October 14, 2024
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 840

ปฏิวัติการเรียนการสอน MBA ด้วยกรณีศึกษา

January 23, 2018 6158

การเรียนการสอนในประเทศไทย ส่วนใหญ่ตั้งแต่ระดับเบื้องต้นจนถึงระดับสูงคือปริญญาตรี-โท และเอกยังเน้นรูปแบบการเรียนการสอนในลักษณะทิศทางเดียว หรือ Lecture Based Classroom

ซึ่งเป็นการเรียนที่เน้นการถ่ายทอดเนื้อหาจากอาจารย์ไปสู่นักเรียนหรือนักศึกษา ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนในลักษณะนี้ เป็นที่เห็นตรงกันในหลากหลายงานวิจัยทางด้านการศึกษาว่าเป็นการเรียนการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ

ไม่ได้เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ แต่เน้นไปที่ผู้สอนในการถ่ายทอดความรู้ นักศึกษาก็ได้แต่รับความรู้ นักศึกษาไม่สามารถนำไปปรับใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง การเรียนโดยส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การท่องจำตามคำพูดของอาจารย์เป็นหลัก หรือเป็นเพียงการเข้าใจในเนื้อหาและทฤษฎีโดยไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจจริงๆได้

การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบของการ Lecture ไปสู่การเรียนการสอนผ่านการอภิปรายกรณีศึกษา (Case Discussion) เป็นการเรียนการสอนผ่าน (การอภิปราย) กรณีศึกษา หรือ Case เป็นหลัก ซึ่งนอกจากทำให้นักศึกษามีความตื่นตัวที่จะเรียนรู้แล้วยังทำให้นักศึกษา สามารถที่จะเข้าใจถึงสถานการณ์จริงจากองค์กรจริง นักศึกษาสามารถประยุกต์ใช้ทฤษฎีที่เรียนมาในการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริงได้ โดยการเรียนการสอนผ่านกรณีศึกษานักศึกษาต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ในบทบาทของ Focal Manager หรือ Decision Maker หรือ ผู้ที่ต้องตัดสินใจในการแก้ปัญหาให้กับองค์กรหรือบริษัท

ผู้เขียนเองเคยไปประชุมที่มหาวิทยาลัย Harvard พบว่าที่ Harvard Business School บังคับให้ทุกๆ วิชาต้องใช้การสอนผ่านทางกรณีศึกษา แม้แต่วิชาสถิติหรือบัญชี ก็ต้องใช้กรณีศึกษาในการสอน และครึ่งหนึ่งของเกรดต้องมาจากคะแนนการมีส่วนร่วมในการอภิปรายกรณีศึกษา ผู้เขียนได้ถามอาจารย์ที่ Harvard ว่าเพราะอะไร เขาได้ตอบว่าทางมหาวิทยาลัยมีการทำวิจัยพบว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้นักธุรกิจหรือผู้บริหารประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ที่การมีความรู้ หากแต่ว่าเป็นความสามารถในการที่จะแสดงออกหรือสื่อสารความรู้ที่มีในการแก้ปัญหาในการตัดสินใจได้ ดังนั้นกรณีศึกษาจึงเป็นกลไกที่สำคัญที่ต้องใช้ในการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจ

ถ้าถามว่ากรณีศึกษาคืออะไร จะพบว่ามีหลากหลายความหมาย แต่ถ้าเป็นความหมายที่ทุกคนเห็นตรงกันก็คือ การศึกษาสถานการณ์หรือองค์กรเชิงลึก โดยเน้นไปที่การศึกษา ประเด็นปัญหา ความท้าทาย การปฏิบัติ และ ประเด็นที่ต้องมีการตัดสินใจ ทุกๆ กรณีศึกษาต้องเป็นการศึกษาจากข้อมูลจากสถานการณ์หรือองค์กรจริง ไม่ใช่เกิดจากจินตนาการหรือความคิดเห็นของผู้เขียน นอกจากนี้ กรณีศึกษายังต้องมีการวิเคราะห์จากข้อมูลในหลากหลายมิติซึ่งรวมถึงข้อมูลปฐมภูมิ (การสัมภาษณ์, การสนทนากลุ่ม (Focus Group), การสังเกตการณ์) และข้อมูลทุติยภูมิ (เอกสารขององค์กร, งานวิจัย, และข่าวสารตามนิตยสารและหนังสือพิมพ์) มีการจัดแบ่งประเด็น และที่สำคัญที่สุดคือกรณีศึกษาที่ดีต้องเป็นเรื่องราว (Story) ที่ดีน่าสนใจ และมีความเชื่อมโยงกับทฤษฎีหรือบทเรียนที่เกี่ยวข้อง

 

ร.ศ. พ.ต.ต. ดร. ดนุวศิน เจริญ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) NIDA

 

ความสำคัญของกรณีศึกษา

ปัญหาหลักอย่างหนึ่งของหลายองค์กร ก็คือการไม่สร้างกระบวนการเรียนรู้ภายในองค์กร เป็นสาเหตุให้เวลามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น องค์กรไม่มีการทบทวนและเรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั้น ส่งผลให้ข้อผิดพลาดเดิมๆ จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในอนาคต การทำกรณีศึกษาส่งผลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในองค์กร (Organizational Learning) ซึ่งนำไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) โดยกรณีศึกษา ทำให้องค์กรได้เรียนรู้และทบทวนจากข้อผิดพลาดหรือบทเรียนในอดีต เพื่อว่าข้อผิดพลาดเหล่านั้นจะไม่เกิดซ้ำอีก หรือในบางกรณีที่องค์กรอาจเจอปัญหาที่คล้ายคลึงกับปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ก็สามารถนำเอาบทเรียนและแนวทางการแก้ปัญหาในอดีตเข้ามาประยุกต์ใช้ได้ นอกจากนี้การศึกษาผ่านกรณีศึกษา ช่วยให้ผู้ศึกษาสามารถเรียนรู้จากสถานการณ์จริง ไม่ใช่เพียงแค่ทฤษฎี ผู้ศึกษากรณีศึกษาสามารถนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ในกรณีศึกษา ผู้อบรมสามารถนำตนเองเข้าไปนั่งอยู่ในบทบาทของผู้บริหารที่ต้องมีการตัดสินใจ ซึ่งเป็นการฝึกให้ผู้อบรมสามารถฝึกกระบวนการตัดสินใจและการแก้ปัญหาขององค์กรในมุมมองของผู้บริหาร ดังนั้นกรณีศึกษาจึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้ในการสร้างความชำนาญให้กับพนักงานในองค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับพนักงานในการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้บริหาร (ที่ดี) ต่อไปในอนาคต

ในทุกๆ กรณีศึกษาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี 3 องค์ประกอบก็คือ 1. ผู้เขียนกรณีศึกษา (หรือผู้วิจัย) ที่มีความรู้ความชำนาญและความสนใจต่อเรื่องที่ต้องมีการศึกษา 2.องค์กรหรือสถานการณ์ที่ต้องมีการศึกษา ซึ่งองค์กรต้องมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องที่มีการศึกษาและต้องการยินยอมให้มีการศึกษา 3. ประเด็นหรือปัญหาที่ศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องมีการระบุอย่างชัดเจนว่าอะไรคือเป้าหมายของการศึกษา กรณีศึกษาที่ดีต้องประกอบไปด้วย Teaching Note หรือคู่มือการสอน ที่มีการอธิบายทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง คำถามและประเด็นที่ต้องมีการอภิปรายในห้องเรียน

 

 

จะเริ่มเขียนกรณีศึกษาได้อย่างไร

ผู้เขียนขอแนะว่า กรณีศึกษาควรเริ่มต้นจากประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญต่อองค์กร หรือประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในองค์กร ในหลายกรณีผู้เขียนสามารถเริ่มต้นจากคำถามที่ผู้เขียนต้องการรู้จากองค์กรหรือสถานการณ์ที่ต้องการศึกษา อีกวิธีที่ใช้เยอะก็คือการเริ่มต้นจากประเด็นหรือหัวข้อที่ยังไม่เคยมีการศึกษาในองค์กรมาก่อน และองค์กรยังไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ แต่มีการปฏิบัติอยู่ นอกจากนี้ ผู้เขียนต้องมั่นใจว่าองค์กรยินยอมให้เก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษาและเห็นถึงความสำคัญของประเด็นหรือปัญหาที่ศึกษา จากนั้น

ผู้เขียนต้องทำการระบุประเภทของข้อมูลว่าข้อมูลเหล่านั้นอยู่ที่ใด หรือใครสามารถให้ข้อมูลได้บ้าง รวมถึงระบุถึงกระบวนการที่จะใช้ในการเก็บข้อมูล เช่น สัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม (Focus Group) การสังเกต การทบทวนเอกสาร และแบบสอบถาม เป็นต้น เทคนิคอย่างหนึ่งที่ผมแนะนำคือ ถ้าผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปเป็นที่ปรึกษา (Consultant) ให้กับบริษัทหรือองค์กร สามารถใช้โอกาสนี้ในการทำงานที่ปรึกษาแก้ปัญหาให้กับองค์กร พร้อมๆ กับเขียนกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆ กันได้

สุดท้าย ผู้เขียนหวังว่าสถาบันการศึกษาจะเริ่มให้ความสนใจทั้งในส่วนของการพัฒนากรณีศึกษาและการนำกรณีศึกษามาใช้ในการเรียนการสอน นอกจากนี้องค์กรก็สามารถนำกรณีศึกษามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความรู้ในองค์กรเพื่อพัฒนาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ถ้าองค์กรหรือสถาบันการศึกษาใดต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการเขียนกรณีศึกษา วิธีการสอนโดยใช้กรณีศึกษา และตัวอย่างของกรณีศึกษาสามารถติดต่อผู้เขียนได้ที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. ขอบคุณครับ

 

Rate this item
(2 votes)
Last modified on Wednesday, 02 October 2019 10:02
X

Right Click

No right click