December 03, 2024

ดร. อุตตม สาวนายน ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ยืนหยัดเน้นย้ำ ‘ความสงบ ครบพร้อมการพัฒนา’

February 13, 2019 2978

การจะทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่สะดุดและหยุดยั้ง อย่างแรกคือการมีความสงบ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อ และเป็นจุดหักเหสำคัญของประเทศ เพราะปัจจุบันมีหลายอย่างเกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีความชัดเจนอย่างมาก ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่จุดที่เป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าทาย ถ้าการเลือกไปในทิศที่ถูกทาง แต่ถ้าเลือกไปอย่างไม่เหมาะสมก็จะทำให้พลาดโอกาส ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายและปัญหาสั่งสมที่มีอยู่เดิมที่ต้องแก้ไข เพราะอาจกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศได้ในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข เพื่อที่คนไทยจะได้รับประโยชน์ มีความอยู่ดีกินดี คือแนวนโยบายหลักของ ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ภายใต้ภาพลักษณ์นักการเมืองป้ายแดงแกะกล่องของดร.อุตตม สาวนายน นักวิชาการสายแข็งผู้มีดีกรีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยภูมิหลังทางครอบครัวที่ไม่ธรรมดา และวันนี้ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเป็นหนึ่งในคีย์แมนสำคัญในทีมเศรษฐกิจของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ทั้งประเทศไทยเข้าใจได้ว่าคือผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยในยุคสมัยรัฐมนตรี พลเอก.ประยุต จันทร์โอชา โดยดร.อุตตม สาวนายน ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคการเมืองป้ายแดงแกะกล่องที่น่าจับตา ของสนามการเลือกตั้งแห่งปี 2562 นโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ที่หลายคนเฝ้าติดตามว่า จะมีรูปร่างหน้าตาออกมาแบบไหนบ้างนั้น ดร. อุตตม เปิดเผยกับ นิตยสาร MBA ว่า

แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐเราจะเป็นพรรคใหม่ แต่หากเราได้เข้ามาเป็นรัฐบาล มีโอกาสรับใช้พี่น้องประชาชน โดยยึดถือแนวนโยบายที่ตั้งอยู่บนความสงบสุข เราไม่ต้องการเข้ามาเพื่อการเมืองโดยการเมือง หมายความว่าเราไม่สนับสนุนการขัดแย้ง เราจะสนับสนุนการเคารพกติกาการเมือง กติกาสังคม พร้อมทั้งยึดมั่นใน 5 แนวทางสำคัญที่เป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อการพัฒนา ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่อง สวัสดิการประชารัฐ ,สังคมประชารัฐ,เศรษฐกิจประชารัฐ, การต่างประเทศและนโยบายเรื่องการศึกษา”

สวัสดิการประชารัฐ

ดร.อุตตม เผยถึงแนวคิดเรื่องสวัสดิการประชารัฐว่า เราต้องการให้คนไทยมีโอกาสและทางเลือกสำหรับอนาคต ตลอดจนความมั่นคงในชีวิต ซึ่งเป็นไปได้ภายใต้การมีสวัสดิการที่ดี ที่เรียกว่าสวัสดิการประชารัฐ เป็นสวัสดิการที่คนไทยสมควรจะมี ทั้งเรื่องอาชีพ การสร้างรายได้ สาธารณสุข ที่อยู่อาศัยและการศึกษา เราจะทำการเติมเต็มให้ ภายใต้แนวคิดที่เราจะแบ่งเป็นกลุ่มตั้งแต่เกิด วัยทำงาน จนถึงผู้สูงวัย ตลอดชีพ โดยสวัสดิการที่มีอยู่ในวันนี้จะมีการเพิ่มเติมตามที่ควรจะเป็น และปรับให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

สังคมประชารัฐ

หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ภายใต้การมีความพร้อมในทางสวัสดิการ สิ่งที่ตามต่อมาก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของสังคม และเศรษฐกิจไปได้ควบคู่กัน สังคมก็คือคนไทย เมื่อโลกเปลี่ยนไป เราเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 คนไทยต้องเตรียมตัวเพื่อก้าวไปข้างหน้า แล้วสังคมควรจะเป็นอย่างไรนั้น เราต้องมองครอบคลุมไปมากกว่าเรื่องการศึกษา หรือจะเรียกว่า Next Gen skill Development คือทักษะที่คนไทยในเจเนอเรชั่นต่อไปควรจะมี คืออะไร ตั้งแต่ทักษะด้านการทำงาน ทักษะในการเรียนรู้ที่จะอยู่กับสังคม เราต้องการสร้างสังคมที่รู้จักแบ่งปัน รู้จักเกื้อกูล ให้โอกาสต่อกัน เหล่านี้ถือเป็นทักษะที่ต้องช่วยกันส่งเสริมและสร้างขึ้นมา

“เราต้องไม่มองแต่เรื่องเศรษฐกิจ หรือมองแต่สังคม เพราะต้องยอมรับว่าปากท้องกับเรื่องของสังคมนั้นแยกจากกันไม่ได้ สังคมไทยจะต้องการมีสภาพแวดล้อมที่ดี พรรคพลังประชารัฐจึงนำเสนอ “สังคมสีขาว” ที่หมายถึงสังคมที่ปลอดยาเสพติด ซึ่งเมื่อปลอดยาเสพติดแล้วก็จะเป็นสังคมที่ปลอดโรค และปลอดภัย

นโยบายการรับมือเรื่อง Aging Society ซึ่งเริ่มปรากฏในหลายประเทศทั่วโลก เริ่มก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดย ดร.อุตตม กล่าวถึงนโยบายเรื่องนี้ว่า “ต้องจัดสวัสดิการผู้สูงวัย ซึ่งหมายรวมไปถึงการสร้างโอกาส และการสร้างสังคม เพราะอย่างไรก็ตามผู้สูงวัยก็ยังเป็นกลุ่มคนที่มีกำลัง มีศักยภาพ วันนี้คนอายุยืนขึ้น เรื่องของโอกาสจึงเป็นเรื่องที่เรามุ่งเน้น และมองเห็น การสร้างโอกาสเรื่องงานและอาชีพให้กลุ่มผู้สูงวัยที่ยังมีกำลัง ความสามารถ เป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลย”

หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการดูแลในระดับชุมชนที่จะยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะในต่างจังหวัดชุมชนไทยมีศักยภาพสูง อย่างเช่นวิสาหกิจชุมชน Social Enterprise ผู้สูงวัยในวันนี้จึงมีบทบาทอย่างมาก ที่จะต้องเข้าไปช่วยสนับสนุน

ส่วนเรื่องสวัสดิการ ต้องมีการจัดสรรโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพซึ่งต้องให้การดูแล ผู้สูงวัยบางรายถึงแม้จะมีทุนทรัพย์แต่ก็ต้องไปดูในรายละเอียดว่า เข้าถึงแพทย์ และเข้าถึงการดูแลสุขภาพหรือไม่ โดยพรรคพลังประชารัฐจะคิดระบบให้เข้าถึงแพทย์ เข้าถึงยาได้โดยสะดวกทั่วประเทศ เป็นสวัสดิการที่สมควรจะมี ซึ่งต้องคิดไปพร้อมๆ กับเรื่องการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ในระดับพื้นที่ และระดับชุมชน

 

เศรษฐกิจประชารัฐ

ดร.อุตตม กล่าวถึงแนวทางของเรื่องนี้ว่า ต้องสร้างความสามารถและภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ ที่ให้ประเทศและคนของเราสามารถจะเดินหน้าต่อในยุคที่โลกาภิวัตน์มีความเข้มข้น ส่งผลกระทบที่ชัดเจนรุนแรงและรวดเร็วมาก เรามีการพูดถึงโลกาภิวัตน์มาเป็นเวลากว่า 10 ปี และทุกวันนี้มีผลที่ปรากฏชัด มีรูปแบบออกมาหลากหลาย เศรษฐกิจไทยต้องปรับเปลี่ยน เราต้องก้าวให้ทัน ต้องเป็นเศรษฐกิจที่มีความสามารถ และมีความยืดหยุ่น

“เราถามตัวเองว่า ประเทศไทยมีจุดเด่นอะไร วันนี้ผมตอบได้เลยว่า เรามีทั้งจุดเด่น และจุดแข็งอยู่มาก เป็นประเทศพื้นฐานการเกษตร มีพืชผลเกษตรกรรมเด่นๆ หลายตัว บางครั้งเราอาจจะมองว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหา เพราะที่ผ่านมาภาคเกษตรของเรามีรูปแบบการขายแบบยกล็อต เน้นไปที่ปริมาณ แต่ราคาที่ได้กลับถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นสถานการณ์จริงและเป็นความจริงที่สืบเนื่องต่อกันมาอย่างยาวนาน นั่นจึงเป็นสิ่งที่เราต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นเกษตรแบบเพิ่มมูลค่า เป็นเกษตรที่ยั่งยืนให้ได้ เรามีแรงงานจำนวนมากในภาคเกษตรกรรม และเป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศไทยเรา เป้าหมายเรื่องนี้คือ การเปลี่ยนภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคเกษตรที่มีมูลค่าสูง”

นอกจากนี้ยังมี ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นโจทย์ในการก้าวไปข้างหน้า โดยเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัล 5G ที่กำลังจะมาถึง ไม่ได้เฉพาะเป็นแต่เพียงเรื่องของโทรคมนาคม แต่สำหรับแวดวงอุตสาหกรรม 5G เป็นเทคโนโลยีที่มีผลต่อห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่อุปทาน เราต้องทำให้อุตสาหกรรมไทยมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ได้โดยเร็ว และอย่างกว้างขวาง สร้างบุคลากร และแรงงานที่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้มากขึ้น พรรคพลังประชารัฐ มีนโยบายที่กำหนดเป้าหมายชัดเจนแล้วว่าอุตสาหกรรมใดบ้าง และทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการ SME และถึงวิสาหกิจชุมชน อย่างครบพร้อม

ทุกวันนี้มีบทพิสูจน์แล้วว่าคนตัวเล็กเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี เพราะคิดและทำได้อย่างรวดเร็ว” เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา ต้องมีการทำงานเรื่อง ‘คน’ คู่ขนานไปพร้อมๆ กัน เพราะในห่วงโซ่การผลิต เมื่อมีระบบดิจิทัล มีระบบอัตโนมัติ ระบบ Robotic จะเกิดคำถามตามมาว่าแล้ว “คน” ของเราจะทำอะไร”

นโยบายในเรื่อง ‘คน’ มีอยู่ 2 ส่วน คือ

  1. เร่งยกระดับทักษะคนที่อยู่ในกระบวนการผลิต ซึ่งจะมีแนวทางดำเนินการเป็นแพลตฟอร์มระดับชาติ เพื่อปรับทักษะเหล่านี้ให้เหมาะสม และ
  2. สร้างฐานผู้ประกอบการใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี คือ Tech Startup เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการลดผลกระทบ (Disruption) จากเทคโนโลยีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผู้ประกอบการใหม่หรือ Startup เป็นได้ทั้งผู้ประกอบการที่เกิดมาใหม่เลย หรือคนที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งตอนนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้พัฒนาโครงการที่ชื่อว่า Thailand InnoSpace ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มที่จะมาทำหน้าที่ส่งเสริมเรื่องผู้ประกอบการเริ่มใหม่ (Tech Startup) และส่งเสริมการมีนวัตกรรมในอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่ระดับฐานราก เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และทักษะให้กับผู้ประกอบการใหม่ เพื่อเป็นโครงการที่จะดึงเอาเทคโนโลยีเข้ามาในประเทศไทย Thailand InnoSpace ประกาศจัดตั้งโดยมีพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ทั้งจากฮ่องกง ญี่ปุ่น อิสราเอล และองค์กรใหญ่ของประเทศไทย ภายใต้เงินทุนเริ่มต้นที่ 500 ล้านบาท โดย Thailand InnoSpace นี้จะจัดตั้งเครือข่ายกับพันธมิตรในประเทศในภูมิภาคต่างๆ อาทิ EECi จังหวัดระยอง หรือ EEC ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งเครือข่ายความร่วมมือนี้จะขยายออกไปในทุกภูมิภาค ซึ่งแพลตฟอร์มของ Thailand InnoSpace นี้จะเป็นคำตอบของการunlocked เรื่องนวัตกรรมของประเทศไทยที่ติดกับมาอย่างช้านาน

ดร.อุตตม กล่าวต่อ เรื่องมิติทางด้านพื้นที่ ซึ่งมีความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของการกระจายความเจริญให้กว้างขวางครอบคลุมทุกพื้นที่ นโยบายของพรรคจะต่อยอดในส่วนที่มีอยู่แล้ว เช่น EEC (Eastern Economic Corridor – เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเป็นจุดเริ่มของการสร้างฐานความเจริญ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจ โดยมีทั้งเรื่องของอุตสาหกรรม เรื่องการสร้างเมือง และเรื่องการพัฒนาคน ซึ่งเราจะปรับยอดให้เกิด EEC ในภูมิภาค เช่นภาคเหนืออาจจะเป็น ล้านนา 4.0 รวมไปถึงภาคอีสาน ภาคใต้ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งหมด ให้สอดรับกับจุดเด่น และวิถีในชุมชน เป็นการกระจายโอกาสเพื่อหลีกเลี่ยงการกระจุกตัวของการปรับเปลี่ยนรับความเจริญที่จะตามมา

วันนี้ทั่วโลกพูดถึงกระแส Urbanization คือการสร้างเมือง ที่เราไม่ได้หมายถึงเฉพาะการสร้างเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ต้องสร้างเมืองรองขึ้นมาไปพร้อมๆ กัน และยึดโยงกับเมืองใหญ่ เพื่อให้ความเจริญกระจายตัว อย่างส่งเสริมและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ตัวอย่างที่เห็นชัดคือเรื่องการท่องเที่ยว เรามีเมืองหลักในการท่องเที่ยว และเป็นเมืองหลักที่เป็นฐานการผลิตด้วย เราก็จะมุ่งสร้างเมืองรองที่ยึดโยงกัน ตามนโยบาย 15 เมืองหลัก 15 เมืองรองทั่วประเทศ ผ่านเศรษฐกิจใหม่

ลงมาที่รากฐานชุมชน เราเข้าต้องเข้าให้ถึงการผลิตและขีดความสามารถในระดับชุมชน โดยเอาเทคโนโลยีเป็นตัวนำ ตั้งแต่ดิจิทัล ไปจนถึงเรื่องอีคอมเมิร์ซโดยจะทำให้เป็นระบบ โดยต่อไปจะเห็นภาพได้ว่าในเรื่องของเศรษฐกิจนั้น มี 3 มิติหลัก คือ 1. นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน และอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือการเข้าถึงต้องเป็นไปอย่างอย่างเร็ว และเรื่องที่ 2. เรื่องคน จะเป็นเรื่องการสร้างทักษะใหม่ (New skill) ปรับเปลี่ยนทักษะที่มี (Re skill) สร้างผู้ประกอบการใหม่ขึ้นมา ลดผลกระทบของเทคโนโลยีที่เข้ามา Disrupt 3. เชิงพื้นที่ ก็คือการดูแลให้เกิดความครอบคลุม

“การที่เราเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เป็นเศรษฐกิจที่สามารถมีความยืดหยุ่น มีการกระจายความเจริญ ทั้งในเชิงของอุตสาหกรรม พื้นที่ และคน เมื่อเกิดสถานการณ์ผันผวนจากโลกเราจะมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่จะต้านทานได้ แต่หากเรายังยึดอยู่กับอุตสาหกรรมเกษตร ที่ขายแต่เกษตรต้นทางเป็นหลัก เราจะหนีไม่พ้นปัญหาที่เราเคยเผชิญมาโดยตลอด เมื่อมีภูมิคุ้มกัน ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดเซไป แต่ส่วนอื่นยังยืนได้”

นโยบายต่างประเทศ

เป็นอีกเรื่องซึ่งสำคัญ ดร. อุตตมกล่าวว่า ประเทศไทยต้องมีจุดยืนที่คนไทยภาคภูมิใจได้ในเวทีนานาประเทศ ต้องสร้างขีดความสามารถที่จะค้าขายในเวทีโลกที่สามารถสะท้อนศักยภาพของประเทศไทย และคนไทย เพื่อให้ทั่วโลกสนใจ ไม่เพียงแต่ค้าขาย แต่มาร่วมมือเป็นพันธมิตร มาร่วมลงทุนกับเรา อย่างเป็นรูปธรรม

อย่างเช่น การสร้างพื้นที่ฐานการเจริญใหม่ เช่น EEC ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ เหล่านี้ในการสร้างเราจะยึดโยงพื้นที่เหล่านั้นไปจนถึงระดับเมืองหลัก เมืองรองระดับภูมิภาค ยกตัวอย่างล้านนา 4.0 จะโยงไปถึงทางใต้ของจีน ลาว และพม่า โดย EEC เองนั้นในทางพื้นที่ มีศักยภาพสูงมาก เป็นศูนย์กลางของ Transshipment Ports หมายถึงเป็นทั้งฐานอุตสาหกรรม และฐานคมนาคมในตัว ซึ่งเรามองว่าเรามีความสามารถเป็นฐานของเอเชียได้เลย ดังนั้นในการพัฒนาของเราจะมองในมิติของต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีจุดยืนในเวทีโลกที่ชัดเจน

เมื่อถูกถามเรื่องความคิดเห็นถึงคุณสมบัติของผู้นำที่เหมาะสมในเวทีโลก ดร.อุตตม กล่าวตอบในเรื่องนี้ว่า ผู้นำที่จะเข้ามาทำงานทำการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาในภาวะที่ประเทศอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นดั่งในช่วงนี้นั้น คือผู้ที่จะต้องสามารถนำพามาซึ่งความสงบให้กับประเทศได้ เพราะหากไม่มีความสงบเรียบร้อย ความคาดหวังในเรื่องการพัฒนาก็จะเกิดได้ยาก ถ้าหากเรายังเป็นแบบเดิมนั้นจะยาก เพราะจะไม่มีความเชื่อถือในสายตาของนานาประเทศ สถานการณ์ในวันนี้พอจะเห็นความเชื่อถือที่ชัดเจน เพราะมีความสงบแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้นำที่เหมาะสมนั้น สำคัญมากที่จะต้องสามารถฉายภาพให้เห็นได้ถึงในอนาคต ทั้งแนวคิด นโยบายและแนวทางที่เราจะก้าวไปอันเป็นเป้าหมายใหญ่ของประเทศ ไม่นับว่ายังจะต้องมีผลงานที่แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ชัด จับต้องได้ เช่นนี้ต่างประเทศจึงจะให้ความเชื่อถือ มีความมั่นใจ และในที่สุดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ก็จะตาม และนั่นคือโอกาสอันดีของคนไทย และประเทศไทย

นโยบายด้านการศึกษา

หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าว “เป็นเรื่องการเตรียมคนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งถือว่าเป็นมิติหลัก แนวทางของพรรค คือการสร้างแนวทางการศึกษาให้ตรงตามวัยกลุ่ม ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเรามองว่าการศึกษาเป็นเรื่องการสร้างความเติบโตของคนไทยแต่ละคน เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่หยุดยั้ง ตั้งแต่เด็กจนโต รวมถึงการเรียนรู้ระหว่างทำงาน แม้กระทั่งในวัยชราก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องหยุดเรียนรู้ เรามีมาตรการและนโยบาย สำหรับแต่ละกลุ่ม อย่างสอดรับและเหมาะสม โดยยึดหลักว่า เป็นการศึกษาที่มาทำให้คนไทยแต่ละคนเติบโตต่อได้ และสร้างความภูมิใจในตนเอง อย่างมีคุณค่าในการร่วมพัฒนาสังคมและประเทศของเรา โดยหลักการนี้ การศึกษาต้องกระจายลงไปในพื้นที่ มีการส่งเสริมให้ในพื้นที่พัฒนาศักยภาพ และดูแลด้านการศึกษากันเองได้มากขึ้น และการปฏิรูปการศึกษาที่พูดถึงนี้เป็นการปฏิรูปทั้งระบบ เป็นการพัฒนาการศึกษาทั้งองคาพยพในพื้นที่ และยกระดับคุณภาพขึ้นมา ในขณะที่ส่วนกลางปรับบทบาท เป็นผู้ดูแลด้านคุณภาพ มาตรฐาน และสนับสนุนเรื่องคอนเทนท์

ความเห็นของ ดร.อุตตมะ ในเรื่องบทบาทของผู้สอนวันนี้ที่มองว่า Teacher จะต้องกลายมาเป็น Facilitator เพราะวันนี้นักเรียนหรือนักศึกษาสามารถหาข้อมูลต่างๆ ได้เองจากแหล่งข้อมูลหลากหลาย โดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ ทำให้บทบาทและหน้าที่ของครูผู้สอนจึงต้องปรับเปลี่ยนเป็นเสมือนโค้ช หรือผู้ชี้แนะเพื่อการสังเคราะห์ข้อมูล แล้วชี้ทางว่าจากข้อมูลจะนำมาสู่การเป็นองค์ความรู้ได้อย่างไร และจะนำองค์ความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ซึ่งส่วนนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายและต้องเริ่มวันนี้เลย เพื่อให้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนแล้ว"

และนี่คือนโยบายหลักที่ดร.อุตตมผู้นำทัพพรรคพลังประชารัฐ เตรียมไว้อย่างครอบคลุมการเข้าถึงคนทุกระดับ ทุกช่วงชีวิต ทุกเรื่องราว ซึ่งการต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง ที่แข่งขันกันด้วยนโยบายพรรคการเมืองนั้น พรรคพลังประชารัฐ จะฝ่าฟันอุปสรรค คว้าความสำเร็จเดินชูธงคว้าชัยชนะเข้ามาเป็นรัฐบาลในสมัยหน้าได้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอติดตาม ส่วนข้อกังวลในปัญหาการไม่เคารพกติกาในสนามการเมืองและการเลือกตั้งนั้น ดร.อุตตม สาวนายน กล่าวในตอนท้ายว่า

หากขอได้อยากขอให้ทุกพรรคเห็นร่วมกันในการเคารพกติกา เคารพในผลการเลือกตั้งที่ออกมา ใครชนะการเลือกตั้ง ได้จัดตั้งรัฐบาลก็ให้เป็นไปตามนั้น โดยการเคารพกติกาต้องทั้งระบบและนอกระบบ นอกสภา หมายถึงต้องไม่ทำอะไรที่ไม่ถูกกติกาทั้งใน และนอกสภา ซึ่งพรรคพลังประชารัฐเองก็จะไม่มีการทำอะไรแบบนั้น เราจะไปตามกรอบที่ถูกต้อง


เรื่อง กองบรรณาธิการ

ภาพ ภัทรวรรธน์ พงษ์บริพันธ์

Rate this item
(0 votes)
Last modified on Wednesday, 13 February 2019 07:25
X

Right Click

No right click