และจุดประสงค์คือการสร้างหรือทดสอบทฤษฎี ส่วนภาคปฏิบัติจะสนใจเฉพาะการวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Research) ซึ่งเน้นการแก้ปัญหาเป็นหลัก โดยทั่วไปงานวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) และ การวิจัยเชิงประยุกต์ (Applied Research) ไม่สามารถที่จะทำร่วมกันได้เนื่องจากมีความต้องการที่แตกต่างกัน บทความนี้ขอเสนอทางเลือกในการทำวิจัยที่สามารถเชื่อมต่องานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยเชิงประยุกต์ได้ นั่นคือ Action Research บทความนี้อธิบายถึงความหมาย ที่มา ความแตกต่างระหว่าง Action Research กับ งานวิจัยทางปริมาณ (Positivist Research) ความเหมาะสมของ Action Research และกระบวนการของ Action Research
- ความหมายของ Action Research
Action Research (AR) เป็นกระบวนการวิจัยประเภทหนึ่งของการวิจัยเชิงคุณภาพ AR เป็นที่ยอมรับอย่างสูงในการทำวิจัยในการทำวิจัย โดยเฉพาะในสาขา ครุศาสตร์ บริหารธุรกิจและรัฐกิจ จิตวิทยา และเทคโนโลยีสารสนเทศ จุดประสงค์หลักของ AR คือ การแก้ปัญหาขององค์กร พร้อมกับนำบทเรียน (Lessons Learned) ของกระบวนการแก้ปัญหา มาเป็นองค์ความรู้ (Baskerville and Myers, 2004) AR มีความคล้ายคลึงกับ Case Study Research เนื่องจากเป็นการศึกษาองค์กร สิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับ AR คือ AR นอกจากศึกษาองค์กรแล้วยังสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงในองค์กรเพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง พร้อมทั้งสร้างองค์ความรู้ในเวลาเดียวกัน
- ที่มาของ Action Research
ที่มาของ AR คือการที่มีข้อแตกต่างอย่างสูงระหว่าง งานวิชาการ และ ความต้องการจริงขององค์กร ในงานวิชาการหรืองานวิจัย จุดประสงค์หลักของนักวิจัยคือ การสร้างทฤษฎีใหม่ หรือทดสอบทฤษฎีที่มีอยู่ แต่สำหรับผู้ปฏิบัติ (Practitioners) สิ่งที่ต้องการคือการแก้ปัญหาขององค์กร ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าในเกือบทุกสาขา จะมีการแบ่งเส้นระหว่าง นักวิจัย และ ผู้ปฏิบัติ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีความต้องการที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง
Davisson et al. (2004) ระบุว่า AR สามารถเชื่อมความแตกต่างระหว่าง นักวิจัย และ ผู้ปฏิบัติได้ เพราะผลลัพธ์ของ AR คือ ทฤษฎีที่ได้จากกระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กร และการที่องค์กรสามารถแก้ปัญหาได้จากการเปลี่ยนแปลง คุณลักษณะนี้ยากที่จะมีในงานวิจัยอื่นๆ ที่นักวิจัยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างหรือทดสอบทฤษฎี แทนที่จะแก้ปัญหาขององค์กร
- ความแตกต่างระหว่าง Action Research กับ การวิจัยทั่วไป
เป้าหมายหลักของ AR คือการศึกษาองค์กรและสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงในองค์กร หลักเกณฑ์ในการประเมินการวิจัยทั่วไปอาจไม่สามารถใช้ในการประเมิน AR ได้ เนื่องจาก AR ศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กร ทฤษฎีที่เกิดขึ้นจาก AR นั้นอาจไม่สามารถใช้ประยุกต์ได้ในทุกสถานที่หรือเหตุการณ์ เหมือนกับทฤษฎีที่เกิดจากการวิจัยโดยวิธีการทางสถิติ ทฤษฎีที่เกิดจาก AR มีความเกี่ยวพันสูงกับองค์กรและสิ่งแวดล้อมขององค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น คนในองค์กร โครงสร้างขององค์กร และ กระบวนการทำธุรกิจในองค์กร Table 1 เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง Action Research กับ Positivist Research (งานวิจัยทางสถิติ)
Table 1 ตารางเปรียบเทียบ ความแตกต่างระหว่าง Action Research กับ Positivist Research (Coughlan & Coghlan, 2002, Susman & Evered, 1978, )
จาก Table 1 อาจสามารถสรุปความแตกต่างระหว่าง Positivist research กับ Action research ได้ว่า Positivist research ให้ความสำคัญกับการสร้างหรือทดสอบทฤษฎี (Testing or Creating Knowledge) แต่ Action Research ให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้หรือทฤษฎีจากการกระทำหรือการเปลี่ยนแปลง (Knowledge in Action) (Coughlan and Coghlan , 2002)
Susman and Evered (1978) โต้แย้งว่า positivist research หรือการวิจัยทางปริมาณ (Quantitative Research) ไม่เหมาะสมกับการศึกษาองค์กร เพราะการวิจัยทางปริมาณไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมขององค์กรเช่น โครงสร้างขององค์กร วัฒนธรรมขององค์กร และการเมืองภายในองค์กรDavisson et al. (2004) ระบุว่า Action Research สามารถเชื่อมต่อรอยแตกแยกระหว่าง ภาควิชาการและภาคปฏิบัติได้ เนื่องจากใน Action Research ทั้งนักวิจัยและนักปฏิบัติมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการแก้ปัญหาและการสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงในองค์กร คุณลักษณะนี้ไม่สามารถมีได้ในงานวิจัย Positivist research หรือการวิจัยทางปริมาณ ที่เน้นเฉพาะการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ
ความเหมาะสมของ Action Research
คุณลักษณะของ Action Research (Argyris,1982) โดยทั่วไปคือ
1.เกิดจากความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและนักปฏิบัติ
2.มีจุดประสงค์คือการแก้ปัญหาขององค์กร
3.มุ่งเน้นที่กระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กร
4.มีกระบวนการที่เรียนรู้ต่อการเปลี่ยนแปลง
AR มีความเหมาะสมต่องานวิจัยที่ต้องการศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงขององค์กร รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงขององค์กรและพฤติกรรมของคนในองค์กร (Coghlan and Brannick, 2001)
บทบาทของนักวิจัย
Coughlan and Coghlan (2002) ระบุว่าบทบาทของนักวิจัยใน AR มีความแตกต่างอย่างมากกับบทบาทนักวิจัยในการวิจัยแบบอื่นๆ นักวิจัยใน AR มีบทบาทในลักษณะเป็นที่ปรึกษาในการเปลี่ยนแปลงองค์กร นักวิจัย AR ต้องทำงานร่วมกับคนในองค์กร และ ทีมงานที่สร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงในองค์กร (Change Agents) ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กรเพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ความแตกต่างอย่างหนึ่งของ นักวิจัย AR กับนักวิจัยประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะการวิจัยทางสถิติ คือ นักวิจัย AR อาจมีความเห็นส่วนตัว ความเชื่อ หรืออคติ ต่อเรื่องของการเปลี่ยนแปลงได้ แต่อคติหรือความเห็นต้องมีการบันทึกไว้อย่างชัดเจนในงานวิจัย สำหรับประเด็นนี้ถ้าเป็นงานวิจัยทางสถิติ สมมุติฐานของการทำวิจัยคือ นักวิจัยไม่สามารถมีอคติใดๆ ทั้งสิ้นต่อหัวข้อวิจัยได้
กระบวนการของ Action Research
Checkland และ Holwell (1998) กำหนดสามองค์ประกอบของ AR ซึ่งประกอบด้วย
1.ปัญหา (area of concern)
2.กระบวนการแก้ปัญหา (methodology)
3.กรอบแนวความคิด หรือ ทฤษฎีframeworks of idea
ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาที่นักวิจัยต้องการศึกษาคือการผลิตยารักษาโรค (Area of concern) หลังจากนักวิจัยทราบว่าอะไรคือปัญหาแล้ว นักวิจัยกำหนด กรอบแนวความคิด หรือ ทฤษฎี (Frameworks of idea) ซึ่งอาจจะเป็น ทฤษฎีที่เกี่ยวกับส่วนประกอบของโมเลกุลในตัวยา จากนั้นนำมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการแก้ปัญหา (Methodology) ซึ่งอาจจะเป็นการทำโมเดลลิ่งในคอมพิวเตอร์ (Computer Modeling) เพื่อที่จะหาแนวทางที่ดีที่สุดในการผลิตยารักษาโรค
Checkland และ Holwell (1998) ระบุว่าอย่างแรกนักวิจัย AR ต้องกำหนดกรอบแนวคิด หรือ ทฤษฎี และกระบวนการแก้ปัญหา จากนั้นนักวิจัย AR ทำงานควบคู่กับ ผู้ปฏิบัติ (practitioners) ในองค์กรเพื่อที่จะสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาขององค์กร โดยระหว่างที่มีการแก้ปัญหาและสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงขององค์กรนักวิจัยต้องมีการบันทึกกระบวนการดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายนักวิจัยต้องสามารถระบุว่าอะไรคือบทเรียน (Lesson Learned) ของกระบวนการแก้ไขปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ซึ่ง บทเรียน (Lesson Learned) สามารถนำมาเสริมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องได้ กระบวนการของ Action Research สามารถสรุปได้ตาม Figure 1
Figure 1 กระบวนการของ action research ดัดแปลงจาก (Checkland & Holwell, 1998)
นอกจาก Checkland และ Holwell (1998) แล้ว กระบวนการของ Action Research ที่เป็นที่นิยมอย่างสูงคือ Five phrases action research cycle โดย Susman และ Evered (1978) โดยแบ่งกระบวนการวิจัยออกเป็น 5 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.Diagnosing – ในขั้นตอนนี้นักวิจัยร่วมกับผู้บริหารในองค์กร ทำการระบุสถานภาพและปัญหาขององค์กร รวมทั้งศึกษาสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกขององค์กรที่มีผลต่อปัญหา
2.Action Planning- หลังจากที่ได้รับทราบปัญหาและสถานภาพขององค์กร นักวิจัย ผู้บริหาร ผู้สร้างระบบ หรือผู้ปฏิบัติ กำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหา โดยนักวิจัยควรมีการกำหนดกรอบแนวความคิดให้ชัดเจนสำหรับทางเลือกต่างๆ ควรนำทฤษฎีหรือ Best Practices มาใช้ในการกำหนดกระบวนการแก้ปัญหา รวมถึงระบุวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหา
3.Action Taking- นักวิจัย ผู้บริหาร ผู้สร้างระบบ นำทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาไปปฏิบัติ หรือไปสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กร
4.Evaluating- นักวิจัย ผู้บริหาร ผู้สร้างระบบ รวมถึงผู้ใช้ระบบ ประเมินว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพราะอะไร การประเมินสามารถกลับไปทบทวนวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในขั้นตอน Action Planning
5.Specifying Learning- นักวิจัยทำการระบุองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้จากกระบวนการแก้ปัญหาและการเปลี่ยนแปลง และควรระบุด้วยว่าองค์ความรู้ที่ได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ใดบ้าง
Figure 2 แสดงถึงวงรอบ Action Research 5 ขั้นตอน โดย Susman และ Evered (1978)
Figure 2 Action Research Cycles (R. L. Baskerville, 1999; Susman & Evered, 1978)
สรุป
ผู้เขียนเชื่อว่าการวิจัย Action Research สามารถเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภาควิชาการและภาคปฏิบัติ เนื่องจากผลลัพธ์ของ Action Research สามารถตอบสนองได้ทั้งสองภาค นั่นคือสำหรับภาควิชาการ Action Research สามารถนำผลศึกษามาเพิ่มองค์ความรู้ในรูปแบบทฤษฎีในการศึกษาปัญหาและการเปลี่ยนแปลงองค์กร สำหรับภาคปฏิบัติ Action Research สามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในองค์กรได้จากกระบวนการแก้ปัญหาซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและผู้ปฏิบัติในองค์กร
บทความนี้อธิบายความหมาย ความเป็นมา ความแตกต่างระหว่าง Action Research กับงานวิจัยอื่นๆ รวมทั้งได้อธิบายถึง ความเหมาะสมของ Action Research ในการศึกษากระบวนการแก้ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงในองค์กรบทความนี้ยังได้ระบุถึงขั้นตอนกระบวนการทำวิจัย Action Research ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้สามารถเป็นแรงดลใจให้กับนักวิจัยในการเพิ่มทางเลือกในการทำวิจัยในการศึกษาวิจัยปัญหาและกระบวนการปัญหาในองค์กรได้
บทความ โดย : รศ.พ.ต.ต.ดร. ดนุวศิน เจริญ | คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)