September 11, 2024

“แอล ดับเบิลยู เอสฯ” ระบุ สิทธิในการถือครอง ที่มาของเงินลงทุน ภาษีและค่าธรรมเนียมการโอน ใบรับรองการถือครองทรัพย์สิน และ กฏหมายประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ เป็น 5 ประเด็นหลักที่ผู้ประกอบอสังหาฯ ต้องให้ความสำคัญในการขายห้องชุดให้ชาวต่างชาติ

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัท วิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในเครือ บริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  “นโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นที่จะเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองทรัพย์สินประเภทอาคารชุดพักอาศัยได้เพิ่มขึ้นจาก 49% เป็น 75% ของพื้นที่อาคารชุดทั้งหมด โดยจะมีการกำหนดเงื่อนไขอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของนิติบุคคลอาคารชุด เช่นการจำกัดสิทธิการออกเสียงของคนต่างด้าว และนิติบุคคลต่างด้าวที่ได้เข้ามาถือกรรมสิทธิ์ในภายหลังจากที่เกินอัตราส่วน 49% เพื่อที่จะไม่กระทบกับผู้ถือกรรมสิทธิของคนไทย เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มกำลังซื้อที่อยู่อาศัยภายในประเทศ หลังจากที่กำลังซื้อภายในประเทศชะลอตัวลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโตแบบชะลอตัว กำลังซื้อจากต่างชาติเป็นส่วนหนึ่งที่จะกระตุ้นภาคอสังหาฯ ในประเทศไทย ในภาวะที่กำลังซื้อภายในประเทศชะลอตัว” นายประพันธ์ศักดิ์กล่าว

จากข้อมูลศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่าพื้นที่การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 มีจำนวนทั้งหมด 173,007 ตารางเมตร จากพื้นที่การโอนทั้งหมด 818,489 ตารางเมตร หรือคิดเป็น 21.13% ซึ่งเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและถ้าหากเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อ 2 ปีก่อน (ปี 2565) พบว่าพื้นที่การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติ ใน ปี 2567 จะเพิ่มขึ้นถึง 78.30% โดยสัญชาติที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในคอนโดมากที่สุดคือ จีน คิดเป็น 40.5% รองลงมาเป็น เมียนม่า 10.0% รัสเซีย 7.5% และยังพบว่าทำเลที่คนจีนนิยมซื้อลงทุนมากที่สุดตามลำดับคือ พัทยา-ชลบุรี คิดเป็น 46% รองลงมาเป็นเชียงใหม่ 32% และภูเก็ต 29.4% ในส่วนของกรุงเทพฯคิดเป็น 14.4% จากข้อมูลที่กล่าวมานี้สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของชาวต่างชาติในการถือครองกรรมสิทธิ์ของอาคารชุดในเมืองหลักและเมืองท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดของชาวต่างชาติทั่วประเทศในปัจจุบันยังอยู่เพียง 21.13% เท่านั้น จึงมีช่องว่างและโอกาสในการขยายการลงทุนอสังหาฯ จากชาวต่างชาติ เพื่อกระตุ้นภาคอสังหาฯ ภายในประเทศให้มีอัตราการเติบโตทดแทนกับกำลังซื้อภายในประเทศที่ลดลง

ถึงแม้นโยบายกระตุ้นภาคอสังหาฯ ที่เพิ่มกำลังซื้อของชาวต่างชาติจะยังไม่มีผลบังคับใช้ก็ตาม แต่ปัจจุบัน สัดส่วนการถือครองที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดของชาวต่างชาติ ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่า 49% ตามกฏหมายกำหนด จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่จะกระตุ้นกำลังซื้อจากต่างชาติ โดยต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายในปัจจุบัน เพื่อที่จะสื่อสารและทำความเข้าใจกับชาวต่างชาติในสิทธิประโยชน์ที่จะได้จากการถือครองอาคารชุดในประเทศไทย โดยมี 5 ประเด็นหลักที่ต้องให้ความสำคัญได้แก่

 

1. ข้อจำกัดในการถือครอง

วัตถุประสงค์เพื่อรักษาสัดส่วนการถือครองอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศให้อยู่ในมือของคนไทยส่วนใหญ่ และเพื่อควบคุมการลงทุนของคนต่างด้าวในอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศไทย อ้างอิงพระราชบัญญัติอาคารชุด(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาตรา19  ชาวต่างชาติสามารถถือครองอาคารชุดได้ไม่เกิน 49% ของพื้นที่ขายทั้งหมดในโครงการนั้น ๆ ส่วนที่เหลือจะต้องเป็นของคนไทย หากสัดส่วนการถือครองของคนต่างชาติในโครงการถึง 49% แล้ว คนต่างชาติจะไม่สามารถจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ในโครงการนั้นได้อีก ซึ่งการตรวจสอบสัดส่วนการถือครองของคนต่างชาติ ตรวจสอบจากนิติบุคคลอาคารชุดโครงการ สอบถามสำนักงานที่ดินที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่โครงการ กรณีที่โครงการยังอยู่ระหว่างการพัฒนาหรือเพิ่งเปิดขายสามารถติดต่อผู้พัฒนาโครงการ หรือการใช้บริการจากทนายความหรือที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์

2. แหล่งที่มาของเงินทุน

คนต่างด้าวต้องใช้เงินทุนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศในการซื้ออาคารชุด และเงินดังกล่าวจะต้องถูกแปลงเป็นเงินบาทผ่านธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย โดยธนาคารจะออกหนังสือรับรองการนำเงินเข้าประเทศ (Foreign Exchange Transaction Form) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการโอนกรรมสิทธิ์

3. ภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์

การโอนกรรมสิทธิ์จะต้องดำเนินการที่สำนักงานที่ดิน ซึ่งต้องมีเอกสารครบถ้วน ได้แก่ หนังสือเดินทางของคนต่างด้าว, หนังสือรับรองการนำเงินเข้าประเทศ, สัญญาซื้อขาย และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ชำระค่าธรรมเนียมและภาษี ลงนามเอกสารร่วมกันทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และสำนักงานที่ดินจะออกหนังสือรับรองการโอนกรรมสิทธิ์ให้กับผู้ซื้อ ซึ่งค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ โดยทั่วไปคิดเป็น 2% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขาย (แล้วแต่อย่างใดสูงกว่า)  ภาษีธุรกิจเฉพาะ คิดเป็น 3.3% ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน (หากถือครองอสังหาริมทรัพย์น้อยกว่า 5 ปี) ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย คำนวณตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได

4. การขอใบรับรองการถือครอง

คนต่างด้าวจำเป็นต้องขอใบรับรองการถือครองจากสำนักงานที่ดิน เพื่อยืนยันว่าการซื้อขายเป็นไปตามกฎหมาย รวมถึงการนำเงินเข้าประเทศอย่างถูกต้องโดยมีธนาคารพาณิชย์ออกหนังสือรับรองการนำเงินเข้าประเทศ

5. กฎหมายและข้อบังคับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฏหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

นอกจากพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ที่กำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับการถือครองอาคารชุดโดยคนต่างด้าวแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 แม้ว่าอาคารชุดไม่ถือเป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมโดยตรงภายใต้กฎหมายนี้ แต่ในบางกรณีที่คนต่างด้าวเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในไทย กฎหมายนี้กำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจเพื่อป้องกันไม่ให้คนต่างด้าวเข้ามาครอบครองทรัพย์สินในประเทศอย่างไม่เป็นธรรม ข้อบังคับท้องถิ่นในบางพื้นที่อาจมีข้อบังคับเพิ่มเติมจากกฎหมายหลัก เช่น การจำกัดการถือครองอาคารชุดในบางเขตพื้นที่ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากที่ดินและอาคารชุด เป็นต้น

“ปัจจุบันราคาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย มีการปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าความสามารถในการซื้อของผู้ซื้อภายในประเทศ การเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย จึงมีความจำเป็นที่จะเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นภาคอสังหาฯ ในประเทศไทย และในขณะเดียวกันเราจำเป็นต้องมีความชัดเจนในข้อกฏหมาย และสร้างความเข้าใจกับนักลงทุนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฏระเบียบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้กรอบของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของอสังหาฯ ในไทยได้มากขึ้น ยิ่งจำเป็นที่จะต้องมีกฏระเบียบที่ชัดเจน เพื่อลดประเด็นขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพื่อวางแนวทางสร้างองค์กรสู่ยุคใหม่ โดยบอร์ดมีมติแต่งตั้ง นางสาวดารณี ฉัตรพิริยะพันธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer: CEO) ซึ่งมีผลวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป ตามที่ได้มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานในช่วงครึ่งปีหลังของ LPN นี้ นับว่าอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมตามแนวทางที่บริษัทวางไว้ โดยนางสาวดารณี ฉัตรพิริยะพันธ์ จะดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Chief Executive Officer: CEO) แทนนายอภิชาติ เกษมกุลศิริ ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการบริษัท ให้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่  16 สิงหาคม 2567

สำหรับผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 บริษัทมีรายได้รวมจากการดำเนินงาน (Revenue) อยู่ที่ 3,785 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 6% (YoY) จากครึ่งปีแรก 2566 ที่ 3,564 ล้านบาท โดย ณ สิ้นปี 2566 บริษัทมีทุนจดทะเบียน 1,454 ล้านบาท และมีกําไรสะสมตลอด 30 ปี ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 11,959 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าว ทำให้บริษัทสามารถลงทุนเพิ่มเติมทั้งในธุรกิจอสังหาฯ และธุรกิจอื่นๆ ได้ ส่งผลให้สามารถสร้างรายได้ได้ในระยะยาว

บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาที่พักอาศัยคุณภาพที่มาพร้อมกับความน่าอยู่ ในทุกมิติ เพื่อยกระดับรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดี พร้อมส่งมอบประสบการณ์การอยู่อาศัย ‘Livable Living Experience’ ให้เป็นบ้านที่ ‘น่าอยู่’ สำหรับทุกคน ล่าสุด กวาดยอดขายจากแคมเปญใหญ่ ฉลองครบรอบ 35 ปี “ลดฟ้าฟาด” ไปกว่า 1,000 ล้าน ตอกย้ำความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพของสินค้า และบริการ ทั้งก่อน – หลังการขายอย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งเดินหน้าสร้างยอดขายตามเป้าหมายปี 2567

นายอภิชาติ เกษมกุลศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) เปิดเผยว่า “ปี 2567 นับเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความผันผวนจากหลากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ หนี้ภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นถึงระดับ 90 - 93% / ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ / นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยใดก็ตาม LPN ก็ยังคงต้องเดินหน้าตามกลยุทธ์ที่ต้องการสร้างความสมดุลในการเติบโตให้กับองค์กร (Rebalancing Business Growth) ในระยะยาว โดยในปี 2567 มุ่งไปในเรื่องการระบายสินค้าที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ มาแปลงเป็นมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน และเพิ่มความเชื่อมั่นของลูกค้าทั้งด้านสินค้า และบริการ โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์ด้านราคา (Price Strategy) เข้าแข่งขันเพื่อระบายสินค้าพร้อมอยู่ทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม (Inventory) ที่มีมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อให้ปี 2567 LPN จะได้ยอดขายตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 11,000 ล้านบาท โดยเติบโตขึ้น 10% เมื่อเทียบกับยอดขายในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม เราได้จัดแคมเปญใหญ่ฉลองครบรอบ 35 ปี “ลดฟ้าฟาด” ซึ่งกวาดยอดขายไปกว่า 1,000 ล้านบาท และคาดว่ายอดขายดังกล่าวจะเริ่มทยอยโอนกรรมสิทธิ์ภายในเดือนสิงหาคมนี้”

สำหรับผู้ที่สนใจเป็นเจ้าของโครงการที่อยู่อาศัยคุณภาพ ที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยในทำเลศักยภาพ ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและโปรโมชั่นพิเศษที่ไม่ควรพลาด จาก LPN ผ่านช่องทาง Facebook Page: LPN Connect หรือ LINE OA: @LPNdev หรือสอบถามเพิ่มเติม/นัด หมายเข้าเยี่ยมชมโครงการได้ที่ โทร. 02- 689 -6888 หรือ www.lpn.co.th  

แอล ดับเบิลยู เอสฯ แนะ 4 แนวทางพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สู้ “โลกร้อน” ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างสุขภาวะที่ดี(Wellbeing) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อในปัจจุบัน

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) แนะ 4 วิธี ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดขยะจากกระบวนการก่อสร้าง และสร้างสุขภาวะที่ดี (Wellbeing) ในการอยู่อาศัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อในปัจจุบัน และเป็นส่วนหนึ่งที่สนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065

“ภายใต้กรอบของการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน และคาร์บอนเป็นศูนย์ ดังกล่าว ประเทศไทย ได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยสาระสำคัญของกฎหมาย คือ แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจมีการจัดเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการจัดเก็บภาษีสูง สำหรับองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก และจะลดลงเมื่อองค์กรสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งครอบคลุมไปถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของธุรกิจด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 เป็นอย่างเร็ว หรือปี 2569 เป็นอย่างช้า ดังนั้นการบริหารจัดการองค์กรให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการต้นทุน และ ลดภาระค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

โดย 4 แนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วย

  1. การปรับตัวในขั้นตอนการก่อสร้างและออกแบบ โดยใช้การออกแบบที่เรียกว่า Passive Design โดยการจัดวางรูปแบบอาคารโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ทิศทางของแสง และ ลม โดยเราสามารถกำหนดการวางช่องเปิดของอาคาร เพื่อให้แสงและลมธรรมชาติ เข้าสู่อาคารเพื่อลดการใช้พลังงานภายในอาคารและวางการถ่ายเทอากาศที่ดีเพื่อลดการสะสมความร้อนภายในอาคาร
  2. การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงหรือลดความร้อน ซึ่งการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็อาจจะมาจากผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการผลิตที่ไม่สร้างก๊าซเรือนกระจกหรือสร้างแต่น้อยกว่าผลิตภัณฑ์ปกติอื่นๆ หรือจะเป็นการเลือกใช้วัสดุปิดผิวหรือสีที่มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงหรือความร้อนเพื่อลดความร้อนที่สะสมบนผิวอาคาร
  3. การปลูกต้นไม้ ซึ่งการปลูกต้นไม้อาจจะเป็นวิธีที่ดูพื้นฐานมากที่สุดแต่หากเราออกแบบหรือวางตำแหน่งที่สมควร นอกจากจะช่วยปลูกต้นไม้ทดแทนแล้วยังจะช่วยเรื่องของการเป็นตัวกรองแสงธรรมชาติในการรับแสงอาทิตย์ตรงๆแทนที่จะลงกับอาคารและยังสร้างร่มเงาให้กับพื้นที่โดยรอบของอาคารทำให้ลดการสะสมความร้อนบนผิวของวัตถุ เห็นได้ชัดกับทางสัญจรที่เป็นวัสดุคอนกรีตเปรียบเทียบความร้อนสะสมระหว่าง มีร่มเงากับไม่มีจะต่างกันมากถึง 5 องศากันเลยทีเดียว
  4. การใช้โซล่าเซลล์ ถึงแม้จะต้องลงทุนติดตั้งเพิ่ม ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวแล้ว เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวสำหรับผู้อยู่อาศัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากแนวทางดังกล่าว นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า จะช่วยให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ สามารถที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะภาษีจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่อยู่ในร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อยู่ระหว่างการร่างและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในปัจจุบัน “ตามร่างกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะคำนวณค่าใช้จ่ายจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจ ถ้าผู้ประกอบการอสังหาฯ ปรับปรุงกระบวนการก่อสร้าง และเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกระบวนการทำงานได้ ก็จะลดภาระภาษีที่ต้องจ่าย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปกติในกระบวนการก่อสร้างบ้าน 1 หลัง มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  5-7 tCO2eq เท่ากับ เมื่อปรับกระบวนการก่อสร้างสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปีได้ 1-2 tCO2eq เท่ากับว่าเราจะสามารถลดการจ่ายภาษีคาร์บอนลงจาก  5-7 tCO2eq เหลือ 3-4 tCO2eq ต่อปี เป็นต้น”

ถึงแม้ปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะอยู่ในกระบวนการพิจารณาร่างและยังไม่มีผลบังคับใช้ก็ตาม แต่ ทันทีที่กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้จะส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมอื่น การปรับตัวก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ จึงไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาวโดยเฉพาะภาระค่าใช้จ่ายจากภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะมีผลบังคับใช้ และในขณะเดียวกัน ยังเป็นการพลิกโฉมธุรกิจอสังหาฯ สู่การเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว

Page 1 of 14
X

Right Click

No right click