต่ศูนย์ใหม่แต่เราเอามาต่อยอดได้เลย”

ขอบคุณอาจารย์ผู้ผลักดันให้แจ้งเกิด

กิตติธรา: กล่าวว่า “ตั้งแต่เรียนวิชาการ Data Mining ของอาจารย์จงสวัสดิ์ อาจารย์พยายามสร้างแรงกระตุ้นให้กับนักศึกษาเกี่ยวกับโครงการ TUN DATA Challenge พอทีมของผมต้องการเข้าประกวด อาจารย์ก็เป็นที่ปรึกษาให้”

วีรุตม์: กล่าวเสริมว่า “อาจารย์ช่วยทุกเรื่องไม่ใช่แค่เรื่อง Data Mining เรื่อง MBA ก็ช่วย อาจารย์เขาเป็นทั้งที่ปรึกษาและโค้ช เขาผลักดันพวกเรามาก ขอแค่นักศึกษามีความตั้งใจทำงานชิ้นนี้ออกมา ซึ่งเราก็ทำงานกันหนักมาก”

นที: กล่าวทิ้งท้ายว่า “บางช่วงเรารู้สึกเหนื่อยมาก เราคิดว่าทำไมเราต้องมาทำอะไรเหนื่อยขนาดนี้ เราต้องมาทำอะไรที่ไม่รู้ผลจะออกมายังไง ตอนนั้นหมดแรงแล้วอยากจะยอมแพ้แล้ว ขอจบโปรเจ็กต์นี้สักที อาจารย์ก็มาเป็นแรงกระตุ้นให้กับเราว่าถ้าเราทำให้ดีผลสุดท้ายออกมาก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ”


บทความ: กองบรรณาธิการ

ภาพ: อาทิตย์ กัณฐัศว์กำพล

Rate this item
(5 votes)
Last modified on Thursday, 19 March 2020 07:06
X

Right Click

No right click