September 19, 2024

ครั้งแรกของ LINE ประเทศไทย กับงานสัมมนาด้านเทคโนโลยีครั้งใหญ่ LINE Conference Thailand 2023 หรือ #LCT23 พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ ทิศทาง และกลยุทธ์ก้าวต่อไปในการพัฒนาและดำเนินการด้านเทคโนโลยีใหม่แห่งปี สู่การเป็น “แพลตฟอร์มเปิดเพื่อคนไทย” เปิดโอกาสเชื่อมต่อเทคโนโลยีอย่างไร้รอยต่อ พร้อมเผยแผนการพัฒนาโซลูชั่นภายใต้ความเข้าใจผู้ใช้ชาวไทย พันธมิตร และนักพัฒนา ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานในการดำเนินชีวิต (Life Infrastructure) ยุคใหม่

“เปิดโอกาส” สู่อนาคตแห่งนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี Hyper-localized

ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย เปิดเผยว่า กว่า 12 ปีที่ LINE ประเทศไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน ภายใต้พันธกิจ "Closing the Distance" ผ่านแพลตฟอร์มและบริการที่มีผู้ใช้งานกว่า 54 ล้านคน ตอกย้ำการเป็นโครงสร้างพื้นฐานชีวิตในยุคดิจิทัล (Life Infrastructure) พร้อมผลักดันจุดแข็งแห่งการมีทีมนักพัฒนาประจำประเทศไทย ที่จะเป็นบันไดสู่อนาคตขั้นถัดไปของนวัตกรรมในการขับเคลื่อน Smart Country ด้วยเทคโนโลยี Hyper-Localized เพื่อ “เปิดโอกาส” ให้คนไทยเติบโตในยุคดิจิทัลได้ในหลากหลายมิติอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ไม่ทิ้งจุดแข็ง Group Chat เล็งพัฒนาโซลูชั่นเพื่อการทำงาน

ภายในงาน นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ยังได้เผยถึงบริการพื้นฐานอย่าง ‘แชท’ ที่เป็นจุดแข็งของ LINE ซึ่งยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Group Chat ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนไทย สะท้อนจากสถิติการเติบโตที่สูงขึ้นกว่า 56% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และอัตราการส่งข้อความประเภทต่าง ๆ ทั้งรูปภาพ ไฟล์ เสียง และวิดีโอ มีอัตราการเติบโตสูงกว่าประเทศอื่นทั่วโลก

โดยผลสำรวจจาก LINE ประเทศไทยพบว่า หมวดหมู่ Group Chat ยอดนิยม ได้แก่ กลุ่มเพื่อน 82% ครอบครัว 80% ที่ทำงาน 77% และโรงเรียน 27% สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของกลุ่มผู้ใช้และวิธีการใช้งาน ซึ่งผู้ใช้กว่า 77% ระบุว่ากลุ่มแชทครอบครัวช่วยให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างช่วงวัยมากขึ้น ในขณะเดียวกัน Group Chat ยังสามารถช่วยให้

กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดสังคมการทำงานที่มีประสิทธิภาพกว่าในอดีต นำมาสู่ความมุ่งมั่นในการพัฒนาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ Work Group สำหรับคนไทย เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการทำงาน การใช้ชีวิต และครอบครัวไปด้วยกัน

 

นอกจากนี้ นายนรสิทธิ์ ยังได้เผยถึงแผนเปิดตัว LINE STICKERS PREMIUM บริการสติกเกอร์จ่ายรายเดือน/รายปี สำหรับคนไทย อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการเลือกใช้งานชุดสติกเกอร์ได้หลากหลายและคุ้มค่ายิ่งขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งในทิศทางการพัฒนาจุดแข็งของแพลตฟอร์ม LINE ด้านการสื่อสารดิจิทัลให้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เปิดวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีแห่งปีครั้งแรกของ LINE ประเทศไทย

นายวีระ เกษตรสิน รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ (CPO) กล่าวว่า LINE ประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะองค์กรเทคฯ เพื่อคนไทย โดยในช่วง 5 ปีจากนี้ LINE จะมุ่งสู่การเป็น “แพลตฟอร์มเปิด” ที่พร้อมเปิดรับการเชื่อมต่อกับหลากหลายเทคโนโลยีนำสมัย นำมาซึ่งผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนไทย ทั้งในด้านผู้ใช้งาน ธุรกิจ และพันธมิตร โดยอาศัยแนวคิดตั้งต้นจากทีมงาน LINE ประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการสำหรับตลาดไทยโดยเฉพาะ ผ่าน 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่

1. Extensive Plug-Ins เปิดการเชื่อมต่อกับระบบหรือโซลูชั่นอื่น ๆ อย่างหลากหลาย ทั้งโซลูชั่นที่คิดค้นเพิ่มเติมโดย LINE เอง และระบบที่พาร์ทเนอร์หรือนักพัฒนาทั่วไปได้พัฒนาขึ้นมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ชาวไทยในมิติที่กว้างและลึกขึ้น

2. Data Utilization ส่งเสริมให้พันธมิตรและนักพัฒนาสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพอย่างไร้รอยต่อ นำไปสู่การใช้ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตได้อย่างแท้จริง

3. Performance Marketing เพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาดบนแพลตฟอร์ม ด้วยศักยภาพการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลที่แข็งแกร่งขึ้น สร้างการเติบโตให้ภาคธุรกิจผ่านโซลูชั่นต่าง ๆ ของ LINE ได้อย่างยั่งยืน

4. Privacy Focused คงไว้ซึ่งการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อย่างเคร่งครัด

ปู 3 โร้ดแมป ยกระดับเทคโนโลยี

1. Customer Data Tools เพิ่มขีดความสามารถในจัดการข้อมูลลูกค้าผ่านเครื่องมือ MyCustomer ในการเก็บรวบรวม 1st Party Data ของผู้บริโภค โดยให้อำนาจร้านค้าในการเข้าถึงและจัดการข้อมูลได้มากกว่าที่เคย ภายใต้ขอบเขตการยินยอมจากผู้บริโภคตามกฎหมาย โดยมีแผนการเปิดตัว MyCustomer สำหรับกลุ่มธุรกิจรายย่อย (SME) และในอนาคต สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการทำ CRM โดยเฉพาะ

2. Ads Improvement ปรับปรุงเครื่องมือสำหรับการโฆษณาบน LINE ให้สามารถวิเคราะห์ ประยุกต์ใช้ข้อมูลที่แบรนด์ได้มาเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น อาทิ การเพิ่ม Segment ในการหากลุ่มเป้าหมายผ่าน Persona Targeting ให้เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น และการเปิดให้ภาคธุรกิจ ร้านค้า สามารถนำข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคบน LINE SHOPPING มาวิเคราะห์แบ่งกลุ่ม เพื่อการยิงโฆษณาผ่าน LINE ADS ได้แม่นยำและครอบคลุมขึ้นกว่าเดิม เป็นต้น

3. API & Plug-In เปิดขยายการเชื่อมต่อ API ให้มีความหลากหลายและตอบโจทย์เฉพาะด้านได้อย่างครอบคลุมขึ้น อาทิ LINE SHOPPING API, Messaging API รวมถึงแผนการเปิดตัว LINE OA Plus Plug-in Store แหล่งรวมโซลูชั่นสำหรับนักพัฒนานอกองค์กร LINE ในการนำเสนอโซลูชั่นใหม่ ๆ และยังเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย ในการมองหาโซลูชั่นให้ตรงกับความต้องการ

 

 โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 กลับมาอีกครั้งกับงาน SPACE-F Batch 4 Incubator Demo Day ด้วยอีเวนท์การนำเสนอผลงานด้านเทคโนโลยีอาหารของสตาร์ทอัพภายใต้โปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือขององค์กรชั้นนำ

ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีลอยท์ ประเทศไทย และบริษัท ล็อตเต้ ไฟน์ เคมิคอล จำกัด

ครั้งนี้ โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ได้นำ 10 สตาร์ทอัพจากโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพขึ้นเวที เพื่อนำเสนอผลงานแก่นักลงทุน และผู้ที่สนใจในนวัตกรรมด้าน FoodTech โดยร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมบน FoodTech Stage ในงานสัมมนาด้านเทคโนโลยีแห่งปีอย่าง Techsauce Global Summit 2023 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2566

ด้วยศักยภาพและความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี สตาร์ทอัพทั้ง 10 ทีมได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ผ่านการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้ และพัฒนาโซลูชั่นให้มีความเฉียบคมยิ่งขึ้น พร้อมออกสู่ตลาด รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในการระดมเงินทุนในระดับ Series A และ Seed Funding

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวเปิดงาน SPACE-F Batch 4 Incubator Demo Day ว่า "NIA ในฐานะผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม หรือ Focal Conductor มุ่งมั่นที่จะสร้างผลกระทบอย่างยั่งยืนต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้แนวคิด Create the Dot - Connect the Dot - Value Creation ผ่านกลยุทธ์ “2 ลด 3 เพิ่ม” ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดอุปสรรคการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพิ่มจำนวนนวัตกรและผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม และเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม

โครงการ SPACE-F นับเป็นแพลตฟอร์มเริ่มต้นสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และด้วยความร่วมมือของผู้สนับสนุนของโครงการ เราสามารถกระตุ้นนวัตกรรมและสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยสนับสนุนให้กับสตาร์ทอัพเติบโต

ทั้งนี้ ความมุ่งมั่นของสตาร์ทอัพในโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ถือเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการเติบโตของสตาร์ทอัพ ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในระดับโลกอีกด้วย"

 

ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ไทยยูเนี่ยนเชื่อว่าโครงการ SPACE-F จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้มีความยั่งยืนอย่างมีนัยยะ และสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมการนำเสนอในงานในปีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างคุณค่าให้กับอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งครอบคลุมสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่การนำผลผลิตรองมาผ่านกระบวนการเพื่อเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ไปจนถึงการนำเสนออาหารทางเลือกแห่งอนาคต อย่างผลิตภัณฑ์ที่มาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ”

 

สตาร์ทอัพ 10 ทีมในโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพ โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ประกอบไปด้วย

· BIRTH2022 เครื่องดื่มกาแฟสกัดเย็นจากเมล็ดกาแฟหมักด้วยแบคทีเรียโพรไบโอติก ที่มีส่วนช่วยให้มีรสชาติที่แตกต่าง มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเก็บรักษาได้นานขึ้น

· ImpactFat: ไขมันปลาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ อุดมไปด้วยสารอาหาร โอเมก้า 3 และไม่มีกลิ่นคาวปลา และสามารถช่วยเสริมรสชาติของอาหารได้ดียิ่งขึ้น

· Marinas Bio: อาหารทะเลจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ เน้นวัตถุดิบที่เป็นอาหารทะเล เช่น ไข่ปลาคาร์เวีย และ ไข่ปลาแซลมอน ที่ไม่สามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

· Mycovation: นำเสนอวัตถุดิบอาหารรูปแบบใหม่จากรากเห็ดที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการหมัก

· NutriCious: เครื่องดื่มไข่ขาวแคลอรี่ต่ำเพื่อสุขภาพ รสชาติดี และอุดมไปด้วยสารอาหารจากนม และโปรตีน

· Plant Origin: ผลิตภัณฑ์ไข่ทดแทนจากโปรตีนรำข้าว

· Probicient: เบียร์โพรไบโอติกเจ้าแรกของโลก ทางเลือกของเครื่องดื่มสังสรรค์ที่ให้ผลดีต่อสุขภาพของคุณ!

· The Kawa Project: ผงโกโก้ทดแทนจากกากกาแฟ ที่มีรสชาติและรสสัมผัสที่ไม่แตกต่างจากต้นฉบับ มีราคาที่ถูกกว่า และสามารถนำไปประยุกต์ได้หลากหลาย

· Trumpkin: ชีสทางเลือกที่ผลิตจากเมล็ดฟักทอง สามารถทดแทนชีสจากผลิตภัณฑ์นม

· Zima Sensors: เซ็นเซอร์ตรวจจับการรั่วไหลของอากาศในบรรจุภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบการรั่วไหลได้อย่างต่อเนื่อง

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปิดกิจกรรม SPACE-F Batch 4 Incubator Demo Day โดยกล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการวิจัย ที่สนับสนุนทรัพยากร เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาให้แก่ผู้ประกอบการด้าน FoodTech

มหาวิทยาลัยมหิดลริเริ่มโครงการ Mahidol Pre-incubation for SPACE-F เป็นโครงการบ่มเพาะทีม Startup ที่มาจากการรวมตัวของนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีการติวเข้มในด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์และตลาด การจัดทำแบบจำลองธุรกิจและแผนพัฒนาธุรกิจ รวมถึงทักษะการเป็นผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน

“หนึ่งในสตาร์ทอัพที่นำเสนอผลงานในวันนี้ นับเป็นผลงานจากโครงการ Mahidol Pre-incubation for SPACE-F เช่นกัน ทางมหาวิทยาลัยมหิดลตั้งใจที่จะสนับสนุน และยินดีต้อนรับสตาร์ทอัพที่มีความสนใจในการพัฒนาโซลูชั่นด้านอาหาร เพื่อเข้าร่วมโครงการในปีถัด ๆ ไป”

ปิดท้ายด้วย คุณต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้เน้นถึงบทบาทสำคัญของโครงการ SPACE-F ที่มีส่วนในการเชื่อมโยงนวัตกรรมต่าง ๆ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับนวัตกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่มในระดับโลก “ไทยเบฟมองว่าโครงการ SPACE-F นั้นเป็นแพลทฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงการสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ รวมถึงการดำเนินการเพื่อสิ่งแวดล้อม”

ด้วยความสำเร็จของสตาร์ทอัพทั้ง 4 รุ่น โครงการ SPACE-F นับเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้เข้าถึงการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในวงการ การเชื่อมโยงทางธุรกิจ และพื้นที่ทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพเหล่านั้นสามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร (FoodTech) และนวัตกรรมในระดับสากล

สตาร์ทอัพที่สนใจ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สามารถสมัครเข้าร่วมในโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 5 เพื่อเข้าสู่เครือข่ายของกลุ่มผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหาร และรับโอกาสในการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ร่วมงานกับเพื่อนร่วมโครงการที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน และเข้าถึงทรัพยากรที่มีคุณค่า ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ

ติดตาม SPACE-F ได้ทางเว็บไซต์ www.space-f.co หรือผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมของโครงการ SPACE-F รวมถึงความสำเร็จและผลงานของสตาร์ทอัพในโครงการรุ่นต่าง ๆ รวมถึงข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 5

รายงาน Gartner’s Hype Cycle for Emerging Technologies 2023 ระบุว่า Generative Artificial Intelligence (เอไอแบบรู้สร้าง) ถูกจัดให้อยู่บนตำแหน่งสูงสุดของความคาดหวังที่จะโตขึ้นอีกมากในวงจรเทคโนโลยีเกิดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะถึงจุดที่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ภายใน 2 ถึง 5 ปี โดย Generative AI ถูกรวมอยู่ในธีมที่กว้างกว่าของ Emergent AI ซึ่งเป็นเทรนด์หลักของวงจรฯ นี้ ที่สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับนวัตกรรม

อรุณ จันทรเศกการัน รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “ความนิยมของเทคนิค AI ใหม่จำนวนมากจะส่งผลกระทบสำคัญต่อธุรกิจและสังคม ซึ่งการฝึกใช้ AI และการสเกลโมเดลพื้นฐานของ AI ขนานใหญ่ รวมถึงการใช้เอเจนท์การสนทนาแบบไวรัล (Conversational Agents) และการเพิ่มจำนวนของแอปพลิเคชั่น Generative AI กำลังเผยให้เห็นคลื่นใหม่ ๆ ของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของพนักงานและไอเดียสร้างสรรค์สำหรับเครื่องจักร”

รายงานวงจรเทคโนโลยีเกิดใหม่ (The Hype Cycle for Emerging Technologies) เป็นรายงานด้านวงจรต่าง ๆ ของการ์ทเนอร์ที่มีความเฉพาะเจาะจง เกิดจากการกลั่นกรองข้อมูลเชิงลึกของเทคโนโลยีและกรอบการทำงาน (Frameworks) หลัก ๆ มากกว่า 2,000 รายการ ให้ผู้บริหารสามารถนำไปใช้ได้ รายงานนี้จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยการ์ทเนอร์ รวบรวมเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่มีความน่าสนใจที่ผู้บริหารและอุตสาหกรรม “ต้องรู้” ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมอบประโยชน์ด้านการเปลี่ยนแปลงในอีก 2-10 ปีข้างหน้านี้ (ดูรูปที่ 1)

ภาพที่ 1 วงจรเทคโนโลยีเกิดใหม่ ปี 2566 (Hype Cycle for Emerging Technologies, 2023)

 

ที่มา: การ์ทเนอร์ (สิงหาคม 2566)

เมลิซซ่า เดวิส รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “ขณะที่ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ AI ผู้บริหาร CIO และ CTO ยังต้องหันความสนใจไปยังเทคโนโลยีเกิดใหม่ที่มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอีกด้วย รวมถึงเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับประสบการณ์ของนักพัฒนา ขับเคลื่อนนวัตกรรมผ่านระบบคลาวด์ที่แพร่หลาย และส่งมอบความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง”

“เนื่องจากเทคโนโลยีในวงจรเทคโนโลยีเกิดใหม่ (Hype Cycle) ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ความไม่แน่นอนต่าง ๆ จึงอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในขั้นของการพัฒนา ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีเอ็มบริโอนิก (Embryonic Technologies) ที่มีความเสี่ยงมากในการนำมาปรับใช้ แต่อาจมีประโยชน์มากกว่าสำหรับ Early Adopters” เดวิสกล่าวเสริม

4 ธีมหลักของเทคโนโลยีเกิดใหม่ ได้แก่

Emergent AI: นอกเหนือจาก Generative AI แล้ว ยังมีเทคนิค AI ที่เกิดขึ้นใหม่อีกหลายตัวที่นำเสนอศักยภาพอย่างสูงในการยกระดับประสบการณ์ลูกค้าดิจิทัล การตัดสินใจทางธุรกิจได้ดีขึ้น และสร้างความต่างในการแข่งขันที่ยั่งยืน เทคโนโลยีเหล่านี้ประกอบด้วย AI Simulation, Causal AI, Federated Machine Learning, Graph Data Science, Neuro-symbolic AI และ Reinforcement Learning

Developer Experience (DevX): DevX หมายถึงทุกแง่มุมของการโต้ตอบระหว่างนักพัฒนากับเครื่องมือ แพลตฟอร์ม กระบวนการและผู้คนที่พวกเขาทำงานด้วยเพื่อพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์และบริการ ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพด้านประสบการณ์ของนักพัฒนา หรือ DevX มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของไอเดียริเริ่มด้านดิจิทัลขององค์กรส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อการดึงดูดและรักษาผู้มีทักษะความสามารถด้านวิศวกรรมระดับสูง รวมถึงรักษาขวัญและกำลังใจของทีมให้อยู่ในระดับสูง และทำให้มั่นใจว่างานนั้นสร้างแรงจูงใจและมีรางวัลตอบแทน

เทคโนโลยีหลักที่ DevX ช่วยพัฒนาและปรับปรุง ได้แก่ AI-Augmented Software Engineering, API-Centric SaaS, GitOps, Internal Developer Portals, Open-Source Program Office และ Value Stream Management Platforms

Pervasive Cloud: ในอีก 10 ปีข้างหน้า คลาวด์คอมพิวติ้งจะพัฒนาจากแพลตฟอร์มนวัตกรรมเทคโนโลยีไปสู่คลาวด์ที่แพร่หลายไปทั่วและยังเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของนวัตกรรมทางธุรกิจ เพื่อรองรับการใช้งานที่แพร่หลายนี้ ซึ่งคลาวด์คอมพิวติ้งจะมีรูปแบบการกระจายมากขึ้นและจะมุ่งไปที่อุตสาหกรรมแนวดิ่ง และการเพิ่มมูลค่าจากการลงทุนบนระบบคลาวด์สูงสุดจะต้องมีการปรับขนาดการดำเนินงานโดยอัตโนมัติ การเข้าถึงเครื่องมือแพลตฟอร์มแบบคลาวด์เนทีฟ และการกำกับดูแลที่เพียงพอ

เทคโนโลยีหลักที่เปิดใช้งาน Pervasive Cloud ได้แก่ Augmented FinOps, Cloud Development Environments, Cloud sustainability, Cloud-Native, Cloud-Out To Edge, Industry Cloud Platforms และ WebAssembly (Wasm)

Human-Centric Security And Privacy: มนุษย์ยังเป็นต้นเหตุหลักของเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยและการละเมิดข้อมูล องค์กรสามารถใช้โปรแกรมความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางเพื่อสร้างความยืดหยุ่นได้ ผสานกับโครงสร้างการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวเข้ากับการออกแบบดิจิทัลขององค์กร เทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่จำนวนมากช่วยให้องค์กรสามารถสร้างวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจซึ่งกันและกัน พร้อมตระหนักถึงความเสี่ยงร่วมกันในการตัดสินใจระหว่างหลายทีม

เทคโนโลยีหลักที่สนับสนุนการขยายการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ได้แก่ AI TRISM, Cybersecurity Mesh Architecture, Generative Cybersecurity AI, Homomorphic Encryption และ Postquantum Cryptography

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต้องสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และพัฒนาคุณภาพการบริการ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดแรงงาน ธุรกิจจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับพนักงานที่มีความสามารถและความทุ่มเทมากกว่าเคย ทำให้ปี 2023 นี้ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาวิธีการให้บริการลูกค้า พร้อมสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถที่ดีที่สุดไว้กับองค์กร โดย Ibi Montesino รองประธานบริหาร ผู้จัดจำหน่ายและประสบการณ์ลูกค้า และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเฮอร์บาไลฟ์ ได้แนะนำขั้นตอนไว้ดังนี้

เพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีดิจิทัล

เทคโนโลยีช่วยให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเพียงคนเดียวสามารถดูโดดเด่นขึ้นได้ แต่เนื่องจากลูกค้ามักมีความคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะทำงานได้อย่างราบรื่น ทำให้บางครั้งการสร้างเว็บไซต์ที่ใช้งานยากอาจสร้างความผิดหวังให้แก่ผู้ใช้และทำให้ภาพลักษณ์บริษัทดูไม่เป็นมืออาชีพ ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีใดก็ตามในการเชื่อมต่อกับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ

การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและช่วยในการตัดสินใจครั้งสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตของบริษัท เนื่องจากข้อมูลเปรียบเสมือนแหล่งเชื้อเพลิงความสำเร็จของธุรกิจ ตั้งแต่ใช้เพื่อวิเคราะห์คู่แข่ง ติดตามการส่งสินค้า การประเมินราคา วิเคราะห์ปัญหาและความกังวลของลูกค้า ไปจนถึงการสั่งซื้อวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ให้ออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด

สร้างการเติบโตและขยายธุรกิจ

นักธุรกิจหลายคนอาจได้เคยยินคำกล่าวที่ว่า การจัดการและทำความเข้าใจการเติบโตของบริษัทนั้นเป็นเรื่องท้าทาย บางครั้งธุรกิจที่เริ่มต้นด้วยการดำเนินงานจากเจ้าของคนเดียว อาจกลายเป็นธุรกิจที่ต้องการทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นในชั่วพริบตา เมื่อเป็นเจ้าของธุรกิจมาสักระยะหนึ่ง ความสามารถในการจัดการจะเฉียบคมขึ้นและเมื่อพร้อมสำหรับธุรกิจก้าวต่อไปแล้ว อาจสามารถขยายการเติบโตได้โดยการเพิ่มบุคคลากร หรือมองหาวิธีเพิ่มกำไรโดยไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย ตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีที่มีฟังชั่นอัตโนมัติ เพื่อทดแทนการใช้แรงงานคนจำนวนมาก ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและเงิน

สร้างประสบการณ์ที่น่าหลงใหลให้กับลูกค้า

การบริการที่ไม่ดีเป็นฝันร้ายของเหล่าผู้บริโภค บริษัทต่างๆ ต้องรู้จักปรับเปลี่ยนประสบการณ์การบริการลูกค้าให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลและช่วยให้ลูกค้าทุกคนรู้สึกว่าได้รับการรับฟัง มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อธุรกิจ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีการตั้งแต่การฝึกอบรมตัวแทนฝ่ายสนับสนุนลูกค้า ไปจนถึงการ

จัดหาผู้ให้บริการที่มีคุณภาพ แม้หลายบริษัทมุ่งเน้นการแก้ปัญหาของลูกค้าด้วยเทคโนโลยีในหลากหลายวิธี แต่สิ่งสำคัญที่ยังคงจำเป็นต้องมีคือ การทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ามีความเชื่อมต่อแบบบุคคลและไม่รู้สึกเหมือนคุยกับหุ่นยนต์

อีกวิธีหนึ่งที่ธุรกิจสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าได้คือ การใช้ข้อมูลเพื่อทำความรู้จักลูกค้าให้มากที่สุด เช่น วิธีการซื้อและความความคิดในการซื้อของลูกค้า เพราะการมีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น จะทำให้การเข้าถึงลูกค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการได้ตรงใจมากขึ้นเช่นกัน

ให้ความสำคัญกับพนักงาน

การระบาดของโรคได้สอนบทเรียนสำคัญมากมายให้กับธุรกิจต่างๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทุกคนได้เรียนรู้ว่าการทำงานที่ออฟฟิศไม่ได้มีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจเสมอไป จากการศึกษาล่าสุดเปิดเผยว่า พนักงานกว่า 87% มีแนวโน้มรับการทำงานแบบยืดหยุ่นหากมีโอกาส และพบว่าพนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นเมื่อทำงานจากระยะไกล รวมทั้งการทำงานที่ยืดหยุ่นยังช่วยเพิ่มความภักดีต่อบริษัทอีกด้วย

บางครั้งการทำงานเป็นทีมแบบอยู่คนละที่ ต้องตรวจสอบและจัดเตรียมให้แน่ใจว่าเครื่องมือเทคโนโลยีสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เว็บแคมและสถานที่ทำงานที่สะดวกสบายที่ช่วยให้ทำงานได้อย่างราบรื่น รวมทั้งผู้จัดการต้องสื่อสารกับทีมของตัวเองที่กระจายตัวตามเมืองต่างๆ หรือทั่วโลก เพื่อให้ลูกทีมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการงานและรู้สึกได้รับความสำคัญ ดังนั้นควรมีการนัดหมายประชุมตามเวลาที่กำหนด เพื่อให้ผู้จัดการได้ติดตามพนักงานแบบตัวต่อตัวและสร้างความเป็นกันเอง

นอกจากนี้ สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานก็เป็นเรื่องสำคัญ การเป็นสมาชิกฟิตเนส การมีบริการด้านสุขภาพจิตและโปรแกรมอื่นๆ จะช่วยให้พนักงานมีสภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงอยู่เสมอ

ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กที่มีเจ้าของคนเดียวไปจนถึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ความยั่งยืนเป็นสิ่งดีทั้งต่อโลกและลูกค้า ซึ่งบริษัทสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การลดการใช้พลังงาน การเปลี่ยนไปใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน หรือแม้แต่การจัดหาซัพพลายเออร์ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน รวมทั้งมาตรการง่ายๆ เช่น การรีไซเคิลในสำนักงาน การเลือกวิธีเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดประชุมแบบดิจิทัล และการคิดถึงผลกระทบที่ธุรกิจสร้างต่อสิ่งแวดล้อม

ปี 2023 นี้ เป็นโอกาสให้เจ้าของธุรกิจทุกขนาดได้ประเมินวิธีการให้บริการลูกค้า พัฒนาการสื่อสารออนไลน์และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับความคาดหวังของลูกค้าและพนักงานเป็นหลัก ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีและเน้นการขยายธุรกิจ ซึ่งอาจทำให้ปีนี้เป็นปีที่นำพาความสำเร็จมาให้บริษัทได้มากที่สุด

ฟาร์มพลังงานไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกกำลังจะสร้างขึ้นในประเทศโปแลนด์

ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่มีกำลังการผลิตรวม 205 เมกะวัตต์ โดยกำลังการผลิตต่อปีสามารถจ่ายไฟฟ้าให้แก่บ้านเรือนได้มากกว่า 100,000 ครัวเรือน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบ 160 ตัน ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าดังกล่าว หัวเว่ย (Huawei) เตรียมจัดหาเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าแบบสตริง (สตริงอินเวอร์เตอร์) จำนวน 710 เครื่อง และสถานีหม้อแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะ 23 สถานีให้แก่ฟาร์มพลังงานไฮบริดแห่งนี้ ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นที่เหมืองเก่าในเมืองเคลตเชฟ (Kleczew) จังหวัดวีแยลกอปอลสกา (Wielkopolska)

เคลตเชฟ โซลาร์ แอนด์ วินด์ (Kleczew Solar & Wind) ตั้งอยู่ในพื้นที่เหมืองเก่า และจะกลายเป็นอุทยานพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก อีกทั้งยังเป็นโครงการใหญ่โครงการแรกของโปแลนด์ที่มีการผสมผสานเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเข้าด้วยกัน สำหรับการก่อสร้างในเฟสแรกประกอบด้วยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 193 เมกะวัตต์พีค (MWp) และโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 12 เมกะวัตต์ (MW) โดยหัวเว่ยจะสนับสนุนด้วยสถานีหม้อแปลงไฟฟ้าอัจฉริยะ 23 สถานี และสตริงอินเวอร์เตอร์จำนวน 710 เครื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ กำลังการผลิตต่อปีจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 222 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) และของโรงไฟฟ้าพลังงานลมจะอยู่ที่ราว 47 กิกะวัตต์ชั่วโมง ฟาร์มพลังงานไฮบริดแห่งนี้จะสามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของบ้านเรือนมากกว่า 100,000 ครัวเรือน

รีสซาร์ด ฮอร์ดีนสกี (Ryszard Hordynski) ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และการสื่อสารของหัวเว่ย โปแลนด์ กล่าวว่า หัวเว่ยมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคส่วนพลังงานสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์อัจฉริยะมาเป็นระยะเวลาหลายปี ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เทคโนโลยีของเราสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมเชิงรุกของโปแลนด์ในโครงการสำคัญ ๆ เช่น โรงไฟฟ้าไฮบริดในเมืองเคลตเชฟ นี่เป็นการลงทุนที่สำคัญมากบนเส้นทางสู่การลดคาร์บอนอย่างเต็มรูปแบบของเศรษฐกิจโปแลนด์ รวมถึงการจัดหาพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะอาด และคุ้มค่าให้แก่สังคม

ผู้ลงทุนในโครงการเคลตเชฟ โซลาร์ แอนด์ วินด์ คือบริษัทเลวันด์โพล กรุ๊ป (Lewandpol Group), ผู้จัดการทรัพย์สินคือบริษัทเออร์จี (Ergy), ผู้รับผิดชอบด้านการทำสัญญาทั่วไปคือบริษัทอิเล็กทรัม กรุ๊ป (Electrum Group) และผู้ดำเนินงานควบคุมกำลังไฟฟ้าจริง (Active Power) และกำลังไฟฟ้ารีแอคทีฟ (Reactive Power) คือบริษัทเรนีเดียม (Renedium)

มาร์ซิน คูเปรล (Marcin Kuprel) ซีอีโอของบริษัทเออร์จี กล่าวว่า โครงการนี้มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อการลดคาร์บอนของเศรษฐกิจโปแลนด์ ซัพพลายเออร์และผู้รับเหมาที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานได้ผ่านการคัดเลือกมาอย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในระหว่างและหลังจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เรามั่นใจว่าเรากำลังจะร่วมมือกับซัพพลายเออร์ที่ดีที่สุด และหนึ่งในนั้นคือหัวเว่ย ซึ่งเป็นที่รู้จักในตลาดโปแลนด์อยู่แล้วในฐานะซัพพลายเออร์อินเวอร์เตอร์ระดับไฮเอนด์ที่เชื่อถือได้

หัวเว่ยอาศัยจุดแข็งด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (Power Electronics) และสร้างสรรค์นวัตกรรมในการผสานรวมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบกักเก็บพลังงาน คลาวด์ และเทคโนโลยี AI โดยนำเสนอโซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์+ระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ สำหรับสามสถานการณ์หลักในการผลิตไฟฟ้า การส่งกําลังไฟฟ้า การจ่ายไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้า ได้แก่ โซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์อัจฉริยะระดับสาธารณูปโภค โซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์อัจฉริยะเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และโซลูชันเซลล์แสงอาทิตย์อัจฉริยะสำหรับที่อยู่อาศัย ซึ่งโซลูชันเหล่านี้ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยปรับเฉลี่ย (LCOE) ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตลอดอายุการใช้งาน และช่วยยกระดับประสิทธิภาพโครงข่ายไฟฟ้า (กริด) ตลอดจนทำให้พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นแหล่งพลังงานหลัก

พาเวล สตราซซอลคาวสกี (Pawel Strzalkowski) ตัวแทนฝ่ายบัญชีอาวุโส ธุรกิจพลังงานดิจิทัลของหัวเว่ย โปแลนด์ กล่าวว่า การที่พันธมิตรทางธุรกิจเลือกอินเวอร์เตอร์และสถานีหม้อแปลงอัจฉริยะของเรา เป็นเครื่องยืนยันคุณภาพและความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีของเราได้ดีที่สุด การลงทุนในโครงการเคลตเชฟ โซลาร์ แอนด์ วินด์ เป็นทั้งจุดสูงสุดของความร่วมมือทางธุรกิจแบบองค์รวมที่ดำเนินมานานหลายปี รวมถึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าไฮบริดให้ก้าวหน้าต่อไป ความเชื่อมั่นของพันธมิตรทางธุรกิจทั้งเออร์จี อิเล็กทรัม และผู้ลงทุนอย่างเลวันด์โพล ที่มีต่อผลิตภัณฑ์ของเรา ทำให้เรามีความภาคภูมิใจและมีแรงทำงานต่อไปเพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานที่ปราศจากมลพิษ และเป็นที่น่าจดจำว่าอินเวอร์เตอร์ของหัวเว่ยเป็นเจ้าแรกในโปแลนด์ที่ได้รับใบรับรองภาคบังคับแบบไม่มีกำหนด

 

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการเคลตเชฟ โซลาร์ แอนด์ วินด์ กำลังก่อสร้างด้วยความร่วมมือของบริษัทอิเล็กทรัม, จินโกะ โซลาร์ (Jinko Solar), บุดมัต (Budmat) และเตเล-โฟนิกา คาเบล (Tele-Fonika Kable)

Page 4 of 8
X

Right Click

No right click