December 21, 2024

DPU Today -Future Education และวิสัยทัศน์ผู้นำ -- ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

March 31, 2020 12392

การมีมุมมองที่กว้างไกล และลึก รวมถึงการมี Sense ของการตระหนักรู้ว่าอนาคตขององค์กรควรจะต้องมุ่งหน้าหันทิศไปทางใด เป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่สำคัญของผู้นำ

 และที่สำคัญไม่หย่อนไปกว่ากันคือความสามารถในการกำหนดกลยุทธ์และวางแผนการบริหารเพื่อจะขับเคลื่อนองค์กรในการเดินหน้าฝ่าความท้าทายไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ ภายใต้ Ability ในการสร้างกระบวนทัศน์ที่จะผลักดันและนำพาทีมงาน ก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา ซึ่งหนึ่งในผู้นำของธุรกิจการศึกษายุคนี้ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (Dhurakij Pundit University หรือ DPU) ผู้เผยบทพิสูจน์คุณสมบัติผู้นำ ภายใต้โฉมใหม่ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่เริ่มเผยผลของการ Transform เข้าสู่ยุคที่เป็นยุคการศึกษาแบบอนาคต

ดร.ดาริกา ได้เปิดเผยถึงมุมมองต่อแนวโน้มการศึกษา ตลอดจนแนวทางการปรับกระบวนทัศน์และการบริหารของ DPU ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงหรือ Disruptive Education ผ่านบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร MBA เมื่อต้นปี 2020

 

 

Education Trend 2020

ถ้าพูดถึงทิศทางของอุดมศึกษาในต่างประเทศและรวมถึงในประเทศไทย จะเห็นMovement หนึ่งคือเรื่องปริญญา ที่เริ่มมีการตั้งคำถามว่า มันเรียนนานไปหรือเปล่า รวมถึงมันตอบโจทย์อุตสาหกรรมได้เต็มที่หรือไม่ หรืออย่าง Middle Class หรือชนชั้นกลาง หรือผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็ยังอีกมาก เพราะเป็นการลงทุนที่สูงและยังไม่ได้การันตีว่าเรียนแล้วจะตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมหรืออาชีพได้ ที่ผ่านมาจะได้ยินคำว่า Competency Based Degree เราจะได้ยินคำว่า Competency Badge มา 4-5 ปีแล้วในอเมริกา ซึ่งกล่าวถึง Educational Lego Concept ที่เราจะสามารถแกะแต่ละส่วนของปริญญาออกมาเป็นส่วนๆ เป็นตัวอย่าง Concept ที่เราจะเห็นแล้วในต่างประเทศ และในประเทศไทยเราก็จะได้เริ่มได้ยินกระทรวงอุดมศึกษาได้ออกมาพูดเรื่อง Non-Degree ซึ่งก็เป็น Concept คล้ายๆกัน และคิดว่าทิศทางก็จะไปในแนวทางนี้ คือการเรียนต่อไปจะเน้นที่เป็น Module แล้วก็จะเห็นชัดว่าแต่ละ Module เรียนไปแล้วทำอะไรได้บ้าง แทนที่จะ Pack ชุดความรู้เป็นปริญญา โดยModule ก็จะสั้นๆ ซึ่งอาจตอบโจทย์ยุคสมัยนี้ได้ดีกว่าการใช้เวลาเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นปีๆ  เราไม่เอาเวลามาเป็นตัวจับ แต่เราเอาเรื่อง Output ของผู้เรียนเป็นตัววัดว่านักศึกษาที่ผ่านในระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเมื่อจบออกมาแล้วทำอะไรได้บ้าง นั่นคือทิศทางและแนวโน้มของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่จะเป็นไป ซึ่งเป็นเทรนด์ใหญ่ในโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

ทั้งนี้ ดร.ดาริกา ได้เผยในรายละเอียดว่า Concept นี้ได้เป็นเทรนด์ในต่างประเทศมา 5-6 ปีแล้ว เมื่อประกอบกับเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามามีบทบาทและสามารถรองรับในการจัดเก็บข้อมูลต่างของผู้เรียน ซึ่งรวมถึงการเก็บ Skills ของผู้เรียนแต่ละคนในระบบดิจิทัล ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมที่มองเข้ามาเห็นได้ง่าย สามารถแยกได้ว่า นักศึกษาหรือผู้เรียนแต่ละคนมี Skills แบบไหน หรือมี Competency Badge ประเภทใด สามารถตอบโจทย์ความต้องการการทำงานขององค์กร หรืออุตสาหกรรมตรงจุดหรือไม่ และนั่นคือสิ่งที่เริ่มขึ้นแล้ว สำหรับ DPU ก็ได้มีกระบวนการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อรับกับแนวโน้มนี้มาหลายปีแล้วเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า หลายๆ หลักสูตรของ DPU เริ่มแตกเป็น Module ในปีการศึกษาหน้า ที่จะมีการจัดวางหลักสูตรในรูป Module ออกมาเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้เรียนในระดับปริญญา  และสำหรับภาคอุตสาหกรรมก็จะเริ่มมี หลักสูตรสั้นๆ สำหรับการ  Re-Skills และ Up-Skills ภายใต้การเรียนรู้แบบ Modular ต่างๆ

DPU Today

ดร.ดาริกา ได้กล่าวถึงการปรับตัวและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ DPU ซึ่งได้เริ่มขยับมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา และเป็นการขยับทั้งองคาพยพ ทั้งด้านวิชาการ (Academic) และด้านสนันสนุน (Supporting Operation) ตลอดจน Infrastructure ทั้งด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์

งาน Academic

สิ่งที่จะปรากฏบน Shelf หลักสูตรของ DPU ในปีการศึกษาที่กำลังจะมาถึงคือ การนำเสนอหลักสูตรแบบ Modular โดย ดร.ดาริกา ได้ขยายความว่า

จะมีการ Balance การจัด Module ทั้งในเชิง Functional Skills และ Technical Skills ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งต้องรู้และต้องใช้ในการทำงานจริง รวมไปถึง Soft Skill ที่บางแห่งเรียกว่า General Skill ก็คือทักษะชีวิตประจำวันที่จำเป็น โดยทาง DPU ก็จะออกแบบจัดวางให้มีความสมดุลเพื่อเสนอให้ตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตามกำหนดคือจะเริ่มในปีการศึกษาหน้านี้”

ทั้งนี้ ดร.ดาริกา เผยว่าการนำเสนอหลักสูตรปริญญาในรูปแบบ Modular นี้ เพื่อให้สามารถมองเห็นชัดเจน และเข้าใจง่ายสำหรับคนที่จะเข้ามาเรียนในลักษณะที่เป็น Degree และ Non-Degree

มุมมองเรื่อง Life Long Learning

“พูดกันเยอะ ก็เป็น Concept ที่นักการศึกษาพูดกันมาตลอด ในระดับอุดมศึกษาเราอาจจะเน้นไปในส่วนของผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยไปแล้ว แต่จริงๆ แล้วเรื่อง Life Long Learning มันเป็น Concept ในการใช้ชีวิต ตั้งแต่เด็กจนถึงโต ถึงแก่เลยก็ว่าได้ ที่ว่าคนทุกคนควรจะมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง อยู่ใน Mindset ที่ว่าการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด และไม่ใช่ว่าจะต้องอยู่ภายในสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น แต่ทำได้ตลอดเวลา ยิ่งในทุกวันนี้ที่การศึกษาและการเรียนรู้ยิ่งสามารถทำได้อย่างง่ายดาย เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาตอบสนองและเอื้ออำนวย ตัวดิฉันเองมีประสบการณ์ทำงานในโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยม เราก็ได้ใส่ Concept นี้เข้าไปในหลักสูตรให้เด็กเรียนรู้ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในห้องเรียน เฉพาะกับแค่ครูอาจารย์เท่านั้น” นั่นคือมุมมองของ ดร.ดาริกา

DPU’s OM

อธิการบดีของ DPU ได้เผยถึงความพยายามในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในการปรับโครงสร้างเชิงบริหาร ทั้งในเรื่องการสลายกำแพงคณะ และจัดวางสายการบริหารใหม่ โดยเน้นไปที่สาขาวิชา เพื่อยกเลิกกำแพงแบ่งกั้นการเรียน ระหว่างเด็กสายวิทย์ และเด็กสายศิลป์ แน่นอนว่าการเปลี่ยน Concept ใหม่ เป็นหนึ่งในความท้าทายที่อาจจะยังเป็นความไม่ชัดเจนทั้งในมุมมองของผู้เรียน หรือผู้บริโภคที่ยังติดอยู่กับสิ่งเดิมๆ แต่สำหรับนักการศึกษา หรือมุมมองของนักวิชาการจะเล็งไปที่ความสำคัญของสาขา ไม่ใช่ที่คณะ

ดร.ดาริกา กล่าวว่า การแบ่งคณะ เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งบุคคลและ Resources เท่านั้น  ซึ่งในความเป็นจริง เราพยายามที่จะไม่แยกการเรียนรู้ของเด็กสายทั้งวิทย์และศิลป์ หรือเด็กสาขาต่างๆโดยสิ้นเชิง  พวกเค้าควรได้รับประสบการณ์ทั้งวิทย์และศิลป์  และในบางครั้งควรได้มาเรียนรู้ร่วมกัน

ที่ผ่านมา 1-2 ปีและในระยะต่อไป สิ่งที่กำลังจะเริ่มเห็นคือ DPU เราจะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีทั้งสายวิทย์และสายศิลป์มาอยู่ด้วยกัน เราจะจับคนที่หน้าตาไม่เหมือนกัน สาขาไม่เหมือนกัน มาทำงานใกล้ๆ กัน เอานักศึกษามาอยู่รวมกันเป็นวิทยาลัยเดียวกัน อันนี้จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจบัณฑิตย์ก็จะมีหน้าตาแบบนั้นในอนาคต”

Infrastructure

เรื่อง Infrastructure สำหรับ DPU เพิ่งมีการปรับใหม่ ดร.ดาริกากล่าวถึงความสำคัญในเรื่องการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต WiFi ต่างๆ และการใช้ Application ของนักศึกษาเพื่อจะเข้าถึงข้อมูล ทั้งการทำคำร้องต่างๆ  เช็กเกรด ลงทะเบียน ทั้งหมดสามารถทำผ่าน Application บนมือถือได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นการวางระบบ WiFi จึงเน้นความสำคัญของการครอบคลุมพื้นที่ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ทั้ง Vertical และ Horizontal Coverage อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ที่นักศึกษาเข้าไปนั่งเรียน หรือทำกิจกรรม และนั่นหมายถึง Concept การเรียนนอกห้องเรียนก็จะชัด ที่นักศึกษาสามารถเข้าถึงบทเรียนได้ แม้จะไม่อยู่ในห้องเรียนก็ตาม

นอกจากนั้น ดร.ดาริกา ยังกล่าวถึง Infrastructure ที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ในยุคนี้คือ ห้องเรียนที่เป็นลักษณะ Participative ที่สามารถให้นักเรียนสามารถเรียนรู้แบบ Active Learning ได้ โดยห้องเรียนที่มีลักษณะเป็น Lecture Based ที่เป็นแบบ Traditional ก็ยังมีอยู่ แต่จะเพิ่มห้องเรียนแบบ  Active Learning ให้มากขึ้น ซึ่งต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับวิธีการสอนและเนื้อหาวิชา  ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความจำเป็นของรายวิชาด้วย

ทั้งนี้ ทาง DPU พยายามจะใช้ Facilities เป็นตัวที่จะผลักดัน Concept การเรียนรู้ใหม่ๆ  ซึ่งรวมไปถึงการมีพื้นที่แบบ Co-working Space และ Maker Space   ส่วนหอสมุดเอง ก็ได้การออกแบบจัดวางเพื่อให้เกิดกิจกรรมทั้งสันทนาการและเอื้อต่อการศึกษาค้นคว้า ทำโปรเจ็กต์หรือรายงานของนักศึกษาให้เต็มประสิทธิภาพ

DPU’s Signature

เมื่อจะต้องกล่าวถึงความเป็น ‘แบบฉบับ’ หรือ Signature ของ DPU แล้วนั้น ดร.ดาริกา ย้ำว่า

“คือการผลิตบัณฑิตที่มีความรอบรู้เรื่องธุรกิจ” ซึ่ง DPU ได้พัฒนา Concept นี้มาค่อนข้างไกล นักศึกษาของ DPU ไม่ว่าจะสาขา หรือคณะใดก็ตาม จะได้รับการฝึกฝนทักษะในการเป็นผู้ประกอบการในยุค Digital ผ่านหลักสูตรที่เรียกว่า DPU Core ซึ่งวิ่งควบคู่กับทุกสาขาวิชาต่างๆ ในทุกคณะ ซึ่งมีอัตราส่วนถึง 30% ของเนื้อหาทั้งหมดที่เรียน ภายใต้เป้าหมายที่ต้องการให้บัณฑิตของ DPU ทุกคนมีพื้นฐานความคิด และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทั้งกระบวนการคิด วิเคราะห์ วางแผน ตลอดทั้ง Process ของการดำเนินธุรกิจในยุค Disruptive นี้  

 

หากศึกษาดูจะพบว่า วิชา Entrepreneurship ได้ถูกสอนให้เด็กๆ ในโรงเรียนชั้นนำในต่างประเทศ มากว่า 20 ปีแล้ว โดยมีงานวิจัยสนับสนุนว่า ทักษะความเป็นผู้ประกอบการ มักสร้างได้ดีหากฝึกฝนแต่เล็ก และมักเพิ่มโอกาสการประสบความสำเร็จหลังจบการศึกษาออกไป และหากสังเกตจะพบว่าโรงเรียนหลายๆ แห่งของไทย ก็ได้เริ่มใส่เรื่องความเป็นผู้ประกอบการเข้าไปแล้วไม่มากก็น้อย เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นทักษะความรู้ที่มีความสำคัญ” ดร.ดาริกากล่าว

โอกาสและความท้าทายของ DPU

ดร.ดาริกา ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กไทยมีจำนวนลดลง และแนวโน้มของความต้องการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาก็มีอัตราที่เริ่มลดลงตามไปด้วย แต่เทรนด์นี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไป เพราะในประเทศเพื่อนบ้าน แม้แต่ประเทศจีนกลับมีความต้องการของผู้เรียนเพิ่มขึ้น โดยที่การรองรับในประเทศกลับไม่เพียงพอ จึงถือเป็นโอกาสสำหรับสถาบันการศึกษาไทยที่มีความพร้อม ก็จะเป็นโอกาสในการขยายฐานการจัดทำหลักสูตร ทั้งในรูปแบบ Degree และ Non-Degree เพื่อไปตอบสนองและรองรับตลาดที่มี Demand ในพื้นที่เหล่านั้น

 “ที่ผ่านมา DPU เรามีนักศึกษาจีนค่อนข้างมาก เพราะเรามีสาขาภาษาจีนธุรกิจที่เปิดสอนมานานแล้ว และค่อนข้างประสบความสำเร็จ และเรามีการทำ MOU เพื่อแลกเปลี่ยนนักเรียนกับสถาบันการศึกษาในประเทศจีนซึ่งทำมา 15 ปี โดยเฉพาะในระยะหลังที่จีนมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาก ทำให้เรามีนักศึกษาจีนค่อนข้างมาก แต่เราไม่ได้มีเฉพาะนักศึกษาจีน แต่ยังมีนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ ซึ่งเห็นว่า ตลาดนี้ยังเป็นโอกาสสำหรับ DPU และของไทยที่จะขยายต่อไปได้อีก” ดร.ดาริกา กล่าว

ทั้งนี้ ดร.ดาริกา ยังเผยถึงความคิดเห็นในเชิงโอกาสที่ประเทศไทยเราสามารถเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ได้ ภายใต้การเปิดรับการเชื่อมต่อกับหลักสูตรของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเราต้องสร้างความยืดหยุ่นและง่ายขึ้นที่เขาจะเข้ามา Plug-in กับเรา หากภาครัฐจะปรับเรื่องมาตรฐานและให้การผลักดัน เพื่อให้เด็กของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาศึกษาในบ้านเราได้ ซึ่งการเชื่อมต่อนี้จะไม่ได้หมายถึงเพียงเรื่องการศึกษา โดย ดร.ดาริกา มองว่าจะเป็นการเชื่อมโยงทั้งในด้านวัฒนธรรม และความร่วมมือซึ่งจะก่อเกิดการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจในภาคพื้นที่จะตามมา และไทยเราเองก็มีศักยภาพที่จะเป็น Education Hub อย่าง DPU ก็ได้พยายามพิสูจน์ให้ทางกระทรวงอุดมศึกษารับรู้ว่ามหาวิทยาลัยเอกชนก็มีศักยภาพในการที่จะออกไป Recruit นักศึกษาในอาเซียนขอเพียงต้องการการปลดล็อกข้อกำหนดบางประการ และนั่นเป็นหนึ่งในโอกาสของอุตสาหกรรมการศึกษาของเราที่ก้าวข้ามพรมแดนออกไปสู่ตลาดสากล

 

สำหรับภายในประเทศนั้น อธิการบดีของ DPU มองเห็นถึง Demand ในเรื่องของ Up-Skills และ การ Re-skills ในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนโฉม ซึ่งแน่นอนว่า ต้องการ ทักษะใหม่ๆ อันนี้ยังเป็นอีกตลาดของการศึกษาที่คิดว่าทุกสถาบันก็เล็งเห็น

ความท้าทายต่อบทบาท ‘ผู้นำ’

การผลักดันเรื่องการเปลี่ยนแปลงในองค์กรเป็นโจทย์ใหญ่” ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมาจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาก เพราะเราเห็นว่าเป้าหมายในอนาคตของภาคการศึกษาอยู่ที่ไหน แต่บางครั้งบุคลากร หรือแม้แต่นักศึกษาอาจยังไม่เข้าใจ อย่างที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบรวมคณะ หรือควบรวมสาขา หรือแม้แต่การรื้อหลักสูตรทั่วไป หรือ Gen Ed แล้วบรรจุหลักสูตรใหม่คือ DPU Core ก็ต้องมีการต่อสู้ในเชิงความคิด และผลักดันการสร้างความเข้าใจและยอมรับ สำหรับในจุดที่เราอยู่ อาจารย์คิดว่า อธิการบดีทุกท่านของทุกมหาวิทยาลัยไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน ก็ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเรื่องจำนวนเด็กที่น้อยลง และจะต้องปรับตัวเพื่อ Serve ภาคอุตสาหกรรมให้ได้มากขึ้น " คือคำกล่าวถึงความท้าทายของ ดร.ดาริกา

ส่วนอีกความท้าทายในฐานะนักบริหารการศึกษา ที่คลุกคลีในวงการศึกษามาตลอด และเข้าใจ Concept ของการพัฒนามนุษย์ ตั้งแต่การพัฒนาเด็กเล็กขึ้นมาถึงเด็กโต ว่าประกอบไปด้วย Key Elements อะไรบ้างนั้น ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับ ดร.ดาริกา จนเป็นที่มาของความร่วมมือกับ Wellington College International School ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นนำจากประเทศอังกฤษ และได้รับ License มาเปิดโรงเรียนนานาชาติ Wellington College ในเมืองไทย

ดร.ดาริกา เผยว่าที่ผ่านมา โรงเรียนนานาชาติมีอัตราการเติบโตในทิศทางที่สูงมากในประเทศไทย และเป็นที่ต้องการของประเทศเพื่อบ้านในอาเซียน และ Wellington College เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมาก และยังเป็นโรงเรียนที่มีเครือข่ายถึง 4-5 แห่งอยู่ในประเทศจีน ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญของการบริหารจัดการโรงเรียนนานาชาติที่ สามารถแชร์บุคลากร งานวิจัย ความรู้ และ Resources ต่างๆ ร่วมกันได้

ทั้งนี้ ดร.ดาริกา มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนา Wellington College ให้เป็น Flagship ในภาคพื้นอาเซียน  บนความคาดหวังว่าในอนาคตจะเปิด Wellington College ในประเทศเพื่อนบ้าน และนั่นคืออีกหนึ่งของความท้าทาย

ผู้บริหารที่พึงปรารถนาในสายตา ผู้นำ DPU

"คือ ผู้ที่คิดนอกกรอบมากๆ ไม่ยึดติดกับ Process ใดๆ สามารถ Initiate งานใหม่ๆ และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องกัดไม่ปล่อยกับงาน และ Drive ลงไปถึงรายละเอียด นั่นคือ ผู้บริหารในฝัน"


เรื่อง: นิตยสาร MBA

 

Rate this item
(1 Vote)
Last modified on Saturday, 26 November 2022 08:19
X

Right Click

No right click