รพ.วชิระภูเก็ต มั่นใจ Expo 2028 Phuket วางรากฐานสู่ International Medical Hub

December 03, 2022 1188

การเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Specialised Expo ในชื่อ Expo 2028 Phuket Thailand ในช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2571 ของประเทศไทย

ได้ส่งแรงขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) รวมถึงการเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก (International Health & Wellness Center) ถือได้ว่า เป็นความคาดหวังครั้งสำคัญของคนไทยในพื้นที่และประเทศไทย

หนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยฉายแววความเป็น Medical Hub และ International Wellness Center ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นในชั่วโมงนี้ คือ “รพ.วชิระภูเก็ต” จากแผนการต่อยอดการพัฒนาโครงการอินเตอร์เนชั่นแนล เฮลธ์ แอนด์ เวลเนส เซ็นเตอร์ ด้วยงบประมาณ 1,400 ล้านบาท ที่ได้รับการอนุมัติจากครม. เมื่อต้นปี 2564 โดยระดับแผนการพัฒนาโครงการนี้ด้วยการร่วมมือกับทางสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB เพื่อขยายขนาดโครงการให้สามารถรองรับกับการจัดงานระดับโลกได้ หลังจากที่ประเทศไทยได้มีการเสนอตัวเพื่อขอเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน World Expo 2028 ที่จะเกิดขึ้นในอีก 6 ปีข้างหน้า ในพื้นที่ตำบลไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต 

เสริมศักยภาพ Infrastructures สู่โครงการเพื่อสุขภาพระดับโลก

นพ.วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและมีความพร้อมมากพอในการที่จะเป็น Medical Hub หรือเป็น International Wellness Center ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และมีความพร้อมที่จะเติบโตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาใช้บริการ ทั้งในเรื่องของท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และในเชิงการแพทย์ รวมถึงเรื่องของ Wellness หรือ Well-being ซึ่งมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมากเช่นกัน

หากจะเปรียบเทียบ Expo 2028 Phuket Thailand คงเป็นเหมือนยุทธศาสตร์เรือโยง ซึ่งในสถานการณ์ปกติการดำเนินการต่างๆ ในเรื่องของ Medical Hub จะไหลไปตามน้ำเรื่อยๆ แต่ถ้าเรามีเรือโยงก็เหมือนเรามีหัวเรือมาเพิ่มกำลังในการลากจูง เป็นการเร่งความเร็วของการไหลทั้งในเรื่องของการเป็น Medical Hub และโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เรื่อง Wellness จะทำให้มีเรื่องของการสนับสนุนไหลเข้ามาสู่โครงการมากขึ้นและเร็วยิ่งขึ้น

นพ.วีระศักดิ์ ยังมองว่า Expo 2028 Phuket Thailand ที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ เรียกว่า Specialized Expo ซึ่งงาน World Expo เปรียบเหมือนกีฬาโอลิมปิก ส่วน Specialised Expo ถ้าเป็นระดับที่เป็นเฉพาะกลุ่มลงมาอีกก็คือเป็นเอเชียนเกมส์ และครั้งนี้เป็นเรื่องของ Future of Life เป็นเรื่องของอนาคตในการที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเรื่องของ Well-Being

หากประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานก็จะมีอีกหลายๆ เรื่องตามมา เรื่องแรก คือเรื่องการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อทำให้งานเอ็กซ์โปเกิดขึ้น เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกอีกกว่า 170 ประเทศ ที่จะมาร่วมแบ่งปันข้อมูลตามหัวข้อการจัดงานก็คือเรื่องของ Wellness เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ไปจนถึงความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ว่าจะสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้อย่างไร แต่ละประเทศก็จะมีองค์ความรู้ที่แตกต่างกัน เมื่อได้มาแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันก็จะเกิดพลังทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ในการดูแลเรื่องสุขภาพ และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

รวมถึงการมีนักท่องเที่ยวทั้งจากในประเทศและจากทั่วโลกให้ความสนใจมาเที่ยวชมงาน Specialised Expo ในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาชมงานถึงกว่า 5 ล้านคน หากมีการใช้จ่ายคนละ 10,000 บาท ก็จะมีรายได้เข้าประเทศถึง 50,000 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินรายได้ และการหมุนเวียนเชิงเศรษฐกิจเกิดขึ้นทั้งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต อันดามัน และทั่วประเทศไทย หากนักท่องเที่ยวมีการเดินทางท่องเที่ยวไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก

ดังนั้นการเตรียมงานจะต้องสามารถรองรับคนที่จะมาเที่ยวชมงานประมาณ 5 ล้านคน ในช่วง 3 เดือน จึงต้องมีการลงทุนในเรื่องของ Infrastructures เช่น การขยายถนน การสร้างรถไฟรางเบา เดิมทีมีแผนจะสร้างให้เสร็จภายในปี 2571 แต่ถ้ามีการจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand ระบบโครงสร้างต่างๆ ก็ต้องสร้างให้เสร็จภายในปี 2570 เพื่อให้พร้อมกับการรองรับผู้คนที่จะมาเที่ยวชมงาน คาดว่าจะมีการขยายสถานีรถไฟรางเบาไปถึงบริเวณที่จัดงาน และที่สุดแล้วการจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand ก็จะเกิดอิมแพคทั้งในด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การคมนาคม การท่องเที่ยว ความรู้ทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องของการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้คนทั่วโลกได้รู้จัก

นอกจากนี้ ยังได้แรงเสริมจากกลุ่ม Andaman Wellness Corridor หรือ AWC เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติที่เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง ให้กับกลุ่มอันดามันทั้ง 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ตรัง และสตูล ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีจุดขายในเรื่องของ Wellness ที่แตกต่างกัน เมื่อนำมาผสมผสานกันจะทำให้ได้เส้นทางของ Wellness ที่หลากหลายเกิดขึ้น 

สร้าง 2 แนวทางการพัฒนา ทั้ง Medical Hub และ Wellness Center

นพ.วีระศักดิ์ กล่าวเสริมถึงแนวทางการพัฒนา Medical Hub โดยภาพรวม จะเป็นการวางแผนงานของคณะ กรรมการในระดับประเทศ โดยมีรมว.กระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานในการประชุมวางแผนเพื่อพัฒนาในเรื่องของ Medical Hub อีกทั้งยังมีหน่วยงานทำหน้าที่ประสานงานระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็น Medical Hub ในอนาคต 

ก่อนหน้านี้ ทาง รพ.วชิระภูเก็ต ได้ประกาศแผนการลงทุน 5,580 ล้านบาท เพื่อผลักดันให้ภูเก็ตก้าวสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก พร้อมต่อยอดกับแผนการที่ประเทศไทยเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand ซึ่งแผนเดิมของรพ.วชิระภูเก็ต คือการพัฒนาโครงการอินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ แอนด์ เวลเนส เซ็นเตอร์ ภายใต้งบประมาณ 1,400 ล้านบาท และเมื่อมีการขยายแผนการพัฒนาร่วมกับ TCEB ภายใต้แผนการขอเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand ก็จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากครม.อีก 4,180 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand จะมีการประกาศผลในปี 2566 ว่าประเทศไทยจะได้รับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพจัดงานหรือไม่ ดังนั้นทางรพ.วชิระภูเก็ต จึงมีการวางแผนการจัดการเกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ Medical Hub และ International Wellness Center เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไว้ 2 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1 หากประเทศไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ Expo 2028 Phuket Thailand ก็จะเดินหน้าพัฒนาโครงการ Medical Hub ด้วยงบประมาณรวม 5,580 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาโครงการอินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ แอนด์ เวลเนส เซ็นเตอร์ และส่วนต่อขยายเพื่อรองรับงานเวิลด์เอ็กซ์โป และการเป็นศูนย์การแพทย์และสุขภาพนานาชาติ เพื่อการพักฟื้นฟูสุขภาพระดับพรีเมียม การเป็นศูนย์การประชุมนานาชาติ การจัดเตรียมพื้นที่แสดงนิทรรศการ รวมถึงการทำโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเยี่ยมชมงาน Expo 2028 Phuket Thailand และยังต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมก้อนใหม่สำหรับการจัดการหลังจบงานเวิลด์เอ็กซ์โป  

แนวทางที่ 2 หากประเทศไทยไม่ได้เป็นเจ้าภาพการจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand ทางรพ.วชิระภูเก็ต จะยังคงดำเนินการต่อไปในเรื่องของ International  Wellness Center จากงบประมาณ 1,400 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาโครงการอินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ แอนด์ เวลเนส เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นแผนเดิมที่ทำร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นในเรื่องของ Long Term Care ด้วยแผนพัฒนาการบริการใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การดูแลผู้สูงอายุ 2. การฟื้นฟูสุขภาพ (Rehab Center) 3.การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospice) และ 4. Medical Plaza เพื่อรองรับตลาดผู้สูงวัย

ความท้าทายครั้งใหม่ ในระดับ World Destination

ที่ผ่านมา ในแต่ละปีจังหวัดภูเก็ตจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 14 ล้านคน ประมาณ 80-90% จะเป็นการพักผ่อนท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติทั่วไป อีกประมาณ 10% จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Wellness ในอนาคตหากประเทศไทยมีความแข็งแกร่งในจุดขายนี้เพิ่มมากขึ้น ก็จะสามารถเพิ่มสัดส่วนของกลุ่มที่จะเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้มีมากขึ้น และจะใช้เวลาในการพักผ่อนที่นานมากขึ้น เพราะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ สำหรับการเข้าคอร์สเพื่อสุขภาพต่างๆ คาดว่าจะมีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 20 - 30% ต่อปี 

“หากเราสามารถยกระดับขึ้นไปสู่การเป็น World Destination of Wellness ได้สำเร็จ ก็จะสามารถดึงดูดให้ผู้คนทั้งโลกจดจำว่า ถ้าคุณคิดถึงเรื่องสุขภาพ หรือคิดถึงเรื่อง Wellness และ Well-being ก็ต้องคิดถึงประเทศไทย ตอนนี้นอกจากการเตรียมความพร้อมของจังหวัดภูเก็ตและอันดามัน ในส่วนของประเทศไทยทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของ Thailand Wellness Corridor ที่จะกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยเพื่อทำให้เกิด Wellness ในระดับภูมิภาคจากองค์ความรู้พื้นฐานของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทยด้วย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในส่วนอื่นๆ ของประเทศนอกเหนือจากภูเก็ตและอันดามัน โดยคาดว่านักท่องเที่ยวที่ปรับแผนจากการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมาสู่การมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อาจมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 2 - 3 เท่า ของค่าใช้จ่ายที่เคยเกิดขึ้น”

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ได้มีการร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน เพื่อเตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานทั้งในช่วงของการจัดงาน และหลังการจัดงาน เช่น การเตรียมจัดนิทรรศการในรูปแบบ National Pavilion ซึ่งต้องใช้ข้อมูลทางด้านการแพทย์ การสาธารณสุข การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพรไทย อาหารไทย การนวดไทย สปาไทย รวมถึงเรื่องของ Wellness ต่างๆ ที่ประเทศไทยมีเข้ามาไว้ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังต้องมีการวางระบบการจัดการหลังจากการจัดงานเวิลด์เอ็กซ์โปเสร็จสิ้น เช่น International Wellness Center ที่จะยังอยู่เพื่อให้บริการลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งการเตรียมบุคลากรในศาสตร์ต่างๆ จะมีการร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จัดทำหลักสูตรระดับอินเตอร์เพื่อผลิตบุคลากรด้านต่างๆ ให้กับตลาด เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ เป็นต้น ในส่วนของภาคเอกชน เช่น โรงแรม จะมีการปรับตัวด้วยการทำให้เรื่องของ Wellness เกิดขึ้นในโรงแรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับแขกที่เข้ามาพักได้มีโอกาสใช้บริการในเรื่อง Wellness เพิ่มมากขึ้นด้วย

“สิ่งที่ถือเป็นความท้าทายเรื่องใหญ่สุด คือเราต้องชนะอีก 4 ประเทศให้ได้ ถ้าเราชนะงบลงทุนอีกกว่า 4,100 ล้านบาทก็จะเกิดขึ้นจริงๆ และจะเกิดอิมแพคจากรายได้ที่จะเกิดขึ้นอีกกว่า 50,000 ล้านบาท แต่ถ้าเราไม่ชนะก็จะมีการลงทุนเพียง 1,400 ล้านบาท ซึ่งต้องมาโปรโมทกันเอง และจะทำอย่างไรให้การลงทุน 1,400 ล้านบาท เกิดความยั่งยืน แต่จากการประเมินความน่าจะเป็น ถือว่าโครงการนี้คุ้มค่าที่จะลงทุน แต่การคืนทุนอาจจะแตกต่างกันไปตามเรื่องที่ลงทุน เช่น เรื่อง Wellness จะคืนทุนได้เร็ว แต่ถ้าเป็นการดูแลผู้สูงอายุ หรือ Long Term Care ก็อาจต้องใช้เวลา

แม้ว่าภาครัฐที่เข้ามาร่วมลงทุนอาจไม่ได้คาดหวังเรื่องผลกำไรจากการลงทุน แต่เราคาดหวังว่า จะมีการกระตุ้นให้เอกชน และหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาทำในด้านของสุขภาพไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการนำเรื่องของสุขภาพมากระตุ้นเศรษฐกิจเมืองภูเก็ตและประเทศไทย ดังนั้นหากมองในประเด็นนี้ทางภาครัฐก็คงไม่ได้หวังว่าจะคืนทุนเร็ว แต่หวังว่าโปรเจ็กต์นี้จะทำให้ประเทศไทยมีเสาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเสาก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว

นพ.วีระศักดิ์ กล่าวย้ำว่า Expo 2028 Phuket Thailand ไม่ได้เป็นแค่โปรเจ็กต์ของรัฐ แต่เป็นโปรเจ็กต์ของประเทศที่จะทำให้เกิดความร่วมมือกันตั้งแต่ระดับท้องถิ่น คือคนภูเก็ต และไม่ได้มีเพียงแค่โรงพยาบาล แต่เป็นความหวังของคนทั้งเมืองเพื่อการพลิกฟื้นจากวิกฤตโควิด-19 และผลักดันให้ภูเก็ตได้กลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืนอีกครั้งหนึ่ง เหมือน กับที่ภูเก็ตเคยทำ Phuket Sandbox ให้เกิดขึ้น และเป็นตัวอย่างของการเปิดเมือง เปิดประเทศ ให้กับประเทศไทย 

“ถ้า Expo 2028 Phuket Thailand เกิดขึ้นได้จริง ก็จะเป็นตัวอย่างให้หลายๆ ภาคส่วนของประเทศไทยได้เข้ามาร่วมกันทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Healthy City หรือ Healthy Country เพื่อดูแลเรื่องสุขภาพอย่างยั่งยืน เป็นการหวังผลในเรื่องของสุขภาพและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน” นพ.วีระศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางคณะกรรมการองค์การนิทรรศการนานาชาติ หรือ Bureau International des Expositions (BIE) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการหลังจากที่ได้มีการทำ Enquiry Mission ครบทั้ง 5 ประเทศ โดยประเทศไทยสามารถผ่านเกณฑ์การพิจารณาเพื่อให้สามารถเสนอตัวการเป็นเจ้าภาพงาน Specialised Expo ได้เช่นเดียวกันกับอีก 4 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา, เซอร์เบีย, สเปน และอาร์เจนตินา โดยจะมีกำหนดการประกาศผลประเทศที่จะได้รับการคัดเลือกในช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2566

X

Right Click

No right click