January 22, 2025
×

Warning

JUser: :_load: Unable to load user with ID: 805

D3Texture by KSDL ไอเดียทำเงินแห่งอนาคต

July 19, 2017 10987

เมื่อเราได้คุยกับผู้ประกอบการด้านงานพิมพ์ 3D ที่มีไอเดียครีเอทีฟ ยูจิ ฮาระ  (Yuji Hara) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ K’s Design Lab, Inc. ทำให้เรานึกถึงสตีฟ จอบส์ และมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ในมุมของคนที่เรียนไม่จบ แต่เห็นความต้องการในอนาคต!

30 ปีที่แล้วเทคโนโลยี 3D เครื่องมือดิจิทัล ยังไม่ได้รับความสนใจ แต่ฮาระเข้าเรียนภาคค่ำด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย Tokyo Rika จึงได้เรียนพื้นฐานงาน 3D ตั้งแต่การวาดมือ ส่วนตอนเช้าก็ไปทำงานในแผนกออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์กับบริษัทที่ศูนย์หางานของมหาวิทยาลัยแนะนำให้ จึงได้สัมผัสความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีตั้งแต่ยุคนั้น โดยฮาระต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย หาเงินส่งตัวเองเรียนหนังสือ 

 

เห็น - เป็น - เทรนด์

ฮาระได้ทำงานพิเศษที่ Iwatsu Communication Device Co., Ltd. ควบคู่ไปกับเรียนหนังสือ เขาได้ลองทำงาน ลองใช้โปรแกรมและได้ทำโพรเจกต์ร่วมกับ Hewlett-Packard ของทางอเมริกา ได้เรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ทำให้รู้สึกว่าการทำงานสนุกกว่าเรียน และมองว่าเรียนเมื่อไรก็ได้จึงหยุดเรียน 

“ผมรู้สึกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยมันง่ายไปเลยไม่สนใจ ซึ่งผมค่อนข้างถนัดด้านคณิตศาสตร์ และการเขียนโปรแกรมต่างๆ บริษัทก็ไปทำสัญญากับบริษัทที่อเมริกา ผมรู้สึกว่าทำงานตรงนี้สนุกกว่าไปเรียน ต่อมาก็ได้ไปเดินสายต่อยมวยช่วงอายุ 22-23 ปี ตอนอายุ 23 ก็กลับมาทำงานที่ญี่ปุ่นด้านการใช้โปรแกรมออกแบบ CAD และ CAM ที่ Iwatsu Communication Device Co., Ltd. ตอนแรกเป็นพนักงานติดตั้งโปรแกรมธรรมดา แต่ด้วยความที่เคยทำงานด้านโปรแกรม CAD CAM จึงได้ย้ายไปอยู่ฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์ เดินสายหาลูกค้า ซึ่งการที่เราเป็นบริษัทอย่างทุกวันนี้ก็เพราะมีไอเดียมาจากจุดนี้” ฮาระเผยแนวคิดที่แตกต่างจากขนบของคนญี่ปุ่นที่ต้องเรียนให้จบแล้วค่อยหางานทำ 

จากประสบการณ์ที่คลุกคลีในวงการ 3D ฮาระจึงคิดเปิดบริษัทเพื่อต่อยอดงาน 3D ในสิ่งที่เขาอยากทำและพัฒนาต่อเอง จึงก่อตั้ง K’s Design Lab, Inc. (KSDL) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2006 ซึ่งตอนนั้นกระแสดิจิทัล 3D ยังไม่แรง สิ่งที่เขานำเสนอล้ำหน้าเกินไป บวกกับ 3D Printer บางเครื่องมีราคาสูงถึง 15 ล้านเยน แต่เขาก็ยังลงทุนหนักมาก เพราะเชื่อมั่นว่าเทรนด์นี้จะมา จึงกัดฟันสู้จากการรับพรินต์งานด้วย 3D Printer ที่โตเกียว โอซะกะ นะโงะยะจนสามารถขยับขยายสู่งานซัพพอร์ตด้านสินค้าและบริการจนเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และมีกำไรเข้าบริษัทมากกว่า 40 ล้านบาทในปี 2558

 


Business Line of KSDL

สอดคล้องกับเทรนด์และความต้องการด้าน 3D ดิจิทัล KSDL แตกไลน์ธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1. Laboratory Team งานค้นคว้าวิจัยที่นำเสนอนวัตกรรมล้ำๆ จากแล็บสู่การใช้งานจริง เช่น BodyScan3D เทคนิค 3D Scanner ที่ร่วมกับ Aicon เยอรมนี คิดค้นการสแกนคนทั้งตัวภายใน 6 วินาที เป็น The highest resolution body scanner ของโลกในปี 2012, การสแกนอิริยาบถของนักกีฬาสกี คำนวณทิศทาง แรงลม วิเคราะห์ออกมาเป็น 3D Data เพื่อนำไปปรับแต่งกับการผลิตเสื้อผ้าที่ทำให้นักกีฬาสกีกระโดดได้ไกลกว่าเดิม, Android “Asuna” หุ่นเสมือนมนุษย์ที่เคลื่อนไหวและโต้ตอบได้ จากการสแกนร่างกายแล้วนำข้อมูลไปทำโมเดล โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยโอซะกะคิดค้นขึ้นและอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์บริษัท A-Lab

2. 3D Solution Division จำหน่าย 3D tools ฮาร์ดแวร์จากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี จีน เช่น 3D Printer, 3D Scanner ซอฟต์แวร์ที่ KSDL คิดค้นขึ้นเอง อาทิ โปรแกรม Geomagic Design, Geomagic Freeform Plus ที่ขึ้นรูปได้อย่างอิสระ, SHINING 3D Einscan-S desktop 3D scanner, Craft Mill 3D-CAM software

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์แนว Solution ที่ได้จาก tools ในกลุ่มนี้ เช่น แขนหุ่นยนต์สำหรับหยิบจับ (3D Printing Robot Arm) ที่ KSDL ร่วมกับ Yasojima วิจัยขึ้น และผลิตด้วย Geomagic Freeform Plus ช่วยให้สร้างชิ้นงานได้สะดวกและสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบตามที่ต้องการได้ 

3. 3D Digital Communication Division เป็นงานสร้างสรรค์ที่นำ tools ต่างๆ มาใช้สำหรับ PR และเพื่อการค้า (commercial) เช่น Aquarium ในญี่ปุ่นที่ KSDL เข้าไปทำหน้าจอทัชสกรีนให้เด็กๆ สัมผัสปลาในรูปแบบดิจิทัลได้, การสแกน data พื้นผิวของดวงจันทร์แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับโคมไฟ, Death Star 2 ซึ่งทำจาก 3D Printer โดยเป็นโมเดลที่มีความซับซ้อนมาก แต่สร้าง data ให้สามารถพรินต์ได้ด้วย 3D printer ภายในครั้งเดียว, นาฬิกาข้อมือไทเทเนียมที่ทำจาก Metal 3D Printer ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากหนัง Star Wars

4. Texture Consulting Division รับออกแบบและให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการดีไซน์ผิวสัมผัสพิเศษเพื่อทำ Prototype ก่อนผลิตสินค้าจริง ด้วยเทคนิค “D3Texture” คือ การผสมผสานระหว่าง 3D, Digital และ Design โดยลูกค้าสามารถเลือก texture ได้จาก D3 Texture Library Book แล้วนำ texture ที่เลือกไปใช้กับผลิตภัณฑ์ (simple product) หรือจะขึ้นรูป Modeling ใหม่ด้วย Geomagic Freeform จากนั้นประมวลผลออกมาเป็นภาพ (Rending Image) ผลิตภัณฑ์ที่มี texture ใหม่ทางจอคอมพิวเตอร์ ก่อนพิมพ์ด้วย 3D Printer ออกมา หรือจะทำ texture
โพรเจกต์ใหม่ร่วมกับ KSDL ก็ได้

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เช่น คอนโซลรถที่เป็นพลาสติกฉีดขึ้นรูปแบบเรียบ จากโจทย์ของลูกค้าคือ รถซูซูกิเป็นรถที่มีพื้นที่น้อย แต่อยากออกแบบภายในให้ดูกว้างและสวยงาม KSDL จึงออกแบบให้คอนโซลรถซูซูกิมีผิวสัมผัสเป็นลายรังผึ้ง มองแล้วให้ความรู้สึกกว้าง ดูสวยงาม หรูหรา และดูมีราคามากขึ้น, คีย์บอร์ดแบรนด์ยามาฮ่าก็เปลี่ยนจากคีย์บอร์ดหนังมาเป็นพลาสติกซึ่งมีผิวสัมผัสแบบหนัง ทำให้สินค้าดูดีและมีน้ำหนักเบา ขนย้ายสะดวกขึ้น, แอร์ของมิตซูบิชิที่ผ่านการขึ้น Hair Line บริเวณ Front Panel แม้ว่าจะมีราคาแพงกว่าแอร์ธรรมดา 3 เท่า แต่กลับสร้างยอดขายได้มากกว่าเดิม, เคสโน้ตบุ๊กของโซนี่ที่มีลวดลายเลียนแบบหนังจระเข้ ดูหรูหราและไฮโซ เป็นที่ต้องการของตลาดมาก ตลอดจนงานออกแบบ texture บน Cosmetics Packaging แบรนด์ Kao ก็ช่วยเพิ่มมูลค่าและลูกค้าให้การตอบรับที่ดี




D3Texture ดีอย่างไร

ถ้าพูดถึงการขึ้นแบบสินค้า (Molding) ที่มี texture ตามปกติจะต้องใช้แรงงานคนขึ้นแบบ ขัดให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง แต่หากใช้เครื่องมือดิจิทัล การขึ้นแบบจะควบคุมได้ตรงตามสเป็กที่ต้องการมากกว่า กัดขึ้นรูปได้ละเอียดกว่า และช่วยให้ประหยัดค่าแรงได้ ตลอดจนทำบนพื้นผิววัสดุได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นไม้ โลหะ พลาสติก แก้ว เหล็ก ไทเทเนียม ไนลอน จะให้มีผิวขรุขระ ผิวเม็ดทราย ผิวเลียนแบบหนังสัตว์หรือลวดลายตามธรรมชาติก็ทำได้

เดิมการทำลวดลายบนพื้นผิว (Shibo) ใช้ฝีมือคนในการแกะลวดลายลงบนพื้นผิว แต่ D3Texture คือ Digital Shibo คือสร้างลวดลายบนพื้นผิวด้วย Digital ดังนั้นการควบคุมค่าความลึก ความนูน แม้แต่การสร้างทิศทางการมองก็สามารถกำหนดได้ด้วย Digital อีกทั้งมีความเสถียรมากกว่าการทำลวดลายด้วยมือ และเก็บข้อมูลในรูปแบบ 3D data

3D data จะถูกสร้างด้วยโปรแกรม CAD (Computer Aids Design) และถูกบันทึกในฟอร์แมต STL file เพราะ STL เป็นไฟล์ที่เกิดจากการรวมตัวของพื้นผิวเล็กๆ นับร้อยล้านพื้นผิว ทำให้ 3D data ที่ถูกสร้างออกมานั้นมีความละเอียดและมีพื้นผิวสวยงามกว่าการบันทึกด้วยฟอร์แมตอื่นๆ ซึ่ง 3D data ที่ทำออกมานั้นสามารถนำไปสร้าง prototype หรือการขึ้น Mock up ได้อย่างสะดวก หรือหากจะตรวจสอบ แก้ไข เพื่อความถูกต้องของ 3D data ก็ทำได้สะดวกเช่นกัน

 

 


มาจาก Joint Venture 3 ประสาน

“เทคโนโลยี high ดีไซน์ high ก็ขายแพงขึ้นได้” เรียวตะ นะคะมูระ (Ryota Nakamura) กล่าว 

เรียวตะเป็นผู้ก่อตั้ง YN2-TECH (Thailand) Co., Ltd. บริษัทนำเข้า ส่งออก และจำหน่ายเครื่องจักรและซอฟต์แวร์ เช่น Modeling Machine, Craft MILL 3D-CAM Software, 3D Printer, 3D Scanner, โปรแกรมออกแบบ 3D โดยเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2013 และมี Nakamura Kiko Co., Ltd. บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นหนุนหลังอยู่ 

เดิมทีเรียวตะเป็นดีไซเนอร์ แต่ที่หันมาทำบริษัทเทรดดิงเพราะสืบทอดธุรกิจต่อจากพ่อ ซึ่งการซื้อมาขายไปไม่สนุกในความคิดของเขา แต่เมื่อต้องขยายธุรกิจเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เรียวตะจึงร่วมหุ้นกับทาง Iwama Co., Ltd. บริษัทที่ออกแบบและขาย machine tools เช่น CNC Machine โดย YN2-TECH มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแนวการดีไซน์เครื่องจักรเพื่อใช้งานในประเทศไทย ด้วยการให้ Iwama สร้างเครื่องจักรตามที่บริษัทดีไซน์ไว้

Iwama เคยทำงานกับ KSDL และเห็นว่างานดีไซน์ของ KSDL ที่ลงลึกเรื่อง texture มีความน่าสนใจ เรียวตะเองก็เห็นด้วยกับวิธีคิดของฮาระที่มองเทรนด์ข้างหน้าว่าต้องใช้เทคโนโลยี 3D และดีไซน์เข้ามาตอบสนองภาคอุตสาหกรรมต่างๆ Iwama, YN2-TECH และ KSDL จึงจับมือกันก่อตั้ง KS-IN 3D (Thailand) Co., Ltd. ขึ้นเมื่อปี 2015 เพื่อนำเสนอเครื่องมือใหม่ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้แก่
ผู้ประกอบการชาวไทย โดยมีเรียวตะนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการ บริหารการตลาดในเมืองไทย


Art & Tech for Thais

KSDL ที่ญี่ปุ่น ฮาระบอกว่าธุรกิจของเขามีการเติบโตขึ้นทุกปีประมาณ 30% การมาขยายตลาดในประเทศไทย ตอนแรก KS-IN 3D มีกลุ่มเป้าหมายเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในไทย แต่บริษัทในกลุ่มนี้ไม่สนใจเพราะบริษัทญี่ปุ่นในไทยก็ต้องปรึกษากับบริษัทแม่ก่อน KS-IN 3D จึงวิจัยและพัฒนาสำหรับบริษัทในเมืองไทย โดยเน้นในด้านการพัฒนา texture
ของสินค้า แพ็กเกจจิง ซึ่งก็มองกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง แฟชั่น โดยในด้านแฟชั่นก็จะมีดีไซเนอร์ชั้นนำในไทยสนใจใช้ 3D Printer พรินต์งานออกมาเป็นเสื้อผ้าที่พอดีกับรูปร่างของนางแบบสำหรับสวมใส่ในงานแฟชั่นโชว์ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนา 

และนอกจากการมองหาพาร์ตเนอร์แล้ว ฮาระยังสนใจที่จะสนับสนุนกลุ่มสตาร์ตอัพหรือผู้ที่ต้องการผลิตชิ้นงานที่มีดีไซน์โดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย และยังบอกอีกว่า เทรนด์ต่อไปของการดีไซน์และผลิตสินค้าจะเป็นการสร้างลักษณะเฉพาะตัวแบบ SIngle Product ที่เหมาะสำหรับคนแต่ละคนโดยเฉพาะและมีคุณภาพสูง

เรื่อง กองบรรณาธิการ 

 

X

Right Click

No right click